ผู้ใหญ่หมู ฮีโร่ผู้พิทักษ์ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน

23 เม.ย. 58 16:04 น. / ดู 626 ครั้ง / 0 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
https://fbcdn-sphotos-f-a.akamaihd..........ca0b5c43833a04d
“สมัยก่อนแมงดาจานในพื้นที่มีเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว” นี่คือคำบอกเล่าของวรพล ดวงล้อมจันทร์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หรือที่รู้จักกันในนามผู้ใหญ่หมู ผู้ซึ่งได้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งในพื้นที่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการศูนย์เรียนรู้ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาชัยฝั่งตะวันออกอีกด้วย
ผู้ใหญ่หมูเล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะคิดตั้งศูนย์เรียนรู้นี้ สัตว์น้ำทะเลจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ตามธรรมชาติมีเยอะมาก ชาวบ้านจับมาได้มากมาย แต่ระยะหลังสัตว์จำพวกนี้ลดน้อยลงไปมาก จึงเกิดความสงสัยว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร จึงเริ่มต้นศึกษาจากตำราต่างๆ สำรวจพื้นที่และจัดทำข้อมูล ก็พบว่าสาเหตุที่สัตว์น้ำพวกนี้ลดน้อยลงหรือหายไปจากพื้นที่ ก็เพราะเกิดจากฝีมือของมนุษย์นั่นเอง เนื่องจากการใช้ทรัพยากรแบบแข่งขันกันใช้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำ หรือป่าชายเลน

“เมื่อปี 2525 รัฐบาลส่งเสริมการส่องออกกุ้งกุลาดำทำให้ชาวบ้านหันมาเลี้ยงกุ้งกันเยอะ ในยุคนั้นมีการทำลายป่าชายเลนกันในทุกพื้นที่ที่จะสามารถทำบ่อกุ้งได้ซึ่งรัฐก็สนับสนุน แต่รัฐไม่ได้มองกลับมาว่าธรรมชาติ มันต้องหายไป รัฐมองเห็นอย่างเดียวคือ GDP ตัวเลขที่ส่งออก”

นี่คือสาเหตุเริ่มต้นของการสูญเสียทรัพยากรสัตว์น้ำตามธรรมชาติ และแผ่นดินชายฝั่งทะเลของพื้นที่นี้
https://fbcdn-sphotos-b-a.akamaihd..........c8dacbb3328da39
https://scontent-sin.xx.fbcdn.net/h.........amp;oe=55D22B76
การเดินทางของตะกอนเลนถูกปิดกั้นด้วยเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ตะกอนไม่ลงมาสะสมที่ชายฝั่ง อันนี้เราเอาข้อมูลของนักวิชาการเขามา คือตะกอนมันไม่เดินทางเข้ามาเสริมเพิ่มเติม เมื่อคลื่นลมมามันก็เริ่มการกัดเซาะ ประกอบกับช่วงที่เขาทำบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เขาทำประตูปิดกันน้ำที่บ่อกุ้งก็ตัดทำลายป่าออกไป เพื่อให้ดึงน้ำทะเลเข้ามาในบ่อกุ้ง ช่วงที่เปิดน้ำเข้าทำให้ตะกอนจากชายฝั่งเข้ามาด้วย พอบ่อกุ้งตื้นเขินเขาก็ขายหน้าดินตะกอนในบ่อกุ้งนั้น ขุดแล้วขายเพื่อให้บ่อกุ้งลึก มันก็เหมือนกับขุดตะกอนจากชายฝั่งไปถมที่อื่น ตะกอนก็เดินผิดที่ผิดทาง แผ่นดินมันก็ร่นเข้ามา มันก็คือเหตุผลที่ว่า เราทำงานบนความโลภของมนุษย์ แล้วก็ห้ามเขาไม่ได้ เพราะว่าในที่ดินของเขามีเอกสารสิทธิ์ เขาจะทำอย่างไรก็ได้ แต่เราอยากจะติงให้ฟังว่าวันหนึ่งถ้าป่ามันขาดหรือชายฝั่งมันขาด น้ำทะเลมันจะเข้าไปถึงถนน คุณจะหนีไปหนึ่งกิโลเมตร ชายฝั่งมันก็จะถูกรุกไปหนึ่งกิโลเมตร นั่นคือเรื่องที่จะเป็นอันตรายในอนาคต ก็อย่างที่ผมพูดนั่นแหละ เราทำงานบนความโลภของมนุษย์ ฉะนั้นคนที่หากินชายฝั่งหรือเรียกว่าชุมชนชายฝั่ง เขาจะเข้าใจถึงทรัพยากรและเข้าใจการทำงานของเรา เวลาเราพูดเขาจะฟัง แต่ผู้เพาะเลี้ยงชายฝั่ง ซึ่งก็คือผู้ที่มีที่อยู่อาศัยที่ชายฝั่งทำอาชีพเพาะเลี้ยง พวกนี้จะไม่ค่อยฟังเรา เพราะเขาไม่เดือดร้อนจากฐานทรัพยากรที่เสียหาย แต่พวกชุมชนชายฝั่งเขาเดือดร้อนจากฐานทรัพยากร ถ้าทรัพยากรไม่มีแล้วเขาอยู่ไม่ได้ เราก็ใช้กุศโลบายนี้คุยกับเขาว่าอย่าลืมนะ ณ.ปัจจุบันนี้ บรรดาลูกๆ ที่ส่งไปเรียน ก็ไม่ได้จบปริญญากันทุกคน บางคนก็กลับมาอยู่ที่บ้าน ฉะนั้นต้องหันมามองฐานทรัพยากรที่จะเป็นเครื่องเลี้ยงชีพเขาในอนาคต ถ้าทุกคนช่วยกันทรัพยากรก็ฟื้น ถ้าทุกคนใช้อย่างเดียวมันก็หมด ธรรมชาติไม่สามารถที่จะเติมเต็มขึ้นมาได้ทัน
https://fbcdn-sphotos-g-a.akamaihd..........8801d2a5ab9937f
ริ่มแรก เราศึกษาปัญหาการกัดเซาะ เราต้องศึกษาด้วยว่าน้ำเป็นสสาร เราต้องศึกษาธรรมชาติตัวนี้ให้เข้าใจก่อน เวลาน้ำอยู่นิ่งๆ น้ำจะไม่เกิดพลังงาน แต่เมื่อขยับตัวมันจะเกิดพลังงาน เมื่อพลังงานเกิดมันจะไม่สูญหาย และมันจะมีจุดจบว่าพลังงานจะไปจบที่ไหน ในทะเลมันก็จะต้องจบที่ชายฝั่ง พลังงานที่เดินทางไกลๆ เราต้องออกไปตั้งรับก่อน ชะลอก่อนที่จะเข้าหาชายฝั่ง การชลอน้ำจะสามารถดักตะกอนที่มากับน้ำได้ ไม้ไผ่เป็นรูปทรงกระบอก เวลาน้ำวิ่งเข้ามามันก็จะถูกถ่ายทอดพลังงานไปสองข้าง เมื่อเราปักลำที่ 2 ลำที่ 3 ให้พอเหมาะกับระดับพลังงานของกระแสน้ำ จากลำแรกมันก็จะถ่ายไปลำที่ 2-3 คิดง่ายๆ จากแรง 100 มันก็จะเหลือข้างละ 50 จาก 50 มันก็จะเหลือข้างละ 25 ระหว่าง 25 เมื่อมันแตกออกมันก็วิ่งมาปะทะกันเองอยู่ในกลุ่มไม้ไผ่ แรงก็สลายลง นี่คือแนวคิด เดิมเลยเราใช้ท่อ PVC ทดลอง แต่ท่อ PVC ทำงานยาก แพงและโดนขโมย ก็ได้มีโอกาสไปที่จังหวัดปราจีนบุรี ไปเจอเขาตัดไผ่ทิ้ง เขาบอกว่าถ้าไม่ตัดหน่อไม้จะไม่โต ทีนี้ก็เลยสนใจว่ามันเป็นวัสดุเหลือใช้ ก็เลยคิดว่าถ้าทำโครงการไปซื้อไม้ไผ่เขา ชาวบ้านทางนู้นก็ได้สตางค์ เมื่อเอามาปักที่นี่ก็จ้างแรงงานในท้องถิ่น ชาวบ้านที่นี่ก็ได้สตางค์ มันเป็นโครงการที่น่าสนใจก็เลยเริ่มทดลอง เอามาปักหลายๆ รูปแบบ จนท้ายที่สุดเราได้รูปแบบที่หยุดคลื่นได้ อย่างปีที่แล้วเราไปช่วยทำโครงการที่ หมู่ 6 บางหญ้าแพรก เดือนพฤษภาคม พอถึงเดือนสิงหาคม สามารถปลูกป่าได้เลย เพราะตะกอนมันสะสมตัวเร็วมาก ขออย่างเดียวหลังไม้ไผ่อย่าให้กระแสน้ำมันกระเพื่อม เอาตะกอนเลนออกไป
https://fbcdn-sphotos-h-a.akamaihd..........9729e1b38b36047
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ มนุษย์ใช้ธรรมชาติมากเกินไป ตอนนี้เรารู้แล้วความผิดพลาดในอดีตมันจะเป็นอย่างไร เราต้องช่วยกันฟื้นฟู ชุมชนชายฝั่งทั่วประเทศต้องร่วมมือกัน มองวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ ประเทศไทยมีนักพูดเยอะ แต่ไม่มีนักปฏิบัติ อยากให้มีนักปฏิบัติมากๆ คิดแล้วปฏิบัติโดยนำบทเรียนมาศึกษาว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร มันจะดีหรือไม่ ถ้าไม่ดีต้องเปลี่ยนรูปแบบ อย่าลืมว่าสิ่งที่ถูกทำลายไป คุณอยู่กับชายฝั่ง ทรัพยากร ถ้าคุณไม่ทำคุณจะให้ใครมาช่วย คุณต้องลงมือทำ ช่วยกันฟื้นทรัพยากร ฉะนั้นบทเรียนหนึ่งก็คือว่ามนุษย์ใช้ทรัพยากรได้ ทำลายทรัพยากรได้ มนุษย์ก็สามารถสร้างทรัพยากรได้ ฟื้นฟูทรัพยากรได้ ถ้าทรัพยากรฟื้น คุณจะต้องระมัดระวังการใช้ทรัพยากร คำว่าอนุรักษ์ที่นี่ไม่ใช่ว่าไม่ใช้เลย เราใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าให้เหมาะสมกับวัยของทรัพยากรนั้นๆ ถ้าคุณเก็บหมด ตัวเล็กตัวน้อย พรุ่งนี้คุณก็ไม่มีอะไรจะกิน ถ้าคุณเลือกแต่ตัวใหญ่ วันพรุ่งนี้ก็มีตัวใหญ่ที่เข้ามาแทนที่ให้คุณจับอีก ทรัพยากรก็จะอยู่คู่กับคุณตลอดไป
https://scontent-sin.xx.fbcdn.net/h.........amp;oe=55A16868
จากการที่ได้เข้าไปสัมผัสกับพื้นที่ที่เกิดปัญหา ทำให้ผู้เขียนเกิดความคิดที่ว่า กระบวนการและวิธีการแก้ไขปัีญหาต่างๆ นั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุทั้งสิ้น ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่หยุดที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชายฝั่ง ปัญหาดังกล่าวก็ยังจะเกิดขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์ควรที่จะตระหนักได้หรือยังว่า การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยไม่พยายาม ที่จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่จนเกินพอดีนั้น จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

https://www.youtube.com/watch?v=LWsz5stGXsQ
https://www.youtube.com/watch?v=9gKgu6T_MXo
https://www.youtube.com/watch?v=AI5lPaOBcwg
https://www.youtube.com/watch?v=PIR7VSnLdoU
เลขไอพี : ไม่แสดง

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google