-The Imitation Game- (2014) A+ "อัจฉริยะผู้เงียบเหงา"

1 ก.พ. 58 01:59 น. / ดู 861 ครั้ง / 0 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
"Sometimes, it is the people who no one imagines anything of, who do the things that no one can imagine."
-The Imitation Game- (2014) A+

หนังชีวประวัติว่าด้วยเรื่องราวของ Alan Turing นักคณิตศาสตร์อัจฉริยะที่ได้รับมอบหมายให้แก้รหัสลับในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังนำแสดงโดย Benedict Cumberbatch นักแสดงชายมากบทบาทที่สุดคนหนึ่ง และเพิ่งได้เข้าฉายในไทยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

เมื่อกล่าวถึงคณิตศาสตร์ หลายคนอาจนึกถึงหนังที่ "ดูเข้าใจยาก" แต่สิ่งเหล่านั้นกลับไม่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ หากจะให้เปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นคงต้องยก A Beautiful Mind (2001) ที่กล่าวถึงอัจฉริยะด้านตัวเลขและความแปลกแยกคล้ายกับเรื่องนี้ แม้เหตุการณ์ชีวิตที่ทั้งสองต้องพบเจออาจจมีความแตกต่างกันไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์สูงสุดในเรื่องคือ "ความอบอุ่น" และ "เศร้าสร้อย" ที่ติดอยู่ในใจหลังจากหนังจบลง ตัวหนังเดินเรื่องและถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างราบรื่น โดยมีภาวะสงครามและความเป็นไปของชาติอยู่หลังฉาก หนังไม่ได้มุ่งนำเสนอภาพความแร้นแค้นและพินาศจากสงคราม (ซึ่งผู้ชมเห็นในหนังสงครามมาแล้วนับไม่ถ้วน) เกินไปจนดึงความสนใจผู้ชม แต่คงเสน่ห์ของหนังชีวประวัติเอาไว้นั่นคือบอกเล่าสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านตัวละครหลัก

องค์ประกอบในภาพยนตร์อย่างดนตรีประกอบได้ Alexandre Desplat ผู้เคยฝากผลงานดนตรีลึกลับและล่องลอยไว้ในเรื่อง The Curious Case of Benjamin Button (2008) และ Harry Potter and the Deathly Hallows (2010-2011) การจัดแสงที่นุ่มนวลแต่ชวนมืดหม่น และฝีมือการแสดงจาก Benedict Cumberbatch ที่ได้รับโหวตเป็นอันดับหนึ่งจากนิตยสารไทม์จากเรื่องนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เสริมให้ตัวหนังเข้มข้นไปด้วยอารมณ์ จนรู้สึกว่าไม่อยากให้เรื่องราวของเขาจบลงเพียงแค่เวลา 2 ชั่วโมง

สิ่งที่น่าประทับใจสูงสุด และเป็นส่วนที่ตัวหนังทำออกมาได้ยอดเยี่ยมที่สุดจนต้องให้คะแนน A+  หรือ "ต้องสัมผัสก่อนตาย" นั่นคือความผูกพันและมิติตัวละคร ชีวิตของ Alan Turing ถูกบอกเล่าผ่านอุปนิสัยของเขาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นอดีตปวดร้าวที่ฝังใจ บุคลิกอันขัดแย้งที่ผสมความอัจฉริยะแต่กลับไม่เข้าใจสิ่งเรียบง่ายอย่าง "มนุษยสัมพันธ์" เงียบเหงาแต่กลับวางท่าหยิ่งยโสและรังเกียจสังคม และแง่มุมใหม่ ๆ ที่ตัวเขาต้องเรียนรู้ ก่อให้เกิดการพัฒนาของตัวละครและชวนให้คนดูรู้สึกได้ว่าเขาเป็นบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริง ไม่ได้มีแค่ส่วนร้ายหรือดีเพียงส่วนเดียว


ฉากที่จะขอยกมากล่าวถึงในรีวิวนี้คือฉากที่ตัวละครของ Alan Turing เดินเข้าไปหาเพื่อนร่วมงานที่หมั่นไส้เขาพร้อมกับถุงกระดาษ จากนั้นเขาหยิบแอปเปิ้ลส่งให้เพื่อนทีละลูกอย่างงก ๆ เงิ่น ๆ และเปิดฉากเล่าเรื่องตลกอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ฉากนั้นเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้อย่างมาก แต่ส่วนตัวแล้วมันกลับเป็นฉากสั้น ๆ ที่สื่อให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่เลือกจะแปลกแยก และภายใต้ความหยิ่งยโสเหล่านั้นอาจซ่อนความโหยหาการยอมรับไว้สักมุมหนึ่ง

โดยรวมแล้ว หากใครเคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนนอกคอก เข้ากับใครไม่ค่อยได้ หนังเรื่องนี้อาจ "โดน" เข้าอย่างจังจนตกใจ ถือเป็นหนังชีวประวัติที่ประทับใจมากอีกเรื่องหนึ่ง และคงติดในลิสต์หนังน่าประทับใจของปีนี้แน่นอน ‪#‎isaracinema‬
เลขไอพี : ไม่แสดง

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google