เป็นต้อ โรคร้ายที่อาจทำให้คุณตาบอดได้ หากรู้แล้วรักษาไม่ทัน

6 ก.พ. 66 16:09 น. / ดู 6,168 ครั้ง / 1 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์

ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีความเปราะบาง ถ้าหากเรามีการใช้งานที่มากเกินไป หรือสัมผัสรังสียูวีหรือแสงแดดมากเกินไป หรือด้วยอายุที่มากขึ้น ก็อาจจะทำให้ตาของเราเกิดอาการผิดปกติได้ จนเรียกว่าเป็นต้อได้ แล้วตาเป็นต้อเกิดจากอะไร แบ่งออกเป็นประเภทใดบ้าง สามารถรักษาได้อย่างไร เรามาดูกัน
เป็นต้อ


โรคต้อ หรือ ตาเป็นต้อ คือ ความผิดปกติของดวงตา ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สายตามากกว่าปกติ โดยอาจจะมีการจ้องแสงมากเกินไป หรือมีการใช้ยาที่ผิดประเภทอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ดวงตาผิดปกติและเป็นต้อขึ้นมา โดยแบ่งออกเป็น 4 โรค ได้แก่ ต้อลม (Pinguecula) ต้อเนื้อ (Pterygium) ต้อกระจก (Cataract) และต้อหิน (Glaucoma)

รู้จัก 4 โรคต้อ

เมื่อเราทราบแล้วว่า โรคต้อเกิดจากสาเหตุความผิดปกติของดวงตา ด้วยหลาย ๆ สาเหตุที่ทำให้ตาของเราเป็นต้ออย่างเลี้ยงไม่ได้ ทีนี้ เราลองว่าดูว่า ทั้งต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก และต้อหิน มีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง

1. โรคต้อลม (Pinguecula)


ต้อลม คือ ความเสื่อมของเยื่อบุตาขาว มีลักษณะเป็นเนื้อนูนขนาดเล็กสีขาวหรือขาวเหลืองข้างกระจกตาหรือตาดำ ส่วนใหญ่มักเกิดที่บริเวณหัวตาด้านในใกล้จมูก แต่ก็อาจจะเป็นได้ทั้งบริเวณหัวตาและหางตาพร้อมกัน สามารถเกิดกับดวงตาเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย

สำหรับผู้ที่ยังมีอาการโรคต้อลมไม่มาก จะเห็นเป็นเพียงเนื้อเยื่อผิดปกติบริเวณเยื่อบุตาขาวเท่านั้น แต่ถ้าหากมีอาการอักเสบ จะทำให้รู้สึกเจ็บตา เคืองตา คันตา ตาแดง แสบตา และน้ำตาไหล แต่ถ้าหากเกิดการลุกลามเข้าไปกลางกระจกตาและบดบังการมองเห็น จะทำให้เกิดอาการตามัว และเกิดสายตาเอียงได้

ต้อลม มีสาเหตุเกิดจากรังสียูวีและแสงแดด ฝุ่นควัน มลภาวะที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา ดังนั้น จึงมักพบต้อเนื้อได้บ่อยในคนที่อาศัยในประเทศเขตอากาศร้อนที่มีแสงแดดจัด หรือบุคคลที่ทำงานกลางแจ้งอยู่เสมอ ก็อาจจะทำให้เป็นต้อลมได้ง่าย

2. โรคต้อเนื้อ (Pterygium)


ต้อเนื้อ มีลักษณะอาการคล้ายต้อลม แต่ก้อนเนื้อเป็นรูปสามเหลี่ยมลามเข้าไปถึงบริเวณกระจกตาดำ อาจจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็ได้ จะมีสีแดงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณเส้นเลือดมากหรือน้อย ซึ่งอาจจะเกิดที่บริเวณหัวตาหรือหางตาพร้อมกันก็ได้

โรคต้อเนื้อนี้ ส่วนใหญ่จะมีอาการตาแดง ระคายเคืองตา มองภาพไม่ชัดเจน และอาจจะเกิดการลุกลามเข้าตาดำจนค่อย ๆ ไปปิดรูม่านตา ทำให้เกิดอาการตามัวหรือตาบอด และสายตาเอียงเนื่องจากต้อเนื้อดึงกระจกตาทำให้ความโค้งของกระจกตาเปลี่ยนไปได้

การเป็นต้อเนื้อ เกิดจากสาเหตุเกิดจากรังสียูวีและแสงแดด ฝุ่นควัน มลภาวะที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา ดังนั้น จึงมักพบต้อเนื้อได้บ่อยในคนที่อาศัยในประเทศเขตอากาศร้อนที่มีแสงแดดจัด หรือบุคคลที่ทำงานกลางแจ้งอยู่เสมอ

3. โรคต้อกระจก (Cataract)


ต้อกระจก คือ การที่เลนส์แก้วตาขุ่นลงจากการเสื่อมตามอายุ ทำให้แสงผ่านเข้ามาได้น้อย ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น จึงพบมากในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยเป็นโรคที่เกิดขึ้นช้า ๆ และสะสมความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามอายุเรื่อย ๆ

ดังนั้น อาการของต้อกระจกจึงมีอาการค่อย ๆ ตามัวลงอย่างช้า ๆ ทำให้มองเห็นไม่ค่อยชัด เหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง อาจจะมองเห็นสีเพี้ยนไปบ้าง มีอาการภาพซ้อน แต่อาการที่เด่นชัด คือ จะมองไม่เห็นเลย เมื่อเจอแสงแดดจ้า แต่ถ้าอยู่ในที่มืดสลัว กลับมองเห็นชัดเป็นปกติ และถ้าหากไม่ได้รับการรักษาก็จะมองไม่เห็นในที่สุด

สาเหตุของโรคต้อกระจกนั้น ไม่เพียงแค่อายุที่มากขึ้น แต่ยังรวมถึงการเป็นตั้งแต่กำเนิด อุบัติเหตุทางดวงตา การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน การได้รับรังสียูวีและแสงแดดบ่อย ๆ การสูบบุหรี่ มีเศษเหล็ก เศษหิน หรือสารเคมีกระเด็นเข้าตา หรือสายตาสั้นมาก จนทำให้เลนส์ตาเสื่อมสภาพ โรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ทำให้เป็นต้อกระจกเร็วขึ้น

4. โรคต้อหิน (Glaucoma)


ต้อหิน คือ ความเสื่อมของขั้วประสาทตาที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น มักพบว่า เกิดจากความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีอาการปวดเหมือนโดนบีบลูกตาไว้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการของโรคนั้นแย่ลง ส่งผลทำลายเส้นประสาทตาและขั้วประสาทตา ทำให้เกิดการสูญเสียลานสายตาอย่างถาวรได้

แต่ในบางกรณี ความดันของลูกตาก็ไม่สูง แต่จะต้องคุมความดันให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมมากขึ้น โดยพบได้ทุกช่วงอายุ แต่ที่จะพบมาก คือ อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นต้อที่ไม่มีอาการใด ๆ ต้องทำการตรวจและวัดความดันลูกตาจึงจะทราบได้

โดยอาการของโรคต้อหินนี้ มีอาการที่ชัดเจน คือ ปวดตา ตาแดง และตามัว ทำให้ปวดดวงตาราวกับถูกบีบ และอาจปวดจนคลื่นไส้อาเจียน มองเห็นภาพเบลอ ไม่คมชัด เห็นรายละเอียดของภาพไม่ชัดเจน มองเห็นเป็นแสงสว่างรัศมีสีรุ้งที่เปล่งออกมารอบแหล่งกำเนิดแสง และถ้าหากไม่ได้รับการรักษา ก็จะพบว่า สายตาเริ่มมีจุดบอดหรือ Blind spot และหากจุดนี้ ขยายใหญ่ขึ้นจนเต็มลานตาอาจทำให้ตาบอดได้
         
โรคต้อหินมีสาเหตุมักจะเกิดจากกรรมพันธุ์ และอายุที่มากขึ้น ทำให้เส้นประสาทในดวงตาถูกทำลายจนการมองเห็นแย่ลง สามารถเกิดจากสาเหตุที่คล้ายกับโรคต้อชนิดอื่นได้ เช่น การใช้สายตามากเกินไป ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เป็นต้น

การวินิจฉัยอาการเป็นต้อ

สำหรับการวินิจฉัยอาการเป็นต้อ ทำได้จากการตรวจตาเบื้องต้น ร่วมกับการซักประวัติผู้ป่วย โดยทั่วไปแล้วต้อลมและต้อเนื้อสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ถ้าหากเป็นโรคต้อหิน ก็จะต้องมีการตรวจความดันลูกตาร่วมด้วย

ขั้นตอนการรักษาโรคต้อ


หากตาเป็นต้อแล้ว ควรจะรักษาอาการอย่างไร เราจะขออธิบายการรักษาตามแต่ละอาการของโรคต้อ เพราะหากเป็นต้อที่แตกต่างกัน ก็ย่อมมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน

1. การรักษาโรคต้อลม

หากเป็นต้อลมจะเน้นรักษา โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดการระคายเคือง และทำให้ดวงตามีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ แพทย์จะให้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองตาและทำให้ตาไม่แดง แต่ยาหยอดตาไม่สามารถทำให้ต้อลมหายไปได้

ทั้งนี้ เป็นต้อลมไม่จำเป็นต้องผ่าตัดออก เพราะเป็นเพียงก้อนเนื้อขนาดเล็กๆ ไม่มีอันตรายต่อตาและไม่ใช่โรคร้ายแรง ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันการเกิดโรคนั่นเอง โดยหลีกเลี่ยงแสงแดดและลม สวมแว่นกันแดด เมื่อต้องออกนอกบ้านหรืออาคาร พักสายตา ระหว่างการทำงานเป็นระยะ ๆ และใช้น้ำตาเทียมทำให้ดวงตาชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา

2. การรักษาโรคต้อเนื้อ

โดยเบื้องต้น หากมีอาการไม่รุนแรง ยังสามารถมองเห็นได้ปกติ แพทย์จะแนะนำให้ป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น โดยปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลตอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมแว่นกันแดดอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ต้อเติบโตลุกลามมากยิ่งขึ้น

แต่ถ้าในกรณีที่เป็นต้อเนื้อที่มีการลุกลามเข้าไปบนกระจกตามาก มีขนาดใหญ่และอักเสบเรื้อรัง จักษุแพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ เพื่อลอกเอาเนื้อเยื่อต้อเนื้อออกจากเยื่อตาและผิวกระจกตา โดยใช้เวลาผ่าตัดเพียง 30 นาทีเท่านั้น

ทั้งนี้ ต้อเนื้อเป็นโรคที่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่อายุน้อย และผู้ที่ยังคงได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดต้อเนื้อซ้ำ แพทย์อาจผ่าตัดด้วยวิธีปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่ โดยใช้เยื่อบุตาขาวของผู้ป่วยเอง เยื่อรกจากสภากาชาดไทย หรือใช้ยา mitomycin C ระหว่างการผ่าตัดเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำอีก

3. การรักษาโรคต้อกระจก

ในอาการเริ่มแรกของการเป็นต้อกระจก สามารถรักษาได้โดยใช้ยาหยอดตาทุกวัน (วันละ 3 - 4 ครั้ง) แต่การรักษาแบบนี้ เป็นเพียงการชะลออาการไม่ให้เลนส์ตาขุ่นเร็วขึ้นเท่านั้น แต่วิธีการรักษาต้อกระจกที่จะได้ผลดีที่สุด คือ การผ่าตัด โดยวิธีการผ่าตัดต้อกระจกออกและฝังเลนส์เทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา เป็นการเอาเลนส์เก่าที่เสื่อมสภาพออก แล้วใส่เลนส์เทียมอันใหม่เข้าไป ถือเป็นการผ่าตัดแผลเล็ก ใช้หัวอัลตราซาวด์ หรือคลื่นความถี่สูง เข้าไปสลายตัวเนื้อเลนส์ และไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

4. การรักษาโรคต้อหิน

ส่วนต้อหิน จะเป็นการรักษา โดยการลดความเสี่ยงที่จะทำให้โรคมีอาการหนักขึ้น เพราะโรคต้อนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ช่วยควบคุมไม่ให้อาการแย่ลงได้ โดยใช้ยาหยอดตาลดความดันลูกตาอย่างสม่ำเสมอ หรือการใช้เลเซอร์ผ่าตัดตามดุลยพินิจของแพทย์

จะเห็นว่าได้ว่า การรักษาโรคต้อส่วนใหญ่ จะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ที่ต้องระมัดระวังการใช้สายตา และทำตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมอาการของโรคไม่ให้แย่ลงกว่าเดิม และสามารถมองเห็นภาพได้ตามปกติ

การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดต้อ

สำหรับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคต้อ เมื่อได้เข้ารับการผ่าตัดแล้ว เราก็ควรจะดูแลตัวเองให้ดี เพราะดวงตาถือว่าเป็นอวัยวะที่มีเปราะบางมาก โดยมีการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต้อ ดังนี้

- หลีกเลี่ยงการก้มหน้า การไอ จามแรง ๆ หรือการเบ่งถ่าย หรือการทำกิจกรรมที่เพิ่มแรงดันภายในตัวเอง
- หลังการผ่าตัด ห้ามน้ำเข้าตาตามระยะเวลาที่จักษุแพทย์สั่ง (ห้ามล้างหน้า ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดหน้าแทน)
- ห้ามเปิดตา ถ้ายังไม่ต้องใช้ยาหยอดตา
- หยอดยาและใช้ยาป้ายตา รับประทานยาตามที่จักษุแพทย์กำหนด
- พักผ่อนและทำกิจวัตรประจำวันที่ไม่มี ฝุ่น ลมหรือสารเคมีที่จะกระทบเข้าตาได้ตามปกติ
- เช็ดทำความสะอาดตา ด้วยสำลีชุบน้ำเกลือปลอดเชื้อหรือกระดาษฆ่าเชื้ออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- ผู้ป่วยควรใส่ที่ครอบตาเพื่อป้องกันการกระทบกระแทกโดยบังเอิญ โดยเฉพาะช่วงเวลานอนในสัปดาห์แรก
- หลีกเลี่ยงกระทบกระแทกตานาน 1 สัปดาห์ ให้ปิดฝาครอบพลาสติกไว้ตลอด 24 ชั่วโมง นาน 1 สัปดาห์ (ตอนกลางวันถ้าไม่อยากครอบตาอาจสวมแว่นตากันแดด กันลมที่ป้องกันดวงตาโดยรอบหรือใส่ที่ครอบตาเพื่อป้องกันการกระทบกระแทกอย่างน้อย 1 สัปดาห์)
- ห้ามลงว่ายน้ำ 1 เดือน
- ห้ามนอนคว่ำ นอนตะแคงได้ตามปกติ แต่อย่านอนทับตาข้างที่ผ่าตัดเป็นระยะเวลานาน 1 เดือน
- ห้ามขยี้ตา หลีกเลี่ยงฝุ่น ผง  ควันเข้าตา
- มาพบจักษุแพทย์ตามนัด เพื่อเปิดตาและตรวจหลังผ่าตัด นำยาทั้งหมดมาด้วยทุกครั้ง ให้ญาติที่จะเป็นผู้ดูแลมาด้วย เพื่อรับการแนะนำการทำความสะอาดตาและหยอดยาตา
- ถ้าหากในระหว่างนั้น มีอาการผิดปกติ เช่น ปวดตามาก ตาแดง ตามัวลงกว่าเดิม โดนกระแทกบริเวณที่ผ่าตัด ให้รีบมาพบจักษุแพทย์ทันที ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด

การป้องกันโรคต้อ

จากที่เราทราบสาเหตุของตาเป็นต้อกันไปแล้ว เราลองมาดูวิธีการป้องตัวเองจากการเป็นโรคต้อกันบ้าง เพราะการปฏิบัติเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถมีดวงตาที่สวยและมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนได้นานมากขึ้น

- การรับประทานอาหารจำพวก ผัก ผลไม้ที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์(Antioxidant) ในปริมาณสูงๆ จะช่วยลดโอกาสที่จะเป็นต้อกระจกได้ และผลไม้ที่มีวิตามินซีมาก ๆ
- หลีกเลี่ยงแสงแดดด้วยการสวมหมวกและสวมแว่นกันแดดที่มีเลนส์กรองรังสีอัลตราไวโอเลตทุกครั้งที่ออกกลางแจ้ง และควรสวมแว่นเพื่อกันลม ฝุ่น แม้ไม่มีแสงแดดก็ตาม
- หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน อากาศแห้ง ลม เนื่องจากทำให้ระคายเคือง อักเสบ แดงได้ง่าย
- เมื่อต้องใช้สายตามาก ควรพักสายตาด้วยการมองไกลทุกชั่วโมง หากรู้สึกตาแห้งอาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา
- หมั่นตรวจสายตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป หากเกิดความผิดปกติขึ้น เพราะหากตรวจพบเร็ว ก็จะสามารถรักษาได้ไวกว่า
- หมั่นสังเกตการมองเห็นของตัวเองอยู่เสมอ ถ้าหากมีอาการตามัว ตาพร่า มองไม่ชัด ตาบวม ปวดตา ตาแดงอักเสบ เห็นรัศมีรอบดวงไฟ หรือระยะการมองเห็นแคบลง ให้รีบมาพบจักษุแพทย์โดยเร็วที่สุด

ข้อสรุป

การเป็นโรคต้อ ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สายตามากเกินไป รับรังสียูวีและแสงแดดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งเราสามารถป้องกันอาการเป็นต้อนี้ได้ ด้วยการหมั่นดูแลตัวเอง สังเกตอาการสายตาของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยการจะเข้าตรวจเช็กดวงตากับจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี เพราะถ้าหากตรวจพบโรคร้ายได้ไว ก็จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที
เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 10

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

#1 | Yvonne | 11 ก.พ. 66 00:10 น.

น่ากลัวว

ไอพี: ไม่แสดง | โดย Windows 10

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google