อยากรู้ไหม หมอ 6 ปี เขาเรียนอะไรกัน ?

15 เม.ย. 59 18:28 น. / ดู 1,021 ครั้ง / 0 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
สวัสดีน้อง ๆ ทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความนี้กันนะครับ พี่เป็นทีมติวเตอร์คณะแพทย์ของ Tiwtactic นะ หลายคนที่เข้ามาอ่านคงอยากเป็นหมอกันใช่ไหมละ วันนี้พี่มีเรื่องมาเล่าให้น้อง ๆ ฟังว่าการเรียนหมอ 6 ปี เนี่ย เราเรียนอะไรกันบ้าง จะได้เอาไว้เป็นข้อมูลในการเลือกเรียนหมอกันนะ
ปีที่ 1 : เป็นเด็กน้อยที่ใช้ชีวิตห่างไกลจากคำว่าหมอเลยละ
    ปี 1 นี้เป็นปีเดียวที่น้องจะได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กมหาลัยคณะอื่น ๆ คือเรียนแบบตามตาราง 8.00-16.00 บางวันก็เรียนไม่เต็มวัน ทำให้น้องเอาเวลาว่างไปเที่ยว ไปปาร์ตี้ หรือทำกิจกรรมส่วนตัวที่ตัวเองชอบได้ วิชาที่เรียนกันในปี 1 นั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับหมอเลย (ยกเว้นหมอบางสถาบันอาจจะมีบางวิชาที่เกี่ยวกับหมอบ้าง) เพราะจะเน้นไปที่วิชาพวก คณิต ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เป็นหลัก คล้าย ๆ ของม.ปลายเลย แต่ว่าจะยากกว่าค่อนข้างเยอะ
    ชีวิตปี 1 จะได้ทำกิจกรรมเยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมรับน้องปี 1 ขึ้นสแตนเชียร์ เล่นกีฬา ไปค่ายนู้นค่ายนี่ จัดกิจกรรมให้น้อง ม.6 มีพี่สายรหัสพาไปเลี้ยงบ่อย ๆ โดยรวมแล้วปีนี้เป็นปีที่สบาย และไม่ค่อยกดดันเรื่องเรียนมากเท่าไหร่เลยละ

ปีที่ 2 : ก้าวขึ้นมาเป็นน้องเล็กที่สุดในวงการแพทย์
    พี่ใช้คำว่าน้องเล็กที่สุดในวงการแพทย์เพราะว่าปีนี้เป็นปีแรกทีเราจะได้เรียนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเป็นหมอ อย่างจริงจัง เพราะเราจะได้เรียนทั้ง Gross anatomy, Histology, Physiology, Biochemistry (ขอทับศัพท์ภาษาอังกฤษนะ แปลไทยละรู้สึกแปลก ๆ) ก็จะได้รู้เกี่ยวกับโครงสร้างร่างกายและการทำงานของระบบร่างกายของคนที่ปกติอย่างละเอียด ละเอียดชนิดที่เรียกว่าแม้แต่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อในหูก็ต้องรู้จัก !!!
    เนื้อหาในปีนี้เยอะกว่าปีก่อนมาก ดังนั้นการปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอด ต้องมีการปรับสมองให้สามารถรับความรู้ได้ทีละเยอะ ๆ และเร็ว ๆ อีกทั้งต้องไม่ลืม ไม่งั้นก็สอบตก แล้วชีวิตก็จะเริ่มวนเวียนอยู่กับหนังสือๆๆๆๆๆ ตั้งแต่ปีนี้นี่แหละครับ

ปีที่ 3 : เริ่มได้รู้จักโรคต่าง ๆ แล้วละ
    ในปีที่ 2 เราจะเน้นไปที่ร่างกายคนที่ปกติ คือไม่ป่วย แต่ในปีที่ 3 นี้จะได้เรียนเกี่ยวกับร่างกายของคนที่ป่วย ว่าถ้าเป็นโรคนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะอย่างไร ถ้าเป็นโรคนี้ระบบร่างกายตรงไหนที่เปลี่ยนไป ดังนั้นเราจะเริ่มรู้จักโรคต่าง ๆ และรู้จักเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคด้วย อีกทั้งยังจะได้เรียนเกี่ยวกับยาที่ใช้รักษาโรค แม้ว่าเราจะเรียนไม่ละเอียดเท่าเภสัช แต่เราก็จะได้เรียนลึกขนาดต้องรู้กลไกการออกฤทธิ์ โครงสร้างของยาบางตัวที่สำคัญ (ก็ลึกอยู่นะ)
    จุดพีคของการเรียนปีนี้ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาวิชา เพราะเนื้อหาก็เยอะอย่างนี้ตั้งแต่ปี 2 แล้ว ก็คงปรับตัวได้กันแล้ว แต่มันอยู่ที่ตอนปิดเทอม ปี 3 ก่อนขึ้น ปี 4 ต้องสอบใบประกอบโรคของแพทย์ขั้นที่ 1 (เรียกสั้น ๆ ว่า NL 1 ซึ่งจะมีสอบทั้งหมด 3 ขั้น) และเนื้อหาที่ออกสอบคือเนื้อหาที่เรียนทั้งหมดในปี 2 และปี 3 ซึ่งเยอะมากกกกก แต่ก็ต้องพยายามจำให้ได้หมด เพื่อจะได้สอบให้ผ่าน

ปีที่ 4 : ใกล้คำว่าหมอขึ้นมาอีกขั้น เพราะได้รับคนไข้แล้ว
    ปีนี้เป็นอีกปีที่จะต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะการเรียนจะไม่ได้เป็นเลกเชอร์ในห้องรวมแล้ว แต่จะเป็นการเรียนรู้บนหอผู้ป่วย (วอร์ด) โดยเรียนรู้จักผู้ป่วยโดยตรงเลย เราจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ เพื่อไปวนวอร์ดผู้ป่วยต่าง ๆ ตลอดปี แต่ละวอร์ดก็จะมีเนื้อความรู้ที่ต่างกัน เช่น วอร์ดสูติ-นรีเวช ก็จะเน้นไปที่โรคของผู้หญิง เช่น ประจำเดือนไม่มา ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนมาบ้างไม่มาบ้าง หรือจะเป็นวอร์ดเด็กที่จะเน้นโรคของเด็ก ทั้งเด็กอ้วนไป เด็กผอมไป เด็กไม่พูด เด็กซนเกินไป เป็นต้น  ในตอนที่วนไปแต่ละวอร์ดก็จะได้รับคนไข้ คือต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย วินิจฉัยโรค และให้แนวทางการรักษาเบื้องต้นได้ โดยอาจารย์บนวอร์ดจะเป็นคนคอยควบคุมดูแล ให้ความรู้ ชี้จุดบกพร่อง กับเราอีกทีนึง
      อีกทั้งปีนี้ชีวิตเราจะเปลี่ยนไปจากเดิมเพราะคำว่า “เวร” อีกด้วย เราจะได้รับมอบหมายให้มีการอยู่เวรนอกเวลาราชการ มีหมดเลยตั้งแต่ 16.00-6.00 (ของอีกวัน) หรือจะเป็นวันเสาร์ อาทิตย์ หรือจะวันหยุดยาวเช่น สงกรานต์ ปีใหม่ ก็อาจจะมีเวรได้ถ้าตารางเวรลงตัวตรงนั้น ดังนั้นเวลาว่าง เวลาส่วนตัวของเราก็จะลดลงกว่าเดิม (และมันจะมีอย่างนี้ไปตลอดชีวิตของหมอแหละนะ บอกไว้ก่อน)

ปีที่ 5 : เรียนเหมือนปี 4 แต่ต้องเก่งขึ้น
    รูปแบบการเรียนของปี 5 จะเหมือนของปี 4 คือต้องแบ่งกลุ่มย่อย ๆ และวนไปตามวอร์ดต่าง ๆ ตลอดทั้งปี อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยที่วอร์ดที่ไปวนนั้นอาจจะมีวอร์ดเล็ก ๆ ที่ไม่เคยได้ไปวนมาก่อนตอนปี 4 เช่น จิตเวช นิตเวช เป็นต้น (การวนวอร์ดนี่แล้วแต่สถาบันจะจัดนะ แต่ละสถาบันอาจจะวนไม่เหมือนกัน) สิ่งที่ต้องทำบบนวอร์ดก็จะคล้ายปี 4 คือต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย วินิจฉัยโรค ให้การรักษาได้ เพียงแต่จะต้องทำได้ดีกว่าปี 4 ต้องมีความรู้มากกว่าปี 4 เพราะอาจารย์จะคาดหวังมากกว่าปี 4 นั่นเอง
    จุดพีคของปี 5 อีกอย่างนึงคือ ในช่วงปิดเทอมปี 5 ก่อนขึ้นปี 6 นั้นจะต้องสอบใบประกอบโรคของแพทย์ขั้นที่ 2 ซึ่งเนื้อหานั้นคือเนื้อหาของปี 4 และ ปี 5 ทั้งหมด (มหาศาลยิ่งกว่าขั้นที่ 1 อีกนะ) แต่ก็เช่นเคยต้องทำให้ได้ !

ปีที่ 6 : ทำงานเป็นหมอเต็มตัว แค่ไม่มีเงินเดือนให้   
    ปีนี้เป็นปีสุดท้ายในการเรียนหมอแล้ว เราจะได้ “ทำงาน” เหมือนหมอตามรพ.แทบจะทุกอย่างเลย ทั้งทำคลอดเอง เย็บแผลเอง ผ่าตัดเล็กเอง ให้การรักษาคนไข้ได้ โดยจะมีอาจารย์คอยดูแล อย่างห่าง ๆ กว่าปีก่อนมากขึ้น ปีนี้ถือว่าหนักที่สุดในการเรียนหมอ 6 ปีเลยละ หนักขนาดที่ว่า บางคนถือว่าปี 1-5 เป็นครึ่งทางแรกของการเรียนหมอ และปี 6 นี่เป็นครึ่งทางหลังของการเรียนหมอเลยทีเดียว เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับคนไข้บนวอร์ด ปี 6 ต้องรู้ ต้องทำได้ ต้องมาจัดการ ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ชัก คนไข้หัวใจหยุดเต้น คนไข้หอบเหนื่อยมาก คนไข้หายใจเองไม่ไหว มีอะไรก็ตามเกิดขึ้นกับคนไข้ ปี 6 จะถูกตามมาดูคนไข้ก่อนเสมอ
    ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่น้องที่เข้ามาเรียนหมอ จะต้องเจอตลอด 6 ปีไม่ว่าจะเรียนสถาบันไหนก็จะมีรูปแบบประมาณที่พี่เล่ามา อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดนิดหน่อย ลองเอาไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกเรียนละกันนะ ส่วนใครยังไม่แน่ใจยังไงอยากปรึกษาพี่ ๆ ที่เรียนหมอก็ inbox มาที่แฟนเพจ Tiwtactic ได้ตลอดเลย พี่ ๆ ยินดีตอบทุกข้อสงสัยเลย !

Cr. https://blog.eduzones.com/tiwtactic
แก้ไขล่าสุด 15 เม.ย. 59 21:29 | เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 8.1

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google