โอกาสของ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ผู้นำ คิง เพาเวอร์ ในวันที่น่านฟ้าไทยยังปิด

20 มิ.ย. 63 15:11 น. / ดู 390 ครั้ง / 0 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
วันนี้น่านฟ้าไทยยังไม่มีกำหนดเปิดชัดเจน เป็นช่วงเวลาที่น่าจะเหน็บหนาวที่สุดของ อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของอาณาจักรคิง เพาเวอร์
หลังจากผู้เป็นพ่อ "วิชัย ศรีวัฒนประภา" เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2561 ด้วยอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกข้างสนามฟุตบอล King Power Stadium ทำให้เขาต้องขึ้นมารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ขับเคลื่อนอาณาจักรกว่าแสนล้านบาทของ คิง เพาเวอร์  ในวันที่เขาอายุเพียง 33 ปี   

มรดกและทรัพย์สินที่ตกทอดมาทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีอันดับ 6 ของเมืองไทยจากการจัดอันดับของ Forbes เมื่อปี 2562 รวมถึงเป็นเศรษฐีไทยที่อายุน้อยที่สุดด้วย

ปีที่ผ่านมาอัยยวัฒน์มีทรัพย์สินมูลค่ารวม 150,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ลดลง คือมีประมาณ 124,000 ล้านบาท (อันดับเศรษฐีคงเดิม) 

เป็นช่วงเวลาปีกว่า ๆ หลังจากขึ้นรับตำแหน่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งธุรกิจต้องหยุดสนิทเมื่อน่านฟ้าปิดจากโควิด-19

เป็นวิกฤตครั้งที่หนักที่สุดของกลุ่มนี้ เพราะรายได้จากการทำธุรกิจในดิวตี้ฟรีที่ได้รับสัมปทานต่อเนื่องมากว่า 30 ปี คือเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงอาณาจักร และสามารถปั่นเม็ดเงินให้กับตระกูลจนสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น ๆ เช่น โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โรงละครอักษรา ภัตตาคารรามายณะ ศูนย์อาหาร Thai Taste Hub คิง เพาเวอร์ มหานคร และการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ สโมสรเอาด์-เฮเฟอร์เลเลอเฟิน (ประเทศเบลเยียม)

ซึ่งทุกธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งหมด  เช่นเดียวกับร้านสินค้าปลอดอากรทั้ง 11 แห่ง ที่ทยอยปิดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ผ่านไปแล้ว 4-5 เดือน วันนี้มีเพียง 2 แห่งที่เปิดบริการแล้ว คือสาขาซอยรางน้ำ และสาขาที่ตึกมหานคร

เมื่อปีที่ผ่านมา ในวันที่ไร้เงาผู้เป็นพ่อ อัยยวัฒน์ได้พิสูจน์ความสามารถครั้งสำคัญของเขา ที่ส่งผลต่อความมั่นคงของอาณาจักร คิง เพาเวอร์ อย่างมาก ด้วยการเอาชนะการประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีของบริษัท ท่าอากาศยานไทย  "ทอท." ถึง 3 สัมปทาน ใน 4 สนามบินด้วยกัน คือ ร้านค้าดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ รวมไปถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์สุวรรณภูมิ ที่ทั้งหมดจะหมดสัญญาในเดือนกันยายน 2663 นี้ โดยสัญญาใหม่จะมีระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน จนถึง 31 มีนาคม 2574

เป็นการชนะผู้ท้าชิงที่แต่ละราย "ใหญ่แบบไม่ธรรมดา"เช่น กลุ่ม นพ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กลุ่มโรงแรมรอยัล ออร์คิด ของ วิชัย ทองแตง และกลุ่มจิราธิวัฒน์ แห่งเซ็นทรัล 

และทั้งหมดคือ ภาระที่อัยยวัฒน์จะต้องรักษาไว้ให้ได้

พร้อม ๆ กับดูแลพนักงานทั้งหมดประมาณ 12,000 คน ซึ่งเขายืนยันว่าทุกคนจะได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน และไม่มีนโยบายเลิกจ้าง แม้ว่าสาขาทั้งหมดของกลุ่มบริษัทฯ จะต้องปิดตามนโยบายความปลอดภัยของรัฐบาลก็ตาม 

เมื่อแหล่งทำรายได้หลักยังเก็บรักษาไว้ได้ แผนการปั๊มเงินต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับการลงทุนปรับโฉมสาขาเก่า และขยายสาขาใหม่ทั้งในและต่างประเทศที่วางไว้ควรจะเต็มไปด้วยความสดใส

แต่โควิด-19  มรสุมลูกใหญ่ก็พัดตูมเข้ามา


พลิกแผนธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ เปลี่ยน "พนักงาน" เป็น "นักขาย"
กลยุทธ์สำคัญที่อัยยวัฒน์ได้เอามารับมือสู้กับวิกฤตครั้งนี้คือ KING POWER TEAM POWER ที่จะเปลี่ยน "พนักงาน" ทุกส่วนเป็น "นักขายสินค้าออนไลน์มืออาชีพ" ให้องค์กรขยายเครือข่ายจาก "ออนกราวน์ สู่ ออนไลน์"

เป็นการฉีกโมเดล ชูกลยุทธ์เฉพาะกิจ ผนึกกำลังพนักงานและพันธมิตรทางการค้า พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

การสร้างเครือข่ายขายออนไลน์ครั้งยิ่งใหญ่นี้ผ่านทาง http://www.kingpower.com ภายใต้แคมเปญต่าง ๆ เช่น  KING POWER #SHOPSAVESTAYSAFE  #ช้อปที่บ้านมีแต่SaveกับSafe หรือแคมเปญ THANK YOU FOR STAYING SAVE AND SAFE ที่จะมีไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

เพื่อความเป็น 'นักขาย' มืออาชีพ พนักงานต้องเข้าคอร์สอินเทนซีฟ ฝึกอบรมด้านการขายสินค้าออนไลน์ครบวงจร

โดยเขาหวังว่าประสบการณ์ใหม่ในวิกฤตนี้จะเป็น 'โอกาส' สำคัญของพนักงานในการเรียนรู้ระบบการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับพนักงานในอนาคต

เป็นการเร่ง Speed และรุกการขายทางช่องทางออนไลน์ให้เร็ว และแรงขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

หลังจากตลอด 4 ปีที่ผ่านมา คิง เพาเวอร์ พยายามบุกการขาย Duty Free และ Non-Duty Free ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยลูกค้าที่มีและไม่มีไฟลต์บินสามารถสั่งซื้อและจองสินค้าได้ล่วงหน้า แต่ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก 

สินค้าที่มียอดการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์สูงสุด คือ สินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง รองลงมาคือน้ำหอม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในบ้าน และสินค้าแฟชั่น ตามลำดับ

นอกจากสร้างรายได้ให้บริษัท สร้างรายได้พิเศษให้พนักงาน ยังช่วยบรรเทาผลกระทบสำหรับพันธมิตรทางการค้าให้สามารถขายสินค้าได้อีกด้วย

ในยุคของผู้เป็นพ่อสิ่งหนึ่งที่อัยยวัฒน์รับรู้มาโดยตลอด ว่าการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่สำคัญ คือการทำโครงการช่วยเหลือสังคม

ในวันที่นายกรัฐมนตรีส่งจดหมายถึง 20 มหาเศรษฐีไทย เพื่อขอให้สนับสนุนความช่วยเหลือจากเหตุ COVID-19 ระบาด 

สิ่งหนึ่งที่อัยยวัฒน์ตอบกลับก็คือ คิง เพาเวอร์  ได้มีแผนการ และงบประมาณที่วางไว้ชัดเจน ในเรื่องการทำโครงการเพื่อสังคมต่อเนื่องจากที่ทำมาแล้วหลายปี และโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2563-2565 รวมประมาณ 1,500 ล้านบาท ทั้งด้านเยาวชน สังคม เศรษฐกิจชุมชน พัฒนาอาชีพ สาธารณสุข และโครงการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

การสานต่อธุรกิจแสนล้านของตระกูล การดูแลพนักงานหมื่นกว่าคน การรักษาทีมฟุตบอลทีมดังของโลก และการช่วยเหลือสังคมตามแผนที่วางไว้ 

คือบททดสอบครั้งสำคัญของผู้บริหารหนุ่มคนนี้  แต่จะเป็น "ที่สุด" หรือไม่  เป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้จริงๆ

—————————–

บริษัทหลัก ๆ ของอาณาจักร คิง เพาเวอร์

บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด

ปี 2561 มีรายได้รวม 5,552 ล้านบาท กำไร 158 ล้านบาท

ปี 2562  มีรายได้รวม 5,060 ล้านบาท กำไร -118 ล้านบาท

บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

ปี 2561  มีรายได้รวม 37,884 ล้านบาท กำไร 1,914 ล้านบาท

ปี 2562  มีรายได้รวม 38,554 ล้านบาท กำไร 756 ล้านบาท

บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด

ปี 2561 มีรายได้รวม 6,044 ล้านบาท กำไร 2,035 ล้านบาท

ปี 2562 มีรายได้รวม 6,732 ล้านบาท กำไร 2,343 ล้านบาท

บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

2561 มีรายได้รวม 60,480 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,104 ล้านบาท

2562 มีรายได้รวม 61,192 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,106 ล้านบาท
เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 10

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google