เกร็ดน่ารู้จาก Quantum of Solace
เกร็ดน่ารู้
- ถ่ายทำในหลากหลายประเทศ มากกว่าภาพยนตร์ชุด เจมส์ บอนด์ ภาคอื่นๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ปานามา เม็กซิโก ชิลี อิตาลี และออสเตรีย
- ภาพยนตร์ชุด เจมส์ บอนด์ ทุกภาค ยกเว้น License to Kill (1989) และ GoldenEye (1995) ถ่ายทำกันใน ไพน์วูด สตูดิโอส์ ในบักกิงแฮมเชียร์ นอกกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เรื่องนี้ก็เช่นกัน โดยใช้โรงถ่ายย่อย สเตจ 007 และโรงถ่ายย่อยอื่นๆ อีก 5 แห่ง สร้างฉากภายใน 14 ฉาก ถ่ายทำเป็นเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ พื้นที่ด้านหลังโรงถ่ายยังใช้เป็นฉากภายนอกของโรงแรม เพอร์ลา เดอ ลาส ด้วย
- คณะผู้สร้างถ่ายทำฉากประเทศโบลิเวียกันในประเทศปานามา
- คณะผู้สร้างบูรณะสถานที่ภายในและรอบๆ เมืองโคลอน ประเทศปานามาขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้ถ่ายทำเป็นฉากในไฮติ ได้แก่ โคโค โซโล ที่เรียงรายไปด้วยต้นปาล์ม ใช้ถ่ายทำเป็นถนนในไฮติ อาคาร อาร์โบซ์ สีส้มพาสเทลขนาดใหญ่ ใช้ถ่ายทำเป็นโรงแรม เดสซาลินส์ ในไฮติ ซึ่งมีฉากต่อสู้เกิดขึ้นที่ห้องๆ หนึ่งบนยอดตึก และลามต่อไปยังระเบียง
- ผู้กำกับกองถ่ายย่อยที่ 2 แดน แบรดลีย์ นำทีมงาน 66 คน ถ่ายทำฉากกลางอากาศกันในหุบเขาในรัฐบาจา ประเทศเม็กซิโก โดยถ่ายทำเป็นเวลานาน 17 วัน เริ่มจากสนามบินเล็กๆ ใกล้เมืองซาน ฟิลิปเป สถานที่ถ่ายทำแห่งนี้อยู่ห่างไกลผู้คน เดินทางไม่สะดวก จนต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นยานพาหนะ
- เครื่องบินที่ บอนด์ ซึ่งรับบทโดย แดเนียล เครก ได้ขับในเรื่อง เป็นเครื่องบิน ดีซี 3 รุ่นโบราณ ที่สร้างขึ้นในปี 1939 ส่วนเครื่องบินที่จู่โจม บอนด์ เป็นเครื่องบิน มาร์เคตติ ติดปืนกล และเฮลิคอปเตอร์ ฮิวอี เครื่องบินเหล่านี้มีการติดตั้งกล้องที่หางเครื่องบินเพื่อเก็บภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
- ฉากต่อสู้กลางอากาศที่ถ่ายทำในเม็กซิโกนั้น ไม่สามารถใช้กระสุนจริงถ่ายทำได้ เพราะอาจทำลายสิ่งแวดล้อมและอาจเกิดอุบัติเหตุ แผนกวิชวลเอฟเฟกต์จึงเพิ่มกระสุนและควันเข้าไปภายหลัง
- คณะผู้สร้างใช้บริเวณตอนเหนืออันทุรกันดารของประเทศชิลี ซึ่งรวมถึงทะเลทรายและสถานีรถไฟรกร้าง เป็นฉากอันแห้งแล้งของประเทศโบลิเวีย ทุกๆ เช้าพวกเขาต้องเดินทางจากโรงแรมในแอนโทฟากาสตาเป็นเวลานาน 2 ชั่วโมง กว่าจะไปถึงสถานที่ถ่ายทำ
- องค์กรวิจัยด้านดาราศาสตร์ในซีกโลกใต้ของภูมิภาคยุโรป หรือเดอะ เอโซ พารานัล ในประเทศชิลี ถูกใช้เป็นฉากภายนอกของ เพอร์ลา เดอ ลาส ดูนัส ในประเทศโบลิเวีย หอสังเกตการณ์แห่งนี้อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 6,000 ฟุต อยู่ในยอดเขาที่ติดกับทะเลทรายอาตากามา
- กองถ่ายย่อยที่ 2 ถ่ายทำฉากขับรถไล่ล่าที่เป็นฉากเปิดเรื่อง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ในสถานที่ถ่ายทำ 3 แห่งในอิตาลี ได้แก่ ทะเลสาบการ์ดา เหมืองหินอ่อนเก่าแก่ 2,000 ปีที่คาร์รารา และศูนย์ประวัติศาสตร์เซียนา โดยถ่ายทำบริเวณจัตุรัสเปียซซา แคมโป และเหนือหลังคาที่เรียงรายต่อกันของเมือง
- ฉาก โอเปรา เฮาส์ นั้นถ่ายทำกันที่ เบรเกนซ์ เฟสติวัล เฮาส์ ในออสเตรเลีย บริเวณโรงละครกลางแจ้งขนาดความจุ 7,000 ที่นั่ง ที่สร้างขึ้นสำหรับอุปรากรเรื่อง Tosca ซึ่งที่เวทีมีสัญลักษณ์รูปดวงตาสีฟ้าใหญ่สะดุดตา คณะผู้สร้างถ่ายทำกันตอนกลางคืนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีตัวประกอบนับพันคนเข้าฉากเป็นผู้ชม
- ก่อนรับบทเป็น บอนด์ ในภาคนี้ แดเนียล เครก เคยรับบท บอนด์ มาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง ในเรื่อง Casino Royale (2006)
- เป็นเรื่องแรกในภาพยนตร์ชุด เจมส์ บอนด์ ที่เป็นภาคต่อจากอีกภาค เพราะภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ มักเป็นคนละตอนที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่เรื่องนี้มีเนื้อหาเชื่อมต่อจาก Casino Royale (2006)
- โอลยา เคียวอีเลนโก ผู้รับบท คามิลล์ กลัวความสูงจนไม่กล้าเดินบนระเบียงห้องพักของตัวเอง แต่เธอต้องแสดงฉากที่ถูกผลักตกจากราวบันไดที่สูงมาก
- จูดี้ เดนช์ กลับมารับบท เอ็ม ซึ่งเป็นเจ้านายของ บอนด์ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเคยปรากฏตัวในบท เอ็ม ครั้งแรกในเรื่อง GoldenEye (1995) ที่ เพียร์ซ บรอสแนน ได้แสดงเป็น บอนด์ ครั้งแรก
- สาวบอนด์ในภาคนี้แตกต่างจากภาพยนตร์ชุด เจมส์ บอนด์ ภาคอื่นๆ เพราะ คามิลล์ ซึ่งรับบทโดย โอลยา เคียวอีเลนโก เป็นสาวบอนด์คนแรกที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับ บอนด์
- ขณะที่ เจมมา อาร์เตอร์ตัน เดินทางไปทดสอบบท ฟิลด์ วิทยุในรถของเธอบังเอิญเปิดเพลง Nobody Does It Better ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ภาค The Spy Who Loved Me (1977)
- เจมมา อาร์เตอร์ตัน คิดว่าเธอคงไม่ผ่านการทดสอบหน้ากล้อง แต่ 2-3 สัปดาห์หลังจากนั้น ขณะที่เธอกำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งกลางทะเลสาบในช่องแคบยิบรอลตาร์ เธอได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวว่าเธอได้รับบท ฟิลด์ เพื่อนร่วมงานของเธอถึงกับร้องไห้ด้วยความยินดี
- ผู้ออกแบบงานสร้าง หลุยส์ ฟร็อกลีย์ ต้องการให้ เจมมา อาร์เตอร์ตัน มีส่วนร่วมในการเลือกเสื้อผ้าให้ตัวละคร ฟิลด์ ที่เธอแสดง ทีมงานออกแบบให้ ฟิลด์ ดูผอมเพรียวและเรียบร้อย แต่ก็ดูกล้าบ้าบิ่นนิดๆ ด้วย ในฉากหนึ่ง ฟิลด์ จึงสวมเสื้อคลุมตัวยาว แต่ไม่ได้สวมอะไรเลยข้างใน
- เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ เรื่องแรกที่ มาร์ก ฟอร์สเตอร์ กำกับ
- การเตรียมงานก่อนเปิดกล้องของเรื่องนี้ เริ่มขึ้นก่อนที่ภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ภาค Casino Royale (2006) จะเริ่มถ่ายทำ
- ผู้อำนวยการสร้าง ไมเคิล จี. วิลสัน คิดเรื่องราวของภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ภาคนี้ขึ้นมาได้ ขณะถ่ายทำภาค Casino Royale (2006)
- แดเนียล เครก ผู้รับบท บอนด์ เป็นผู้เสนอให้ มาร์ก ฟอร์สเตอร์ มาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้
- เรื่องนี้นับเป็นภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ภาคที่ 22
- แดเนียล เครก กล่าวว่า เขาต้องฝึกร่างกายหนักมาก เพื่อรับบท บอนด์ ในภาคนี้ ทั้งต่อยมวย วิ่ง ขับเรือยนต์ความเร็วสูง และขับรถผาดโผน ทำให้เขารู้สึกว่าการแสดงในภาค Casino Royale (2006) กลายเป็นงานที่ง่ายมากๆ ไปเลย
- แดน แบรดลีย์ ได้รับเลือกให้เป็นผู้กำกับกองถ่ายย่อยที่ 2 ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากผู้สร้างต้องการให้รูปแบบของฉากต่อสู้ดูกลมกลืนกับภาค Casino Royale (2006) ดังที่ แดน เคยทำให้ The Bourne Ultimatum (2007) ดูต่อเนื่องกับ The Bourne Supremacy (2004)
- เริ่มมีการคิดชื่อเรื่อง Quantum of Solace ตั้งแต่ช่วงที่กำลังฉายภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ภาค Licence to Kill (1989)
- เป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ออกฉายวันเดียวกับที่วางขายวิดีโอเกมที่ผลิตออกมาควบคู่กับภาพยนตร์ นั่นก็คือเกมชื่อ Quantum of Solace เช่นเดียวกับชื่อภาพยนตร์
- ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เพลงเปิดภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ เป็นเพลงแบบร้องคู่ นั่นก็คือเพลง Another Way To Die ร้องโดย แจ็ก ไวต์ และ อลิชา คีย์ส
- ภาพยนตร์ไม่ได้นำเรื่องราวและชื่อของตัวละคร (ยกเว้น เจมส์ บอนด์) มาจากเรื่องสั้นของ เอียน เฟลมมิง เรื่อง Quantum of Solace แต่หยิบยืมมาใช้เพียงแค่ชื่อเรื่องเท่านั้น เช่นเดียวกับภาค You Only Live Twice (1967) The Spy Who Loved Me (1977) และ Moonraker (1979)
- ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายทั่วโลกในปี 2008 ซึ่งตรงกับปีครบรอบวันคล้ายวันเกิดครั้งที่ 100 ของ เอียน เฟลมมิง ผู้ให้กำเนิดตัวละคร เจมส์ บอนด์ ซึ่งเกิดวันที่ 28 พฤษภาคม 1908
- ภาคนี้มีฉากที่ บอนด์ ซึ่งรับบทโดย แดเนียล เครก เดินตรงเข้ามาและยิงปืนตรงมายังกล้อง จนเลือดแดงฉานท่วมจอ ฉากนี้เป็นฉากสำคัญที่มีอยู่ในภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ทุกภาค ยกเว้น Casino Royale (2006)
- เป็นภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ภาคแรกที่ได้ใช้โรงถ่าย 007 สเตจ หรือชื่อเต็มว่า ดิ อัลเบิร์ต อาร์. บรอกโคลี 007 สเตจ ที่สร้างขึ้นใหม่ หลังจากถูกไฟไหม้ไป 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 ที่เกิดไฟไหม้คือ 1 สัปดาห์หลังจากภาค Casino Royale (2006) ถ่ายทำเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2006
- ภาคนี้ บอนด์ ซึ่งรับบทโดย แดเนียล เครก จะขับรถ แอสตัน มาร์ติน ดีบีเอส เช่นเดียวกับที่เขาขับในภาค Casino Royale (2006)
- เจฟฟรีย์ ไรต์ เป็นนักแสดงคนแรกที่รับบท เฟลิกซ์ ไลเทอร์ ซ้ำ 2 ภาคต่อเนื่องกัน ก่อนหน้านี้มี เดวิด เฮดิสัน เพียงคนเดียวที่รับบท เฟลิกซ์ ไลเทอร์ ซ้ำ 2 ครั้ง ในภาคที่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน นั่นคือ Live and Let Die (1973) และ Licence to Kill (1989)
- เดิมผู้กำกับ มาร์ก ฟอร์สเตอร์ ตั้งใจให้ฉากสำคัญของเรื่องเกิดขึ้นที่เทือกเขาสวิสแอลป์ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ มาร์ก และเป็นบ้านเกิดของแม่ของตัวละคร บอนด์ ด้วย แต่เนื่องจากดูคล้ายกับภาค On Her Majesty's Secret Service (1969) มากเกินไป จึงเปลี่ยนเป็นฉากทะเลทรายแทน
- ในเรื่องสั้น Quantum of Solace มีการนิยามว่า ควอนตัม ออฟ โซเลซ หมายถึงตัวเลขที่ระบุความรู้สึกสบายใจ ความเป็นมนุษย์ และความเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งทำให้ความรักระหว่างคน 2 คนคงอยู่ได้ ถ้าค่า ควอนตัม ออฟ โซเลซ เท่ากับ 0 ก็หมายถึงความรักนั้นตายเสียแล้ว
- เอียน เฟลมมิง เขียนเรื่องสั้น Quantum of Solace จากเรื่องจริงที่ แบลนช์ แบลกเวลล์ เล่าให้เขาฟัง เรื่องสั้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร โมเดิร์น วูแมน / คอสโมโพลิแทน เมื่อเดือนพฤษภาคม 1959 ซึ่งในโอกาสนั้น เอียน ได้มอบนาฬิกาข้อมือยี่ห้อคาร์เทียร์ให้ แบลนช์ เป็นของขวัญแสดงความขอบคุณ
- Quantum of Solace เป็นเรื่องสั้นเรื่องที่ 3 ในหนังสือชื่อ For Your Eyes Only ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 เมษายน 1960 ถือเป็นเป็นหนังสือ เจมส์ บอนด์ เล่มที่ 8 แต่เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรก ของ เอียน เฟลมมิง เรื่องสั้นอื่นๆ ที่ตีพิมพ์รวมกัน ได้แก่ The Hildebrand Rarity, From A View To A Kill, Risico และ For Your Eyes Only
- เมื่อเดือนกรกฎาคม 2006 กำหนดการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงเป็นเดือนพฤษภาคม 2008 ทำให้ โรเจอร์ มิเชลล์ ที่กำลังเจรจาว่าจะมากำกับ ตัดสินใจขอถอนตัวออกไป เพราะรู้สึกกังวลว่าเวลาในการทำงานน้อยเกินไป
- ผู้สร้างยกเลิกการถ่ายทำใกล้ มาชูปิกชู ซึ่งเป็นซากอารยธรรมโบราณของชาวอินคา ที่อยู่ในประเทศเปรู เนื่องจากบริเวณนั้นมีสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน คาดเดาไม่ได้
- ผู้ออกแบบงานสร้าง เดนนิส กาสส์เนอร์ ออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ แบบดั้งเดิม เพื่อแสดงความคารวะต่อ เคน อดัม ที่โด่งดังในฐานะผู้ออกแบบแหล่งกบดานของเหล่าร้ายในภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ยุคต้นๆ
- ผู้เขียนบท พอล แฮกกิส ได้รับการเสนอให้รับตำแหน่งผู้กำกับ แต่เขาปฏิเสธไป โดยให้เหตุผลว่าการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ด้วย เป็นงานที่ใช้เวลานานเกินไปสำหรับเขา
- เดิมผู้กำกับ มาร์ก ฟอร์สเตอร์ คิดว่า บรูโน แกนซ์ เหมาะกับบทวายร้าย กรีน แต่คณะผู้สร้างติดต่อ แมตธิว อมัลริก ไปก่อนแล้ว
- ขณะถ่ายทำในประเทศปานามา แดเนียล เครก ผู้รับบท บอนด์ ต้องเปลี่ยนโรงแรมที่พักหลายครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้นักข่าวเข้ามารบกวนการทำงานของนักแสดงและทีมงาน
- พอล แมกคาร์ตนีย์ ปฏิเสธข้อเสนอที่ให้เขาเขียนเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ และแนะนำให้ เอมี ไวน์เฮาส์ รับงานนี้แทน ซึ่ง เอมี ก็ได้บันทึกตัวอย่างเพลงร่วมกับโปรดิวเซอร์ มาร์ก รอนสัน แต่ปัญหาส่วนตัวของ เอมี ในตอนนั้น ทำให้เธอไม่พร้อมที่จะทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จลุล่วง สุดท้ายงานนี้ก็ตกเป็นของ แจ็ก ไวต์ กับ อลิชา คีย์ส แทน
- เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2008 ช่างเครื่อง เฟรเซอร์ ดันน์ ขับรถแอสตัน มาร์ติน ดีบีเอส ของตัวละคร บอนด์ เสียหลักตกลงไปในทะเลสาบการ์ดา ในอิตาลี เฟรเซอร์ บาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนรถยนต์มูลค่า 120,000 ปอนด์ เสียหายยับเยิน หลังจากนั้น มีแฟนภาพยนตร์คนหนึ่งต้องการซื้อซากรถคันนี้ด้วยราคาสูงถึง 200,000 ปอนด์ ทั้งที่รถคันนี้ไม่ได้ปรากฏในภาพยนตร์เลย
- แมตธิว อมัลริก ตกลงรับบท กรีน เพราะเขาไม่อยากบอกลูกๆ ของเขาว่า เคยมีโอกาสที่จะได้แสดงในภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ แต่ปฏิเสธไป
- ช่วงเวลา 3 สัปดาห์ก่อนถ่ายทำ โอลยา เคียวอีเลนโก เตรียมรับบท คามิลล์ ด้วยการฝึกใช้อาวุธ และดิ่งพสุธา นอกจากนี้ เธอยังต้องเรียนการพูดสำเนียงสเปน และศึกษาภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ภาคเก่าๆ จากดีวีดีที่ได้รับมา
- กล้องที่ติดอยู่บนเครื่องบิน ไพเพอร์ แอโรสตาร์ 700 เป็นกล้องรูปหัวงู ซึ่งคล้ายกล้องจากเรือดำน้ำที่ใช้ส่องดูเหนือผิวน้ำ กล้องนี้สามารถหมุนรอบได้ 360 องศา ใช้สำหรับถ่ายทำฉากต่อสู้กลางอากาศ
- เป็นครั้งแรกที่มีการใช้กล้องเคเบิลในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องยาว
- โจชัว เซตูเมอร์ เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขบทภาพยนตร์สำหรับฉากที่ผู้กำกับ มาร์ก ฟอร์สเตอร์ ยังไม่พอใจ ในแต่ละวัน โจชัว จะแก้บทพูดใหม่ ตามคำแนะนำของเหล่านักแสดงและคนอื่นๆ
- ผู้กำกับ มาร์ก ฟอร์สเตอร์ เลือก โอลยา เคียวอีเลนโก มารับบท คามิลล์ จากบรรดาหญิงสาวที่มาทดสอบบทจำนวน 400 คน เนื่องจาก โอลยา ดูประหม่าน้อยที่สุด
- แดเนียล เครก ผู้รับบท บอนด์ กล่าวว่าเขามีส่วนร่วมในการตั้งชื่อเรื่อง Quantum of Solace ด้วย และเสริมว่าตามธรรมเนียมของภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ชื่อเรื่องมักจะไม่มีความหมาย
- ในภาคนี้ บอนด์ ซึ่งรับบทโดย แดเนียล เครก ไม่ได้แนะนำตัวเองด้วยวลียอดนิยมที่ว่า "Bond, James Bond." แม้ แดเนียล จะถ่ายฉากที่พูดบทนี้ซ้ำหลายครั้ง แต่ผู้กำกับ มาร์ก ฟอร์สเตอร์ ตัดฉากนี้ออกไปเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี นอกจากนี้วลีสั่งเครื่องดื่ม "vodka martini, shaken not stirred" ที่ บอนด์ ชอบพูด ก็ไม่ปรากฏในภาคนี้เช่นกัน
- มาร์ก ฟอร์สเตอร์ ชาวเยอรมัน เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ คนแรกของบริษัท อีออน โปรดักชันส์ ที่ไม่ได้มีสัญชาติอังกฤษ
- แฟนภาพยนตร์จำนวนหนึ่งรู้ชื่อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก่อนการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มกราคม 2008 เนื่องจากมีผู้สังเกตว่าบริษัท โซนี่ พิคเจอร์ส ได้จดทะเบียนชื่อเว็บไซต์ quantumofsolace.com เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2008 อย่างไรก็ดี โซนี่ พิคเจอร์ส เคยจดทะเบียนชื่อ quantumofsolacemovie.com มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2007 แล้ว
- เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องแรกที่ออกฉายในประเทศอินเดียก่อนที่สหรัฐอเมริกา โดยเปิดตัวในอินเดียวันที่ 7 พฤศจิกายน 2008 ซึ่งเท่ากับ 1 สัปดาห์ก่อนที่จะเปิดตัวในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งประเทศอินเดียนี้เป็นสถานที่หลักในการถ่ายทำภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ภาค Octopussy (1983)
- ผู้เขียนบท พอล แฮกกิส เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เสร็จ 2 ชั่วโมงก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ประท้วงหยุดงานของสมาคมนักเขียนบทแห่งอเมริกา
- แดเนียล เครก ผู้รับบท บอนด์ บาดเจ็บระหว่างถ่ายทำครั้งแรกที่หน้า ซึ่งเป็นแผลบาดจนต้องเย็บ 8 เข็ม และภายในสัปดาห์เดียวกันนั้น เขาก็บาดเจ็บครั้งที่ 2 คราวนี้ปลายนิ้วหนึ่งของเขาโดนเฉือนออกไป
- เรื่องนี้มีความยาว 106 นาที ซึ่งถือว่าสั้นที่สุดในภาพยนตร์ชุด เจมส์ บอนด์ ทั้งหมดที่บริษัท อีออน โปรดักชันส์ เคยสร้างมา ขณะที่ Casino Royale (2006) ซึ่งเป็นภาคก่อนหน้า มีความยาวมากที่สุด แต่หากนับรวมภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ทั้งหมด Climax! ตอน Casino Royale (1954) ที่สร้างเพื่อฉายทางโทรทัศน์นั้น เป็นตอนที่สั้นที่สุด คือเพียง 51 นาที
- เดิมภาพยนตร์เรื่องนี้จะออกฉายในสหรัฐอเมริกาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2008 แต่เลื่อนไปเป็นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2008 แทน หลังจากที่บริษัท วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ประกาศขอเลื่อน Harry Potter and the Half-Blood Prince (2009) จากวันที่ 14 พฤศจิกายน 2008 ไปเป็นอีก 6 เดือนถัดไป
- นักแสดงฉากผาดโผน อริส คอมนินอส บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ขณะถ่ายทำฉากขับรถไล่ล่าที่เป็นฉากเปิดเรื่อง
- ยานพาหนะที่ใช้ในเรื่อง ได้แก่ แอสตัน มาร์ติน ดีบีสี วี 12, อัลฟา โรเมโอ 159 สีดำ, เปอโยต์ 404, ไดม์เลอร์, ฟอร์ด จีที, ฟอร์ด คา เอ็มเคทู ปี 2009 สีทอง, วอลโว, แรนจ์ โรเวอ, แลนด์ โรเวอร์ ดีเฟนเดอร์ 110 นอกจากนี้ยังมี รถไฟลอยฟ้า ซี-47 และรถจักรยานยนต์ด้วย
- ผู้สร้างหันกลับมาใช้ภาพสาวกึ่งเปลือยเต้นประกอบเพลงเปิดภาพยนตร์ เช่นเดียวกับที่ใช้มาในเกือบทุกภาคของภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ยกเว้นภาค Casino Royale (2006)
- เดิมผู้สร้างจะถ่ายทำฉากที่ บอนด์ ซึ่งรับบทโดย แดเนียล เครก กับ คามิลล์ ซึ่งรับบทโดย โอลยา เคียวอีเลนโก ร่วงลงมาจากที่สูงกันด้วยวิธีแบบเก่า นั่นคือเอาพัดลมใหญ่ๆ จ่อหน้าพวกเขาทั้งคู่ แต่ แดเนียล ไม่ชอบวิธีนี้ ผู้ร่วมประสานงานฉากผาดโผน แกรี พาวเวลล์ แนะนำให้ถ่ายทำในอุโมงค์ลม พวกเขาจึงใช้กล้องดิจิตอลขนาดเล็ก 17 เครื่อง ถ่ายทำเพียง 30 วินาที โดยนักแสดงสวมคอนแทกต์เลนส์กันลม เพื่อให้พวกเขาสามารถลืมตาได้
- แมตธิว อมัลริก ได้รับแรงบันดาลใจในการแสดงเป็น กรีน จากบุคลิกของนักการเมือง 2 คน ได้แก่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโกลาส์ ซาร์โกซี และอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ โทนี แบลร์
advertisement
วันนี้ในอดีต
- The King and the Clownเข้าฉายปี 2006 แสดง Jeong Jin-Young, Gam Woo-Sung, Lee Jun-Ki
- Cyber Tracker 2เข้าฉายปี 2006 แสดง Don The Dragon Wilson, Stacie Foster, Tony Burton
- Safe Neighborhoodเข้าฉายปี 2017 แสดง Olivia DeJonge, Levi Miller, Ed Oxenbould
เกร็ดภาพยนตร์
- The Theory of Everything - สตีเฟน ฮอว์คิง พูดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องจริง จึงอนุญาตให้ใช้เสียงของเขาในตอนจบ และให้ยืมเหรียญแห่งอิสรภาพ กับวิทยานิพนธ์ที่ลงชื่อ สตีเฟน ฮอว์คิง ไปใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบฉากด้วย อ่านต่อ»
- Jupiter Ascending - แชนนิง เททัม ต้องสวมอุปกรณ์บริเวณปากที่ทำให้ลักษณะของขากรรไกรของเขาเปลี่ยนไป เพื่อรับบท เคน อุปกรณ์ชิ้นนั้นทำให้ แชนนิง หุบปากไม่ได้ แถมยังทำให้เขาพูดลำบากอีกด้วย อ่านต่อ»
เปิดกรุภาพยนตร์
Knives Out เรื่องราวคดีปริศนาฆาตกรรมในวันรวมญาติ ที่ผู้ต้องสงสัยคือทุกคนในครอบครัวนี้ ตระกูล ธรอมบีย์ มีชื่อเสียงโด่งดังมาจากการที...อ่านต่อ»