ใคพอจะมี ตัวอย่างการเขียนบทวิทยุ บ้างคะ

21 ก.ย. 52 20:01 น. / ดู 44,955 ครั้ง / 6 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
ตามหัวข้อเลยค่ะ

พอดีต้องทำส่งอาจารย์

ขอบคุณล่วงหน้านะคะ
เลขไอพี : ไม่แสดง

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

#1 | K_C (ไม่เป็นสมาชิก) | 21 ก.ย. 52 21:10 น.

บทวิทยุรายการ “พบเภสัชกร”
โดย นสภ. รุ่งนพิศ  สุทธิพงษ์
ออกอากาศ ณ สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยนเรศวร 107.25 MHz
วันที่    สิงหาคม พ.ศ. 2547  เวลา 9.30-10.00 น.
เรื่อง โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)

อ. อรรถการ: สวัสดีครับท่านผู้ฟัง  กลับมาอีกครั้งกับรายการ พบเภสัชกร ออกอากาศทุกวันศุกร์  เวลา 9.30-10.00 น. โดยประมาณ ผมอาจารย์เภสัชกร อรรถการ นาคำ  รับผิดชอบดำเนินรายการ  วันนี้จะมีนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์  สาขาบริบาลเภสัชกรรม  มานำเสนอเนื้อหาสาระในเรื่อง โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) ให้น้องแนะนำตัวได้เลยครับ
นิสิต: สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อ นสภ. รุ่งนพิศ สุทธิพงษ์  เป็นนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์  สาขาบริบาลเภสัชกรรม ม.นเรศวร  ชั้นปีที่ 6 ค่ะ
อ. อรรถการ: ครับ  ก็ได้รู้จักน้องไปแล้วนะครับ  วันนี้เรื่องที่นำเสนอนั้นน่าสนใจทีเดียว  ปัจจุบันมีคนสมัยใหม่ที่มีอาการของโรคนี้พบได้ค่อนข้างมากทีเดียว  ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักโรค IBS กันก่อนนะครับ
นิสิต: ค่ะ  IBS เป็นกลุ่มอาการของโรคทางเดินอาหารที่คนเข้าใจกันน้อยมาก  ไอบีเอส (IBS) ย่อจากคำเต็มว่า Irritable Bowel Syndrome  แพทย์บางท่านเรียกว่า “ โรคลำไส้แปรปรวน ”  โดยเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งลำไส้ ทั้งที่โครงสร้างของอวัยวะไม่มีอะไรผิดปกติและไม่มีพยาธิสภาพอื่นใด  อาการพบมีตั้งแต่ ท้องเสีย ท้องผูก หรือทั้งสองอย่างสลับกัน ผู้ป่วยมักจะปวดท้องซึ่งเมื่อได้ถ่ายอุจจาระจะรู้สึกหายปวดและสบายขึ้น  หลายคนมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าถ่ายอุจจาระไม่ค่อยสุด หรือมีมูกปนออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ  ซึ่งแต่ละคนจะมีรูปแบบของอาการที่ไม่เหมือนกันค่ะ
อ. อรรถการ: ท่านผู้ฟังก็ได้รู้จักกับโรค IBS ไปบ้างแล้วนะครับ ทีนี้สำหรับอาการของโรค IBS ตามคำบอกเล่าของผู้ป่วยมักเป็นอย่างไร และมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย อย่างไรบ้างครับ เผื่อท่านผู้ฟังบางท่านที่กำลังฟังอยู่ อาจยังไม่ทราบว่าตนเองกำลังประสบกับโรค IBS อยู่
นิสิต: สำหรับตัวอย่างอาการตามคำบอกเล่าของผู้ป่วยก็มีดังต่อไปนี้
ปวดท้อง – มักเป็นลักษณะบีบ (crampy) มีความรุนแรงไม่เท่ากัน ลักษณะการปวดอาจเป็นแบบอื่นเช่นตื้อ ๆ อึดอัด ไม่เหมือนกันในแต่ละคน บางคนพบว่าเมื่อเครียด หรือ ทานอาหารบางอย่างอาจทำให้แย่ลงมากขึ้นได้ บางรายการถ่ายทำให้อาการหาย หรือ ลดลงไปได้
มีลักษณะการถ่ายผิดไป  ถือเป็นลักษณะพิเศษ อาจช่วยในการวินิจฉัยภาวะโรคนี้เลย ได้แก่ มีท้องเสีย ท้องผูก หรือ มีสลับท้องเสีย และ ท้องผูกก็ได้ โรคนี้อาจแบ่งเป็นท้องเสียเด่น (diarrhea predominant IBS) หรือ ท้องผูกเด่น (constipation dominant IBS)
ท้องเสีย ภาวะท้องเสียมักมีอาการร่วมคือ การต้องรีบอยากเข้าถ่าย (urgency) และมักมีอาการรู้สึกถ่ายไม่หมดร่วมด้วย (incomplete evacuation)
ท้องผูก มีการถ่ายแข็ง บางรายอาจมีความรู้สึกว่าถ่ายไม่หมดร่วมด้วย ทำให้เกิดภาวะเบ่งมากตามมา หรือ นั่งถ่ายอยู่นานไม่ออก ร่วมด้วยได้ บางรายเกิดการใช้ยาระบาย หรือ สวนถ่ายบ่อย ๆ โดยไม่จำเป็นร่วมด้วย
อาการลำไส้อื่น ๆ เช่นอืดเฟ้อ ลมมาก เรอ แน่นแสบอก กลืนลำบาก หรืออิ่มเร็ว คลื่นไส้ได้ด้วย
--------อ.อรรถการ:  ฟังเพลงเพราะๆ ซักเพลงก่อนนะครับ เพลง The game of love (Santana)---------
อ. อรรถการ: ครับ  กลับมาพบกันอีกครั้งนะครับ  ตอนนี้ท่านกำลังอยู่กับรายการ  พบเภสัชกร เรามาคุยกันต่อนะครับว่าแล้วความรุนแรงของโรค IBS หรือผลกระทบจากโรคนี้เป็นอย่างไรครับ
นิสิต: ถึงแม้โรค IBS จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต  แต่มีผลเสียค่อนข้างมากต่อความสามารถในการใช้ชีวิตของผู้ป่วย  ผู้ป่วยโรค IBS หลายรายรู้สึกว่า  โรคนี้จำกัดการใช้ชีวิตหลายอย่าง  ทั้งการทำงาน และการเข้าสังคม  ความรุนแรง ของโรค IBS แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย  และแม้แต่ในผู้ป่วยคนเดิม  ความรุนแรง ก็แตกต่างไปได้ตามระยะเวลาที่เป็น  อันมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
อ. อรรถการ: ฟังแล้ว รู้สึกว่าส่งผลกระทบทางจิตใจได้ค่อนข้างมากเลยทีเดียว แล้วสำหรับอะไรบ้างครับที่อาจเป็นสาเหตุของโรค IBS นี้
นิสิต: ค่ะ เป็นคำถามที่สำคัญมากที่สุด  อันหนึ่งในขณะนี้ และงานวิจัยก็กำลังดำเนินอยู่ เพื่อหาคำตอบ  ซึ่งโรค IBS  อาจมีสาเหตุอันเนื่องมาจาก ความเครียด ยา ได้แก่ ยาระบาย ยาแก้ปวดบางชนิด เช่น โคเดอีน ยาต้านอาการซึมเศร้า และ ยาต้านแคลเซียม ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องผูก  และอาหารบางชนิด เช่น นม ช็อกโกแลต คาเฟอีน แอลกอฮอล์  หรือแม้แต่อาหารที่มีแคลอรีหรือไขมันสูง เป็นสิ่งกระตุ้นอาการต่างๆ ของโรคได้ค่ะ  นอกจากนี้พบว่าผู้ป่วยโรคนี้พบว่ามีหลาย ๆ คนที่มีภาวะทางจิตเวช หรือ ความเครียดร่วมด้วย
อ. อรรถการ: จะวินิจฉัยโรค IBS ได้อย่างไรครับ
นิสิต: มีโรคมากมายที่อาการคล้ายโรคนี้ ได้แก่โรคที่มีปัญหาการย่อยอาหาร (malabsorption), โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease เช่น ulcerative colitis และ Crohn's disease) จึงควรได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และ ตรวจเพิ่มเพื่อประกอบการรักษาจากแพทย์ร่วมด้วย
การซักประวัติ – การวินิจฉัยโรคลำไส้แปรปรวน จะประกอบด้วย ลักษณะอาการ ระยะเวลาที่มีอาการ ความรุนแรงของอาการลำไส้ รวมทั้งประวัติว่าอาการสัมพันธ์กับอาหาร หรือ ยาด้วยหรือไม่ รวมทั้งจะซักปัญหาความเครียด และ โรคทางจิตเวชในทุกรายที่เป็นภาวะนี้ ดังที่กล่าวแล้ว
การตรวจร่างกาย – มักไม่พบความผิดปกติใด ๆ การตรวจก็เพื่อแยกโรคร้ายแรงอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายโรคนี้
การตรวจพิเศษ – ตรวจแยกโรคร้ายแรงอื่น ๆ โดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วย ตัวอย่างเช่นการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) หรือ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (sigmoidoscopy) ซึ่งมักสงสัยภาวะมะเร็ง หรือ ทำในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี
อ. อรรถการ: โรค IBS พบได้บ่อยแค่ไหนครับ
นิสิต: โรค IBS พบได้บ่อยกว่าที่หลายคนคิด  ในทางตะวันตก มีการศึกษาหนึ่ง พบว่า อุบัติการณ์ โรค IBS อาจพบสูงถึง 65% ของจำนวนประชากร จัดเป็นปัญหาที่สำคัญมาก และสำหรับประเทศไทยคาดว่าเพศหญิงกำลังถูกคุกคามด้วยโรคนี้มากกว่าเพศชาย ซึ่งอาจเกิดจากผู้หญิงมาเข้ารับการปรึกษาแพทย์มากกว่าผู้ชายก็ได้ 
อ. อรรถการ: แล้วอาการของโรค IBS จะเป็นนานเท่าไรครับ แล้วจะหายมั้ยครับ
นิสิต: ถึงแม้ โรค IBS จะมีอาการเรื้อรัง แต่ก็มีบางช่วงที่ ผู้ป่วย ไม่มีอาการใดๆ เลย ดังนั้น ผลสำเร็จในการรักษา  โรค IBS จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง และอาการจะช่วยยืดระยะเวลาของช่วงที่ไม่มีอาการออกไปได้ พบว่ามีการรักษาได้หลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่ทำให้อาการดีขึ้น หรือ หายชั่วคราว แต่ไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ จากลักษณะนี้ทำให้เกิดความหงุดหงิดในการรักษาทั้งแพทย์ และ ผู้ป่วย การรักษาพบว่าดีขึ้นได้มากขึ้น ถ้าผู้ป่วยทราบว่าลักษณะโรคนี้ ดีขึ้นแต่ไม่หาย และ ไม่ได้เกิดจากสาเหตุโรคร้ายแรงใด ๆ เลย ดังกล่าว
---------    เพลงประกอบรายการ  เพลง Cinderella (Tata)  ---------
อ. อรรถการ: เมื่อท่านผู้ฟังได้ทราบรายละเอียดของโรค IBS กันแล้วครับ ก็คงอยากทราบว่า IBS มีวิธีการรักษาอย่างไรครับ
นิสิต: IBS เป็นโรคที่ต้องอาศัยการรักษาอย่างเป็นทีม หรือหลายๆอย่างผสมผสานกันไป  อันดับแรกต้องวินิจฉัยให้ได้แน่ชัดเสียก่อน มีวิธีการรักษา และ ยารักษามากมาย บางครั้งต้องอาจใช้ยาหลายกลุ่มเข้ารักษาร่วมกัน เนื่องจากโรคนี้มีหลายกลุ่มย่อย และ การตอบสนองต่อยาก็แตกต่างกัน บางครั้งอาจต้องใช้วิธีปรับยาหลายครั้งจึงดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับความเข้าใจโรคดังกล่าวด้วยว่าโรคนี้ไม่ร้ายแรง รวมทั้งต้องติดตามการรักษาและมีการอธิบายอาการอย่างละเอียด ระหว่างผู้ป่วย และ แพทย์ที่รักษาด้วย จึงทำให้ผลการรักษาดีขึ้น อันดับต่อไป ทำความคุ้นเคยกับแพทย์ที่จะดูแลท่าน เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง ก็ย่อมต้องมีหมอที่เข้าใจในการรักษาระยะยาว
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรค  จึงยังไม่มียาเฉพาะโรคนี้  แพทย์จะให้การรักษาตามความเด่นของอาการ เช่น
- ถ้ามีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่นก็ต้องเพิ่มอาหารที่อุดมด้วยเส้นใย ถ้ายังไม่ถ่ายอาจเพิ่มยาระบาย
- ถ้ามีอาการท้องเสียเป็นอาการเด่น ก็ต้องดูแลเรื่องอาหารว่ามีตัวไหนก่อให้เกิดอาการท้องเสียหรือไม่  เช่น บางคนแพ้นมเพราะขาดน้ำย่อย ย่อยนมวัว ก็ต้องเลี่ยงดื่มนมวัว นอกจากนี้ น้ำตาล sorbitol ที่มีอยู่ในหมากฝรั่งอาจทำให้บางคนท้องเสียได้
- ใช้ยาลดท้องเสีย อาทิเช่น Diphenoxylate หรือ Loperamide โดยบางคนอาจต้องใช้ยากล่อมประสาทกลุ่ม TCA ร่วมรักษาด้วย เพื่อร่วมบรรเทาอาการปวด และทำให้กล้ามเนื้อลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น
- ถ้ามีอาการปวดท้อง ท้องอืดนำ ก็ต้องทบทวนเรื่องอาหาร ยาระงับปวดท้อง เช่น Hyoscyamine อาจนำมาใช้ในผู้ที่มีอาการปวดมวนท้อง  และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้แก๊สมากๆ เช่น ถั่ว
และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นตัวการทำให้อาการกำเริบ เช่น อาหารอุดมด้วยไขมัน อาหารก่อให้เกิดแก๊ส น้ำตาลฟรุกโตส น้ำตาลซอร์บิทอล ธัญพืช นมสด และอาหารที่แพ้
การช่วยเหลือ ความเครียด หรือ แก้ปัญหาซึมเศร้า จิตเวช – ตามที่กล่าวแล้วว่า ความเครียด และ ความกังวลใจ อาจทำให้โรคนี้เป็นมากขึ้นได้ในบางราย ผู้ป่วยควรนึกคิด และ ปรึกษาปัญหาในกลุ่มนี้กับแพทย์อย่างตรงไปตรงมา เพื่อช่วยแพทย์ในการพิจารณาให้การรักษา
•  ผู้ป่วยบางคนอาจดีขึ้นเมื่อปรึกษากับจิตแพทย์ ร่วมกับให้ หรือ ไม่ให้ยากลุ่มนี้
• ผู้ป่วยหลายรายดีขึ้น หลังออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือดีขึ้นจากการเดิน เพราะช่วยในการทำงานของลำไส้ได้ด้วยค่ะ
อ. อรรถการ: แล้วสำหรับการรักษาโดยการการจัดการกับความเครียดช่วยรักษาโรค IBS ได้หรือไม่ครับ
นิสิต: จากการศึกษาพบว่า วิธีนี้อาจมีส่วนช่วยรักษาโรค IBS ในผู้ป่วยบางรายได้ โดยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ดังนั้น จึงอาจใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา แม้ว่า IBS ไม่ได้เกิดจากโรคประสาท แต่อารมณ์ก็มีส่วนทำให้อาการดีขึ้นหรือเลวลง มาตรการลดความเครียดจึงช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการผ่อนคลาย เทคนิคการหายใจ หรือนั่งสมาธิ การสะกดจิต จิตบำบัด ก็พบว่าปัจจุบัน มีการนำมาใช้ในการรักษาด้วยค่ะ
อ. อรรถการ: ตอนนี้ท่านก็ได้ทราบโรค IBS รวมถึงวิธีการรักษากันไปแล้วนะครับ  วันนี้เวลาของเราก็หมดลงแล้ว ต้องขอขอบคุณ รุ่งนพิศ สุทธิพงษ์ สำหรับเนื้อหาสาระที่นำมาเสนอนะครับ พบกันใหม่ในคราวหน้า  กับรายการพบเภสัชกรนะครับ อย่าลืมนะครับมีปัญหาเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกรนะครับ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
---------    เพลงประกอบรายการ  เพลง Heart breaker (Mariah carey)---------


ขอบคุณ www.pha.nu.ac.th/paisach/files/ibs.doc

ไอพี: ไม่แสดง

#2 | K_C (ไม่เป็นสมาชิก) | 21 ก.ย. 52 21:12 น.

หลัการเขียนบทวิทยุกระจายเสียง
ประเภทรายการวิทยุ
        การผลิตรายการวิทยุกระจายเสียงเพื่อการศึกษาจะต้องกำหนดว่าจะจัดรายการประเภทใด ผู้จัดจะต้องพิจารณาให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ของรายการนั้นๆ ว่าจะจัดเพื่ออะไร จัดเพื่อใคร และจะจัดอย่างไร หากมีความกระจ่างในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้แล้วก็จะง่ายต่อการตัดสินใจกำหนดรูปแบบในการเสนอรายการนั้น ๆ เช่นรายการเพื่อความรู้อาจจะจัดให้อยู่ในรูปของบทความ สารคดี การสัมภาษณ์ การอภิปราย นอกจากนี้ก็อาจจะจัดรายการบันเทิงที่มีการสอดแทรกความรู้ไว้ด้วย ที่เรียกว่า รายการสาระบันเทิง ก็อาจกำหนดรูปแบบเป็นรายการละคร หรือ รายการเพลง และอาจนำเอาลักษณะที่น่าสนใจของหลายรายการมารวมกันก็ได้

        1 รายการข่าว (News Programme)การเสนอเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือกำลังเกิดขึ้น เป็นที่น่าสนใจ สนองความอยากรู้และมีผลกระทบต่อผู้ฟังโดยส่วนรวม
        2 รายการสนทนา (conversational program) เป็นการสนทนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งระหว่างผู้ร่วมรายการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีผู้ดำเนินรายการควบคุมการสนทนาให้อยู่ในขอบเขตของเรื่องและเวลา สามารถแสดงความคิดเห็นร่วมไปกับการสนทนาได้ด้วย รวมทั้งสรุปการสนทนา ความยาวรายการประมาณ 5 - 30 นาที มีบรรยากาศที่เป็นกันเองมากกว่ารายการสัมภาษณ์
        3 รายการอภิปราย (discussion program)เป็นรายการที่ผู้ร่วมรายการมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มีผู้ดำเนินรายการเป็นผู้ควบคุมให้รายการดำเนินไปตามขอบเขตที่วางไว้ ทำหน้าที่นำการอภิปราย เน้นหรือสรุปความเห็นของผู้ร่วมอภิปรายเท่านั้น ต้องไม่ร่วมแสดงความคิดเห็นในการอภิปรายด้วย
        4 รายการสัมภาษณ์ (interview program) เป็นรายการพูดคุยกันในลักษณะการซักถามและตอบปัญหาหรือแสดงความคิดเห็นระหว่างบุคคล 2 คนขึ้นไป โดยมีผู้ซักถามคือ ผู้สัมภาษณ์คนหนึ่ง ส่วนผู้ตอบคำถามหรือผู้ถูกสัมภาษณ์ แบ่งเป็นการสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ การสัมภาษณ์แบบกึ่งทางการ การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ
        5 รายการบทความวิทยุ (talk program)  เป็นรายการที่มีลักษณะเป็นแบบพูดคุยตามบทที่เขียนขึ้น มีเนื้อหาสั้น ๆ มีความยาวตั้งแต่ 1-2 นาที ไปถึง 5-10 นาที การฟังต้องตั้งใจฟังการพูดจากคน ๆเดียว พูดได้ไม่จำกัดเวลา แต่หากใช้เวลามากเกินไปกว่านี้ จะน่าเบื่อ
        6 รายการสารคดี (documentary program)  รายการที่เสนอเรื่องราวเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างละเอียดเจาะลึกตลอดรายการ ด้วยวิธีการเสนอรายการที่หลากหลาย เพื่อมิให้ผู้ฟังเบื่อและสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้ตลอดรายการ เรียกได้ว่าเป็นการเสนอเรื่องราวเพียงหัวเรื่องเดียวอย่างละเอียด ด้วยรูปแบบการเสนอรายการอย่างหลากหลาย (Variety) ขณะเดียวกันก็ต้องมีสิ่งเชื่อมโยงกันให้มีความเป็นเอกภาพ โดยทั่วไปการนำเสนอรายการสารคดีมี 2 รูปแบบ คือ มีผู้บรรยายเป็นผู้เล่าประกอบกับเทปแทรกที่มีการบันทึกไว้ล่วงหน้าแล้วและแบบเล่าเรื่อง ด้วยการใช้เทปแทรกต่อเนื่องโดยไม่ใช้ผู้บรรยาย ประเภทของสารคดีมีทั้ง สารคดีทั่วไป สารคดีท่องเที่ยว สารคดีเนื่องในโอกาสพิเศษ และ สารคดีเชิงข่าว
        7 รายการละคร ( drama program) เป็นรายการที่มีการจัดฉากการแสดงบทบาทของตัวละคร ไปตามเรื่องที่เขียนขึ้น อาจเป็นเรื่องชีวิตจริง หรือ นิยาย ก็ได้ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ฟัง และสร้างเรื่องให้ง่ายต่อการเข้าใจ
        8. รายการเพลง (song program) รายการที่มุ่งให้ความบันเทิงเป็นหลัก ตามประเภทของเพลง ได้แก่ เพลงสากล เพลงไทยสากล เพลงลูกทุ่ง เพลงคลาสสิค การจัดรายการเพลงจะเปิดเพลงอย่างเดียวหรือพูดสลับให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังด้วย
        9.รายการนิตยสารทางอากาศ (magazine program) รายการที่เสนอเนื้อหาที่ประกอบด้วยเรื่องหลาย ๆ เรื่องรวมอยู่ในรายการเดียวกัน มีวิธีการเสนอหลากหลายรูปแบบ มีการเชื่อมโยง (Linking) จากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งอย่างกลมกลืน ให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในรายการ โดยผู้ฟังไม่รู้สึกขัดหู การเชื่อมโยงแต่ละเรื่องเข้าด้วยกัน สามารถเชื่อมได้ 2 วิธี คือ ด้วยคำพูดและดนตรี มีทั้ง นิตยสารข่าว นิตยสารเฉพาะเรื่อง นิตยสารเฉพาะกลุ่ม และนิตยสารหลากหลาย

กระบวนการผลิตรายการ ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ  ดังนี้
โดยสามารถสรุป แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน



        1. ขั้นเตรียมการหรือขั้นก่อนการผลิต (Preparation or Pre-production)
        2. ขั้นออกอากาศหรือขั้นการผลิตรายการ (On air or Production)



        3. ขั้นหลังการผลิตรายการ (Post-production)





บุคลากรในการผลิตรายการ
        การผลิตรายการเป็นงานที่ต้องอาศัยทีมงานที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้งปัจจุบันการทำงานในงานวิทยุกระจายเสียงอาศัยบุคลากรจำนวนมากขึ้น การทำงานเป็นทีมมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อให้รายการมีคุณภาพและได้รับความนิยม
        1. ผู้ผลิตรายการหรือผู้ควบคุมรายการ (Producer หรือ Radio Producer) เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการให้มีรายการใดรายการหนึ่งเกิดขึ้นจนออกอากาศ เป็นผู้วางแผนและควบคุมในการปฏิบัติ
        2. ผู้กำกับรายการ (Programme Director) เป็นผู้กำกับ ควบคุม ให้คำแนะนำในระหว่างการผลิตรายการเพื่อให้ เป็นรายการที่สมบูรณ์ ผู้กำกับรายการมักเป็นคน ๆ เดียวกับผู้ควบคุมรายการ
        3. ผู้เขียนบท (Script Writer) เป็นผู้นำแนวความคิด เค้าโครงเนื้อหามาตีความ เพื่อถ่ายทอดออกเป็นเสียงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด เสียงดนตรี เสียงประกอบ โดยมีการนำเสนอที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้ฟังได้รับความรู้ ความ บันเทิง เกิดความเข้าใจ อารมณ์ ความรู้สึกคล้อยตามได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการนำเสนอรายการ
        4. ผู้ดำเนินรายการ(Presenter) เป็นผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดข่าวสารต่าง ๆ ด้วยคำพูด วิธีนำเสนอรายการ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจ มีหน้าที่มากมายสำหรับผู้ถ่ายทอดสาร ได้แก่ ผู้ประกาศของสถานี (Radio Announcer) ผู้อ่านข่าว (Radio Newscaster) ดีเจ. (Disc jockey) ผู้ดำเนินรายการ (Radio Moderator ) หรือ AP (Air Personality) เป็นต้น ผู้ทำหน้าที่ประกาศต่าง ๆ เหล่านี้ ควรมีความรู้อย่างกว้างขวางและสามารถใช้เครื่องมือได้ด้วย ซึ่งในที่นี้จะขอใช้คำว่า ผู้ดำเนินรายการ แทนชื่อตามตำแหน่งต่างๆ ทั้งหมด
        5. เจ้าหน้าที่เทคนิค (Technicial Staff) ทำหน้าที่รับผิดชอบงานด้านเทคนิค ได้แก่ เจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลรับผิดชอบการควบคุมเสียงจากแหล่งเสียงต่าง ๆให้มีคุณภาพเสียงที่ดี บางครั้ง ดีเจ. เป็นผู้ควบคุมเสียงเอง
        6.ผู้แสดง (Actors) รายการวิทยุประเภทที่มีผู้แสดงคือ รายการละครวิทยุ ซึ่งผู้แสดงต้องตีบทให้แตก ควรฝึกฝนเรื่องการใช้เสียงเป็นพิเศษ โดยการอ่านบท และบุคลิกลักษณะของตัวละคร ซึ่งต้องอาศัยการฝึกซ้อม
        7. วิทยากรหรือแขกรับเชิญ (Specialist or Guest) รายการบางประเภท เช่น รายการสัมภาษณ์ รายการอภิปราย เพื่อการศึกษา จำเป็นต้องเชิญผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

การวางแผนการผลิตรายการ
        การดำเนินงาน จะมีลักษณะเป็นรูปแบบรายการใดรูปแบบรายการหนึ่งชัดเจน เช่น รูปแบบรายการเพลง รูปแบบรายการข่าว ผู้ผลิตรายการหรือผู้ควบคุมการผลิตจะรับผิดชอบรายการในช่วงเวลาหรือประเภทรายการ ดังนั้น สิ่งที่ควรทราบก่อนในเบื้องต้นเพื่อวางแผนการผลิตรายการ คือ
        1. วัตถุประสงค์และนโยบายของสถานีและบริษัทผู้ผลิตรายการ
        2. ผู้ฟังเป้าหมาย
        3. สถานี เวลาออกอากาศ ความยาวรายการ
        4. ทรัพยากรที่มีอยู่ของสถานีหรือบริษัท ได้แก่ บุคลากร งบประมาณ อุปกรณ์ ระยะเวลา
        5. ศึกษาตัวอย่างที่ดี เพื่อนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับรายการ หรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความซ้ำซากจำเจ
        6. วางแผนการผลิตรายการ
        6.1 กำหนดวัตถุประสงค์รายการ เพื่อให้การผลิตรายการเป็นที่ต้องการว่าจะมุ่งนำเสนออะไรแก่ผู้ฟัง
        6.2 กำหนดโครงร่างของรายการ ได้แก่ เนื้อหา ประเด็นของเนื้อหา รูปแบบรายการ แขกรับเชิญ/วิทยากร

        6.3 เขียนบท ผู้เขียนบทจะนำแนวคิดและประเด็นคร่าว ๆ หรือโครงร่างของรายการที่ได้รับจากผู้ผลิตรายการ ไปสร้างจินตนาการและเรียบเรียงออกมาเป็นข้อความ (คำพูด) เสียงเพลง เสียงประกอบ ต่าง ๆ ตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียนบท โดยการศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่
        - แหล่งข้อมูลบุคคล เช่น นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ
        - แหล่งข้อมูลเอกสารและสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์ เทปเสียง อินเทอร์เน็ต
        - แหล่งข้อมูลที่เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ เช่น สถานที่เกิดเหตุ สถานที่ในท้องเรื่อง 



        ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มานี้จะนำมาวางโครงร่างของบทว่า ในรายการมีเรื่องหรือประเด็นอะไร ลำดับเนื้อหาอย่างไร มีวิธีการนำเสนออย่างไร แต่ละช่วงรายการมีความยาวเท่าไร จากนั้นจึงเขียนบท
        6.4 การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์รายการ เมื่อได้บท ข้อมูล ประเด็นคำถามหรืออื่น ๆ พร้อมแล้ว ก็ต้องมาพิจารณาอีกว่า ต้องใช้วัสดุรายการอะไร ควรเตรียมให้พร้อมก่อนการผลิตรายการ ดนตรี เสียงประกอบ เทปเสียงที่ต้องการใช้ ไมโครโฟนที่เหมาะสมกับงาน การสำรองวัสดุที่ใช้ในการบันทึกเสียงและการตัดต่อเทป
การเตรียมเทปแทรก (Insert Tape) ในรายการสารคดี นิตยสารทางอากาศ สัมภาษณ์ มักใช้การบันทึกเสียงนอกสถานที่มาประกอบในรายการ เทปเหล่านี้ถ้ามีความยาวมากไปหรือไม่สมบูรณ์จะต้องนำมาตัดต่อให้ได้เนื้อหาที่ต้องการ ภายในเวลาที่กำหนด การเตรียมเทปแทรกควรบันทึกลงในเทปเสียง แยกเป็นแต่ละส่วนไว้ เพื่อใช้งานได้สะดวก โดยเขียนบอกรายละเอียดไว้ในบทด้วยว่า เทปนี้เป็นเรื่องอะไร เสียงของใคร ขึ้นต้นด้วยข้อความ/คำพูดอะไร ลงท้ายด้วยข้อความ/คำพูดอะไร
        6.5 การประสานงานบุคลากร โดยเฉพาะกับแขกรับเชิญหรือวิทยากร ต้องติดต่อล่วงหน้า นัดหมายเวลา สถานที่ที่จะบันทึกเสียง กรณีรายการสด หากแขกรับเชิญหรือผู้ร่วมรายการไม่สามารถมาออกอากาศได้จะต้องทำเทปล่วงหน้าหรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนผู้ร่วมรายการ หรือต้องเปลี่ยนประเด็นที่จะเสนอหรือไม่
        6.6 จองห้องบันทึกเสียง กรณีเป็นรายการเทป
        7. ขั้นการซักซ้อม (Rehearsal) การซ้อมเป็นสิ่งจำเป็นในการผลิตรายการ โดยเฉพาะผู้ดำเนินรายการ ผู้อ่านข่าว ผู้แสดงละครวิทยุ ต้องซ้อมการอ่านบท เพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหา ประเด็นคำถาม เรื่องราว อารมณ์ของบท ไม่ว่ารายการประเภทใดหากได้ซ้อมก่อนย่อมสร้างความมั่นใจในการทำงานทั้งสิ้น
วัตถุประสงค์การซ้อม
        1. เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการพูด ไม่ประหม่า ตื่นกลัว
        2. เกิดความราบรื่น ไม่ผิดพลาดบ่อย ๆ ทำให้เกิดความน่าฟัง ไม่เสียอารมณ์
        3. เป็นการตรวจสอบการอ่าน ได้แก่ คำยาก คำเฉพาะ การแบ่งวรรคตอน
        4. ทำให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหา เรื่องราวและอารมณ์ของบทหรือตัวละคร โดยใช้ลีลา น้ำเสียงจังหวะวรรคตอน ทำให้ผู้ฟังสามารถจินตนาการได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ผู้เขียนบท

ไอพี: ไม่แสดง

#3 | K_C (ไม่เป็นสมาชิก) | 21 ก.ย. 52 21:15 น.

ประเภทของการซ้อม
        1. การซ้อมอ่านบท (Script Reading) เป็นการทำความเข้าใจเนื้อหา การอ่านออกเสียง การแบ่งวรรคตอน การแสดงอารมณ์ ความรู้สึก บรรยากาศอย่างถูกต้อง การซ้อมอ่านบทยังเป็นการตรวจความถูกต้องของภาษาและข้อมูลได้อีกขั้นหนึ่ง เนื่องจากเคยปรากฏเสมอว่า บทที่เขียนมายังขาดความถูกต้องหรือบทไม่มีความชัดเจน เช่น การส่งโทรสารหรือเป็นความผิดพลาดจากผู้เขียนบทเองก็ได้
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรายการประเภทใด หากได้ซ้อมอ่านบทก่อนย่อมสร้างความมั่นใจในการทำงานทั้งสิ้นยิ่งปัจจุบันการนำเสนอรายการส่วนใหญ่เป็นรายการสด ความถูกต้องของข้อมูลต้องตรวจสอบเป็นอย่างดี
        2. การซ้อมแห้ง (Dry Run) เป็นการซ้อมคิวหรือกำหนดคิวว่าใครจะทำอะไรก่อนหลังอย่างไร การซ้อม
ฟังความถูกต้อง การซ้อมจับเวลาบท การซ้อมแบบนี้มักไม่ใช้อุปกรณ์การผลิตใด ๆ
        3. การซ้อมกับไมโครโฟน (Microphone Rehearsal) เป็นการซ้อมที่ต้องใช้อุปกรณ์ เช่น ไมโครโฟนในห้องบันทึกเสียง เพื่อตั้งระดับความดัง-เบาของเสียงให้เหมาะสม หรือการซ้อมไปพร้อมการใส่ดนตรี เสียงประกอบ อย่างไรก็ตามแต่ละรายการมีความต้องการการซ้อมในระดับที่ต่างกัน นอกจากนี้หากรายการที่มีความยุ่งยาก เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตควรซ้อมการวางคิวเสียง วัสดุประกอบรายการต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนการออกอากาศ

การตรวจสอบคุณภาพและประเมินรายการ
        1. การประเมินคุณภาพของรายการ เป็นการพิจารณาว่ารายการที่ผลิตสมบูรณ์แล้ว มีความเหมาะสมที่จะออกอากาศได้หรือไม่ ทั้งด้านเทคนิคการผลิต ความเข้าใจในเนื้อหาสาระและเรื่องคุณภาพเสียง เช่น ความชัดเจนของสัญญาณเสียง รายการยาวเกินไปหรือไม่ เป็นต้น
        2. การประเมินผลรายการ เป็นการประเมินความสนใจ ทัศนคติกลุ่มผู้ฟังเป้าหมายที่มีต่อรายการ หลังจากที่รายการนั้นได้ออกอากาศไปแล้ว เพื่อนำผลการประเมินมาใช้ปรับปรุงรายการให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

ความรู้ความสามารถที่พึงมีของผู้ดำเนินรายการ
        1. การใช้ภาษาที่ถูกต้อง
        2. การพูด - อ่านออกเสียงที่ถูกต้อง การพูด - อ่านเพื่อคนฟัง การพูดเป็นการสื่อสารทางเดียว เพราะผู้ฟังไม่เห็นหน้า เพราะฉะนั้น เสียง ลีลาการอ่านต้องดึงดูดความสนใจผู้ฟังให้ได้
        3. ความสามารถในการถ่ายทอดอารมณ์ แสดงการสื่อความคิด ความหมาย
        4. มีความรู้กว้างขวาง ใฝ่หาความรู้ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ อย่างละเอียดทั้งในทางบวกและลบ เพื่อสามารถเปรียบเทียบแง่คิดต่าง ๆ ได้ ติดตามเหตุการณ์รอบตัวอยู่เสมอ
        5. เข้าใจงานวิทยุกระจายเสียง รูปแบบ ประเภทของรายการ
        6. มีความสามารถ เข้าใจในเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ต้องใช้งานพอสมควร

คุณสมบัติที่พึงมีของผู้ดำเนินรายการ
        1. มีเสียงดี ชัดเจน
        2. เชื่อมั่นในการพูดของตัวเอง ผู้ดำเนินรายการสามารถชนะใจผู้ฟังได้ด้วยน้ำเสียง เสียงที่เปล่งออกมาด้วยความ มั่นใจ มั่นคงและไม่ลังเล เพราะถ้าผู้ฟังจับได้ว่าผู้พูดไม่แน่ใจในสิ่งที่พูด ผู้ฟังก็ขาดความเลื่อมใสในรายการ
        3. เอาใจใส่ผู้ฟัง เรียนรู้ความต้องการ รสนิยมผู้ฟัง ผู้พูดต้องสนใจผู้ฟังโดยศึกษาปฏิกริยาจากผู้ฟังทั้งในและนอกเวลาปฏิบัติหน้าที่และคิดหาเหตุผลว่าปฎิกริยาที่มีต่อเรา ต่อการทำงานของเราเป็นเพราะเหตุใด มีอะไรต้องแก้ไข ไม่ควรใช้ความชอบของตนเองวัดว่าคนอื่นต้องชอบ
        4. มีไหวพริบ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี งานกระจายเสียงเป็นงานที่เกิดความผิดพลาดได้ง่ายจึงประมาทไม่ได้ ดังนั้นถ้าเกิดความผิดพลาดต้องรีบแก้ไข ยอมรับ เช่น ถ้าอ่านผิด ต้องรีบขออภัยและแก้ไขโดยเร็ว
        5. ใจเย็น ไม่ตื่นเต้นตกใจง่าย สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี
        6. มีการตัดสินใจที่ดี
        7. ใจกว้าง ยอมรับฟังคำติ – ชม ไม่โกรธ เพราะสิ่งต่าง ๆ นี้เป็นส่วนสำคัญของการปรับปรุงรายการและตัวเรา
        8. ตรงต่อเวลา
        9. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถปรับตัวและเข้ากับคนทุกชนชั้นทุกประเภททั้งในเวลา นอกเวลาทำงาน
        10. มีอารมณ์ขัน ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ จำไว้ว่าเสียงที่เปล่งออกมาเป็นเงาสะท้อนอารมณ์ผู้พูดว่ามีอารมณ์เช่นไร
        11. มีความกระตือรือร้น ทำงานให้ดีเรื่อย ๆ แสวงหา ความรู้ใหม่ ๆ ปรับปรุงวิธีการพูด ไม่กล่าวประโยคซ้ำๆ
        12. การแสดงออกทางน้ำเสียง การเลือกใช้คำพูด รู้จักชม คนอื่นด้วย ไม่ยกตัว จริงใจต่อหน้าที่ อย่านึกถึงแต่รายได้
        13. ความอดทน สามารถอดทนต่อความจำเจ การประกาศซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง ทุกวัน การซ้อมอ่านหลาย ๆ ครั้ง และ ต่อสภาพวุ่นวายในการทำงาน
        14. สุขภาพร่างกายและจิตใจดี รักษาอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง เพราะต้องพร้อมต่อการปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกเวลา
        15. มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ต้องรู้ว่าพูดกับใครและคิดด้วยว่าพูดอย่างนี้เขาจะรู้สึกอย่างไร จะสนใจไหม
        16. เป็นพลเมืองที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้ฟัง
        17. มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม จะทำให้งานรวดเร็วและประสานกัน ส่งผลต่อ ความสำเร็จของงาน
        18. มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน รับผิดชอบในผลที่เกิดขึ้นจากการพูดของเรา รับผิดชอบต่อผู้ฟังของเรา
        19 มีความสุภาพด้านการใช้ภาษาพูด เสียงที่สุภาพ กริยาอาการ เหล่านี้เกิดจากการสำรวมความคิด อารมณ์ และการ พูดคุยที่ถูกกาลเทศะ
        20. มีสายตาที่ว่องไวและแน่นอน สามารถอ่านและดูเวลาไปพร้อม ๆ กันได้

การเขียนบทวิทยุกระจายเสียง
        บทวิทยุกระจายเสียง หมายถึง ข้อความที่บอกกล่าว เล่าเรื่อง เหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นรายละเอียดของรายการวิทยุกระจายเสียงตั้งแต่ต้นจนจบรายการอย่างมีลำดับขั้นตอน เพื่อใช้ถ่ายทอดด้วยเสียงให้ผู้ฟังจินตนาการเป็นภาพตรงตามวัตถุประสงค์ผู้บอกกล่าว ตลอดจนทำให้รายการดำเนินไปอย่างมีทิศทางตามขอบเขตเนื้อหา รูปแบบรายการที่กำหนดไว้  ความสำคัญของบทวิทยุกระจายเสียง เป็นสิ่งที่บอกเนื้อหาสาระ รูปแบบ ลำดับการนำเสนอ ตลอดจนรายละเอียด เป็นแนวทางให้ผู้ทำงานทราบว่าใคร จะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร,เป็นการบอกล่วงหน้าให้ผู้ทำงานแต่ละหน้าที่ทราบว่าจะต้องทำอะไร เช่น ผู้ดำเนินรายการจะพูดอะไร เมื่อไร ผู้คุมเสียงจะเปิดเพลงอะไร และไว้เพื่อค้นคว้าได้

ประเภทของบทวิทยุกระจายเสียง แบ่งได้เป็น
        1.บทโครงร่างรายการอย่างคร่าว ๆ (Rundown Sheet) เป็นบทที่บอกคิวการดำเนินการระหว่างการผลิตรายการตั้งแต่ต้นจนจบว่า ใครจะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร บทแบบนี้จะไม่มีรายละเอียดของเนื้อหาและมักเป็นการใช้และเป็นที่เข้าใจเฉพาะผู้ร่วมงาน รายการที่ใช้บทแบบนี้ คือ รายการเพลง สารคดี สัมภาษณ์ นิตยสารทางอากาศ
        2. บทวิทยุกระจายเสียงแบบกึ่งสมบูรณ์ (Semi-script) เป็นบทที่มีรายละเอียดของเนื้อหา ตามลำดับขั้นตอน มีคำพูดที่สำคัญ ๆ และเสียงที่ต้องการใช้ โดยมีบางส่วนที่เปิดกว้างไว้ไม่กำหนดรายละเอียดลงไป เช่น บรายการ สัมภาษณ์ สัมภาษณ์ อภิปราย นิตยสารทางอากาศ สารคดี
        3. บทวิทยุกระจายเสียงแบบสมบูรณ์ (Fully Script) เป็นบทที่มีคำพูดทุกคำพูด เรียงลำดับตามขั้นตอน เช่น บทละคร บทโฆษณา รายการสารคดี นิตยสารทางอากาศ ข่าว บทความ





ส่วนประกอบของบทวิทยุกระจายเสียง
        1. ส่วนหัว (Heading) จะบอกชื่อรายการ ชื่อเรื่อง/ตอน สถานีที่ออกอากาศ/ความถี่ วัน-เวลาที่ออกอากาศ
        2. ส่วนเนื้อหา (Body) เป็นรายละเอียดของเนื้อหา เรื่องราว ตามลำดับ เป็นส่วนที่บอกถึง ผู้เกี่ยวข้องในรายการว่าจะต้องทำอะไร
        3. ส่วนปิดท้าย (Closing or Conclusion) เป็นส่วนสรุปเนื้อหา กล่าวขอบคุณผู้ร่วมรายการดังจะได้นำเสนอให้เห็นภาพรวมในตารางข้างล่างนี้ซึ่งทั้งสามส่วนจะต้องพิจารณาดูว่าเป็นรายการประเภทใด ใช้รูปแบบการนำเสนอแบบใด

(ส่วนหัว) ชื่อรายการ ชื่อเรื่อง/ตอน สถานีที่ออกอากาศ/ความถี่ วัน-เวลาที่ออกอากาศ

ลำดับ
เสียง
บรรยาย
รูปแบบ
นาที










1
INTRO…….Title
ผู้ดำเนินรายการ/ทักทาย/เกริ่น
จิ้งเกิ้ล/เพลง/นำรายการ/สนทนา

2
CONTENT(ส่วนเนื้อหา)
ผู้ดำเนินรายการเข้าสู่สาระ
สัมภาษณ์/พูดคุย/เพลง

3
CONCLUSION (สรุป)
สรุปสาระทั้งหมด/ลารายการ

จุดเริ่มการเขียนบทวิทยุกระจายเสียง
        1. กำหนดแนวคิดรายการ แนวคิดรายการจะเป็นแนวทางให้เราไปสู่เป้าหมายว่าเราจะทำอะไร จะนำเสนออะไร ทั้งนี้ก่อนการเขียนบทผู้เขียนบทต้องทราบวัตถุประสงค์รายการ ข้อมูลพื้นฐานของรายการ เพื่อกำหนดแนวคิดรายการ แนวคิดรายการเกิดจากแนวคิดของผู้เขียนบทเองหรือจากแนวคิดที่อื่นแล้วนำมาดัดแปลงขยายเป็นแนวคิดรายการ การกำหนดแนวคิดต้องคำนึงถึงผู้ฟังเป้าหมายของรายการว่ามีความเหมาะสม มีประโยชน์หรืออยู่ในความสนใจของผู้ฟังหรือไม่ แนวคิดรายการจะสามารถนำเสนอในรูปแบบรายการอย่างไรที่เหมาะสมกับผู้ฟังเป้าหมาย เวลาและความยาวของรายการ
        2. การค้นคว้า เป็นงานที่สำคัญของผู้เขียนบท การค้นคว้าข้อมูลจะได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ ห้องสมุด หนังสือประเภทต่าง ๆ การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ผู้เขียนบทมักเป็นผู้ที่ต้องค้นคว้าหาข้อมูลเอง
        3. เขียนบท เมื่อได้ข้อมูล ควรกำหนดใจความย่อหรือเค้าโครงเรื่องก่อน จากนั้นจึงมากำหนดโครงสร้างรายโดยยึดหลักว่า ขึ้นต้นรายการ ดำเนินเนื้อหาให้เข้าใจง่าย น่าสนใจ สรุปเนื้อหาและปิดรายการอย่างประทับใจ
        4. ตรวจทานบท เมื่อเขียนเสร็จควรตรวจทานบทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อดูว่าการใช้ภาษาชัดเจน เหมาะสม ถูกต้องหรือไม่ สะดวกในการอ่านออกเสียงหรือไม่ ฟังเป็นธรรมชาติ ไม่ขัดหูหรือไม่ ความน่าสนใจ ความครบถ้วนของเนื้อหา การลำดับเนื้อหาเป็นอย่างไร เวลาของรายการได้ตามกำหนดหรือไม่ (รวมดนตรีและเสียงประกอบ)
เมื่อปรับปรุงบทเรียบร้อยแล้วจึงแจกจ่ายบทให้ทีมงาน เพื่อดำเนินการผลิตรายการต่อไป





ขั้นตอนการเขียนบทรายการ
        1. ขั้นเริ่มรายการ (Introduction) เป็นขั้นเรียกร้องความสนใจ ใช้เทคนิคการตั้งคำถาม ใช้เสียงประกอบ
        2. ขั้นจัดรูปและตกแต่งรายการ (Development) นำเอาแก่นของเรื่องมาขยายแล้วจัดให้เป็นรูปแบบรายการที่น่าสนใจ ใช้เทคนิคต่าง ๆ ให้เหมาะสม ขั้นนี้มีความสำคัญที่จะทำให้รายการมีรสชาติ สมอารมณ์
        3. ขั้นสร้างจุดประทับใจหรือจุดสุดยอด (Climax) เป็นขั้นที่จะสร้างจุดประทับใจให้กับผู้ฟังในจุดที่เรียกว่าจุดวกกลับ (turn)นำแก่นของเรื่องปูพื้น แล้วหักมุมสรุป คลายปมปัญหาของเรื่อง
        4. ขั้นสรุป (Conclusion) เป็นการนำขั้นตอนทั้ง 3 ขั้นมาตอกย้ำ สรุปโดยเรียบเรียงอย่างมีระเบียบให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ดังจะได้แสดงให้เห็นสัดส่วนของรายการ ยกตัวอย่างรายการ 30 นาที

ไอพี: ไม่แสดง

#4 | K_C (ไม่เป็นสมาชิก) | 21 ก.ย. 52 21:17 น.

5 นาที
5 นาที
15 นาที
5 นาที










ขั้นที่ 1 แนะนำรายการ
ขั้นที่ 2 จัดรูปและตกแต่งรายการ
ขั้นที่ 3 เสนอประเด็นต่าง ๆ สร้างจุดประทับใจ
ขั้นที่ 4 ขั้นสรุปท้าย

หลักการเขียนบทวิทยุกระจายเสียง
        1. เข้าใจองค์ประกอบของการจัดรายการวิทยุกระจายเสียง ได้แก่ วัตถุประสงค์รายการ กลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย เนื้อหารายการ วิธีการเสนอรายการ เวลาที่ออกอากาศ ความยาวรายการ ความหลากหลายและความเป็นเอกภาพ
        2. รู้จุดมุ่งหมายของการเขียน ได้แก่
        - เพื่อบอกกล่าว (to Inform) การรายงาน เล่าเรื่อง ถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นไปยังผู้ฟังอย่างถูกต้องตามข้อเท็จจริง
        - เพื่อให้ความรู้ (to Knowledge) ให้รายละเอียดของเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
        - เพื่อโน้มน้าวชักจูงใจ (to persuade) ให้ผู้ฟังรู้สึก คิด เชื่อ มีความเห็นคล้อยตาม เชิญชวน เกิดการกระทำหรือ
ตอบสนองในทางใดทางหนึ่ง
        - เพื่อความบันเทิง ( to entertain) ให้ความเพลิดเพลิน ความสุข สบายใจ
        3. เข้าใจโครงสร้างรายการ เพื่อเป็นการสร้างความหลากหลายและความกลมกลืนของรายการ
        4. รู้จริงในเรื่องที่จะเขียน โดยได้จากการศึกษาค้นคว้า หาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ
        5. รู้เทคนิคการเขียนบท หลักง่าย ๆ คือ 5W 1H





เทคนิคในการเขียนบท มี 5 ประการ
        1. ทำไม (why) ทำไมจึงต้องเขียนบท เพื่อวัตถุประสงค์อะไร
        2. ใคร (who) คือกลุ่มผู้ฟังเป้าหมายของรายการวิทยุคือใคร
        3. อะไร (what) อะไร คือแก่นของรายการ
        4. เมื่อใด(when) วันเวลา
        5. ที่ไหน (where) สถานที่ออกอากาศ
        6. อย่างไร (how) รูปแบบรายการเป็นอย่างไร ใช้วัสดุประกอบรายการอะไรบ้าง

จขกท. เข้าเว็บนี้ดีกว่า มันเยอะอ่ะ  วิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com)

ขอบคุณ วิชาการ.คอม มากค่ะ สำหรับบทความดีๆ

ไอพี: ไม่แสดง

#5 | :qn | 21 ก.ย. 52 21:26 น.

โอ้ว

ขอบคุณมากค่า

เยอะมากๆ

ไอพี: ไม่แสดง

#6 | bellzuzu (ไม่เป็นสมาชิก) | 22 ก.ย. 52 06:44 น.

ขอโพสหน่อยนะครับ

ไอพี: ไม่แสดง

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google