วิธีปฏิบัติตนภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าที่ถูกต้องตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด

19 มี.ค. 64 16:02 น. / ดู 4,477 ครั้ง / 0 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์

                  โรคข้อเข่าเสื่อมมักพบในผู้หญิงตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป น้ำหนักตัวที่มากเกินไป พฤติกรรมการใช้ข้อเข่าที่ผิด (ได้แก่ การนั่งยอง ๆ ) เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่การเสื่อมของผิวข้อที่มากขึ้น โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายกลับมาเป็นปกติได้ ดังนั้นการรักษาหลัก คือ การชะลอความเสื่อมของผิวข้อให้นานที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดรูปของข้อเข่าไปมาก การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเป็นการรักษาที่ได้ผลดีอย่างมากและการผ่าตัดในปัจจุบันก็ไม่ได้น่ากลัวเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากการให้ยาลดอาการปวดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นร่วมกับเทคนิคการผ่าตัดสมัยใหม่ ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น นอกจากนี้หากปฏิบัติตนภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าอย่างถูกวิธีก็จะยิ่งช่วยให้ดีขึ้นได้เร็วอีกต่าง โดยการปฏิบัติตนภายหลังการผ่าตัดตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดดังนี้
1. สำหรับอาการบวมของเข่าที่ผ่าตัดอาจใช้เวลาถึงประมาณ 6 เดือนในการกลับสู่ภาวะปกติ การวางแผ่นเย็น (cold pack) จะช่วยลดอาการบวม และอาการปวดของข้อเข่าข้างที่ผ่าตัด ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรวางแผ่นเย็นที่เข่าข้างผ่าตัด วางนานประมาณ 10-20 นาที ประมาณ 3-4 ครั้งต่อวันหรือเท่าที่ผู้ป่วยต้องการจะวาง โดยเฉพาะในช่วงเวลา 6 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด เวลาที่เหมาะในการวางแผ่นเย็นคือหลังจากที่ผู้ป่วยออกกำลังกาย หรือหลังจากที่ผู้ป่วยไปเดินมาก ๆ ท่าที่เหมาะกับการวางแผ่นเย็นคือวางในท่าเข่าเหยียดตรง

2. การนอน หากนอนหงายให้นอนหงายเข่าเหยียดตรง แล้วใช้ม้วนผ้าขนหนูวางไว้ใต้ข้อเท้าขาข้างผ่าตัด จุดประสงค์ของการนอนแบบนี้เพื่อให้เข่าที่ผ่าตัดเหยียดได้ตรง ผู้ป่วยไม่ควรใช้หมอนใด ๆ วางใต้ข้อเข่าที่ผ่าตัดในขณะที่นอน

3. การนั่งนาน อาจจะทำให้เข่าข้างผ่าตัดเกิดอาการขาแข็ง หรืออาการบวมตลอดทั้งขาข้างที่ผ่าตัด ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรนั่งนานไม่เกิน 45 นาที หากผู้ป่วยต้องการที่จะนั่งนาน เช่น ดูหนัง หรือ ดูทีวี หรือนั่งทำงานนาน ผู้ป่วยก็ควรลุกขึ้นยืนและเดินในระยะทางสั้น ๆ หรือเคลื่อนไหวเข่าข้างผ่าตัดโดยการงอและเหยียดเข่าหลาย ๆ ครั้ง

4. เนื่องจากภาวะการติดเชื้อในข้อเข่าเทียมอาจเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่หลังการผ่าตัดจนถึงประมาณ 1 ปี ดังนั้นหากผู้ป่วยสังเกตเห็นอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ อาการมีไข้สูงนาน ๆ หรือที่แผลผ่าตัดมีอาการแดง ร้อน หรือ มีหนองหรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากแผลผ่าตัด หรืออาการปวดเข่าที่ผ่าตัดมาก ให้ผู้ป่วยรีบโทรศัพท์หาแพทย์ผ่าตัดทันที

                    เรื่องสุดท้ายที่อยากฝากไว้ ภายในหนึ่งปีหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หากผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดอื่นใด ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ที่ผ่าตัดทราบว่าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ามา เพื่อที่แพทย์จะได้ให้ผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะก่อนและหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อไปที่ข้อเข่าเทียม ทางเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่นำมาให้ท่านอ่านในวันนี้ จะเป็นประโยชน์และช่วยท่านได้นำความรู้นี้ไปปฏิบัติเพื่อตนเองหรือดูแลผู้ป่วยที่ท่านดูแลหลังการผ่าตัดให้ฟื้นตัว และใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วขึ้นนะคะ

#ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 10

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google