ขั้นตอนการดูแลตัวเองก่อน และหลังการผ่าตัดส่องกล้อง

5 มิ.ย. 62 17:23 น. / ดู 495 ครั้ง / 1 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์

                  ไม่ว่าใครก็กลัวการผ่าตัดด้วยกันทั้งนั้น  เพราะเมื่อลองนึกถึงการที่จะต้องถูกกรีดด้วยมีดเป็นแผลยาวเพื่อทำการรักษาอวัยวะภายในนั้น ไหนจะเสียเลือด ไหนจะเจ็บแผล และกว่าจะหายกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติก็ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน แต่ปัจจุบันมีนวัตกรรม การผ่าตัดส่องกล้อง หรือการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งข้อดีหลัก ๆ ของการผ่าตัดผ่านกล้อง จะทำให้กระทบต่ออวัยวะข้างเคียงน้อย เสียเลือดน้อย มีแผลเพียงเล็ก ๆ หรือไม่มีแผลภายนอกเลย ลดโอกาสเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนได้ดี ทำให้กลับใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น จึงเป็นการผ่าตัดที่ลดความกังวลของผู้ป่วย และในปัจจุบันผู้หญิงเป็นโรคภายในค่อนข้างมาก จากสถิติพบว่า ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปมีโอกาสตรวจพบโรคเนื้องอกมดลูก ซีสต์รังไข่ และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดยโรคที่พบมากเป็นอันดับแรกคือ เนื้องอกมดลูก และที่น่าสนใจคือในผู้หญิง 10 คนจะพบผู้หญิงที่เป็นโรคภายใน 3 ถึง 4 คน โดย 3 ถึง 4 คนนี้มี 30 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษา เพราะฉะนั้นการใส่ใจตรวจภายในเป็นประจำทุกปีหรือเมื่อพบความผิดปกติรีบพบสูติ-นรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ย่อมช่วยให้ตรวจพบได้เร็ว รักษาทันท่วงที ไม่ให้ลุกลามในอนาคต และหากใครตรวจพบโรคภายในและจำเป็นที่จะต้องได้รับการผ่าตัดส่องกล้องนั้นควรที่จะดูแลตัวเองยังไงบ้าง ตามมาดูกันค่ะ
                  การดูแลตัวเองให้พร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้อง

ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำทุกชนิดนานอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อลด และป้องกันการสำลักอาหารในขณะที่มีการให้ยาระงับความรู้สึก และอาหารมื้อสุดท้ายที่รับประทานก่อนการผ่าตัดควรจะเป็นอาหารอ่อน และย่อยง่าย การรับประทานอาหารมากเกินไปก่อนผ่าตัดจะเกิดความเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร และยังทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องอืดหลังผ่าตัดได้อีกด้วย กรณีที่ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงดี สามารถบริจาคเลือดของตนเอง เพื่อสำรองไว้ในกรณีที่มีเลือดออกมากขณะผ่าตัด และจำเป็นต้องให้เลือดตัวเองต่อได้

หลังการผ่าตัด
ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกเหนื่อย และไม่มีแรงอยู่ประมาณ 2-3 วัน ซึ่ง ถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ การลุกขึ้นจากเตียงและพยายามเคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่วันแรกหลังผ่าตัด จะช่วยให้ฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัดได้เร็วยิ่งขึ้น และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้อีกด้วย โดยทั่วไปแพทย์มักปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้โดยไม่ต้องกลัวแผลเปียก แต่หากเป็นพลาสเตอร์ปิดแผลแบบไม่กันน้ำ ก็ควรระวังไม่ให้แผลโดนน้ำอย่างเด็ดขาด จนกว่าจะครบกำหนดวันที่แพทย์นัดไปตรวจอีกครั้ง

• งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

• อาการปวดแผล อาจพบได้ในช่วงสัปดาห์แรกของผ่าตัด การรับประทานยาแก้ปวดก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ และอาการปวดแผลจะทุเลาลงเมื่อระยะเวลาผ่านไป

• หลีกเลี่ยงการยกสิ่งของที่หนักเกิน 4 กิโลกรัม หรือการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องในช่วง 6 สัปดาห์แรก และงดการออกกำลังกายอย่างหนัก ประมาณ 2-4 สัปดาห์ หลังการผ่าตัด

• หลีกเลี่ยงการขับรถเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 7-10 วัน หลังผ่าตัด

• งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด

• พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 - 10 ชั่วโมง ในสถานที่ซึ่งมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

• รับประทานยาให้ตรงตามเวลา และครบจำนวนตามที่แพทย์สั่ง

• ในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังผ่าตัด ตับจำเป็นต้องได้รับการบำรุง เนื่องจากยาทั้งหมดที่เข้าสู่ร่างกายจะไปทำปฏิกิริยากับตับ ควรรับประทานอาหารเสริมจำพวก มิลค์ทิสเทิล (Milk Thistle) ซึ่งมีสรรพคุณเป็นแอนติออกซิแดนท์ เลือกรับประทานผัก ผลไม้สด หลีกเลี่ยงช็อกโกแลต ชา กาแฟ เนื่องจากมีคาเฟอีนที่จะไปเพิ่มภาระการทำงานของตับให้มากขึ้น

• ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

                ทั้งนี้ทั้งนั้นในการปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดส่องกล้อง ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกคนในแบบแผนเดียวกันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย และปัจจัยเฉพาะของแต่ละบุคคล ชนิดของการผ่าตัด ตลอดจนสภาพของร่างกายที่แตกต่างกันอีกด้วย

#ผ่าตัดส่องกล้อง
เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 10

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

#1 | Numprik | 6 มิ.ย. 62 15:13 น.

 

ไอพี: ไม่แสดง | โดย Windows 10

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google