เปิดใจ "ครูพลังงานสะอาด" โชว์หลากหลายไอเดียสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้เรื่องพลังงาน

8 พ.ย. 64 15:44 น. / ดู 1,437 ครั้ง / 1 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
การส่งเสริมการเรียนรู้เรื่อง "พลังงานสะอาด" ในบริบทของภาคการศึกษา ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชนให้เกิดการนำความรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาดไปใช้ในชีวิตประจำวัน และจะนำไปสู่ "Clean Energy for Life" ใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน พร้อมขับเคลื่อนสังคมไทยให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ และเชื่อมโยงสังคมจากระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศ
"โครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด" ดำเนินงานโดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 ในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านพลังงาน (Energy Literacy) ให้กับเด็กและเยาวชน ร่วมกับครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทุกกลุ่มสาระและอาชีวศึกษา จำนวน 50 ทีม ซึ่งครูทุกท่านได้รับการอบรมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาในบทบาทของ School Partner โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาให้มีศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านพลังงานแบบสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังจากกลุ่มครู ผู้นำชุมชน และนักศึกษา โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนมีนาคม 2565

"Explainer Video เรื่อง ไดนาโม 3 in 1" แหล่งกำเนิดไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้

เริ่มกันที่คู่หูครูฟิสิกส์ ครูออย–นายสมศักดิ์ คงสกุล และ ครูซุ๊ฟ–นายพิศาล มรรคาเขต จาก "ทีมฟิสิกส์ ม.ว." โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา กับไอเดียการพัฒนาสื่อในรูปแบบ "Explainer Video เรื่อง ไดนาโม 3 in 1" เมื่อล้อจักรยานยนต์คันร้าย ๆ กลายเป็นแหล่งศึกษาการกำเนิดไฟฟ้า ได้ร่วมกันแชร์มุมมองที่น่าสนใจว่า


"การสอนวิชาฟิสิกส์ในห้องเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวเลข เป็นการคำนวณซึ่งเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับนักเรียน และมองว่าการเรียนรู้ของเด็กต้องเกิดจากการทำจริง เล่นจริง ทดลองจริง ไม่ใช่แค่ทฤษฎี และครูต้องนำความรู้ที่เรียนมาแสดงให้เห็นว่ามีประโยชน์ต่อตัวนักเรียนและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ก็เลยเริ่มผลิตสื่อนวัตกรรมที่ใช้ในห้องเรียนขึ้นเอง โดยนำวัสดุอุปกรณ์ที่มีราคาไม่แพง หรือวัสดุเหลือใช้มาดัดแปลง อย่างเช่น การนำล้อจักรยานยนต์มาประยุกต์เป็นกังหันลม  และกังหันน้ำขนาดเล็ก โดยใช้ล้อรถจักรยานยนต์เก่ามาทำเป็นแหล่งศึกษาเรื่องการกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งโครงสร้างของ Explainer Video นี้ จะเป็นวิดีโออธิบายแผนที่ชุมชน รวมทั้งองค์ความรู้พลังงานธรรมชาติ การเปลี่ยนพลังงานกลเป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งเดินเรื่องโดยครูออยกับครูซุ๊ฟ ในลักษณะของเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา เป็นเหมือนสารคดีที่ให้ความรู้และความสนุกสนานไปพร้อม ๆ กัน" ครูออย กล่าว


"Explainer Video เรื่อง ไดนาโม 3 in 1 จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ว่าเราสามารถใช้พลังงานธรรมชาติหรือพลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงานธรรมชาติเป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไป และสำคัญที่สุดเลยก็คือ เป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ Explainer Video ของเราจะทำให้นักเรียนได้รู้ว่าชุมชนของตนเองมีตรงไหนบ้างที่สามารถติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ เกิดความเข้าใจและมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนมากขึ้น
ส่วนการต่อยอดและการนำไปใช้ในอนาคตคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพของสื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงในชุมชนเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากบ้านเรือน" ครูซุ๊ฟ กล่าวเสริม

"เกมอินเตอร์เฟสเสมือนจริงพลังงานไฟฟ้าจากขยะ" ความสนุกพร้อมสาระความรู้

ปิดท้ายกันที่คู่หูครูสายฮา ครูมานะ–นายมานะ อินทรสว่าง และ ครูบิ๋ม–นายอภิชาติ ร่มลำดวน จาก "ทีม SNR Clean Energy" จากโรงเรียนศึกษานารี จังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่มาแชร์มุมมองการสร้างความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี สู่การส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากขยะผ่าน "เกมอินเตอร์เฟสเสมือนจริงพลังงานไฟฟ้าจากขยะ" ที่มีความน่าสนใจ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และทำให้ผู้เรียนสนุกสนาน ให้ฟังว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาสื่อพลังงานสะอาด คือ คอนเทนต์ที่จะนำมาทำต้องเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กมากที่สุด หรือดูบริบทรอบตัวเราเป็นสำคัญ


"เกมอินเตอร์เฟสเสมือนจริงพลังงานไฟฟ้าจากขยะ เป็นการจับประเด็นจากเรื่องใกล้ตัวในโรงเรียนของเราซึ่งมีเด็กนักเรียนมากถึง 3,000 กว่าคน แต่มีพื้นที่แค่ประมาณ 6 ไร่ ทำให้มีปริมาณขยะเป็นจำนวนมาก เกิดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม เราจึงพยายามหาวิธีการบริหารจัดการขยะให้เกิดประโยชน์ พอเห็นโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด ก็เลยชวนครูบิ๋มสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งตอนแรกเราหวังแค่ความสนุกสนาน แต่พอได้รับคำแนะนำจากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญของโครงการฯ ทำให้เราได้มุมมองใหม่ว่า นอกจากจะสนุกแล้วต้องสอดแทรกความรู้ด้วย โดยรูปแบบเกมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. พรีเทสต์เรื่องการคัดแยกขยะ 2. การทำภารกิจ (Mission)  ในแต่ละด่าน พร้อมคลิปวิดีโอสั้น ๆ ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะรีไซเคิล ซึ่งนักเรียนต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครที่ต้องเก็บขยะรีไซเคิล เอาไปขาย สร้างรายได้สะสมไว้ เพื่อทำภารกิจที่ 2 ซึ่งจะเป็นการสะสมแต้มเพื่อนำไปใช้ในการสร้างโรงไฟฟ้า เท่ากับว่าได้เล่นเกม และได้ทำภารกิจนั้นจริง ๆ ด้วยการออกแบบเป็นสถานีการเรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะภายในโรงเรียนที่นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้" ครูมานะ บอกเล่าเรื่องราว

 

"ปัญหาขยะเป็นปัญหาระดับประเทศ และสิ่งที่เราอยากทำคือ สร้างความตระหนักรู้เรื่องการคัดแยกขยะ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าการเป็นแค่ขยะที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม แต่ขยะบางประเภทสามารถนำมารีไซเคิลและผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ส่วนเหตุผลที่เราเลือกพัฒนาเป็นเกม เพราะเมื่อเด็กได้เล่นเกม ได้สัมผัสจริง เด็กจะมีความสุข และเกิดการเรียนรู้ได้ง่ายกว่า ซึ่งอุปสรรคของการออกแบบและพัฒนาเกมนี้ก็คือ การที่เราพยายามทำสื่อที่แหวกแนวกว่าคนอื่น ทำให้มีความยากทั้งเรื่องคอนเทนต์และเทคนิคต่าง ๆ อย่างทีมที่ทำเป็นซอฟต์แวร์มันก็จบในคอมพิวเตอร์ แต่สื่อที่เราทำเป็นเกมเสมือนจริง ซึ่งต้องทำทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ไปพร้อม ๆ กัน แต่เราก็จะตั้งใจทำให้ดีที่สุด และขอบคุณโอกาสดี ๆ จากโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาดครับ" ครูบิ๋ม กล่าว

หลากหลายไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้จาก "ครูพลังงานสะอาด" กับความมุ่งหวัง
ที่จะสร้างทักษะการตระหนักรู้ให้กับนักเรียนและเยาวชน จะเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดให้เกิดขึ้นจริงได้ในทุกภาคส่วน สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมเชื่อมโยงเป้าหมาย
สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.
เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 7

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

#1 | Yvonne | 10 พ.ย. 64 15:43 น.

ไอพี: ไม่แสดง | โดย Windows 10

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google