5 เรื่องควรรู้ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชน

21 ม.ค. 64 17:08 น. / ดู 1,020 ครั้ง / 1 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
การสอบบรรจุรับราชการ โดยเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งเป็นข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ในกระทรวง ทบวง กรมฝ่ายพลเรือน โดยได้รับการบรรจุแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ที่ส่วนใหญ่การสอบบรรจุจะต้องสอบ ก.พ. ให้ได้ก่อนเพื่อนำมาสอบ ภาค ข และภาค ค ส่วนการ สอบท้องถิ่นอาจสอบพร้อมกันทั้งภาค ก ภาค ข และแจ้งสอบภาค ค ภายหลังเมื่อสามารถสอบผ่าน ภาค ก และภาค ข ได้แล้ว  สำหรับใครที่กำลังวางแผนหรือเตรียมตัวสอบข้าราชการท้องถิ่น บทความนี้มี  5 เรื่องควรรู้ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชน มาแนะนำ
5 เรื่องควรรู้ ในการสอบข้าราชการท้องถิ่น
ในระบอบการปกครองของรัฐวัตถุประสงค์หลักคือต้องการที่จะให้มีความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งแต่เดิมการปกครองส่วนใหญ่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง เพื่อความสะดวกเพราะยุคก่อนพลเมืองยังไม่มาก กิจกรรมที่รัฐต้องสนองตอบประชาชนมีน้อย ต่อมาเมื่อมีการพัฒนามากขึ้นพลเมืองมากขึ้นภารกิจที่รัฐต้องรับผิดชอบก็มากขึ้นด้วย ศักยภาพของรัฐบาลกลางอย่างเดียวไม่สามารถสนองการบริการ และอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนได้ทั่วถึง

ดังนั้นแนวคิดในการกระจายอำนาจการบริหารการปกครองให้ประชาชนในท้องถิ่นจึงเกิดขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของรัฐบาล และสามารถบริหารงานตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง  การสอบท้องถิ่น หรือสอบบรรจุเพื่อรับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงนอกจากจะต้องเตรียมความพร้อมด้านทักษะความรู้ความสามารถที่ระบุไว้ในประกาศรับสมัครแล้ว 5 เรื่องต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรรู้ก่อนสอบท้องถิ่น

1. การปกครองท้องถิ่นคือรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เปรียบเสมือนรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ด้วยการใช้ดุลพินิจเลือกผู้แทนที่เหมาะสม ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยให้ไปสู่แก่นแท้ของระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นของประชาชน  ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกว่าตนมีความเกี่ยวพันกับส่วนได้ส่วนเสียในการปกครองและการบริหารท้องถิ่น ทำให้เกิดความรับผิดชอบและหวงแหนต่อประโยชน์อันพึงมีต่อท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัย อันจะนำมา ซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสในระบอบการปกครองประชาธิปไตยในที่สุด

2. การปกครองท้องถิ่นทำให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเอง

การปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตย หัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประการหนึ่งก็คือ การที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นนอกจากจะได้รับเลือกตั้งมาเพื่อรับผิดชอบบริหารท้องถิ่นโดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนแล้ว ยังจะต้องฟังเสียงประชาชนด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ประชาชนสามารถออกเสียงลงประชามติ และมีอำนาจถอดถอน ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความสำนึกในความสำคัญของตนเองต่อท้องถิ่น และมีส่วนรับรู้ถึงปัญหาและแก้ไขปัญหาท้องถิ่นของตน ทำให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเอง

3. องค์การปกครองท้องถิ่นเป็นหน่วยงานช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล

เนื่องจากภารกิจของรัฐบาลมีอยู่อย่างกว้างขวาง ขณะที่แต่ละท้องถิ่นย่อมมีปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกัน หลักสำคัญของการกระจายอำนาจ ก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชนเพราะประชาชนเป็นผู้มีความเหมาะสมที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น ๆ มากที่สุดและกิจการบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะท้องถิ่น จึงเป็นการสมควรที่จะให้ประชาชนท้องถิ่นนั้นเป็นผู้ดำเนินการเอง องค์การปกครองท้องถิ่นจึงเป็นหน่วยงานที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลมีเวลาดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ ๆ หรือกิจการใหญ่ ๆ ระดับชาติอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม และมีความคล่องตัวต่อการดำเนินงานในส่วนของรัฐบาลมากขึ้น

4. องค์การปกครองท้องถิ่นตอบความต้องการของท้องถิ่นได้ตรงเป้าหมาย

องค์การปกครองท้องถิ่น เป็นหน่วยงานที่สามารถสนองตอบความต้องการของท้องถิ่นได้ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากท้องถิ่นมีความแตกต่างกันไม่ว่าทางสภาพภูมิศาสตร์ ทรัพยากร ประชาชน ความต้องการ และปัญหาของแต่ละท้องถิ่นย่อมต่างกันออกไป ผู้ที่ให้บริการหรือแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดีก็คือ หน่วยการปกครองท้องถิ่น

5. การปกครองท้องถิ่นจะเป็นแหล่งสร้างผู้นำทางการเมือง

องค์การปกครองท้องถิ่น ถือเป็นหน่วยงานที่สร้างผู้นำทางการเมืองและการบริหารของประเทศในอนาคต เพราะเมื่อได้รับความไว้วางใจของคนในท้องถิ่นให้เป็นผู้นำหน่วยการปกครองท้องถิ่น ย่อมเรียนรู้ประสบการณ์ทางการเมือง การเลือกตั้ง การสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีต่ออนาคตทางการเมืองในรดับประเทศ และยังฝึกฝนทักษะทางการบริหารงานในท้องถิ่นอีกด้วย

การมีส่วนร่วมของประชาชนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ อะไร
ความหมาย "การมีส่วนร่วมของประชาชน" คือการที่กลุ่มประชาชนหรือสมาชิกของชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้กระทำการในลักษณะของการทำงานร่วมกัน ที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการ ความสนใจ มีความต้องการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายร่วมกัน  ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หรือดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เกิดอิทธิพลต่อรองอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม

การมีส่วนร่วมของประชาชนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น จึงหมายถึง การกระจายอำนาจให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง การบริหาร การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรของชุมชนและของชาติ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมตรวจสอบ ถือเป็นการกระจายอำนาจทำให้เกิดการพัฒนาแบบพึ่งตนเองทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ประโยชน์ของการมีส่วนร่วมของประชาชน

การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในด้านการบริหารจัดการและด้านการเมือง นอกจากเป็นการกระจายอำนาจทำให้เกิดการพัฒนาแบบพึ่งตนเองได้ของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ แล้ว การมีส่วนร่วมของประชาชนยังก่อให้เกิดประโยชน์ ในหลาย ๆ ด้านทั้งต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อชุมชน และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการท้องถิ่น ดังนี้

เพิ่มคุณภาพการตัดสินใจ เนื่องจากกระบวนการปรึกษาหารือกับสาธารณชน หรือการมีส่วนร่วมในการคิด การตัดสิน รวมรับผิดชอบและร่วมตรวจสอบของประชาชนนำมาสู่การพิจารณาทางเลือกใหม่ ๆ ทำให้การตัดสินใจมีความระเอียดรอบคอบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมได้มากที่สุด
การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการลดค่าใช้จ่ายและการสูญเสียเวลาได้ เพราะเมื่อการตัดสินใจนั้นได้รับการยอมรับ จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างการนำไปปฏิบัติ ซึ่งต่างจากการตัดสินใจฝ่ายเดียวที่ไม่คำนึงถึงความต้องการแท้จริงของประชาชน อาจนำมาซึ่งการโต้แย้งคัดค้านหรือการฟ้องร้อง อันทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในระยะยาว เกิดความล่าช้า และความล้มเหลวของโครงการได้ในที่สุด
เป็นการสร้างฉันทามติ เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนจะสร้างข้อตกลงและข้อผูกพันอย่างมั่นคงในระยะยาวระหว่างกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน ช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ลดข้อโต้แย้งทางการเมืองและช่วยให้เกิดความชอบธรรมต่อการตัดสินใจของรัฐบาล
การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมตรวจสอบทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและมีความกระตือรือร้นในการช่วยให้เกิดผลในทางปฏิบัติ การนำไปปฏิบัติจึงง่ายขึ้น
การมีส่วนร่วมของประชาชนในทุก ๆ โครงการของภาครัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ต้นสามารถลดการเผชิญหน้าและความขัดแย้งที่รุนแรงได้
การมีส่วนร่วมของประชาชน ช่วยทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความใกล้ชิดกับประชาชนและไวต่อความรู้สึกห่วงกังวลของประชาชน และเกิดความตระหนักในการตอบสนองต่อความกังวลของประชาชน
การมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อให้เกิดการพัฒนาความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ของสาธารณชน ถือว่าเป็นการให้การศึกษาชุมชน เพื่อเรียนรู้กระบวนการตัดสินใจ และเวทีฝึกผู้นำชุมชน
ประโยชน์อย่างหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชนคือ ทำให้ประชาชนมีความรู้ทั้งในส่วนของเนื้อหาโครงการและกระบวนการตัดสินใจของรัฐ รวมทั้งเป็นการฝึกอบรมผู้นำ และทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ทักษะการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
ช่วยทำให้ประชาชนสนใจประเด็นสาธารณะมากขึ้น เป็นการเพิ่มทุนทางสังคม และช่วยเสริมสร้างให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น สอดคล้องกับการปกครองตามหลักประชาธิปไตยแบบ มีส่วนร่วม
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือหน่วยงานปกครองที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด การสอบท้องถิ่นหรือสอบบรรจุเพื่อรับราชการและปฏิบัติหน้าที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงต้องเตรียมความพร้อมทั้งในด้านทักษะความรู้เฉพาะตำแหน่งและความรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าใจการมีส่วนร่วมของประชาชนหมายถึงอะไร และประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งความรู้เหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อการสอบท้องถิ่นทั้งสิ้น

https://gorporonline.com/articles/5know-local-goverment-and-public-participation/
แก้ไขล่าสุด 21 ม.ค. 64 17:10 | เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 8.1

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

#1 | sz397532 | 22 ม.ค. 64 21:21 น.

ไอพี: ไม่แสดง | โดย Windows 7

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google