1. สยามโซน
  2. ภาพยนตร์
  3. ข่าววงการภาพยนตร์

Indiana Jones 4 เปลี่ยนโฉม วิชวลเอฟเฟกต์ตระการตา

Indiana Jones 4 เปลี่ยนโฉม วิชวลเอฟเฟกต์ตระการตา

ภาพยนตร์ชุด "Indiana Jones" 3 ภาคแรก เกิดขึ้นเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีหวือหวาให้ใช้งาน จึงเป็นภาพยนตร์ที่ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย เรียกได้ว่าสมบุกสมบันไม่น้อย ทุกอย่างที่ปรากฏบนจอล้วนแต่มีอยู่จริงอยู่ที่ไหนสักแห่ง ไม่ได้สร้างภาพขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ขณะที่สร้างภาค 4 "Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull" เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และวงการภาพยนตร์ได้พัฒนาไปมากแล้ว

ผู้อำนวยการสร้างของภาคนี้ยังเป็น "จอร์จ ลูคัส" (George Lucas) เจ้าเดิม แต่ทุกวันนี้ บริษัททำวิชวลเอฟเฟกต์ อินดัสเตรียล ไลต์ แอนด์ แมจิก หรือ ไอแอลเอ็ม ของเขาพัฒนาไปไกลโขเมื่อเทียบกับในอดีต เครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัยของเขาสามารถสรรสร้างได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ไดโนเสาร์ตัวมหึมาใน "Jurassic Park" ถึงหุ่นยนต์พูดได้ใน "Transformers"

แรกเริ่มเดิมที ผู้กำกับ "สตีเว่น สปีลเบิร์ก" (Steven Spielberg) ตั้งใจจะสร้าง Indiana Jones ภาค 4 ด้วยวิธีการที่เก่าและดิบเช่นเดียวกับ 3 ภาคแรก โดยที่ปรึกษาด้านวิชวลเอฟเฟกต์ พาโบล เฮลแมน (Pablo Helman) เล่าว่า "เขา (สตีเว่น) คิดจะให้เราใช้วิธีเก่าๆ ที่เคยใช้มาก่อน อย่างวาดภาพบนแก้วเพื่อนำไปรวมกับภาพอื่นๆ ให้กลายเป็นภาพเดียวกัน หรืออะไรทำนองนั้น เราก็สนใจความคิดนี้กันอยู่นิดหน่อย แต่คิดอีกที ใช้เครื่องมือดิจิตอลด้วยดีกว่า เพื่อช่วยเล่าเรื่องราวในภาพยนตร์ได้ดีขึ้น"

พาโบล ผู้เคยทำงานกับ สตีเว่น จากเรื่อง "Munich" และ "War of the Worlds" และเคยทำงานให้ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ จอร์จ ลูคัส "Star Wars" มา 2 ภาค รับหน้าที่สร้างบรรยากาศและสิ่งมีชีวิตใน Indiana Jones ภาคนี้ขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ โดยให้ดูทั้งสมจริงและน่าทึ่งในเวลาเดียวกัน ซึ่งภาคนี้ อินเดียน่า ตะลอนไปทั่ว ตั้งแต่ นิวอิงแลนด์ ถึง นิวเม็กซิโก ไปจนถึง เปรู และ อเมซอน

พาโบล ยืนยันว่างานสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ทุกชิ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนแต่อ้างอิงจากความสมจริงทั้งสิ้น แต่ความสมจริงที่ว่านั้นก็ยังคงเหนือจริงอยู่ดี อาทิ กลุ่มควันรูปเห็ดยักษ์จากระเบิดปรมาณู โกดังเก็บสินค้าที่ทอดตัวกันยาวไกลเหมือนไม่สิ้นสุด กองทัพลิงที่ดุร้าย เมืองแห่งทอง มดกินคนนับพันตัว และสิ่งที่ดูเหมือนมาจากนอกโลกทั้งหลายแหล่

ผู้สร้างงานกว่า 300 ชีวิต ง่วนทำงานเบื้องหลังหลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเวลาถึง 8 เดือน งานส่วนนี้ต้องใช้แบบจำลองร่วมกับฉากสีฟ้า และใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยในสำนักงานของ ไอแอลเอ็ม ที่ตั้งอยู่ในเพรสซิดิโอในซานฟรานซิสโก รวมแล้วมีฉากเอฟเฟกต์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ 450 ช็อต แม้ไม่มากเท่า Transformers ที่มีมากกว่า 600 ช็อต แต่ก็มากกว่าที่ใครๆ คาดกันไว้

ในภาคนี้ อินเดียน่า โจนส์ และพรรคพวก ต้องต่อสู้กับทหารรัสเซีย และจัดการเรื่องยุ่งๆ เกี่ยวกับกะโหลกแก้ว ต้องบุกป่าอันอุดมสมบูรณ์ของอเมซอน นั่งยานพาหนะของทหาร ขับซ้ายป่ายขวาหลบต้นไม้ "ตามบทเราต้องใช้ป่าที่ดูเหมือนไม่เคยมีผู้ใดเหยียบย่างเข้าไปมาก่อน แต่ไม่มีป่าแบบนั้นที่เราเอารถเข้าไปวิ่งได้เลย เราอาจใช้เวทีใหญ่ๆ กับบลูสกรีนก็ได้ แต่เราก็ไม่ใช้ เราถ่ายด้วยวิธีแบบเก่าอย่างที่เคยทำเมื่อ 20 ปีก่อน" พาโบล เล่า

สตีเว่น ถ่ายฉากนี้ในป่าที่มีต้นไม้เบาบางในฮาวาย ส่วน พาโบล เดินทางไปยังอาร์เจนติน่าและบราซิล เพื่อไปเก็บภาพที่จะใช้ในฉากป่า รวมถึงภาพยอดผาที่ต้องใช้ในฉากไล่ล่า จากนั้น พาโบล และลูกมือของเขาก็ผสมภาพที่ถ่ายจากฮาวาย ภาพจากบราซิลและอาร์เจนติน่าเข้าไว้ด้วยกัน ตกแต่งร่องรอยการปะทะเข้าไปในภาพด้วยเครื่องมืออันทันสมัย ผลที่ได้คือภาพป่าในจินตนาการ ที่มีอยู่จริงเฉพาะในคอมพิวเตอร์ของ ไอแอลเอ็ม เท่านั้น

พาโบล อธิบายถึงการทำงานของเขาให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า "เราใส่ข้อมูลลงไปในคอมพิวเตอร์ว่าจะเอาแรงดึงดูดเท่านี้ มวลสารเท่านี้ แรงลมเท่านี้ แล้วเราก็รอดูภาพที่คอมพิวเตอร์ประมวลผลออกมา" วิธีนี้ทำให้ผู้สร้างสามารถจับเอาวัตถุต่างๆ ในจอย้ายไปมาได้ตามแต่ใจ ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะ หรือการเคลื่อนไหวของนักแสดง ซึ่งนักสร้างวิดีโอเกมก็ใช้วิธีทำงานแบบนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม พาโบล เล่าว่า พวกเขาไม่ได้ยึดตามกฎฟิสิกส์อย่างเคร่งครัดนัก พวกเขาเพิ่มแรงดึงดูด เพิ่มมวลสาร และเพิ่มลมพัดให้มากกว่าปกติ เพื่อให้ภาพที่ออกมาดูน่าตื่นตาสมกับที่เป็นภาพยนตร์ ดังนั้นภาพบนจอที่จะประจักษ์แก่สายตาผู้ชมจึงมีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย และแตกต่างจาก 3 ภาคแรกไม่น้อยเลยทีเดียว พิสูจน์ความล้ำสมัยของเทคโนโลยีสมัยใหม่ใน Indiana Jones ภาค 4 กันได้แล้ววันนี้ที่โรงภาพยนตร์

ความคิดเห็น

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีต

  • ลัดดาแลนด์
    เข้าฉายปี 2011
    แสดง สหรัถ สังคปรีชา, ปิยธิดา วรมุสิก, สุทัตตา อุดมศิลป์
  • 7 ประจัญบาน 2
    เข้าฉายปี 2005
    แสดง พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง, สามารถ พยัคฆ์อรุณ, ทศพล ศิริวิวัฒน์
  • Thor
    เข้าฉายปี 2011
    แสดง Chris Hemsworth, Anthony Hopkins, Natalie Portman

เกร็ดภาพยนตร์

  • Guardians of the Galaxy - ผู้สร้างภาพยนตร์กล่าวว่า ร็อกเก็ต แรกคูน ที่ให้เสียงโดย แบรดลีย์ คูเปอร์ เป็นสิ่งมีชีวิตจากการทดลองที่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น โดยเป็นสัตว์เล็กที่ถูกชำแหละ เพิ่มเครื่องจักรเข้าไป และประกอบกลับเข้าไปใหม่ ทำให้เป็นครึ่งหุ่นยนต์ครึ่งแรกคูน ทำให้เขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขี้โมโหเพราะไม่มีใครอีกแล้วที่เหมือนเขา อ่านต่อ»
  • The Expendables 3 - บรูซ วิลลิส ถูกวางตัวไว้ให้กลับมารับบท มิสเตอร์ เชิร์ช ด้วยค่าตัว 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการกลับมาแสดง 4 วัน คิดเป็นวันละ 750,000 เหรียญสหรัฐต่อวัน เมื่อ บรูซ เรียกค่าตัวเป็น 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ผู้เขียนบทและผู้รับบท บาร์นี กับเหล่าผู้อำนวยการสร้างจึงปฏิเสธ ต่อมา ซิลเวสเตอร์ สามารถแทนที่ บรูซ ด้วย แฮร์ริสัน ฟอร์ด ซึ่งเข้ามาแสดงบท แม็กซ์ ตัวละครใหม่ได้ภายในเวลา 3 วัน อ่านต่อ»
เกร็ดจากภาพยนตร์สามารถดูได้ในหน้าข้อมูลภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

เปิดกรุภาพยนตร์

ทนายความคนหนึ่งทำการสืบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ที่น่าสงสัยในการตายของชายหนุ่มคนหนึ่ง...อ่านต่อ»