เตือนภัย! เบื้องหลังเบอร์โทรลึกลับ แอบขายข้อมูลส่วนตัว และแอบเปิดเผยยอดเงินในบัญชีธนาคารแก่เจ้าหนี้!!?

12 ธ.ค. 59 11:43 น. / ดู 1,275 ครั้ง / 0 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์

(ข้อมูลเตือนภัยอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม)


เรื่องราวอันน่าตกใจ! และน่าสนใจเกิดขึ้นจาก บุคคลต้นเรื่องของรายงานพิเศษชิ้นหนึ่งของทางไทยรัฐออนไลน์

คือ นายยุทธพงษ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 39 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ถึงแม้เหตุการณ์เกิดขึ้นหลายเดือนแล้ว แต่เขาขอบอกเล่าประสบการณ์ และอยากจะเตือนไปยังบุคคลที่คิดจะขายประกันแบบไร้จริยธรรมให้หยุดเถอะ ไม่งั้นคุณอาจติดคุก..!

นายยุทธพงษ์ หรือ คุณโอ้ เริ่มต้นเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงขุ่นเคือง ถึงเรื่องที่ประสบพบเจอมาว่า เหตุการณ์นี้เริ่มจากมีโทรศัพท์เบอร์ 063-213-XXXX พยายามโทรหาตน 3-4 ครั้ง ตอนนั้นตนกำลังทำงานและเห็นว่าเป็นเบอร์ไม่คุ้นเคยจึงไม่รับสาย แต่ปรากฏว่าจากนั้นไม่นาน ได้มีข้อความส่งมาถึงเขียนว่า...

“ขอบคุณสำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตร XXX จำนวนเงิน 5,400 บาท @บริษัทประกันแห่งหนึ่ง หากข้อมูลไม่ถูกต้องให้ติดต่อหมายเลข 02-XXX-XXXX”

เมื่อได้รับข้อความตนรู้สึกมึนงงเป็นอย่างมาก เพราะยังไม่ได้คุยกับใคร ไม่ได้รับสายใคร ไม่ได้ทำประกันกับใคร แล้วทำไมจู่ๆ จึงมีการหักเงิน..!!!









เบอร์ที่ตั้งใจไม่รับสาย แต่กลับมีการหักเงินจากบัตรเครดิต




ผู้เสียหายได้เปิดเผยว่า

“ตอนนั้นรู้สึกโกรธมาก... มันคืออะไร จู่ๆ มาหักเงินกันแบบนี้ได้ยังไง ขายประกันแบบนี้ก็ได้หรือ...? จึงได้พยายามโทรไปสอบถามที่เบอร์คอลล์เซ็นเตอร์ที่ให้ไว้ ปรากฏว่า ปลายสายตอบกลับมาว่า ได้มีการทำกรมธรรม์ดังกล่าวจริง และไม่ทราบว่า กรณีถูกหักเงินทั้งที่ยังไม่มีการตอบตกลงซื้อกรมธรรม์ได้อย่างไร กระทั่งต่อมา ได้มีบุคคลรายหนึ่งอ้างเป็นโบรกเกอร์ที่ตกลงทำประกันให้ พร้อมกับกล่าวขอโทษ...พร้อมบอกว่าจะคืนเงินให้ แต่ต้องส่งเอกสารคือ บุ๊กแบงก์ โดยให้ส่งแฟกซ์ไปที่บริษัทประกันดังกล่าว ระหว่างนั้น....ผมคิดอยู่ตลอด

“เราเป็นคนผิดหรือ..? ทำไมต้องแก้ปัญหาสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำ”


ด้วยความร้อนใจ ได้เดินทางไปสอบถามที่บริษัทประกันที่หักเงินตนถึงที่ ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่มารับเรื่อง แต่ก็เหมือนจะคุยกันไม่รู้เรื่อง ตนจึงพูดเสียงดังขึ้น กระทั่งมีเจ้าหน้าที่อีกคนเข้ามาสอบถามและเมื่อได้พูดคุยกัน จึงยอมรับเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมกับรับปากว่าจะคืนเงินให้เต็มจำนวน

นอกจากนี้ ตนยังขอทราบชื่อตัวแทนที่เดินเรื่องซื้อประกันในครั้งนี้ แต่ทางบริษัทประกันดังกล่าว อ้างว่า

โบรกเกอร์รายดังกล่าว ได้ทำการฉ้อโกงบริษัทเช่นกัน พร้อมให้ชื่อนามสกุลโบรกเกอร์รายนี้มา






สำเนาลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ




อย่างไรก็ดี หลังจากเข้าร้องเรียนยังบริษัทประกันได้ 3-4 วัน จึงได้เงินคืนมาเต็มจำนวน 5,400 บาท หลังจากนั้น จึงนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องเรียนกับทาง สำนักงาน คปภ. และ คปภ.​ ก็ให้คำตอบที่น่าตกใจว่า

“จากการตรวจสอบของ คปภ. พบว่า นายรัศมิธศิลป์ (สงวนนามสกุล) ตัวแทนบริษัทแห่งหนึ่ง (คนขายประกันให้ผู้เสียหาย) ใบอนุญาตขายประกันหมดอายุ และไม่ได้มีการมาต่ออายุใบอนุญาตแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังเห็นว่ามีผู้มาร้องเรียนกับ คปภ. กรณีการขายประกันทางโทรศัพท์หลายราย ซึ่งทราบว่าบางรายได้เงินคืนไม่เต็มจำนวนด้วย”




ซื้อขายข้อมูลมีจริง สะพัด 5,000 ล้าน วงการประกัน ธนาคาร ปล่อยเงินกู้รู้ดี..?

หลายคนสงสัยกันว่า...เขาเหล่านั้นเอาเบอร์โทรศัพท์เราท่านมาจากที่ใด นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม บอกกับทางนักข่าวไทยรัฐ ถึงการซื้อขายข้อมูลส่วนตัวที่มีวงเงินสะพัดกว่า 5 พันล้านบาทว่า..

"การซื้อขายข้อมูลส่วนตัวนั้นทำกันเป็นขบวนการมานานแล้ว โดยเฉพาะชื่อและเบอร์โทรศัพท์ ราคาอยู่ใน 50 ชื่อละ 50 สตางค์ จนถึง ราคา 50 บาท ตามชื่อของบุคคล "

"หากเป็นคนมีเงินหรือบบุคคลที่มีชื่อเสียง ราคาก็จะยิ่งแพง แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ การซื้อขาย Statement บุคคล โดยเฉพาะคนที่มีเงินจำนวนมากในบัญชีธนาคาร จะขายราคาชื่อละ 500 บาทขึ้นไป"


" ที่หนักกว่านั้นคือ ยังมีการรับจ้างในการตกแต่งบัญชีด้วย!"






"เขาเอาข้อมูลของธนาคารที่มีอยู่แล้ว มาขายกับพนักงานด้วยกันเองต่อ เสร็จแล้วก็นำไปขายให้กับบริษัทประกันภัย"

" ที่ร้ายกว่านั้นคือ ไปขายให้กับบริษัทรับจ้างทวงหนี้...หากบริษัททวงหนี้เหล่านี้รู้ว่าคุณมีเงินเท่าไร เขาก็จะได้ตามทวงหนี้ได้ถูก"








“จากข้อมูลที่ได้จากคนที่เคยทำงานด้านนี้มา เชื่อว่ามีข้อมูลส่วนตัวของประชาชนทั้งหมด ที่อยู่ในวงจรการซื้อขายกว่า 30 ล้านบัญชี เม็ดเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ วนเวียนซื้อขายระหว่างธนาคาร ประกัน รวมไปถึงกลุ่มแก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ หากตกอยู่ในมือมิจฉาชีพ ก็จะเป็นอันตรายต่อบุคคลๆ นั้น...ขอยืนยันว่าการเปิดโปงครั้งนี้มีหลักฐานชัดเจน และพร้อมจะนำหลักฐานไปมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนเขาจะดำเนินการอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขา ทั้งนี้ การซื้อขายข้อมูลดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายมีโทษทั้งจำทั้งปรับ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เชื่อว่าหากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ในสภา หากมีการประกาศใช้ก็เชื่อว่าจะทำให้แก้ปัญหาเหล่านี้ได้มากขึ้น เนื่องจากมีบทลงโทษที่หนักมากขึ้น”

ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม กล่าว





บริษัทประกัน เสาะหาเบอร์ของคุณมาจากที่ใด?






ผู้ช่วยเลขาธิการ คปภ.ถึงคำถามที่สังคมอยากรู้ว่า “บริษัทประกันเอาเบอร์โทรศัพท์มาจากแหล่งใด?” ซึ่งได้รับคำตอบจาก ผู้ช่วยเลขาธิการ คปภ.ว่า ข้อมูลในส่วนนี้มาจากหลายแหล่ง ยกตัวอย่างเช่น

-เมื่อผู้บริโภคเข้าร่วมรายการบัตรเครดิต
-ชิงโชค
-สมัครฟิตเนส
-ซื้อผลิตภัณฑ์

อาทิเช่น รถยนต์, บัตรเครดิต ซึ่งลูกค้าจะต้องกรอกชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์







การกระทำเหล่านี้ ผู้บริโภคจะต้องลงทะเบียนข้อมูลส่วนตัว อาทิ ชื่อนามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งจะมีคนกลุ่มหนึ่งจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ และนำไปขายให้แก่บริษัทประกันต่างๆ








เลขาฯ คปภ. ได้กล่าวว่า

"การซื้อขายข้อมูลส่วนตัวเป็นเรื่องผิดกฎหมายแน่ๆ ส่วนจะซื้อขายกันทางไหนตนไม่ทราบ เพราะไม่มีข้อมูล ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ คปภ. "

"อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าบริษัทไหนโทรมา ในฐานะลูกค้ามีสิทธิที่จะถามว่าเขาเหล่านั้นเอาข้อมูลเรามาจากที่ไหน ในเงื่อนไขของ คปภ. ผู้ที่โทรมาต้องตอบ แหล่งที่มา ส่วนเขาจะตอบจริงตอบเท็จหรือไม่นั้นก็ยากจะตรวจสอบ"







เผย มีการซื้อขายเบอร์ลูกค้า ยิ่ง VIP ยิ่งมีราคาแพง





แหล่งข่าวอ้างว่า เคยมีคนมาขอซื้อเบอร์ เจ้าสัวอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นลูกค้าค่ายรถยนต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาเคยทำงานที่นั่น แต่ด้วยที่ว่าเจ้าสัวรายนี้ เป็นลูกค้าระดับ VIP จึงทำให้ไม่กล้าขายเบอร์ของเจ้าสัวรายนี้ให้ไป

ถามว่า เขาได้เบอร์ไปแล้วขายได้หรือ...

“ถ้าซื้อเบอร์ลูกค้าไป 100 เบอร์ และจิ้มโทรหาทุกคน หากมีลูกค้าซื้อประกันสัก 2 คน ก็คุ้มแล้ว”

เขาว่าอย่างนั้น!




รับมือพวกขายประกัน?




"การขายประกันนั้น หากมีตัวแทนมาขาย เจอกันแบบ Face to Face แล้วมาดูเงื่อนไขในกรมธรรม์แล้วรู้สึกว่าไม่ถูกต้องหรือผิดเงื่อนไข

... สามารถยกเลิกได้ภายใน 15 วัน"








“ส่วนกรณีขายประกันทางโทรศัพท์ ก็สามารถยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รับหนังสือกรมธรรม์"

 
"อย่างไรก็ดี เรามีสิทธิที่จะตรวจสอบกรมธรรม์ขั้นสุดท้ายแล้วค่อยให้คำตอบว่า จะทำหรือไม่ก็ได้ "

"นอกจากนี้ เมื่อออกกรมธรรม์ ถึงมือ 7 วัน เขาจะโทรมาสอบถามเงื่อนไขการทำประกัน เพื่อขอคำยืนยันอีกครั้งว่าจะทำหรือไม่ เพื่อเช็กว่าไม่ได้ทำประกันเพราะความเข้าใจผิดหรือหลงผิดไป”




แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้ายว่า

"การขายประกัน เป็นเรื่องความคุ้มครองในอนาคต เวลาจะซื้อขายอะไรท่านต้องตรวจสอบให้แน่ชัด" ว่า

-คุ้มครองอะไรบ้าง
-ไม่คุ้มครองอะไรบ้าง
-เสียค่าใช้จ่ายเบี้ยยังไง
-มีใบอนุญาตหรือไม่
-ต้องแสดงชื่อ-นามสกุล สังกัด
- เลขที่ใบอนุญาต

และต้องมีมารยาท

ต้องถามให้ชัดเจน ถ้าจะโอนเงินให้โอนเข้าบัญชีบริษัท เรียกหาใบเสร็จ เมื่อได้กรมธรรม์ตรวจสอบเงื่อนไขอีกครั้ง หรือถามผู้ใกล้ชิดว่าอยากทำหรือไม่ ถ้าไม่พร้อมก็สามารถยกเลิกได้ แจ้งยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันรับกรมธรรม์ ถ้าสงสัยในข้อมูลคนขายประกัน หรือปัญหาต่างๆ สามารถโทรเช็กสายด่วนประกันภัย 1186 หรือ เว็บไซต์ คปภ.



คลิปตัวอย่างพวกขายประกันทางโมบาย
https://m.youtube.com/watch?v=asVOjRChz1U










ข้อมูลบางส่วนจาก ไทยรัฐออนไลน์
แก้ไขล่าสุด 12 ธ.ค. 59 11:46 | เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Android

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google