9 อาการสำคัญของ

2 ส.ค. 58 12:48 น. / ดู 1,758 ครั้ง / 3 ความเห็น / 1 ชอบจัง / แชร์
9 อาการสำคัญของ "โรคซึมเศร้า"
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เริ่มเป็นที่คุ้นหูกันมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน มีการประมาณการกันว่าคนไทย 100 คนจะมีคนที่ไม่สบายด้วยโรคซึมเศร้าประมาณ 2-3 คน โรคซึมเศร้ายังเป็นสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายอีกด้วย นั่นเพราะโรคซึมเศร้าทำให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง หมดหนทาง เกิดความรู้สึกด้านลบ ความรู้สึกผิด และลงเอยด้วยการทำร้ายตนเองในที่สุด
.
.
.
>>โรคซึมเศร้าต่างจากอารมณ์เศร้าทั่วไปยังไง?
อารมณ์เศร้า เป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ มักเกิดเมื่อเราต้องเจอกับความผิดหวัง ความสูญเสีย การไม่ได้อย่างที่ใจต้องการ ส่วนใหญ่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันจะคงอยู่สักพักแล้วก็จะค่อยๆจางหายไปเอง แต่เมื่อเราพูดถึง “โรคซึมเศร้า”แล้ว อารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นนั้นจะคงอยู่เกือบตลอดเวลาและเป็นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนๆ-ปีๆ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งหน้าที่การงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
.
หลายคนมักจะเข้าใจผิดคิดว่าโรคซึมเศร้านี้เกิดจากการที่คนเรามีจิตใจที่อ่อนแอ คิดมากไปเอง หรือเข้าใจผิดว่ามันเป็นโรคเดียวกับโรคจิตหรือที่เรียกว่า “เป็นบ้า" แต่จริงๆแล้วโรคซึมเศร้าเป็นเพียงความผิดปกติทางอารมณ์ชนิดหนึ่งเท่านั้น และสามารถรักษาหายได้
.
.
.
โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร?
โรคซึมเศร้ามีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายๆอย่างรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางกรรมพันธุ์ที่พบว่าหากเรามีญาติพี่น้องสายตรงที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า เราก็จะมีโอกาสที่จะป่วยได้มากกว่าคนอื่นพอสมควร โรคซึมเศร้ายังมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง (เช่น สารซีโรโทนิน นอร์อะดรีนาลีน โดปามีน) ปัจจัยทางด้านเพศก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าโดยเพศหญิงจะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า นอกจากนั้นในผู้ป่วยซึมเศร้าหลายๆรายก็มักจะมีปัจจัยกระตุ้นทางด้านจิตสังคม เช่น การสูญเสีย การจากพรากสิ่งอันเป็นที่รัก ความกดดัน ปัญหาที่เจอในชีวิต (เช่น สอบตก ผิดหวังจากการเลื่อนขั้น สภาพชีวิตที่โดดเดี่ยวว้าเหว่ ขาดความรักความอบอุ่น) เกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีอาการซึมเศร้า
.
.
.
.
>>จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?<<
วิธีการสังเกตว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ให้ประเมินจากสัญญาณบอกเหตุต่อไปนี้ โดยจะต้องมีความผิดปกติอย่างน้อย 5 ข้อจากทั้งหมด 9 ข้อ เกิดขึ้นเกือบตลอดเวลา และเกิดติดต่อกันนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์
1.รู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือไม่สบายใจ
2.ขาดความสนใจต่อสิ่งที่เคยทำให้มีความสุข หรือสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
3.น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น เบื่ออาหารหรือกินจุ
4.นอนไม่หลับ หรือหลับมากกว่าปกติ
5.รู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
6.ไม่มีสมาธิ หลงลืมง่าย ไม่สามารถตัดสินใจเองได้
7.อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
8. เชื่องช้า หรือกระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข
9.คิดถึงแต่ความตาย หรือคิดฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตายหรือมีการวางแผน
.
.
.
.
>>ทำอย่างไรเมื่อสงสัย/รู้ว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า<<
เมื่อสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า การไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ประโยชน์ที่จะได้จากการไปพบแพทย์ คือ ท่านจะได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยตามเกณฑ์ ได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อค้นหาโรคต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุ ได้รับการบำบัดรักษาที่เป็นองค์รวม ทั้งการกินยา การทำจิตบำบัด นอกจากนั้นแพทย์ยังสามารถประเมินระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้าให้แก่ท่านได้อีกด้วย โดยจะแบ่งระดับความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเล็กน้อย ปานกลาง และรุนแรง สาเหตุที่ต้องประเมินระดับความรุนแรงเพราะว่าการดูแลรักษาในแต่ละระดับจะมีความแตกต่างกัน กรณีเป็นไม่รุนแรง เราอาจไม่จำเป็นต้องกินยาต้านเศร้าก็ได้ อาจใช้การปรับการดำเนินชีวิตประจำวัน ออกกำลังกาย ปรับวิธีคิด ฝึกการคิดบวก การทำจิตบำบัด การนั่งสมาธิ หรือปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ก็อาจทำให้โรคดีขึ้นได้
แต่หากเป็นกรณีโรคซึมเศร้าในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง การรักษาที่ต้องเพิ่มขึ้นมาก็คือ การกินยาต้านเศร้า ซึ่งประโยชน์ของการกินยาที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ยาจะช่วยย่นระยะเวลาของการเจ็บป่วยได้ จากที่หากไม่กินยาเลยโรคอาจจะเป็นอยู่นานเป็นปีๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุร้ายอะไรในระหว่างนี้บ้าง ( ต้องออกจากงาน พักการเรียน หรือถึงขั้นฆ่าตัวตาย) เทียบกับที่กินยาแล้วโรคอาจจะดีขึ้นภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทำให้ไม่ต้องเสียการงาน เวลา และชีวิต ยาต้านเศร้าในปัจจุบันนั้นก็มีให้เลือกมากมายหลายชนิด แต่ละตัวก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป ส่วนระยะเวลาในการกินยาเอาคร่าวๆเลยก็คือหากเป็นครั้งแรกในชีวิตโดยส่วนใหญ่ระยะเวลาที่ต้องกินยาไว้จะประมาณ 6-12 เดือน
.
.
.
.
>>จะดูแลสุขภาพจิตตนเองอย่างไรเมื่อรู้ว่ากำลังซึมเศร้า?<<
1. อย่านำตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่มีความตึงเครียด
2. อย่าตั้งเป้าหมายหรือคาดหวังกับตนเองสูงหรือยากเกินไป
3. รู้จักให้กำลังใจตนเอง หยุดการตำหนิและโทษตัวเอง
4. ออกกำลังกาย หากิจกรรมที่ทำให้ไม่ต้องอยู่ลำพังคนเดียว เช่น กิจกรรมทางศาสนาหรือสังคม
5. อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจกับเรื่องใหญ่ๆในชีวิต เช่น ลาออก เปลี่ยนงาน แต่งงาน หรือหย่า
6. สร้างความคิดด้านบวกให้มากที่สุด ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น
7. เฝ้าระวังความคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตนเอง บอกคนใกล้ชิดให้ทราบทันทีเมื่อมีความคิดถึงความตาย
.
.
.
.
By...คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา
٩(^‿^)۶ [ ]--["""""|"""""|"""""|]>------
.
.



12 รูปแบบความคิดที่ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์
(12 Cognitive Distortion)

ถ้าเปรียบชีวิตเป็นวิชาคณิตศาสตร์
ความคิดก็เปรียบดั่งสมการ
ถ้าตั้งสมการได้ดี คำตอบก็อยู่ไม่ไกล/ไม่ยาก
แต่หากมีสมการความคิดที่บิดเบือน
ผลลัพธ์ก็คือความทุกข์ ความไม่เข้าใจ ความวิตกกังวล ฯลฯ
(ต่อทั้งตัวเอง หรือคนรอบข้าง)
และนี่คือ 12 แนวความคิดที่เป็นเหตุของความทุกข์ที่เจอได้บ่อยมากๆในชีวิตประจำวันของทุกคน

1. คิดแบบคาดเดา (Jumping to Conclusions)
เข้าใจได้เองว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร/คิดอะไร
ทั้งที่ความจริงอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ได้
ตัวอย่าง “เขาทำแบบนั้นเพราะเขาไม่รักฉันแล้ว”
“เรื่องมันจะต้องออกมาเป็นแบบนี้แน่ๆ”

2. คิดแบบแยกขั้ว (Polarized Thinking/ Black and White Thinking)
คิดว่าในโลกนี้ถ้าไม่ขาว มันก็ต้องดำ
ถ้าไม่ชนะ ฉันก็คือผู้แพ้
โดยลืมนึกไปว่ามันยังมี “ตรงกลางๆ” อยู่

3. คิดแบบเหมารวม (Overgeneralization)
สรุปภาพรวมทั้งหมดจากเหตุการณ์เพียงแค่ไม่กี่เหตุการณ์ แล้วเหมารวมว่าสิ่งนั้นคือทั้งหมด
ตัวอย่าง เมื่อเราสอบตก ก็คิดว่า "ฉันมันคนอ่อนแอ" "ฉันมันพวกขี้แพ้" หรือเมื่อมีคนทำพฤติกรรมที่เราไม่ชอบ ก็บอกว่า "เขาเป็นคนเลว" "พวกเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว" ทั้งๆที่จริงเขาอาจจะมีข้อดีด้านอื่นๆอยู่

4. คิดถึงแต่ด้านลบ (Filtering)
เลือกที่จะมองและอยู่กับเฉพาะข้อเสีย/ด้านลบของสถานการณ์ โดยลืมไปว่า จริงๆแล้วมันก็ยังมีด้านที่ดีอยู่
ตัวอย่าง “ไม่มีใครรักฉันอีกแล้ว”

5. คิดตำหนิตัวเอง (Personalization)
คิดว่าคำพูด/การกระทำของคนอื่น เป็นผลจากตัวเรา รวมทั้ง การคิดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
ตัวอย่าง “ถ้าฉันไม่เป็นแบบนี้ เขาคงไม่ทิ้งฉันไป” “เพราะฉัน เรื่องทั้งหมดจึงแย่แบบนี้”

6. คิดโทษคนอื่น (Blaming) โทษสิ่งอื่น/คนอื่น ทั้งที่มันเป็นความรับผิดชอบของเรา
ตัวอย่าง “นี่เป็นความผิดของเขา เขาจะต้องรับผิดชอบ”

7. คิดเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง
คิดว่าคนอื่นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อตัวเรา (Fallacy of Change) รวมทั้ง คิดว่าฉันถูกเสมอ (Always Being Right)

8. คิดกฎของตัวเอง (Shoulds)
กำหนดกฎเกณฑ์ประจำตัวขึ้นมา
เพื่อบอกว่าคนอื่น/ตัวเราต้องทำอย่างไร
และโกรธถ้าใครไม่ทำตามกฎ หรือรู้สึกผิดที่ตนเองฝ่าฝืนกฎซะเอง
ตัวอย่าง “ฉันจะต้องนอนตอน3ทุ่ม ไม่งั้นพรุ่งนี้คงไม่มีแรงไปทำงาน”
“เขาจะต้องโทรบอกฉันทุกครั้งก่อนจะไปไหน”

9. คิดปักใจตามความรู้สึก (Emotional Reasoning)
เชื่อและยึดเอาความรู้สึกของตนเป็นที่ตั้ง แม้มันอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง
ตัวอย่าง “ฉันรู้สึกว่าคนๆนี้น่าเบื่อ คนๆนี้จึงน่าเบื่อ”
“ฉันรู้สึกว่าฉันไม่เอาไหน ฉันจึงไม่เอาไหน”

10. คิดว่าชีวิตนี้ไม่มีความยุติธรรม (Fallacy of Fairness) หมกมุ่นกับความยุติธรรม และมักจะคิดว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมอยู่เสมอ

11. คิดน้อยใจโชคชะตา (Heaven’s Reward Fallacy) คิดน้อยใจว่าทำไมเรื่องดีๆจึงไม่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราบ้าง (ทั้งๆที่เราทำดีแทบทุกอย่าง)

12. คิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่คือจุดที่เลวร้ายที่สุด (Catastrophizing) ไม่มีอะไร/ใครที่จะแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว
ตัวอย่าง “ฉันคือคนที่โชคร้ายที่สุดในโลก”

.
.
>>>โจทย์ของชีวิตมันยากอยู่แล้ว อย่าให้สมการความคิดที่บิดเบือนต้องทำให้ชีวิตยากขึ้นกว่านี้เลยครับ ตอนต่อไปจะพูดถึงวิธีการจัดการกับความคิดแย่ๆเหล่านี้ครับ โปรดติดตาม

.

.

.

By...คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา



7 ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

"โรคซึมเศร้า" [Major Depressive Disorder] เป็นความผิดปกติของอารมณ์ ที่เกิดจากความแปรปรวนของสารสื่อประสาทในสมองร่วมกับสาเหตุทางจิตสังคม ลักษณะเด่นคือ คนไข้จะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ เบื่อหน่ายอย่างมาก เกิดขึ้นแทบทั้งวัน และเป็นติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ จนส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานหรือความสัมพันธ์

จากความตื่นตัวและความร่วมมือทางการประชาสัมพันธ์ทั้งหลาย ทำให้โรคนี้นับวันจะมีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้หมอจึงขอนำเสนอ "ความเชื่อที่ผิดๆ" เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่มักเจอได้บ่อย และความจริงที่หลายๆคนอาจจะยังไม่รู้มาฝากกันครับ

1. โรคซึมเศร้าคือโรคจิต
>>> โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคจิต ผู้ป่วยซึมเศร้าก็ไม่ใช่คนบ้า ควรหลีกเลี่ยงการเรียกเหมารวมผู้ที่มีความไม่สบายทางจิตว่าเป็น "คนบ้า" เพราะคำๆนี้คำเดียวทำให้คนมากมายพลาดโอกาสครั้งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น

2. โรคซึมเศร้าเป็นแค่คำกล่าวอ้าง ไม่ต้องรักษาก็หาย
>>> โรคซึมเศร้าเป็นการเจ็บป่วยจริงๆ เป็นตัวโรคที่ต้องรักษา โดยธรรมชาติสามารถหายได้เองแต่ใช้เวลานานมากๆและหากปล่อยไว้อาจเกิดความเสียหายต่อทั้งตัวคนไข้และคนรอบข้างได้

3. คนซึมเศร้าคือคนที่อ่อนแอ
>>> ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ได้แปลว่าคนๆนั้นเป็นคนอ่อนแอหรือขี้แพ้ และไม่ได้เกิดจากการแกล้งทำ

4. โรคซึมเศร้าต้องทานยาเท่านั้น
>>>การรักษาโรคซึมเศร้ามีทั้งการใช้ยา ร่วมกับการทำจิตบำบัด รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพกายและจิตให้แข็งแรง เช่น การออกกำลังกาย การผ่อนคลายจิตใจ การลดความเครียด การจัดการปัญหาในชีวิต

5. โรคซึมเศร้าไม่มีทางรักษา
>>>ปัจจุบันโรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ในเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็วเมื่อเทียบกับในอดีตเนื่องจากระบบการรักษาและตัวยาที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น

6. โรคซึมเศร้าเป็นแล้วจะทำอะไรไม่ได้ไปตลอด
>>>เมื่ออารมณ์เศร้าเริ่มดีขึ้น คนไข้ส่วนใหญ่จะสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ และอาการก็มักจะดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป คนไข้หลายรายก็โชคดีเป็นแค่ครั้งเดียวแล้วก็ไม่เป็นอีกเลย แต่บางรายก็กลับมาเป็นได้ จากปัจจัยความเครียดที่รับเข้ามาใหม่ การทานยาไม่ต่อเนื่อง/หยุดทานเร็วเกินไป หรือโดยตัวของโรคเอง

7. โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัวเรา
>> ปัจจุบัน ความชุกของโรคซึมเศร้าในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.4 แปลว่า ถ้ามีคนไทย 100 คน จะมีคนที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอยู่ 2-3 คน ซึ่งคนๆนั้นอาจเป็นคนที่คุณรักหรือตัวเราเองก็ได้ไม่ใช่เรื่องแปลก
.
.
.
By...คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา


.
.


.... กระทู้นี้ย้ายมาจากห้องการศึกษา ...
เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย WinXP

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

#1 | ซึนใจ | 2 ส.ค. 58 13:01 น.

>>>8 สัญญาณเตือนที่ต้องเฝ้าระวังภาวะโรคจิต<<<

ช่วงที่ผ่านมา หมอได้มีโอกาสตรวจสุขภาพจิตน้องนักเรียน/นักศึกษาหลายคนที่มาปรึกษาด้วยเรื่องการมีความคิดแปลกๆหรือมีพฤติกรรมแปลกๆไป ทั้งที่มาเองและมีผู้ปกครองพามา เมื่อได้สัมภาษณ์และตรวจสภาพจิตก็พบว่ามีความผิดปกติจริง แต่ในระดับไม่รุนแรงมากนัก ในส่วนของความคิด/อารมณ์/การตัดสินใจบางอย่าง ซึ่งดูแล้วก็ยังไม่เข้ากับเกณฑ์วินิจฉัยของโรคทางจิตเวชที่รุนแรง จึงได้ส่งไปทดสอบทางจิตวิทยาเพิ่มเติมกับนักจิตวิทยา

ผลปรากฏว่าพบความผิดปกติของการรับรู้และแปลผลความเป็นจริง (Impair Reality Testing) พร้อมทั้งความผิดปกติอื่นๆทางจิตในระดับเริ่มต้น จึงได้ข้อสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “ระยะเริ่มต้นก่อนที่จะเป็นโรคจิตเภท” (Prodromal Phase of Schizophrenia) ซึ่งหมายถึง ณ ตอนนี้ยังไม่ใช่โรคจิตที่ร้ายแรง หากได้รับการดูแลที่เหมาะสมในตอนนี้ ผลลัพธ์มักจะดีกว่ารอให้มีอาการรุนแรงแล้วค่อยรักษา

วันนี้ หมอจึงได้นำลักษณะต่างๆที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคจิตมาฝากกันครับ

** อาการต่างๆเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของอาการที่พบได้บ่อย ไม่ใช่เกณฑ์ในการวินิจฉัย บางอาการอาจไม่ได้มีความจำเพาะแต่กับโรคจิตอาจเป็นโรคทางจิตเวชชนิดอื่นๆก็ได้ ดังนั้นหากมีความสงสัยเกิดขึ้น ก็ควรปรึกษาจิตแพทย์ใกล้ตัวท่านจะเป็นการดีที่สุดครับ...

>>>8 สัญญาณเตือนที่ต้องเฝ้าระวังภาวะโรคจิต<<<

1. แยกตัว เก็บตัวมากขึ้น (Social withdrawal)

2. มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง/แปลกไป (Unusual behavior) เช่น การสะสมของบางอย่าง ลักษณะการแต่งกาย การดูแลตนเอง

3. มีความยากลำบากในการคิด/ตัดสินใจ (Difficulty making choices)

4. หลงลืม/สนใจอะไรได้ไม่นาน/ไม่มีสมาธิ (Problems with concentration and attention)

5. มีปัญหาในการสื่อสาร/การเข้าใจความหมายของคนอื่นหรือสังคม (Problems with communication and perception)

6. มีความคิดแปลกๆ ไม่เหมือนเดิม เริ่มเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริง (Unusual thoughts)

7. หูแว่ว เห็นภาพหลอน (Hallucinations)

8. เริ่มมีความถดถอยในการดำเนินชีวิตประจำวัน/การเรียน/การทำงาน

**อาการต่างๆ ควรเกิดขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน และค่อยๆแย่ลงไปในช่วงเวลาเป็นปี

.
.
.
By...คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา








20 สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับศิลปินแวนโก๊ะและวันไบโพลาร์

วันที่ 30 มีนาคมเป็นวันพิเศษอีกวันหนึ่งของวงการจิตเวชและศิลปะ ที่คงจะไม่กล่าวถึงไม่ได้ เพราะว่าวันนี้เป็น "วันไบโพลาร์" (World Bipolar Day)

ลองมาดูความน่าสนใจของวันนี้จากความรู้ทั้ง 20 ต่อไปนี้นะครับ

1. วันที่ 30 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันไบโพลาร์โลก สาเหตุเพราะเป็นวันคล้ายวันเกิดของแวนโก๊ะ (Van Gogh) ศิลปินผู้ที่(เชื่อว่า)ป่วยด้วยโรคนี้

2. แวนโก๊ะเกิดในวันที่ 30 มีนาคม พศ.2396 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่4) ในประเทศฮอลแลนด์ ในช่วงเด็ก แวนโก๊ะเป็นคนเงียบๆ จริงจัง และชอบใช้ความคิด

3. เขามีโรคประจำตัวคือ โรคลมชัก (Temporal lobe epilepsy) มีอาการประสาทหลอน และมีอาการทางจิตเวช

4. แวนโก๊ะไม่ได้มีเงินมากมายพอที่จะจ้างนางแบบ ภาพวาดส่วนใหญ่จึงเป็นภาพแนวทิวทัศน์ ดอกไม้ และวาดภาพตัวเอง (มีอยู่ 37 ภาพ)

5. เขาเคยล้มเหลวในชีวิตคู่ 2 ครั้ง หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับใครอีกเลย

6. ผลงานทั้งหมดของเขามีประมาณ 2000 ชิ้น ประกอบด้วย ภาพจิตรกรรม(ประมาณ) 900 ชิ้น และ ภาพสเก๊ต 1100 ชิ้น

7. เขาได้ผ่านเรียนวิชาศิลปะแค่ไม่กี่เดือน (ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 4 ปีก่อนทีเขาจะเสียชีวิต) ที่เหลือเป็นการฝึกฝนตนเองแทบทั้งสิ้น

8. ภาพจิตรกรรมทั้ง 900 ชิ้นของเขาถูกยกย่องให้เป็นผลงานระดับสุดยอดในเวลาต่อมา

9. ตอนที่เขามีชีวิตอยู่ เขาขายภาพจิตรกรรมได้เพียงภาพเดียว

10. เขามีชื่อเสียงตอนที่ตายไปแล้ว ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่ยอมรับหลังจากเขาตายไปแล้ว 11 ปี

11. ในช่วงที่อาการลมชักกำเริบ เขาได้พยายามทำร้ายเพื่อนศิลปินด้วยมีดโกน ซึ่งเป็นผลให้ใบหูของเขาถูกมีดกรีด

12. ในปีพศ.2433 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่5) แวนโก๊ะได้ยุติการต่อสู้กับอาการทางจิตเวชอันยาวนานด้วยการยิงตัวตาย ขณะที่อายุได้เพียง 37 ปี

13. ประโยคสุดท้ายในชีวิตของเขา คือ “La tristesse durera toujours” แปลว่า “ความเศร้าจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์”

14. มีจิตแพทย์มากกว่า 150 คน พยายามวินิจฉัยโรคทางจิตเวชของแวนโก๊ะ ผลคือมีความเห็นมากมาย ทั้ง โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) โรคจิตเภท (schizophrenia) โรคลมชัก (Epilepsy) ฯลฯ

15. ผลงานที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุด คือ ภาพ “คืนที่ดาวเต็มฟ้า” [Starry Night] ซึ่งถูกวาดขณะที่เขาเข้าพักรักษาตัวอยู่ในสุขศาลา (Asylum) ในฝรั่งเศส

16. โรคไบโพลาร์ (ชื่อไทย:โรคอารมณ์สองขั้ว/โรคอารมณ์แปรปรวน) เป็นโรคความผิดปกติของอารมณ์ ไม่ใช่โรคจิต ไม่ใช่โรคบ้า ไม่ใช่โรคประสาท

17. หลายคนเข้าใจผิดว่าโรคไบโพลาร์เป็น "โรคสองบุคลิก" (Split Personality/Dissociative Identity disorder) ที่มีสองบุคลิกซ่อนอยู่ในคนเดียวและเปลี่ยนกันออกมาพบปะผู้คน แต่จริงๆแล้ว “ไม่ใช่”

18. จริงๆแล้วโรคไบโพลาร์ มีการดำเนินโรคแบบเป็นๆหายๆเป็นครั้งๆ (Episodic หรือCycle) เรียกการเจ็บป่วยในแต่ละครั้งว่า "Episode" แปลว่า ผู้ป่วยจะมีช่วงที่อาการสงบและมีช่วงที่อาการกำเริบ โดยช่วงทีอาการสงบคนไข้จะสามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ (ส่วนหนึ่งต้องทานยาเพื่อป้องกันไม่ให้กำเริบ แต่ก็มีหลายรายที่สามารถหยุดยาได้)

19. การเจ็บป่วยในแต่ละครั้ง มีได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ ช่วงแมเนีย (Mania หรือ Manic Episode) ช่วงซึมเศร้า (Depressive Episode) ช่วงอารมณ์ผสม (Mix Episode) และช่วงไฮไปแมเนีย (Hypomanic Episode)

20. แม้จะไม่ได้กินยารักษา โรคนี้ก็สามารถหายได้เอง แต่จะกินเวลานาน (เป็นปีๆ) เทียบกับที่กินยา (ดีขึ้นในหลักสัปดาห์/เดือน) และในระหว่างที่ไม่ได้กินยารักษา ก็อาจจะเกิดผลกระทบที่น่ากลัวต่อผู้ป่วยและคนรอบข้างได้ (เช่นแวนโก๊ะที่จบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย)

http://www.vangoghgallery.com/print.........ogh-top-20.html

>>ชม 20 ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของแวนโก๊ะ



5 ระยะของการปรับตัวเมื่อเกิดความสูญเสีย [The 5 Stages of Grieving]

>>ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจเมื่อเผชิญกับการสูญเสีย (Grief , bereavement , Mourning) ใช้กับภาวะที่มีการสูญเสียคนที่เคยมีความผูกพัน บางครั้งอาจรวมไปถึงสัตว์เลี้ยง รวมทั้งเมื่อต้องเผชิญกับความผิดหวังรูปแบบต่างๆ (ตกงาน สูญเสียเสรีภาพ)

>>ดอกเตอร์ อลิสเบท คับเบลอร์-รอส (Elizabeth Kubler-Ross) นักจิตวิทยาชาวสวิส เป็นผู้ที่เรียบเรียงขั้นตอนดังกล่าวไว้ตั้งแต่ปี 1969 โดยทั้ง 5 ปฏิกิริยา อาจเกิดแบบไม่มีลำดับ ระยะไหนเกิดก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นครบทุกขั้นตอน แต่ต้องลงท้ายด้วย Acceptance เสมอ และแม้จะผ่านขั้นตอนหนึ่งๆแล้ว เราสามารถกลับไปสู่ขั้นตอนนั้นๆได้อีก คืออาจกลับไปกลับมาได้

>>>5 ปฏิกิริยาต่อการสูญเสีย<<<
1.Denial (Shock) คือการตกใจและปฏิเสธความจริงว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นแน่ ๆ " ไม่จริง" "สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับฉัน"

2.Anger : ความโกรธ
"ทำไมต้องเป็นฉันด้วย มันไม่ยุติธรรมเลย"
โกรธตัวเอง โกรธหมอ โกรธครอบครัว โกรธเพื่อน โกรธคนที่เรารัก
โกรธโชคชะตา

3. Bargaining : อยากต่อรองกับความตายและความสูญเสีย
อยากจะเลื่อนเวลาออกไป เพื่อที่จะปรับปรุงวิถีชีวิตใหม่
"ฉันจะยอมทำทุกอย่าง ขอเพียงพรุ่งนี้ตื่นมาพบว่านี่เป็นแค่ฝันร้าย"
"ฉันสัญญาว่าจะปรับปรุงตัวแต่ได้โปรดให้ฉันมีชีวิตอยู่ต่ออีกสักระยะหนึ่งเถิด" “วันนี้อย่าเพิ่งไปได้ไหม”
“ถ้าเพียงวันนั้นฉันทำอย่างนั้น...”

4.Depression : ซึมเศร้า ไม่มีเรี่ยวแรง มองโลกในแง่ลบ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อยากตาย จิตใจว่างเปล่า

5. Acceptance เป็นระยะที่ยอมรับความจริง พร้อมใจที่จะเผชิญกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัว
.

คำศัพท์ 2 คำ ที่คนทั่วไปกับแพทย์ (มักจะ) เข้าใจไม่ตรงกัน

จากการฝังตัวอยู่ในแวดวงของสิ่อและสังคมออนไลน์
ผมได้พบความสับสนในการนำคำศัพท์ทั้ง 2 คำนี้ไปใช้พอสมควร
เวลามีคนไข้มาหา หลายครั้งก็ต้องมานั่งปรับความเข้าใจให้ตรงกันเสียนานสองนาน
วันนี้มีเวลาว่างนิดหน่อยจึงถือโอกาสทำสไดล์และนำความรู้มาฝากกันครับ

"อีโก้"
1.1 ในความหมายทั่วไป มักใช้เรียก คนที่มีความมั่นใจในตนเองสูง มีทิฐิสูง มีอัตตาสูง
(จนหลายๆครั้งไม่ค่อยฟังคนอื่น)
ตัวอย่างของการนำไปใช้เช่น "คนนี้อีโก้สูงจริงๆไม่น่าคบเลย"

1.2 ในทางจิตเวช/จิตวิทยาแล้ว
Ego เป็นหน่วยการทำงานของจิตใจส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่ง
ถูกตั้งขึ้นมาตามทฤษฎีของ Sigmund Freud
มีหน้าที่ คิด รู้สึก รับรู้ เรียนรู้ ตัดสินใจ
จัดการความตึงเครียดผ่านทางDefense Mechanism
รวมทั้งคอยประนีประนอมความต้องการตามสัญชาตญาณกับเหตุผลทางศีลธรรม
ตัวอย่างของการนำไปใช้ เช่น "อีโก้ของคนไข้คนนี้ไม่ค่อยดี" "อีโก้ของคนๆนี้ค่อนข้างเปราะบาง"

"โรคจิต"
2.1 ในความหมายทั่วไป มักใช้กับพฤติกรรมอะไรก็ได้ที่ตัวเราหรือคนรอบข้างรู้สึกว่าไม่เหมาะสม/แปลกๆไป
เช่น การทำสิ่งที่ไม่ควรควรทำ เช่น ชอบดมกกน. ชอบแคะขี้มูกมากิน ชอบดมกลิ่นขี้หูตัวเอง สะสมของแปลกๆ
รู้สึกในสิ่งที่ไม่ควรรู้สึก เช่น กลัวแมลงสาบหงายท้อง หึงแฟนอย่างมากจนไม่ยอมห่าง
หรือ คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด เช่น คิดลามาก คิดหมกมุ่นกับเรื่องเดิม
หรืออาจหมายถึงคนที่มีพฤติกรรมแปลกๆ มีความหมกมุ่นทางเพศ เช่น ถ้ำมอง สะสมกกน.ใช้แล้ว เป็นต้น

2.2 ในทางจิตเวช/จิตวิทยาแล้ว
โรคจิต เป็นคำเรียกสั้นๆ ของ "โรคจิตเภท" (Schizophrenia) หรือ กลุ่มโรคจิต (Psychotic Disorders)
ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่ประกอบไปด้วยอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด แสดงพฤติกรรมหรือคำพูดไม่เหมาะสม
รวมทั้งมีพฤติกรรมด้านลบ เช่น เก็บตัว ขี้เกียจ ไม่ดูแลตนเอง ไม่ทำอาชีพใดๆ

สรุป : คำศัพท์ทั้งสองมีความหมายได้หลายอย่างแล้วแต่ความเข้าใจของผู้ใช้
ท่านสามารถใช้ในความหมายแบบใดก็ได้ แต่ต้องรู้/เข้าใจว่าหมายถึงอะไรครับ อีโมติคอน smile

แก้ไขล่าสุด 2 ส.ค. 58 13:26 | ไอพี: ไม่แสดง | โดย WinXP

#2 | ซึนใจ | 2 ส.ค. 58 13:15 น.



ป่วยเป็นโรคจิตเภทแล้วจะรักษาหายไหมหมอ?

เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยมากๆ
ถ้าถามเมื่อไหร่ก็ต้องชวนกันจับเข่าคุยเลยทีเดียว

ก่อนอื่นต้องเล่าถึง "นิยาม" ของคำศัพท์ก่อนว่า "หาย" คืออะไร
* หาย (Recovery) vs ทุเลา(Remission)
1.การหายของโรคจิตเภท หมายถึง การกลับไปสู่สภาวะเดิมก่อนที่จะเจ็บป่วยได้ทั้งหมด หรือกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ (นิยามของDSM)
.
2.การทุเลาของโรคจิตเภท หมายถึง อาการหลักของโรคดีขึ้นจนไม่รบกวนพฤติกรรมโดยรวม และ อาการลดลงจนไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคจิตเภท (นิยามของ Remission in Schizophrenia Working Group)

ดังนั้นเมื่อถามว่า โรคจิตเภทรักษาหายไหม?
คำตอบที่ออกมา ในทางทฤษฎีแล้วสามารถตอบได้ทั้ง "ใช่" และ "ไม่"
เพราะโรคนี้ ไม่ได้มีการดำเนินโรคที่เหมือนกับโรคทั่วๆไป (แบบโรคหวัดที่เป็นไม่นานก็หาย โรคไส้ติ่งอักเสบที่ผ่าตัดแล้วไม่นานก็หาย แผลน้ำร้อนลวกที่รักษาแผลแล้วก็หาย) ที่สามารถฟันธงไปตรงๆว่าหายหรือไม่
โดยทั่วไปโรคนี้มักถูกเปรียบเทียบว่ามีลักษณะคล้ายๆโรคในกลุ่มเบาหวาน และความดันโลหิตสูง คือ มีลักษณะการดำเนินโรคที่ค่อนข้างยาวนานและเรื้อรัง
.
.
คำว่า "หาย" สามารถเกิดขึ้นได้กับคนกลุ่มหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด
คนกลุ่มที่เหลือจะมีผลการรักษาแบบ "ทุเลา" คือกลับไปดำเนินชีวิตได้แต่ยังมีอาการอยู่บ้างและถ้าขาดยาจะทำให้โรคกำเริบได้ และมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังมีอาการอยู่ค่อนข้างมาก จนไม่สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

การวิจัยเกี่ยวกับผลการรักษาโรคจิตเภท
1. ผลการรักษาในช่วง 2 ปีแรก มีส่วนช่วยทำนายผลการรักษาในระยะยาวได้ หมายถึง ใน2ปีแรกที่เริ่มเจ็บป่วย/รักษา เป็นช่วงที่มีความสำคัญต่อการทำนายผลลัพธ์ของโรคมาก ถ้าดูแลได้ดีผลก็มักจะดี

2. ในการเจ็บป่วยครั้งแรกของโรคจิตเภท พบว่า
ผู้ป่วย 1 ใน 3 อาการหายสนิท
ผู้ป่วยอีก 1 ใน 3 อาการดีขึ้น แต่ยังมีอาการบางอย่างเหลืออยู่
ผู้ป่วยที่เหลืออีก 1 ใน 3 ยังมีอาการทางจิตรบกวนชีวิตประจำวัน

3. เมื่อติดตามเป็นระยะเวลา 5 ปีพบว่า
14% หายสนิท
62% ดีขึ้น สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้

4. ผลในระยะยาว
ประมาณ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยจิตเภทจะมีความเสื่อมถอยของสมรรถภาพโดยรวมลงไปเรื่อยๆ รวมทั้งเสี่ยงต่อการกำเริบซ้ำของโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถอยู่ร่วมภายในชุมชนได้

.

.


โรคจิตที่พบได้บ่อย 5 ชนิด
(5 Common Psychotic disorders)

โรคจิต (Psychotic Disorder) เป็นกลุ่มของโรคทางจิตเวชที่ประกอบไปด้วยอาการประสาทหลอน หลงผิด แสดงพฤติกรรมหรือคำพูดไม่เหมาะสม หรือมีพฤติกรรมด้านลบ เช่น เก็บตัว ขี้เกียจ ไม่ดูแลตนเอง ไม่ทำอาชีพใดๆ โรคจิตมี่หลายประเภท แต่ที่พบได้บ่อย ได้แก่...

1. Schizophrenia โรคจิตเภท
มีอาการของโรคจิต เป็นติดต่อกันนาน 6 เดือนขึ้นไป และมีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างน้อย 1 เดือน

2. Acute psychosis โรคจิตชนิดเฉียบพลัน
มีอาการของโรคจิตเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เป็นอย่างน้อย 1 วัน แต่เป็นอยู่ไม่เกิน 1 เดือน ก็หายเป็นปกติ

3. Substance-induced Psychosis โรคจิตที่เกิดจากสารเสพติด
มีอาการของโรคจิตที่เกิดสัมพันธ์กับการใช้สารเสพติด

4. Delusional disorder โรคหลงผิด
มีความคิดหลงผิด ปักใจเชื่อในความคิดที่ไม่เป็นจริง เป็นติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือน

5. Schizoaffective disorder โรคจิตแบบอารมณ์แปรปรวน
มีอาการของโรคจิตร่วมไปกับอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน



.



โรคโน้ต?

วันก่อน รับรายงานทางโทรศัพท์จากวอร์ดจิตเวช
วอร์ด: คุณหมอคะ มีคนไข้ อายุ xxปี วินิจฉัยเป็นโรค "Psychotic โน้ต" ตอนนี้อาการดีขึ้น อยากขอกลับบ้านค่ะ
แพทย์: เอ่อ...โรคอะไรนะครับ?
วอร์ด: (พูดช้าๆทีละพยางค์) "ไซ-โค-ติก-โน้ต" ค่ะ
แพทย์ : อ้อ...เขาอ่านว่า "N-O-S" ครับ อีโมติคอน kiki"
วอร์ด: เหรอค่ะ โทษทีค่ะๆๆ
(คาดว่าคงกำลังงงๆว่ามันคืออัลไลน์**คำว่า"โน้ต"เนี่ย)
หมอ : ไม่เป็นไรๆ ครับ อีโมติคอน smile

.
.
>>เข้าสู่ภาคความรู้
คำว่า โน้ต เอ้ย...NOS (อ่านว่า "เอ็น-โอ-เอส" )
ย่อมาจาก "Not Otherwise Specified" เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค ตามระบบDSM เพื่อจะบอกกับเราว่า ตอนนี้ผู้ป่วยๆเป็นโรคอะไรก็ยังไม่รู้ชัด หรือยังไม่สามารถจัดเข้ากับโรคหลักทางจิตเวชใดๆได้
ยกตัวอย่างเช่น
- Psychotic Disorder NOS แสดงว่า ผู้ป่วยมีอาการทางจิต เช่น หูแว่ว หวาดระแวง มีความคิดแปลก คำพูดแปลกๆ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะสามารถวินิจฉัยเป็นโรคจิตเภทหรือโรคจิตชนิดอื่นๆได้
- Depressive Disorder NOS ผู้ป่วยมีอาการในกลุ่มอารมณ์ซึมเศร้า แต่ยังไม่เด่นชัดหรือมากพอที่จะวินิจฉัยโรคซึมเศร้า(Major Depressive Disorder)หรือโรคซึมเศร้าตัวอื่นๆได้ เป็นต้น

*การที่ยังไม่สามารถจัดเข้ากับโรคใดๆได้ อาจจะมาจากการที่เรายังได้ข้อมูลไม่มากพอ จากอาการของผู้ป่วยที่ยังไม่ชัดเจน หรือระยะเวลาที่ติดตามอาการยังไม่นานพอ ทำให้ปะติดปะต่อภาพทั้งหมดของคนไข้ยังไม่ได้ ก็เลยต้องใส่คำว่า "NOS" ห้อยท้ายไว้กับกลุ่มโรคที่เป็นครับ
.
.
.

ป่วยด้วยโรคจิต ไม่ต้องกินยาได้ไหม?

เป็นคำถามที่ถูกถามเข้ามาบ่อยมากๆอีกหนึ่งคำถามนะครับ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเรื่องคำศัพท์ก่อน สำหรับคำว่า "โรคจิต" เป็นคำเรียกสั้นๆ ของ "โรคจิตเภท" (Schizophrenia) หรือ กลุ่มโรคจิต (Psychotic Disorders) ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่ประกอบไปด้วยอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด มีพฤติกรรมหรือคำพูดไม่เหมาะสม หรือมีพฤติกรรมเก็บตัว ไม่ดูแลตนเอง ไม่ทำอาชีพใดๆ ไม่อยากสุงสิงกับใคร เป็นต้น

คำตอบของคำถาม ก็คือ ณ ปัจจุบันนี้ การรักษาหลักของโรคจิต ก็คือ "ยา" โดยยาจะเข้าไปปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองทำให้การรับรู้ความเป็นจริง ความคิด อารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วยกลับมาสู่ปกติหรืออย่างน้อยพอจะดำเนินชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่นได้ เป็นการรักษาที่จะขาดไปไม่ได้เลย หากขาดยาไป โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยก็จะรอวันที่จะมีอาการกลับมากำเริบซ้ำไม่ช้าก็เร็ว

ส่วนการรักษาอืนๆ เช่น จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด การช่วยเหลือทางด้านจิตสังคม ตลอดจนการสะกดจิต การช่วยเหลือทางด้านไสยศาสตร์ การปัดเป่าภูติผี หรือการไล่**จัญไรต่างๆ ล้วนเป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่ "ช่วยเสริม" ให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดียิ่งๆขึ้น มีความสุขทางด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณมากขึ้นไปอีกครับ อีโมติคอน smile

สำหรับ ยาต้านโรคจิต ในปัจจุบันมีให้เลือกหลายรูปแบบครับ ทั้งยาเม็ด ยาน้ำ ยาฉีด เวลาที่แพทย์จะสั่งยาให้คนไข้จะเลือกจาก ความร่วมมมือในการรับยา เป็นหลัก

.

ไอพี: ไม่แสดง | โดย WinXP

#3 | xo_ss | 3 ส.ค. 58 12:40 น.

ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ

ไอพี: ไม่แสดง | โดย WinXP

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google