กรมศิลปากรประกาศงดเก็บค่าเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ชั่วคราว มีที่ไหนบ้างมาดูกัน!

28 ต.ค. 59 15:12 น. / ดู 933 ครั้ง / 1 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
เนื่องด้วยทาง กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จะทำการงดเก็บค่าเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์ทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2560 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เราก็เลยจะขอแนะนำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่น่าสนใจ รวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การไปเก็บเกี่ยวความรู้และซึมซับวัฒนธรรมและความเป็นมาของชนชาติไทย
สถานที่แรกที่อยากแนะนำให้ไปเยี่ยมชมกันก็คือ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร" ซึ่งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปไม่ยากเลยค่ะ หากใครที่เดินทางไปสักการะพระบรมศพ ก็สามารถเดินทางมาที่นี่ต่อได้ภายในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น โดยที่นี่ได้เก็บรวบรวมสมบัติเก่าแก่ของชาติไว้มากมาย รวมทั้งยังเพิ่งทำห้องจัดแสดงใหม่ที่งดงามมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมี "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี" ที่จัดแสดงเรือพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราชลมารค ที่สามารถเดินไปจากฝั่งโรงพยาบาลศิริราชได้

อีกหนึ่งแห่งที่พลาดไม่ได้โดยเด็ดขาดคือ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น" ที่จัดแสดงประวัติช้างหลวงของพระมหากษัตริย์มาแต่โบราณ รวมถึง "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์" และ "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร" ซึ่งเป็นวัดประจำวังสวนจิตรลดาด้วย

ส่วน อุทยานประวัติศาสตร์ จะอยู่ในการดูแลของกรมศิลปากร และยังเปิดให้เข้าชมได้ฟรีๆ เช่นกัน ส่วนจะมีที่ไหนบ้างนั้น เราไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา




อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ 1,810 ไร่ ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา เขตเทศบาลเมือง พระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือ ตามถนนสายเอเซีย ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ 3,000 ไร่

โบราณสถานสำคัญ  : 
1. พระราชวังโบราณหรือพระราชวังหลวง พระราชวังโบราณ เป็นที่อยู่ของพระมหากษัตริย์และเป็นทั้งศูนย์กลางด้านการเมืองและการปกครองในเวลาเดียวกัน เมื่อแรกสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น พระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ. 1893-1912) ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดพระศรีสรรเพชญ์
2. วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดสมัยอยุธยา เดิมเป็นพระราชวังที่ประทับซึ่งสมเด็จ พระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 1991 โปรดให้ย้ายพระราชวังไปสร้างใหม่ทางด้านริมแม่น้ำลพบุรี และอุทิศพระราชวังให้เป็นวัดสำหรับประกอบ พิธีต่างๆ
3. วัดราชบูรณะ เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 1967 ในบริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้งสองของพระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากการรบแย่งชิงราชสมบัติ
4. วิหารพระมงคลบพิตร พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อพ.ศ. 2499 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้บูรณะวิหาร พระมงคลบพิตรใหม่ทั้งหมดดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ยังมีโบราณสถานที่ สำคัญแห่งอื่นอีก เช่น วัดพระราม วัดญาณเสน
วัดธรรมิกราช วัดวรโพธิ์ วัดวรเชษฐาราม เป็นต้น

ค่าเข้าชมปกติ : ผู้มีสัญชาติไทย 10 บาท, ผู้มีสัญชาติอื่น 40 บาท


อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงประกอบพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ซึ่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทยร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ทั้งเพื่อธำรงรักษามรดกวัฒนธรรมแห่งบรรพชนไทยให้คงอยู่ยั่งยืน เป็นหลักฐานของอารยธรรมของประเทศไทยสืบไป

โบราณสถานสำคัญ : พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, วัดมหาธาตุ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง, วัดตระพังเงิน, วัดศรีสวาย, วัดตระพังทอง, วัดสระศรี, วัดชนะสงคราม, วัดตระกวน, ศาลตาผาแดง, วัดพระพายหลวง, เตาทุเรียงสุโขทัย, วัดสังฆวาส, วัดศรีชุม, วัดช้างล้อม, วัดตระพังทองหลาง, วัดเจดีย์สูง, วัดก้อนแลง, วัดต้นจันทร์, วัดเชตุพน, วัดเจดีย์สี่ห้อง, วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม, วัดวิหารทอง, วัดอโสการาม, วัดมุมลังกา, วัดตะพานหิน, วัดอรัญญิก, วัดช้างรอบ, วัดเจดีย์งาม, วัดถ้ำหีบ, วัดมังกร, วัดพระยืน, วัดป่ามะม่วง, วัดตึก, สรีดภงค์หรือทำนบพระร่วง

ค่าเข้าชมปกติ : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเก็บธรรมเนียมค่าเข้าชมใน ๓ เขตพื้นที่ คือ เขตโบราณสถานชั้นใน / เขตโบราณสถานชั้นนอกด้านทิศเหนือ (วัดศรีชุมและวัดพระพายหลวง) / เขตโบราณสถานชั้นนอกด้านทิศตะวันตก (เขตอรัญญิก) โดยในแต่ละเขตพื้นที่เก็บธรรมเนียมค่าเข้าชมแยกกัน ในอัตราเดียวกัน คือ ผู้มีสัญชาติไทย 20 บาท, ผู้มีสัญชาติอื่น 100 บาท


อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง



อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทพนมรุ้ง เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบของศิลปะเขมรโบราณ ที่มีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของปราสาทแห่งนี้ปรากฏให้เห็นได้ในรูปของงานสถาปัตยกรรม การจำหลักลวดลายการเลือกทำเลที่ตั้งบนยอดเขามีแผนผังตามแนวแกนที่มีองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้าง ต่าง ๆ เรียงตัวกันเป็นแนวเส้นตรงพุ่งเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ปราสาทประธาน ซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่า พลับพลา อาคารนี้อาจจะเป็นอาคารที่เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้าหรือประกอบพิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน

ค่าเข้าชมปกติ : ผู้มีสัญชาติไทย 20 บาท, ผู้มีสัญชาติอื่น 100 บาท


อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี



พระนครคีรีเป็นพระราชวังที่ประทับในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นพระราชวังฤดูร้อนโดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง โดยก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2403 โดยพระนครคีรีแบ่งออกเป็นเขตพระราชฐานต่างๆ ดังนี้

1. เขตพระราชฐานชั้นนอก เป็นยอดเขาด้านหน้าเป็นที่ตั้งของกรมกองต่างๆของทางราชการซึ่งตามเสด็จ
2. เขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน เป็นยอดเขาตรงกลางและด้านในเป็นที่ตั้งของพระราชมณเฑียรที่ประทับของทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในรวมทั้งข้าราชบริพาร

ค่าเข้าชมปกติ : นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมเขาวังได้โดยการเดินขึ้น หรือโดยสารรถรางไฟฟา ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 15 บาท


อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย



อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ และตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัย อยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย โดยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือ ประมาณ 550 กิโลเมตร เมืองโบราณศรีสัชนาลัยมีสภาพภูมิประเทศที่ตั้งของเมืองเป็นที่ราบเชิงเขาพระศรี และเขาใหญ่ ทางด้านทิศตะวันตก และมีลำน้ำยมอยู่ทางด้านทิศตะวันออก กรมศิลปากรได้กำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ประมาณ 28,217 ไร่

โบราณสถานที่สำคัญ :
1. โบราณสถานภายในกำแพงเมือง สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น 28 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดนางพญา วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดสวนแก้ว เป็นต้น
2. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 35 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดกุฎีราย เตาทุเรียงบ้านป่ายาง เตา ทุเรียงบ้านเกาะน้อย ซึ่งเป็น แหล่งผลิตภาชนะดินเผา “เครื่องสังคโลก” ที่สำคัญของเมืองศรีสัชนาลัย
3. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดสวนสัก วัดป่าแก้ว เป็นต้น
4. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 24 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดชมชื่น วัดเจ้าจันทร์ และวัดโคกสิงคาราม เป็นต้น
5. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 19 แห่ง ที่สำคัญ คือ วัดพญาดำ วัดราหู วัดสระประทุม วัดพรหมสี่หน้า วัดยายตา เป็นต้น
6. โบราณสถานนอกกำแพงเมืองบนภูเขา สำรวจพบแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 15 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดเขาใหญ่บน วัดเจดีย์เจ็ดยอด วัดเจดีย์รอบ และวัดเขาใหญ่ล่าง เป็นต้น

ค่าเข้าชมปกติ : ผู้มีสัญชาติไทย 10 บาท, ผู้มีสัญชาติอื่น 30 บาท


อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย



อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในตัวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยปราสาทหินในสมัยอาณาจักรขอมที่ใหญ่โตและงดงาม สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อใช้เป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ ตัวอุทยานตั้งอยู่ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล บนพื้นที่ 115 ไร่ วางแผนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่นๆ ที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงในสมัยนั้นของขอม ซึ่งเข้ามาสู่เมืองพิมายทางทิศใต้

ค่าเข้าชมปกติ : ผู้มีสัญชาติไทย 20 บาท, ผู้มีสัญชาติอื่น 100 บาท


อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์



อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อยทางทิศเหนือในเขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แวดล้อมด้วยทิวเขาเป็นแนวยาวอยู่โดยรอบ ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง กว้างประมาณ 800 เมตร หมายถึงส่วนกว้างของเมือง ยาวประมาณ 850 เมตร และกำแพงสูง 7 เมตร มีประตูเข้าออก 4 ด้าน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ภายในเมืองมีสระน้ำ 6 สระ

ปราสาทเมืองสิงห์ตั้งอยู่บริเวณที่ราบริมฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำแควน้อย พื้นที่โดยรอบโอบรอบด้วยภูเขาขนาดไม่สูงมากนัก บริเวณโบราณสถานจะมีกำแพงและคูคันดินเป็นชั้นๆ แนวกำแพงดังกล่าวมีลักษณะเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยม คือแม่น้ำแควน้อยไหลผ่านด้านทิศใต้ ด้งนั้นพื้นที่ด้านนี้จึงขยายออกไปตามแนวแม่น้ำ สำหรับด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือ แนวกำแพงต่อกันเป็นรูปสีเหลี่ยม รอบนอกกำแพงจะเป็นคูคันดินล้อมรอบอยู่ โดยเฉพาะด้านตะวันตกปรากฏซากคันดินอยู่ถึง 7 ชั้น กำแพงและคูดินนี้จะล้อมรอบกลุ่มโบราณสถานสำคัญ ซึ่งประกอบด้วยโบราณสถานหมายเลข 1-4 กำแพงและประตู คูคันดิน สระน้ำ และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ

ค่าเข้าชมปกติ : ผู้มีสัญชาติไทย 10 บาท, ผู้มีสัญชาติอื่น 40 บาท


อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร



อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง มีพื้นที่ประมาณ 3.4 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 เขต คือ เขตภายในกำแพงเมือง พื้นที่ 503 ไร่ และเขตนอกกำแพงเมืองหรือที่เรียกกันว่าเขตอรัญญิก พื้นที่ 1,611 ไร่ ตั้งอยู่บนเขาลูกรังขนาดย่อม โบราณสถานทั้ง 2 กลุ่ม ตั้งอยู่ในพื้นที่ตั้งของตัวจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือ ประมาณ 358 กิโลเมตร กรมศิลปากรได้กำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ประมาณ 2,114 ไร่

โบราณสถานที่สำคัญ :
1. โบราณสถานภายในกำแพงเมือง สำรวจพบแล้วมีทั้งสิ้น 20 แห่ง ที่สำคัญ คือ วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ วัดโบราณ หรือ สระมน ศาลพระอิศวร
2. โบราณสถานนอกกำแพงเมือง โดยทั่วไปเรียกกันว่า เขตอรัญญิก ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 1,611 ไร่ ตั้งอยู่บนเขาลูกรังขนาดย่อม สำรวจพบโบราณสถานแล้ว 37 แห่ง ที่สำคัญคือ วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดช้างรอบ วัดอาวาสใหญ่ วัดฆ้องชัย วัดอาวาสน้อย วัดเชิงหวาย วัดดงหวาย วัดช้าง และวัดกะโลทัย เป็นต้น

ส่วนโบราณสถานที่ตั้งอยู่ฟากตะวันตกของแม่น้ำปิง ทั้งภายในและภายนอกเมืองนครชุม ก็ยังมีกลุ่มโบราณสถานที่สำคัญตั้งอยู่
ภายใน เมืองนครชุมมีวัดพระบรมธาตุและวัดซุ้มกอ เป็นต้นส่วนที่อยู่นอกเมืองนครชุม ได้แก่ ป้อมทุ่งเศรษฐี วัดหนองพิกุล
วัดหม่องกาเล และ วัดเจดีย์กลางทุ่ง เป็นต้น

ค่าเข้าชมปกติ : ผู้มีสัญชาติไทย 10 บาท, ผู้มีสัญชาติอื่น 30 บาท


อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท



อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ 3,430 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า ป่าเขือน้ำ บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแห่งนี้ ปรากฏร่องรอยของกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 2,000-3,000 ปีมาแล้ว มีการพบภาพเขียนสีมากกว่า 30 แห่ง ยังพบการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นศาสนสถานของผู้คนใน วัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมของ มนุษย์ได้เป็นอย่างดี

โบราณสถานที่สำคัญ : หอนางอุสา, ถ้ำพระ, ถ้ำวัว-ถ้ำคน, ภาพเขียนสีโนนสาวเอ้, หีบศพนางอุสา, วัดลูกเขย, วัดพ่อตา, ถ้ำช้าง, กู่นางอุสา, ผาเสด็จ, คอกม้าท้าวบารส, คอกม้าน้อย, บ่อน้ำนางอุษา, เพิงหินนกกระทา, ฉางข้าวนายพราน, อูปโมงค์, ถ้ำฤๅษี, ถ้ำปู่เจ

ค่าเข้าชมปกติ : ผู้มีสัญชาติไทย 10 บาท, ผู้มีสัญชาติอื่น 30 บาท


อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ



อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานมีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ ศรีเทพเป็นเมืองโบราณที่อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพ เดิมมีชื่อว่า เมืองอภัยสาลี ถูกค้นพบเมื่อ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ และได้ทรงเรียกเมืองนี้เสียใหม่ว่า เมืองศรีเทพ

เมืองโบราณศรีเทพนี้มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่ ที่ตั้งของเมืองอยู่ในชุมทาง ที่สามารถติดต่อกับภาคอื่นๆ ได้สะดวก ดังนั้นจึงได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมจากอาณาจักรข้างเคียง มาผสมผสาน เช่น ศิลปะทวารวดี ศิลปะขอม เป็นต้น เมืองศรีเทพสร้างขึ้นในยุคของขอมเรืองอำนาจ ซึ่งคาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี โดยดูจากหลักฐานทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และวัฒนธรรมที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีความเจริญสูงสุดทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม สันนิษฐานว่าเจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ถึงพุทธศตวรรษที่ 16

โบราณสถานที่สำคัญ : ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ, ปรางค์ศรีเทพ, สระแก้วสระขวัญ, โบราณสถานเขาคลังใน, ปรางค์สองพี่น้อง

นอกจากโบราณสถานหลักแล้วยังมีโบราณสถานย่อย ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ทิศใต้ของเขาคลังใน พบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลง พบใบเสมาหินบริเวณใกล้หลุมขุดค้น และพบโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมัยทวารวดี ซึ่งได้มีการก่อสร้างทับในระยะที่รับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา จึงเห็นได้ว่าบริเวณเมืองชั้นในเดิมน่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดีและมีการสร้างสถาปัตยกรรมเขมรในระยะหลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทางทิศใต้ยังพบอาคารมณฑปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ และมีการพยายามเปลี่ยนแปลงให้เป็นเทวาลัยประมาณต้นศตวรรษที่ 18 แต่ไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ

ค่าเข้าชมปกติ : ผู้มีสัญชาติไทย 20 บาท, ผู้มีสัญชาติอื่น 100 บาท
แก้ไขล่าสุด 28 ต.ค. 59 16:13 | เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย WinXP

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

#1 | mem_370346 | 2 พ.ย. 59 14:44 น.

อยากไปเที่ยวอย่างมากมาย

ไอพี: ไม่แสดง | โดย Windows 8.1

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google