The Battle :Workpoint – ช่อง3 – RS “กำไร” เหมือนกันแต่ความรู้สึก “ต่างกัน”

5 ม.ค. 61 14:46 น. / ดู 486 ครั้ง / 0 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
The Battle :Workpoint – ช่อง3 – RS “กำไร” เหมือนกันแต่ความรู้สึก “ต่างกัน”
04/01/2018 chalongsak 1348 Views
ปี 2017 ที่เพิ่งผ่านไป ต้องบอกว่า “ทีวี ดิจิตอล” เป็นอะไรที่มีเซอร์ไพรส์ให้ต้องตกใจอยู่บ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อหุ้น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ช่อง GMM 25 มูลค่า 1,000 ล้านบาท ให้มาอยู่ในอาณาจักรของ “เสี่ยเจริญ” จากที่ก่อนหน้านี้ช่วงปลายปี 2016 ได้เข้าถือครองธุรกิจในเครืออัมรินทร์ ทีวี


ตามด้วยข่าว Voice TV ประกาศปลดพนักงาน 127 ชีวิต ปรับผังลดรายการ เน้นสื่อออนไลน์เข้มข้น หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่างช่อง 3 ถึงจะไม่มีการปลดพนักงาน แต่แหล่งข่าววงในล่าสุดระบุว่า พนักงานช่อง 3 ระดับปฎิบัติงานในปีนี้ไม่ได้รับโบนัส ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ช่อง 3 ไม่มีโบนัสให้แก่พนักงานหลังจากที่เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วในช่วงปี 40

ยังไม่รวมช่องอื่นๆ ที่ขาดทุนย่อยยับอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ “ทีวีดิจิตอล” เปิดสัญญาณออนแอร์ ซึ่งเป็นการตอกย้ำคำพูดของบรรดากูรูว่าภายใน 10 ปีจะ “อยู่รอด” ไม่ถึง 10 ช่องจากทั้งหมด 24 ช่อง

Marketeer เลยพามาอัพเดทสถานการณ์ล่าสุดของ 3 บริษัทที่มีกำไรสูงสุด และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่น่าสนใจคือมีบางช่องที่แม้มีผลกำไรในการทำธุรกิจแต่สถานการณ์กลับเลวร้ายกว่าในยุค อนาล็อก

ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจ อย่าง แกรมมี่ ที่มี ช่อง One และ GMM 25 ยังขาดทุนอยู่ 735 ล้านบาทและ Nation ที่ขาดทุนใน 9 เดือนแรกของปี 2017 ถึง 2,341 ล้านบาทรวมไปถึง อมรินทร์ ทีวี ที่ยังขาดทุน 185 ล้านบาท (ข้อมูลด้านล่างรวมทุกธุรกิจของทุกบริษัท) 





เวิร์คพอยท์ “ปัง” เพราะ ร้องเพลงสนั่น

หลังจาก ปัญญา นิรันดร์กุล ทำความฝันตัวเองสำเร็จด้วยการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ เขาก็เลือกดึงรายการต่างๆ ที่เคยออกอากาศในช่องอื่นๆ ในฟรีทีวียุค อนาล็อก กลับมาออนแอร์ในช่อง เวิร์คพอยท์ ทีวี ของตัวเองเพื่อเรียกเรตติ้ง รวมถึงผลิตรายการใหม่ๆ โดยเฉพาะเกมโชว์เน้นเสียงฮาถูกจริตคนไทย ทุกเพศทุกวัย

แต่สิ่งที่ทำให้เรตติ้ง เวิร์คพอยท์ ทีวี พุ่งทยานให้แบรนด์สินค้าต้องวิ่งมาซื้อโฆษณานั้นคือรายการสารพัดประกวดร้องเพลงที่เวลานี้มีถึงเกือบ 10 รายการเช่น เด็กร้องก้องโลก,I Can See Your Voice Thailand, ไมค์ทองคำ และรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศที่สามารถอัพราคาขายโฆษณาได้สูงถึงนาทีละ 4.2 แสนบาท อย่าง The Mask Singer

สูตรสำเร็จของ เวิร์คพอยท์ นั้นคือการนำประสบการณ์จากสมัยที่ตัวเองผลิตรายการให้แก่ฟรีทีวียุคอนาล็อก มาปรุงแต่งรายการเกมโชว์และรายการสารพัดประกวดร้องเพลงที่ถูกใจมหาชนทั่วประเทศ รวมถึงการไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่หน้าจอ TV แต่ยังเน้นออนแอร์ในช่องทางออนไลน์ท้งแบบสดและดูย้อนหลัง

แต่นี้เป็นเพียงบทพิสูจน์บทแรกของ เวิร์คพอยท์ เท่านั้น เพราะฉากธุรกิจต่อมาคือจะรักษามาตราฐาน Content ของตัวเองให้คงเส้นคงวาได้อย่างไร อีกทั้งผู้ชมในยุคดิจิตอลเบื่อเร็ว ตัวอย่างที่ชัดเจนนั้นคือรายการ The Mask Singer ที่ความนิยมเริ่มถดถอยลงหากเทียบกับ Season แรก

และ Content นี้แหละ! เป็นโจทย์ที่ ปัญญา นิรันดร์กุล ต้องคิดอยู่ทุกวันเพื่อรักษาความสำเร็จของตัวเองให้นานที่สุด





ช่อง 3 ความสำเร็จในอดีตที่เสื่อมมนต์ขลัง

เชื่อหรือไม่ว่าก่อนที่ “ทีวี ดิจิตอล” จะเกิดก่อนปีหนึ่ง ช่อง 3 เคยมีรายได้สูงเกือบๆ 17,000 ล้านบาท มีกำไรสูงถึง 5,600 ล้านบาท จ่ายโบนัสพนักงานขั้นต่ำถึง 2 เดือน แต่ข่าวล่าสุดคือสิ้นปี 2017 ช่อง 3 งดให้โบนัสพนักงานหลายคนเลยทีเดียว

อะไรที่ทำให้สื่อยักษ์ใหญ่อย่างช่อง 3 ต้องถอยหลังขนาดนี้ ครั้งหนึ่ง ไตรภพ ลิมปพัทธ์ เคยบอกถึงสาเหตุให้ Marketeer ฟังว่า

“ในอดีตคนมองว่าช่อง 3 และ 7 ผูกขาดเม็ดเงินโฆษณาทีวี ไม่แบ่งให้ใคร ปัจจุบันเป็นอย่างไรทีวีมีถึง 24 ช่องแต่เม็ดเงินโฆษณาเฉลี่ยแล้วเท่าเดิมไม่เพิ่มขึ้น เพราะถูกสื่อออนไลน์มาแย่งเม็ดเงินไป เค้กรายได้เท่าเดิมแต่มีคนแย่งชิงเพิ่มจาก 6 เป็น 24  สุดท้ายมีแค่ไม่กี่ช่องเท่านั้นที่มีกำไรในเกมนี้ เพราะต้นทุนผลิตรายการเท่าเดิมแต่รายได้น้อยลง”

เป็นผลกระทบที่สร้างแรงสั่นสะเทือนตึกมาลีนนท์ จนทำให้มีสารพัดข่าวลือว่าช่อง 3 อาจมีการขายหุ้นเพื่อเพิ่มทุน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน แต่ที่แน่ๆ เวลานี้ช่อง 3 มีการ “แก้เกม” นำคนนอกมานั่งแท่นผู้บริหารในตำแหน่งระดับสูงอยู่หลายคน

โจทย์ที่ช่อง 3 ต้องขบคิดมีอยู่หลายเรื่องเลยทีเดียว แรกสุดก็คือช่อง 3 Family และช่อง 3 SD ว่าจะทำอย่างไรให้มีเม็ดเงินโฆษณามาหล่อเลี้ยงให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้

ในขณะที่ช่อง 3 ธรรมดาเองก็ต้องรับศึกหนักรอบด้านที่ถาโถมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นละครที่เคยเป็นอาวุธหลักทางการตลาดใช้กวาดเม็ดเงินโฆษณาเป็นว่าเล่น ก็ต้องลดอัตราค่าโฆษณา 15 -20 % เพื่อดึงดูดเอเจนซี่และแบรนด์สินค้าให้ซื้อเวลา เพราะต้องยอมรับว่าทั้งช่อง One, GMM 25 ของ แกรมมี่ และช่อง 8 ของ RS ก็สร้างละครที่มีเรตติ้งดีในระดับหนึ่งเพื่อมาแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณา

ส่วนรายการข่าวที่เคยทรงอิทธิพลสร้างรายได้เป็นอันดับ 2 รองจากละครนั้นนับจากไร้เงา “สรยุทธ สุทัศนจินดา” เรตติ้งก็หล่นฮวบถูกช่องข่าวคู่แข่งแซงหน้าทั้งเรตติ้งและรายได้ แม้จะมีการปรับรูปแบบรายการอาทิเช่น “เรื่องเล่าเช่านี้” ที่มีการปรับรูปแบบรายการและพิธีกร แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ได้ดีขึ้นเท่าไร

ปี 2018 สิ่งที่ทีมผู้บริหารช่อง 3  ต้องทำคือต้องมีกำไรมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นความ “ยากระดับ10” เพราะช่องคู่แข่งเองก็ทำได้ดีขึ้นหลายช่อง แถมยังมี “เม็ดเงินหมุนเวียนลงทุน” มากขึ้นจากการขายหุ้น

สุดท้ายในยุคทีวีดิจิตอล ช่อง 3 ไม่ได้ขายโฆษณาถล่มทลายจนกลายเป็นผู้กำหนดให้แบรนด์สินค้าลงโฆษณาเวลาไหน

แต่ “เกมพลิก” ช่อง 3 กลายเป็นผู้ต้องวิ่งเข้าหาเอเจนซี่และแบรนด์สินค้า ว่าเวลานี้เวลาโฆษณายังเหลืออยู่ในมือล้นเหลือ “ไม่ทราบว่าสนใจช่วงเวลาไหนครับ”



ช่อง 8 จากอันดับ 5 ขออันดับ 3

ปีที่ผ่านมา RS ถือเป็นบริษัทที่ปรับสูตรธุรกิจตัวเองชัดเจน ด้วยการลดความสำคัญธุรกิจเพลง ไปสู่ธุรกิจความงามและ ทีวี ดิจิตอล เพราะ 2 ธุรกิจนี้รวมกันมีรายได้มากกว่า 80% จากรายได้ทั้งหมดของบริษัท

โดยในธุรกิจทีวีที่ RS มีถึง 3 ช่อง ต้องบอกว่าช่อง 8 ซึ่งเป็นช่องเดียวที่อยู่ในระบบดิจิตอลถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจเพราะสร้างรายได้ถึง 80% จากกลุ่มธุรกิจทีวี

ไม่แปลกเลยว่าที่ผ่านมาเฮียฮ้อ จะทุ่มทุกอย่างไปที่ช่องนี้ พร้อมกับลดบทบาทธุรกิจที่ไม่ทำกำไรอย่างธุรกิจเพลงและอีเวนท์

ปี 2018 เป้าหมายของช่อง 8 คือต้องการขยับอันดับจากช่องที่มีเรตติ้งอันดับ 5 มาสู่อันดับ 3 ซึ่งนั้นแปลว่าจะต้องชนะช่องใดช่องหนึ่งไม่ช่อง 3 ก็ 7 หรือ เวิร์คพอยท์

ล่าสุดมีตัวเลขยืนยันแล้วว่าปี 2018 RS จะควักกระเป๋า 1,000 ล้านบาทในการสร้าง Content ใหม่ๆลงในช่อง 8 ทั้งซื้อจากต่างประเทศแล้วลงทุนผลิตละคร

ส่วนวิถีทางในการนำเสนอ Content คงยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมเพราะวิธีนี้แหละ ที่ทำให้ช่อง 8 เติบโตในวิกฤติตลาด ทีวีดิจิทัล คือใช้ต้นทุนการผลิตน้อย โดยเฉพาะคอนเทนต์หลักอย่างละครเจาะกลุ่มแม่บ้านและชาวตลาดสด ใช้ดาราในสังกัดไม่กี่คนหมุนเวียนเล่นทุกเรื่อง รวมถึงรายการข่าวที่ใช้แนวทางการนำเสนอเล่าข่าวแบบชาวบ้านๆ
https://marketeeronline.co/archives/6772
แก้ไขล่าสุด 5 ม.ค. 61 14:50 | เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 7

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google