อดีดดีเจเพลง อิพฮอพ กลายมาเป็นอิหม่ามดาวรุ่งของอเมริกา

27 พ.ค. 55 18:21 น. / ดู 1,826 ครั้ง / 3 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
วิลเลียม ชูอัยบ์ เวบบ์ William Suhaib Webb

วิลเลียม ชูอัยบ์ เวบบ์ ที่มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร
แปลโดย วาริษาฮ์ อัมรีล


หนุ่มอเมริกันวิลเลียม เวบบ์ ไม่เคยจำเป็นต้องหลบสาวๆ ในห้องน้ำผู้ชายตอนไปบรรยายในหอประชุมขนาดใหญ่ แต่หากเป็นอิหม่ามชูอัยบ์ เวบบ์ ละก็ คนละเรื่องกันละ เพราะชุมชนอเมริกันมุสลิมกำลังคลั่งไคล้อิหม่ามอเมริกันคนดังอย่างชูอัยบ์กันสุดๆ

“ผมแต่งงานแล้ว” เขาบอกเมื่อไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับแฟนคลับสาวๆ “นี่...ทำแบบนี้เป็นฟิตนาฮ์นะ!”

เวบบ์เป็นนักพูดที่มีมิตรรักแฟนเพลงเหนียวแน่น เสน่ห์และวิสัยทัศน์ของเขายากที่ผู้ใดจะมองข้ามไปได้ ไม่ว่าตอนที่เขาเดินเลือกซื้อหนังสือในกรุงไคโร อียิปต์ หรือนั่งบนพื้นห้องที่มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร เขาสงบเยือกเย็นเสมอ แต่นักเรียนอัล-อัซฮัรก็มีน้อยมากที่มีลักษณะเหมือนเขา – ฝรั่งผิวขาว ผมบลอนด์ ดวงตาสีฟ้า รูปร่างสูงใหญ่ แถมยังเป็นอดีตแรปเปอร์จากใจกลางประเทศสหรัฐอเมริกา

ที่สำคัญก็คือ มีนักเรียนอัล-อัซฮัรจำนวนน้อยที่มีภารกิจหนักหนารออยู่ข้างหน้าอย่างเวบบ์ เขาคือส่วนหนึ่งของแนวหน้าในกลุ่มผู้นำศาสนาของชาวอเมริกันมุสลิมรุ่นใหม่ เวบบ์กำลังพยายามแสดงให้เห็นถึงอิสลามอเมริกันที่สะท้อนทั้งมรดกของโลกตะวันออกและศรัทธาของชาวอเมริกัน





ถือกำเนิดในอเมริกา

ปีนี้เป็นการเรียนปีที่สามของเขาที่มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร เวบบ์กำลังเติบโตขึ้นท่ามกลางชาวมุสลิมในอเมริกาและอังกฤษ แต่เขามิได้ถือกำเนิดมาในฐานะอิหม่ามชูอัยบ์ เวบบ์ อย่างที่ชาวอเมริกันมุสลิมรู้จักกันในทุกวันนี้ เขาเกิดปี 1972 ในครอบครัวชาวคริสต์ที่รัฐโอกลาโฮมา ปู่ของเวบบ์เป็นนักเทศน์ในโบสถ์ “ผมมีปัญหามากในการยอมรับว่าพระเจ้าเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่ง หรือเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา” เขารำลึกถึงตอนนั้น “แม้แต่ตอนยังเด็ก ผมเคยตั้งคำถามกับแม่มากมาย ทำไมจู่ๆ พระเจ้าเป็นเพียงหนึ่งในสามส่วน (ตรีเอกานุภาพ พระเจ้าประกอบด้วย พระบิดา พระบุตร พระจิต) แทนที่พระเจ้าควรจะเป็นเพียง ‘พระเจ้า’ เท่านั้น ผมรู้สึกสับสน ผมงงว่าแล้วศาสนฑูตคนอื่นก่อนหน้าพระเยซูได้ขึ้นสวรรค์ไปได้อย่างไรก็ในเมื่อท่านเหล่านั้นไม่เคยได้กราบไหว้พระเยซู? ก็การสักการะและยอมรับพระเยซูว่าเป็นพระเจ้านั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าสู่สรวงสวรรค์นี่นา?”

เมื่ออายุได้ 14 ปี เวบบ์ได้เจอกับช่วงเปลี่ยนผ่านของวิกฤติทางจิตวิญญาณ เขาเข้าร่วมแกงค์วัยรุ่น “แม้ผมจะมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ผมไปเข้าโรงเรียนไฮสกูลที่โหดมาก” เขาอธิบาย ยุคทศวรรษ 80 เวบบ์เข้าไปอยู่ในวังวนของดนตรีฮิพฮอพ ทำงานเป็นดีเจ

“ฮิพฮอพสมัยก่อนจะเป็นเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมากกว่า สมัยนี้เขียนเนื้อร้องอะไรกันก็ไม่รู้ ไม่ได้สอดคล้องกันเลย สมัยโน้นเนื้อร้องจะเป็นเรื่องสังคมการเมือง และเป็นเรื่องของชาวผิวดำซะเกือบทั้งหมด ผมว่าคล้ายกับจะสอดคล้องกับคำสอนของอิสลามเพราะองค์กรเนชั่นออฟอิสลาม (NOI) และมัลคอล์มเอ็กซ์”

เวบบ์ให้เครดิตสิ่งนี้ว่าทำให้เขาได้สัมผัสอิสลามเป็นครั้งแรก “เป็นความรู้สึกในชุมชนชาวฮิพฮอพและชาวผิวดำในเมือง รวมทั้งเด็กผิวขาวที่เข้ามารวมกลุ่มกับพวกเขาว่า ชาวมุสลิมเป็นผู้ที่ถูกต้อง และอิสลามเป็นศาสนาที่แท้จริงของพระเจ้า เพราะมัลคอล์มเอ็กซ์ก็เดินบนเส้นทางนี้ ดังนั้นมันก็ต้องถูกต้องสิ!”

เวบบ์ได้รับอัล-กุรอานเล่มแรกตอนอายุได้ 17 ปี “ผมแอบอ่านในห้องน้ำที่บ้านถึงสามปีเต็ม เพราะแม่คงขยี้ผมเป็นผุยผงแน่หากรู้ว่าผมเอาคัมภีร์กุรอานเข้ามาในบ้าน” เขากล่าว “เรื่องใหญ่ทีเดียว!”

และก็อีกครั้งในมหาวิทยาลัยเมื่อเขาเข้าไปร่วมแกงค์วัยรุ่นที่ใช้ความรุนแรงอีก เวบบ์เคยอยู่ในเหตุการณ์เพื่อนร่วมแกงค์ขับรถไปยิงกับแกงค์อื่น เขาบอกว่านั่นคือนาฬิกาปลุกที่ทำให้เขาต้องตื่นขึ้นมาอยู่ในโลกแห่งความจริง ตอนที่เขาเป็นศิลปินมีชื่อ “แต่ภายในกลับว่างเปล่า ผมรู้สึกไม่พอใจเลย”

ปี 1992 เขาอายุได้ 20 ปี ในขณะที่นักเรียนชั้นปีหนึ่งคนอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยเข้าชมรมฟราเธอนิตี้ ใช้เวลาส่วนใหญ่เมาเหล้าหัวราน้ำบนสนามหญ้าหน้าหอพัก เวบบ์กลับกล่าวชาฮาดาฮ์ปฏิญาณตนรับอิสลาม






‘พี่ชาย, คุณเป็นชาวตะวันตก’

สำหรับเขาแล้ว การเปลี่ยนมารับอิสลามยังไม่เพียงพอ เหลืออีกแค่ปีเดียวเขาก็จะจบการศึกษาจากอัล-อัซฮัรแล้ว คว้าปริญญาศาสนาอย่างเป็นทางการมาบวกกับความรู้ที่เขาศึกษามานาน ซึ่งรวมถึงการศึกษากับปราชญ์ชาวเซเนกัลถึงสิบปีเต็มและท่องจำอัล-กุรอานภายใต้การดูแลของชี้ค เวบบ์ยังศึกษาศาสนากับชี้คชื่อดังทั้งที่อเมริกาและอังกฤษ และได้เดินทางไปยังคูเวต กาตาร์ จอร์แดน ซาอุฯ และมาเลเซีย เพื่อศึกษาเพิ่มเติม ส่วนอียิปต์เป็นประเทศแรกที่เขาทอดสมอชีวิตเพื่อใช้เวลาในการศึกษายาวนานที่สุด

องค์กรมุสลิมอเมริกันโซไซตี้เป็นสปอนเซอร์ส่งเวบบ์มาเรียนที่อัล-อัซฮัร เพื่อสร้างผู้นำศาสนารุ่นใหม่ของชาวอเมริกันมุสลิมและจัดการกับวิกฤติที่ชาวมุสลิมโลกตะวันตกต้องเผชิญ ร้อยละ 85 ของมัสยิดที่ไม่ใช่ของคนผิวดำนั้นมีอิหม่ามที่นำเขาจากต่างประเทศ อิหม่ามเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับชุมชนอเมริกันมุสลิมที่พวกเขาไม่เข้าใจ

“เรารู้สึกว่าเยาวชนอเมริกันมุสลิมสับสนมากเมื่อเจอกับอิหม่ามต่างชาติ เพราะอิหม่ามเหล่านี้ไม่รู้ว่าเยาวชนของเรามาจากไหน อิหม่ามบางคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แถมบางครั้งพวกเขาก็แสดงทัศนะและพฤติกรรมที่เราชาวตะวันตกถือว่าน่าตำหนิ เช่นความเข้าใจของพวกเขาที่เกี่ยวกับสตรีเพศและบทบาทของพวกเธอในสังคม เราเจออุปสรรคแบบนี้จนเหลือจะทน ดังนั้นจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างผู้นำศาสนาที่เป็นอเมริกันแท้ๆ”

“อิหม่ามที่มีคุณภาพก็คืออิหม่ามที่ต้องมีความรู้ด้านศาสนาและรู้จักชุมชนที่เขาต้องให้ความเห็นด้านศาสนา เราต้องการนักการศาสนาอิสลามที่เป็นอเมริกันแท้ รู้เรื่องศาสนาและเข้าใจสังคมอเมริกัน เราเลยต้องส่งเด็กอเมริกันมาเรียนศาสนาที่นี่”

ที่อเมริกามีชาวมุสลิมราว 8-9 ล้านคน แต่เวบบ์บอกว่าเขานับจำนวนนักเรียนอเมริกันที่อัล-อัซฮัรได้เพียง 9-10 คน “น่ากลัวทีเดียวละ เพราะหากนับรวมนักเรียนศาสนาจากอเมริกาที่กำลังศึกษาในซีเรีย ซาอุฯ และอาฟริกาเหนือแล้ว บางทีอาจมีเพียง 100 คนเท่านั้น และในจำนวนนี้มีน้อยมากที่ประสงค์จะกลับไปใช้ชีวิตที่อเมริกา”

แต่ความเข้าใจผิดทั้งหลายจะตำหนิแค่อิหม่ามต่างชาติเพียงอย่างเดียวมิได้ เขาบอกว่า “ปัญหายังอยู่ที่ชุมชนอเมริกันมุสลิมเองอาจมิได้ให้อิหม่ามมีส่วนร่วม มิได้สนับสนุนให้อิหม่ามเข้าใกล้ชิดกับผู้คนในชุมชน ทำให้เกิดปัญหาขึ้น”

ในฐานะที่เป็นมุสลิมใหม่ชาวตะวันตก เวบบ์พบว่าตัวเองอยู่ตรงกลางระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตก และมันก็ไม่ง่าย “มุสลิมตะวันตกมักสับสนเมื่อพูดถึงประเพณี เราถูกสอนมาว่าอิสลามตามประเพณีสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างในโลกนี้ แต่ผมว่าภาระหน้าที่ของเราชาวมุสลิมตะวันตกก็คือต้องสังเคราะห์และแสดงให้เห็นถึงอิสลามแบบตะวันตกต่างหาก”

“ไม่มีอะไรผิดในนั้นหรอก ชาวมาเลย์ก็แสดงออกถึงอิสลามแบบมาเลย์ ชาวปากีสถานชอบบิรยานี ชาวอาหรับไม่ชอบเครื่องเทศ และชาวอาฟริกันชอบแบบผสมผสาน เราชาวมุสลิมในโลกตะวันตกก็ต้องหลอมรวมตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกัน”

ในฐานะที่เป็นมุสลิมใหม่ การจะรู้ว่าบริบทไหนของตะวันออกและตะวันตกควรจะธำรงไว้หรือละทิ้งเสียถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง “ผมต้องดูที่ประเพณีก่อน ทำความเข้าใจกับมัน จากนั้นก็ต้องนำความรู้ที่ได้มาจากครูสอนศาสนามาแปลเข้าไปในประสบการณ์ของผมในฐานะชาวตะวันตก”

“เรามีพี่น้องมุสลิมใหม่ในโลกตะวันตกมากมายที่ประสบวิกฤติในการจัดการกับความทันสมัย สิ่งที่นำอำนาจอิสระมาสู่ผู้หญิง อธิปไตยสู่ชุมชนเมืองก็คือความทันสมัย สิ่งที่นำการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเข้ามาก็คือความทันสมัย”

“ในขณะเดียวกัน ทางด้านจิตวิญญาณ ผมก็มีปัญหาเรื่องความทันสมัย เพราะการขาดหายไปของพระเจ้า การขาดหายไปของพระผู้สร้าง ทำให้ผลผลิตของความทันสมัยออกมาเป็นฮิตเล่อร์และมุสโสลินี แต่เราสามารถเลือกเฉพาะส่วนที่ดีของความทันสมัยได้ ผมรู้สึกว่าผมไม่ต้องการสูญเสียอัตลักษณ์ของความเป็นชาวตะวันตก ผมไม่ต้องการแกล้งพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดียเพื่อให้ดูเป็นมุสลิม ผมเคยเจอพี่น้องมุสลิมใหม่หลายคนที่ประสบปัญหาทำนองนี้ ผมเจอมุสลิมใหม่ที่ไม่ต้องการแต่งกายแบบชาวตะวันตก ทำไมล่ะ? ก็คุณเป็นชาวตะวันตกมิใช่หรือน้องชาย! ท่านศาสนฑูตแทบไม่เคยบอกให้ใครเปลี่ยนการแต่งตัวหรือเปลี่ยนชื่อเลยยกเว้นชื่อเขามีความหมายไม่ดี”

เวบบ์เชื่อว่ามุสลิมใหม่ในโลกตะวันตกมิได้สร้างสมดุลย์ของโลกตะวันตกและโลกตะวันออกอย่างแท้จริง “งานของเราชาวมุสลิมตะวันตกก็คือต้องศึกษาศาสนาให้แตกฉาน ทำความเข้าใจและสร้างสมดุลย์ระหว่างศาสนากับสิ่งแวดล้อมของเรา เพราะเราเป็นตัวแทนแนวทางของท่านศาสนฑูตต่อชาวตะวันตก ในขณะที่ตะวันตกเป็นตัวแทนแนวทางวัตถุนิยมสำหรับเรา” เขาเชื่อว่าเคล็ดลับก็คือต้องเรียนรู้ที่จะหลอมรวมทั้งสองอย่างนี้เข้าด้วยกัน

“ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่ในโลกตะวันออก เราทุกคนได้กลายเป็นตัวแทนของโลกตะวันตก ในขณะที่เมื่ออยู่ในโลกตะวันตก เราคือตัวแทนของโลกตะวันออก ทั้งๆ ที่ผมมิได้เป็นชาวตะวันออก ก็ผมเองมีผมสีบลอนด์ มีตาสีฟ้า แต่คนจะคิดว่าผมมีประสบการณ์เกี่ยวกับตะวันออกเพราะผมเป็นมุสลิม”

ในขณะที่เมื่ออยู่ที่อียิปต์ เวบบ์ตักตวงความรู้ทุกอย่างเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการกลับคืนสู่อเมริกาบ้านเกิด เขาพยายามเป็นสะพานเชื่อมอารยธรรม “ผมรู้สึกว่าหนทางมันยังมีอีกยาวไกล ผมเองยังอยู่ในระยะเริ่มต้น สิ่งที่ผมได้ร่ำเรียนที่นี่ก็คือทฤษฎีเท่านั้น ผมจะได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นเมื่อได้กลับไปยังสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ซึ่งจะได้พิจารณาและทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา”

เวบบ์เดินตามเส้นทางของชี้คมุสลิมใหม่ผิวขาวอย่าง ฮัมซา ยูซุฟ แฮนสัน, อับดุลฮากีมมุรอด (ทิโมธี วินเทอร์), และนุฮ์ฮากีมเคลเลอร์ เวบบ์เป็นอิหม่ามดาวรุ่งพุ่งแรง แต่เขากลับบอกว่านั่นคือภาพลวงตา “คนเราต้องทำตัวติดดิน” มิใช่ไปไหนมาไหนมีบอดี้การ์ดห้อมล้อมเต็มไปหมด “ซึ่งเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ท่านศาสนฑูตไม่ต้องการให้เราเป็น” เวบบ์อธิบาย

“เราต้องระมัดระวังไม่สร้างบรรยากาศแบบนั้นขึ้นมา ตอนที่ท่านศาสนฑูตอพยพไปเมืองมาดีนา ชาวเมืองไม่รู้หรอกว่าในขบวนชาวเมกกะที่ไปนั้นคนไหนคือท่านศาสนฑูต เพราะท่านมิได้ก้าวออกมายืนข้างหน้า ท่านก็เป็นมนุษย์ธรรมดา เราต้องระมัดระวังอย่านำวัฒนธรรมคาทอลิกของโลกตะวันตกเข้ามาสู่ศาสนาเราโดยการทำให้อิหม่ามและผู้นำศาสนาอยู่เหนือความถูกต้อง”

เขาส่ายศีรษะเมื่อนึกถึงตอนที่ต้องหลบเข้าห้องน้ำเพื่อหนีกลุ่มวัยรุ่นที่พยายามเข้ามาห้อมล้อม “ผมเป็นแค่นายชูอัยบ์เวบบ์ ใครคือชูอัยบ์เวบบ์หรือ? ภรรยาผมสามารถเขียนข้อผิดพลาดของผมออกมาได้ยาวเหยียด ผมเองก็ต้องพยายามตื่นแต่เช้ามืดเพื่อลุกขึ้นมาละหมาดซุบฮิเหมือนทุกๆ คน ผมพยายามทำตัวให้เข้ากับสมาชิกในครอบครัวที่มิได้เป็นมุสลิม ตอนผมไปเยี่ยมพวกเขา ผมไม่ใช่คนเด่นดังอะไรเลย ผมก็แค่นายวิลเลียม!”

บางคนบอกว่าเวบบ์คือฮัมซา ยูซุฟ แฮนสัน คนถัดไป ซึ่งเวบบ์ปฏิเสธทันที “อย่าลดระดับฮัมซาลงมาด้วยการนำผมไปเปรียบเทียบกับเขา เขามีบทบาทของตัวเอง ส่วนผมจะเน้นที่คนระดับรากหญ้ามากกว่า ฮัมซาเป็นคนที่มีพรสวรรค์มากๆ เขามาจากวอชิงตัน ส่วนผมจากโอกลาโฮมา แต่มี่เหมือนกันก็คือ เราทั้งคู่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่!”
เลขไอพี : ไม่แสดง

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

#1 | Sunshine*Rick | 27 พ.ค. 55 18:21 น.







อัล-อัซฮัรในอเมริกา

หลังเรียนจบปริญญาจากอัลอัซฮัรเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว เวบบ์หวังว่าเขาจะกลับไปอเมริกาดังที่วางแผนไว้ ซึ่งสอดคล้องกับองค์กรมุสลิมอเมริกันโซไซตี้ เพื่อก่อตั้งอัล-อัซฮัรเวอร์ชั่นอเมริกัน “หวังว่าเราจะได้รับการรับรองจากมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร จะได้เป็นอัล-อัซฮัรอย่างเป็นทางการของโลกตะวันตก เรายังจะเริ่มต้นสอนคอร์สการเป็นอิหม่ามอย่างเป็นทางการด้วย” เหนืออื่นใดแล้ว เวบบ์ต้องการจะจัดการกับชาวมุสลิมระดับรากหญ้าในโลกตะวันตก “บางครั้งเราไปสนใจเรื่องของต่างประเทศมากเกินไป จนลืมโจ, พอล, และจอห์นที่พกอาหารกลางวันไปกินที่โรงงานถลุงเหล็ก และไม่รู้ว่าเขาสามารถละหมาดรวมดุฮ์ริและอัซริได้หรือเปล่า เพราะพวกเขาต้องทำงานทั้งวันไง”

ตอนนี้นะหรือ นักเรียนอัล-อัซฮัรคนนี้ต้องไปเข้าเรียนซะแล้ว เวบบ์เป็นเพียงแค่นักเรียนอัล-อัซฮัรคนหนึ่งในจำนวนหลายพันคนซึ่งอาจารย์ไม่ได้อลุ้มอล่วยกับนักเรียนอเมริกันคนนี้เป็นพิเศษหรอก เวบบ์มีสิ่งที่ท้าทายรออยู่เบื้องหน้า เขารู้ว่างานหนักหนาที่สุดรอเขาอยู่ที่อเมริกา มันโหดกว่างานที่ชี้คของอัล-อัซฮัรให้เขาทำในวันนี้มากนัก.

http://www.suhaibwebb.com/

ไอพี: ไม่แสดง

#2 | Martinie||zap (ไม่เป็นสมาชิก) | 27 พ.ค. 55 19:58 น.

สุดยอด

ไอพี: ไม่แสดง

#3 | `Mrs.McKinnon | 27 พ.ค. 55 21:37 น.

เจ๋งเป้ง !!!

ไอพี: ไม่แสดง

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google