ความผูกพันของสโมสรกับชาวเมืองเลสเตอร์ซิตี้

16 พ.ค. 64 16:59 น. / ดู 567 ครั้ง / 2 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
ก่อนหน้าที่เกมเอฟเอ คัพจะเริ่มต้นขึ้น ผมลองนั่งค้นหาเรื่องราวอ่านไปเรื่อยและเจอภาพชุดของทีมเลสเตอร์ที่เคยเข้าชิงเอฟเอ คัพ มาก่อนถึง 4 ครั้ง
น่าเศร้าที่พวกเขาแพ้ทั้งหมดครับ แต่ในจำนวนภาพมากมาย (ซึ่งมีภาพของตำนานสุดยอดประตูของอังกฤษถึง 2 คนทั้งกอร์ดอน แบงค์ส และปีเตอร์ ชิลตัน) มีภาพนึงที่ผมสะดุดตาเป็นพิเศษ

ภาพดังกล่าวคือภาพของขบวนรถแห่ที่ทีมจิ้งจอกได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่จากแฟนๆ
ตอนแรกผมยังไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าใจผิดไปหรือเปล่า หรือเลสเตอร์จะเป็นแชมป์มาก่อน? แต่ตรวจสอบแล้วก็ไม่ผิด


แฟนเลสเตอร์มาต้อนรับทีมของพวกเขาเยี่ยงวีรบุรุษแม้จะเป็นผู้แพ้ก็ตาม
ภาพนี้สะท้อนอะไรให้เห็นหลายอย่างครับ โดยเฉพาะความรักความผูกพันของสโมสรกับชาวเมือง

เลสเตอร์ไม่ได้เป็นสโมสรระดับยักษ์ใหญ่ แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะไม่มีสิทธิ์ฝัน
จากตอนนั้น (1969) วันเวลาผ่านมาเกือบ 1 ชั่วอายุคน เลสเตอร์ได้กลับมาชิงเอฟเอ คัพอีกครั้งเป็นคราวที่ 5


โลกฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปมากครับ เป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ และสโมสรฟุตบอลก็เป็น "สินทรัพย์" ของนักลงทุนที่เข้ามาจับจองเพื่อหวังจะกอบโกยผลประโยชน์มหาศาล
นักลงทุนเหล่านี้คิดถึงผลกำไรก่อนเป็นอย่างแรก

และความรู้สึกของแฟนฟุตบอลคือสิ่งที่พวกเขาสนใจน้อยที่สุด
หลายสโมสรก็เป็นเช่นนี้ และภาพเหล่านี้ยิ่งชัดขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ #ESL การก่อกบฏของ 12 สโมสรที่อ้างว่าเป็นทีมระดับท็อปของยุโรปที่แฟนทั่วโลกต้องการติดตาม

มันนำไปสู่การประท้วงใหญ่ แฟนฟุตบอลเดินลงถนน และพวกเขาต้องการสิทธิ์และเสียงในการตัดสินใจอนาคตสโมสรของพวกเขา ซึ่งไม่ได้เป็นของนายทุน แต่เป็นของชุมชนที่พวกเขาอยู่กันมาแต่อ้อนแต่ออก
อย่างไรก็ดีเลสเตอร์ ซิตีกลับยังคงรักษาความผูกพันระหว่างสโมสรและแฟนบอลเอาไว้ได้

เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนไทยและจะอวยสโมสรที่มีเจ้าของชาวไทย - ในทางตรงกันข้ามผมออกจะไม่ค่อยชอบใจเท่าไหร่นักด้วยซ้ำกับการตั้งฉายาว่า "จิ้งจอกสยาม" และพยายามเลี่ยงคำนี้ตลอดเมื่อต้องเขียนถึง เพราะรู้สึกว่าเป็นการตีกินมากไป

หากแต่เสียงชื่นชมนั้นมาจากเหล่านักเขียนลูกหนังระดับชั้นนำของอังกฤษ ที่แม้พวกเขาเองก็เคย "เอ๊ะ" กับหลายเรื่องมาก่อนกับวิธีแบบไทยๆ แต่วันเวลาผ่านมาพวกเขาเชื่อแล้วว่าเลสเตอร์ ซิตีไม่ได้เป็นแค่ทีมที่ดี
เพราะเลสเตอร์ ซิตี คือนิยามของสโมสรฟุตบอลในแบบอุดมคติไปเรียบร้อยแล้ว

สโมสรฟุตบอลที่บริหารอย่างชาญฉลาด มีการวางแผนที่ดี มีระบบ recruit ที่ยอดเยี่ยม กำหนดทิศทางของสโมสรไว้อย่างชัดเจน ทุกปีคือการก้าวไปข้างหน้า ลงทุนเพื่ออนาคตไม่ใช่ปัจจุบัน (สนามซ้อม facilities ต่างๆ) เลือกผู้จัดการทีมที่เข้ากับแนวทางที่สำคัญคือบริหารด้วยหัวใจ

ก่อนนัดของเอฟเอ คัพ แฟนบอลเลสเตอร์จะได้จดหมายฉบับหนึ่งซึ่งส่งมาจาก "ต๊อบ-อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา"ในจดหมายมีเนื้อความเป็นการขอบคุณการสนับสนุนจากแฟนๆทุกคนเป็นหลัก มีการพูดถึงกองเชียร์ผู้โชคดีที่จะได้ไปเอฟเอ คัพ และหวังว่าปีหน้าจะได้กลับมาพบกันเหมือนเดิม
พร้อมกับแนบ "ของขวัญ" เล็กๆน้อยๆให้แทนคำขอบคุณด้วย


ถ้าเป็นหลักการตลาดญี่ปุ่น ผมคงจะเรียกว่าเป็น Makotk Marketing ไปแล้วครับ แต่พอดีนี่เป็นวิธีแบบไทยๆ ที่ยังคิดชื่อให้ไม่ออก
และความจริงมันไม่ใช่หลักการตลาดด้วยซ้ำ มันคือการเอาใจมาแลกใจเสียมากกว่า
ไม่แปลกที่แฟนๆจะรักเจ้าของสโมสรของพวกเขา

ที่น่าแปลกคือในทีมเองก็รักเจ้าของสโมสรไปด้วย ชนิดที่เราอาจจะพูดได้ว่ารักล้นใจ จากคำพูด จากท่าทาง จากสิ่งทึ่ได้เห็นในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอ คัพ
ผมว่ามันเป็นอะไรที่พิเศษ ไม่ใช่เจ้าของสโมสรทุกคนจะถูกเชิญให้ลงมาชูถ้วยกับทีมในสนามด้วย - ย้ำว่าเชิญนะ ไม่ใช่เดินมาชูถ้วยเอง

แคสเปอร์ ชไมเคิล กัปตันทีมเป็นคนเดินดันหลังมา เบร็นแดน ร็อดเจอร์สสวมกอดและน่าจะมีการกล่าวขอบคุณกัน ขณะที่ยูรี ตีเลอมองส์โผเข้ามากอดทั้งน้ำตา
ก่อนที่ทายาทชไมเคิลจะส่งมอบถ้วยให้ทายาทของเจ้าของที่พวกเขารักได้ชูถ้วยแชมป์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก

เป็นอีกหนึ่ง Legacy ที่พวกเขาสร้างร่วมกันมา และเป็นความสำเร็จที่ได้มาอย่างคู่ควร
เลสเตอร์เป็นทีมที่ดีกว่าในเกมนี้ พวกเขาเริ่มจากการหยุดเชลซีด้วยวินัยในเกมรับ และการเล่นตามแท็คติกส์อย่างเคร่งครัด ปิดไม่ให้ทีมของโธมัส ทูเคิล ซึ่งปกติเล่นเกมรุกเร็วและอันตรายทำอะไรได้ถนัด
ทั้งสองทีมจึงดูคู่คี่ แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยที่แยกระหว่างทั้งคู่คือเสียงของแฟนบอลบนอัฒจันทร์

เกมนี้ Foxed Never Quit ของแท้ พวกเขาไม่ยอมแพ้เด็ดขาด และพลังนั้นได้ถูกส่งมาถึงนักเตะของพวกเขาในสนาม มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ
จนพลังนั้นมากพอที่จะทำให้เลสเตอร์กลับมาเป็นฝ่ายที่ทำได้เหนือกว่า และได้ประตูขึ้นนำที่ต้องการจากการยิงที่ยอดเยี่ยมมากๆของตีเลอมองส์ อดีตวันเดอร์คิดของยุโรปที่พิสูจน์แล้วว่าอยู่กับเลสเตอร์ก็ก้าวไปสู่จุดหมายได้

เชลซีก็พยายามแล้ว เพียงแต่พวกเขายังทำได้ไม่ดีพอ และเทพีแห่งโชคก็ยังไม่ยอมหันมายิ้มให้
อาจเป็นเพราะไม่ชอบใจเบน ชิลเวลล์ที่ไม่สงวนท่าทีเมื่อยิงทีมเก่าที่อยู่มาตั้งแต่อายุ 13 ปี (แฟนเลสเตอร์สาปส่งเขา แต่ปรบมือให้เอ็นโกโล ก็องเต) กระมัง
แคสเปอร์เองก็สู้ยิบตา เซฟเหมือนพ่อ

วาร์ดีทำอะไรมากไม่ได้ แต่จังหวะที่ดีที่สุดของเกมคือการที่เขาปั๊มแย่งบอลจากติอาโก ซิลวา โคตรบอลคนหนึ่งของยุคแบบไม่ยอม(เว้ย) ก่อนจะขอเสียงเชียร์จากแฟนๆให้ปลุกเร้าเพื่อนอีกแรง
ชัยชนะจึงเป็นของเลสเตอร์ ทีมที่เต็มที่กว่า มีวินัยกว่า และสู้ด้วยหัวใจที่วันนี้ดวงโตกว่า
มันเป็นหัวใจของทีมฟุตบอลที่ถูกหล่อเลี้ยงมาด้วยความรัก ความรักระหว่างแฟนบอล ทีม เจ้าของสโมสร ที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่



และเป็นความสำเร็จที่ของเกมฟุตบอลที่น่ายินดีด้วย
ผมนึกย้อนกลับไปถึงภาพขบวนแห่รองแชมป์เมื่อปี 1969 อีกครั้ง
วันพรุ่งนี้เมืองเลสเตอร์จะแตกเหมือนเมื่อ 5 ปีที่แล้วไหมนะ?

'ลูกแม่กิ่ง' Football writer
#Sockr #doyoulovethegame #lcfc #FACupFinal
แก้ไขล่าสุด 16 พ.ค. 64 17:03 | เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 10

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

#1 | Yvonne | 16 พ.ค. 64 23:07 น.

ไอพี: ไม่แสดง | โดย Windows 10

#2 | sz444161 | 17 พ.ค. 64 16:04 น.

เก่ง

ไอพี: ไม่แสดง | โดย Windows 10

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google