เกร็ดน่ารู้จาก The Princess and the Frog

เกร็ดน่ารู้
  • เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องที่ 49 ของบริษัท วอลท์ ดิสนีย์ นับจากบริษัทสร้างแอนิเมชันเรื่องแรก Snow White and the Seven Dwarfs (1937) เมื่อเกือบ 75 ปีที่แล้ว
  • ในปี 2006 จอห์น แลสซีเตอร์ และ เอ็ด แคตมัลล์ เข้ามากุมบังเหียน วอลท์ ดิสนีย์ อนิเมชัน สตูดิโอส์ และพิจารณาว่าต้องการสร้างแอนิเมชันเรื่องใหม่ให้เป็นแบบวาดด้วยมือ พวกเขาเชิญผู้กำกับ จอห์น มัสเกอร์ และคนอื่นๆ เข้าร่วมเสนอความคิด ผลก็คือพวกเขาหลายคนได้รับแรงบันดาลใจจากเทพนิยายเรื่อง The Frog Prince เป็นพิเศษ จึงเป็นที่มาของการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
  • มาร์ก เฮนน์ ผู้สร้างแอนิเมชันของนางเอก เทียนา เคยอยู่เบื้องหลังนางเอกแอนิเมชันของดิสนีย์หลายคน เช่น แอเรียล จาก The Little Mermaid (1989) เบลล์ จาก Beauty and the Beast (1991) และ จัสมิน จาก Aladdin (1992) มาร์ก อธิบายว่า เทียนา เป็นพัฒนาการล่าสุดของนางเอกดิสนีย์ เพราะนางเอกยุคเก่าๆ มักเป็นเจ้าหญิงที่ตกอยู่ในอันตราย ขณะที่ เทียนา มีความปรารถนาและมีแรงบันดาลใจเป็นของตัวเอง
  • แอนเดรียส เดจา ออกแบบตัวละคร มามา โอดี ที่พากย์เสียงโดย เจนิเฟอร์ ลิวอิส ในเรื่องนี้ โดยได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจาก โคลีน แซลลีย์ ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักเขียนหนังสือภาพ ทูตวรรณกรรมเยาวชน และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวออร์ลีนส์
  • ดันแคน มาร์จอริแบงก์ส ออกแบบตัวละคร บิก แดดดี ที่พากย์เสียงโดย จอห์น กูดแมน โดยมีต้นแบบเป็นตัวละครชายอเมริกันผู้ทรงอำนาจที่มีต้นกำเนิดจากภาพยนตร์ Cat on a Hot Tin Roof (1958) และ Hush, Hush Sweet Charlotte (1964) แต่ต่างกันตรงที่ ตัวละครเหล่านี้มีแรงจูงใจที่จะทำลายเด็กๆ ขณะที่ บิก แดดดี ทำทุกอย่างเพราะความรักอันไร้ขีดจำกัดที่เขามีให้ลูกสาว
  • นอกจากจะมีเทพนิยายเรื่อง The Frog Prince เป็นต้นแบบแล้ว มือเขียนบท ร็อบ เอ็ดเวิร์ดส์ ยังรวบรวมความคิดจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งศิลปินสตอรีบอร์ด แอนิเมเตอร์ นักพากย์ และผู้กำกับ รอน คลีเมนต์ส และ จอห์น มัสเกอร์
  • ความฝันของ อนิกา โนนี โรส เป็นจริง เมื่อเธอได้รับเลือกให้พากย์เสียงเป็น เทียนา ในเรื่องนี้ เพราะเธออยากร่วมงานกับบริษัท วอลท์ ดิสนีย์ มาตั้งแต่เป็นเด็กแล้ว โดย อนิกา เล่าว่า เธอไม่ได้สนใจเฉพาะบทเจ้าหญิง ต่อให้เธอเป็นหมัดหรือเห็บเธอก็ดีใจทั้งนั้น
  • แรนดี เฮย์คอก สร้างภาพแอนิเมชันของ เจ้าชายนาวีน และ เจ้าชายกบ ที่พากย์เสียงโดย บรูโน แคมโปส โดยมีต้นแบบส่วนหนึ่งเป็นเพื่อนร่วมห้องพักสมัยที่เขาเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนคนนี้ชอบหว่านเสน่ห์ใส่สาวๆ และมีบุคลิกชอบพิงสิ่งต่างๆ หรือโน้มตัวเข้าหาผู้หญิงอย่างใกล้ชิด นาวีน จึงติดนิสัยช่างพิงและปล่อยตัวตามสบาย ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าเขาเป็นคนมั่นใจในตัวเองมาก
  • ไมเคิล-ลีออน วูลีย์ ได้รับเลือกให้พากย์เสียงจระเข้ หลุยส์ หลังจากการส่งเทปเข้ารับการคัดเลือกไปนานหลายเดือน ตัวแทนของเขาโทรศัพท์มาแจ้งข่าวดีให้เขาทราบ ขณะที่เขากำลังเดินผ่านไทม์สแควร์ ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อไปเข้ารับการคัดตัวอยู่พอดี เขาแสดงความตื่นเต้นดีใจออกมาในที่นั้นจนทำให้คนบนถนนถึงกับหยุดเดินด้วยความแปลกใจ
  • ดันแคน มาร์จอริแบงก์ส เคยสร้างตัวละครสัตว์อย่าง ปูชื่อ เซบาสเตียนใน The Little Mermaid (1989) ลิงชื่อ อาบู ใน Aladdin (1992) และวัวชื่อ คุณนายคาโลเวย์ ใน Home on the Range (2004) คราวนี้เขาพยายามบอกผู้สร้างเป็นนัยๆ ว่าอยากทำงานกับตัวละครที่เป็นมนุษย์มากๆ บ้าง แล้วก็เขาสมใจเมื่อได้มารับหน้าที่ออกแบบตัวละคร บิก แดดดี ที่พากย์เสียงโดย จอห์น กูดแมน
  • ผู้สร้างเดินทางไปนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา หลายครั้ง เพื่อถ่ายภาพกว่า 50,000 ภาพมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการทำงาน พวกเขาไปสำรวจสถาปัตยกรรมที่วอร์ดที่ 9 คฤหาสน์ในเขตการ์เดน ดิสทริก เขตเมืองเก่าเฟรนช์ ควอเตอร์ และร่วมงานกับมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ นอกจากนี้ยังไปสำรวจธารน้ำ และศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ที่สวนสัตว์นิวออร์ลีนส์ ออดูบอน เดินทางชมแม่น้ำพร้อมสำรวจระบบรถราง เข้าร่วมเทศกาล นิวออร์ลีนส์ แจ๊ซ แอนด์ แฮริแทจ และร่วมขบวนแห่ในงานมาร์ดิกราส
  • ขณะเดินทางไปสำรวจสถานที่ที่จะใช้เป็นฉากในนิวออร์ลีน รัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ออกแบบเสียง โอเดน เบนิเตซ บันทึกเสียงของระฆังโบสถ์และรถรางที่บริเวณจัตุรัสแจ็กสัน เพื่อนำมาใช้อ้างอิงในการทำงานด้วย
  • ผู้สร้างย้อนกลับไปศึกษาแอนิเมชันเก่าๆ ของ วอลท์ ดิสนีย์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงาน เช่น ศึกษาสถาปัตยกรรมใน Lady and the Tramp (1955) เพื่อนำรูปทรงและองค์ประกอบต่างๆ มาถ่ายทอดใหม่แบบล้อเลียน และศึกษาภาพธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตใน Bambi (1942) เช่น เทคนิคการเสนอภาพป่า ที่มีรายละเอียดมากมายทั้งใบไม้ กิ่งไม้ ก้อนหิน ตอไม้ และอื่นๆ แต่จะระบายสีแต่สิ่งที่สำคัญเท่านั้น
  • ผู้กำกับ รอน คลีเมนต์ส และ จอห์น มัสเกอร์ ชื่นชอบผลงานของนักแต่งเพลง แรนดี นิวแมน ซึ่งรวมถึงเพลงประกอบภาพยนตร์ Ragtime (1981) และ The Natural (1984) แรนดี จึงเป็นตัวเลือกแรกของพวกเขาสำหรับหน้าที่แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมี ดร. จอห์น, เทอร์เรนซ์ บลันชาร์ด และ เทอร์เรนซ์ ซิเมียน เข้ามาร่วมงานด้วย โดยพวกเขาแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ให้เป็นแนวแจ๊ซ บลูส์ กอสเปล ดิกซีแลนด์ และซิดีโก
  • เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้มีกลิ่นอายของเมืองนิวออร์ลีนส์ ในรัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดเรื่องราวในเรื่อง ทุกคนในคณะผู้แต่งเพลงต่างก็เกี่ยวพันกับนิวออร์ลีนส์ ได้แก่ แรนดี นิวแมน ชาวแคลิฟอร์เนียผู้ผูกพันกับนิวออร์ลีนส์มาตั้งแต่เด็ก และชื่นชอบดนตรีของที่นั่นมานานแล้ว ดร. จอห์น และ เทอเรนซ์ บลันชาร์ด เป็นชาวนิวออร์ลีนส์แต่กำเนิด ส่วน เทอร์เรนซ์ ซิเมียน ชาวเมืองมัตเลตซึ่งอยู่ในรัฐหลุยเซียนาเช่นเดียวกัน เป็นผู้นำดนตรีซิดีโก มรดกของชาวยุโรปและผิวสีในหลุยส์เซียนาเข้ามาใส่ในภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ตัวละคร หลุยส์ เป็นจระเข้นักเป่าทรัมเป็ต ดังนั้นนอกจากเสียงพากย์ของ ไมเคิล-ลีออน วูลีย์ แล้ว ผู้สร้างยังต้องอาศัยเสียงทรัมเป็ตของนักดนตรี เทอเรนซ์ บลันชาร์ด ด้วย นอกจากนี้ เทอเรนซ์ ยังพากย์เสียงเป็น เอิร์ล หัวหน้าวงดนตรีบนเรือล่องแม่น้ำอีกด้วย
  • Almost There คือเพลงที่ตัวละคร เทียนา ถ่ายทอดความรู้สึกเกี่ยวกับการมีร้านอาหารและการทำตามเป้าหมาย ผู้ที่ขับร้องเพลงนี้คือ อนิกา โนนี โรส ผู้พากย์เสียง เทียนา นั่นเอง อนิกา มีประสบการณ์มาจากละครเวทีบรอดเวย์ จึงไม่ถนัดการร้องเพลงแบบเน้นจังหวะอย่างในเพลงนี้เท่าไรนัก แต่เธอก็บันทึกเสียงเพลงนี้จนผ่านพ้นไปได้
  • ผู้สร้างเลือก เน-โย มาร้องเพลง Never Knew I Needed สำหรับประกอบภาพยนตร์ในช่วงแสดงรายชื่อผู้สร้างในตอนจบ
  • ผลงานแอนิเมชันที่วาดด้วยมือเรื่องสุดท้าย ก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Home on the Range (2004)
  • รถรางที่ปรากฏในตอนต้นเรื่องเป็นรถสาย เอ113 ซึ่งเป็นหมายเลขห้องแผนกแอนิเมชันของสถาบันศิลปะ แคลิฟอร์เนีย อินสติติวต์ ออฟ ดิ อาร์ตส์ หมายเลข เอ113 นี้ถูกซ่อนอยู่ในภาพยนตร์ของ วอลท์ ดิสนีย์ และ พิกซาร์ มาหลายเรื่องตั้งแต่ยุค 70 แล้ว รวมถึงแอนิเมชันที่ฉายทางโทรทัศน์ Family Dog (1993) และบางตอนของ The Simpsons (1989)
  • เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน, อลิชา คีย์ส และ ไทรา แบงก์ส ต่างก็เคยมีลุ้นว่าจะได้รับหน้าที่พากย์เสียง เทียนา โดยที่ อลิชา และ ไทรา วิ่งเต้นขอรับบทบาทนี้ด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายหน้าที่นี้ก็ตกเป็นของ อนิกา โนนี โรส
  • เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ ดิสนีย์ ที่มีนางเอกเป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน นั่นคือ เทียนา ที่พากย์เสียงโดย อนิกา โนนี โรส
  • เป็นผลงานการแต่งดนตรีประกอบในภาพยนตร์แอนิเมชัน 2 มิติเรื่องแรกของ แรนดี นิวแมน หลังจากเขาเคยแต่งดนตรีประกอบแอนิเมชัน 3 มิติของ ดิสนีย์ ร่วมกับ พิกซาร์ มาแล้วหลายเรื่อง ได้แก่ Toy Story (1995) A Bug's Life (1998) Toy Story 2 (1999) Monsters, Inc. (2001) และ Cars (2006)
  • เดิมนักแต่งเพลง อลัน เมนเคน กับนักแต่งเนื้อเพลงคนใหม่ของเขา เกลนน์ สเลเตอร์ จะได้มาแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เนื่องจาก อลัน เพิ่งแต่งเพลงประกอบให้ภาพยนตร์ Enchanted (2007) ของ ดิสนีย์ ไป และผู้อำนวยการสร้าง จอห์น แลสซีเตอร์ ต้องการหลีกเลี่ยงความจำเจ จึงเลือก แรนดี นิวแมน มารับหน้าที่นี้แทน
  • อนิกา โนนี โรส ผู้พากย์เสียง เทียนา ขอให้ผู้สร้างออกแบบให้ เทียนา ถนัดมือซ้ายเหมือนกับเธอ
  • ตัวละครจระเข้นักเป่าทรัมเป็ตที่พากย์เสียงโดย ไมเคิล-ลีออน วูลีย์ นั้นมีชื่อว่า หลุยส์ เนื่องจากผู้สร้างต้องการแสดงความคารวะต่อนักดนตรีแจ๊ซ หลุยส์ อาร์มสตรอง
  • วงดนตรีที่จระเข้ หลุยส์ ที่พากย์เสียงโดย ไมเคิล-ลีออน วูลีย์ สังกัดอยู่นั้นชื่อ ไฟร์ฟลาย ไฟว์ พลัส ลู ซึ่งอ้างอิงจากวงดนตรีแนวดิกซีแลนด์แจ๊ซชื่อ ไฟร์เฮาส์ ไฟว์ พลัส ทู
  • ในฉากเกริ่นเรื่อง บรรดาเจ้าหญิงจากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของ ดิสนีย์ ปรากฏตัวในฐานะตุ๊กตาที่วางอยู่บนชั้นหนังสือของสาวน้อย ชาร์ลอตต์ ที่พากย์เสียงโดย เจนนิเฟอร์ โคดี
  • เรื่องราวในภาพยนตร์เกิดขึ้นกลางยุค 20 ซึ่งยังคงมีการบังคับใช้ข้อห้ามจำหน่ายสุราไปจนถึงปี 1933 แต่ก็ยังมีการดื่มสุราในร้านอาหารของ เทียนา ที่พากย์เสียงโดย อนิกา โนนี โรส และบนเรือล่องแม่น้ำ และในฉากงานเต้นรำสวมหน้ากากของบ้าน ลา บัฟฟ์ เนื่องจากในความเป็นจริงนั้น ชาวอเมริกันทั่วไปพร้อมใจกันเพิกเฉยข้อบังคับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองนิวออร์ลีนส์
  • หิ่งห้อย เรย์ ที่พากย์เสียงโดย จิม คัมมิงส์ ตกหลุมรักดาวพระศุกร์หรือดาวแห่งความรัก ซึ่งเขาคิดว่าเป็นหิ่งห้อยอีกตัวหนึ่ง และตั้งชื่อให้เธอว่า อีวานเจลีน ชื่อนี้ผู้สร้างอ้างอิงจากบทกวีที่ตีพิมพ์ในปี 1847 ของนักกวีชาวอเมริกัน เฮนรี วาดส์เวิร์ธ ลองเฟลโลว์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับหญิงชาวอคาเดียนชื่อ อีวานเจลีน ที่ตามหา เกเบรียล คนรักของเธอ ทั้งนี้เนื่องจากหิ่งห้อย เรย์ เป็นชาวเคจุน ซึ่งถือเป็นลูกหลานของชาวอคาเดียนนั่นเอง
  • เดิมภาพยนตร์มีชื่อว่า The Frog Princess แต่ ดิสนีย์ ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น The Princess and the Frog เพราะได้รับคำร้องเรียนว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากฟังดูคล้ายเปรียบเปรยนางเอกชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรกของ ดิสนีย์ ว่าน่าเกลียดหรือต่ำต้อย พร้อมกันนี้ยังต้องเปลี่ยนชื่อของเธอจาก แมดดี เป็น เทียนา เพราะ แมดดี ฟังดูคล้าย แมมมี มากเกินไป และยังต้องเปลี่ยนไม่ให้เธอทำงานเป็นสาวใช้ตามที่ตั้งใจไว้แต่เดิม เพื่อหลีกเลี่ยงผลตอบรับในลักษณะเดียวกันดังกล่าว
  • ในฉากทิวทัศน์เมืองนิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในตอนต้นเรื่อง ซึ่งดำเนินไปพร้อมเพลง Down in New Orleans มีตัวประกอบผู้หญิงคนหนึ่งปรากฏตัวที่ด้านขวาของกรอบภาพ เธอกำลังตีพรมอยู่ที่ระเบียง พรมนั้นคือพรมวิเศษจาก Aladdin (1992) ภาพยนตร์แอนิเมชันอีกเรื่องหนึ่งของ ดิสนีย์
  • ฉากที่จระเข้ หลุยส์ ที่พากย์เสียงโดย ไมเคิล-ลีออน วูลีย์ เป่าทรัมเป็ต เขาเล่นบางส่วนของเพลง Dippermouth Blues ด้วย เดิมเพลงจากยุค 20 เพลงนี้เป็นของศิลปิน คิง โจ โอลิเวอร์ และ หลุยส์ อาร์มสตรอง นอกจากนี้ หลุยส์ อาร์มสตรอง ยังมีชื่อเล่น Dippermouth อีกด้วย
  • พระเอกของเรื่องที่พากย์เสียงโดย บรูโน แคมโปส คือ นาวีน เจ้าชายแห่งมัลโดเนีย ชื่อ นาวีน นี้เป็นชื่อภาษาอินเดียแปลว่า ใหม่ ซึ่งเป็นการบอกเป็นนัยว่ามัลโดเนียเป็นประเทศลูกครึ่งระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชีย และผู้สร้างตั้งชื่อประเทศมัลโดเนียจากการรวมชื่อประเทศ มอลตา และ มาเซโดเนีย เข้าด้วยกัน
  • เป็นภาพยนตร์ 2 มิติเรื่องแรกนับจาก Beauty and the Beast (1991) ที่ใช้นักพากย์เสียงคนเดียวกันทำหน้าที่ทั้งพากย์เสียงพูดและร้องเพลง
  • เอเมริล ลากาสส์ พ่อครัวอาหารเคจุนและครีโอลที่โด่งดังจากนิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา พากย์เสียงเป็น มาร์ลอน จระเข้ที่พยายามกินพระเอกและนางเอก โดยเขาให้ มาร์ลอน อุทานว่า "แบม!" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ส่วนตัวของเขา ส่วนชื่อ มาร์ลอน นั้นเป็นการตั้งชื่อตาม มาร์ลอน แบรนโด ผู้โด่งดังจากภาพยนตร์จากนิวออร์ลีนส์เรื่อง A Streetcar Named Desire (1951)
  • นักเล่าเรื่องชาวนิวออร์ลีนส์ โคลีน แซลลีย์ ซึ่งเป็นต้นแบบของตัวละคร มามา โอดี เข้าร่วมพูดคุยกับผู้กำกับ รอน คลีเมนต์ส และ จอห์น มัสเกอร์ หลายครั้ง แต่เธอกลับเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2008 ก่อนที่จะได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้สร้างใส่ชื่อของเธอไว้ในเครดิตท้ายเรื่อง และยังให้ มามา โอดี ที่พากย์เสียงโดย เจนิเฟอร์ ลิวอิส พูดว่า "You ain't got the sense you was born with!" ซึ่งเป็นประโยคเด่นจากงานเขียนของ โคลีน เรื่อง Epaminondas and His Auntie และ Epossumondas
  • อีริก โกลด์เบิร์ก สร้างฉากประกอบเพลง Almost There ของ เทียนา ที่พากย์เสียงโดย อนิกา โนนี โรส โดยอ้างอิงจากภาพวาดของชาวแอฟริกันอเมริกัน แอรอน ดักลาส ผู้เป็นคนสำคัญของการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ฮาร์เลม เรอเนสซองส์
  • จิม คัมมิงส์ ที่พากย์เสียงเป็นหิ่งห้อย เรย์ เคยพากย์เสียงตัวละครชาวอเมริกันตอนใต้ที่มีหนวดแบบแมลงมาก่อนแล้ว นั่นคือ ฟัซซี ลัมป์คินส์ จากแอนิเมชันโทรทัศน์ The Powerpuff Girls (1998)
  • เอลตัน จอห์น เกือบได้มาพากย์เสียงเป็น หลุยส์ แต่แล้ว ไมเคิล-ลีออน วูลีย์ ก็เข้ามารับหน้าที่พากย์เสียงตัวละครตัวนี้แทน
  • ฉากเปิดเรื่องเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 1912 โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือพิมพ์ที่ตัวละครผู้โดยสารรถรางคนหนึ่งกำลังอ่าน ซึ่งมีพาดหัวข่าวว่า "Wilson Elected"
  • ในฉากงานเดินขบวนมาร์ดิกราส์ สามารถมองเห็นศีรษะของ คิง ไทรทัน จาก The Little Mermaid (1989) ปรากฏอยู่ในขบวนแห่ด้วย
  • ระบบการสร้างแอนิเมชันด้วยคอมพิวเตอร์ของ ดิสนีย์ มีอายุมากถึง 20 ปีและล้าสมัยแล้ว จึงถูกรื้อถอนออกไปหลังจากสร้าง Home on the Range (2004) เสร็จ จากนั้น ดิสนีย์ หันมาใช้ซอฟแวร์ ตูน บูม ฮาร์โมนี ในการสร้างผลงาน 2 มิติในนามบริษัท ดิสนีย์ตูนส์ โดยพวกเขาต้องวาดตัวละครลงบนกระดาษแล้วสแกนเข้าไปในคอมพิวเตอร์ ส่วนเอฟเฟกต์ต่างๆ จะถูกใส่เข้าไปในภาพโดยใช้กระดานวาดภาพของ ซินทิก
  • พื้นหลังของภาพยนตร์เป็นดิจิตอลที่วาดด้วยโปรแกรม อโดบี โฟโตชอป พร้อมใช้กระดานวาดรูปของ ซินทิก นอกจากนี้ยังมีการใช้โปรแกรม ออโตเดสก์ มายา สร้างส่วนที่เป็นรายละเอียด 3 มิติ เช่น ประตู ผ้าห่ม หรือยานพาหนะ และใช้โปรแกรมดังกล่าวกำหนดความตื้นลึกของภาพสำหรับฉากสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อนอย่างฉากคฤหาสน์หรือโบสถ์ด้วย
  • ฉากที่ ชาร์ลอตต์ ที่พากย์เสียงโดย เจนนิเฟอร์ โคดี และ ลอว์เรนซ์ ร่างปลอมตัวของ เจ้าชายนาวีน ที่พากย์เสียงโดย บรูโน แคมโปส เต้นรำกันนั้น เป็นการนำฉากเต้นรำจาก Sleeping Beauty (1959) มาใช้ซ้ำใหม่ ส่วนตอนที่จระเข้ หลุยส์ ที่พากย์เสียงโดย ไมเคิล-ลีออน วูลีย์ เอามอสส์ออกไปจากหน้าแล้วพูดว่า "and all kind of hoodoo" นั้นเป็นบทเดียวกับที่ มาดาม มิม เคยใช้ใน The Sword in the Stone (1963)

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • ทาสรักอสูร - เอ็ม - บุษราคัม วงษ์คำเหลา เป็นคนเสนอให้คุณพ่อ หม่ำ - เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา ผู้รับหน้าที่เป็นผู้กำกับและนักแสดงบท นายหัวเพิ่ม คุยกับ พิ้งกี้ - สาวิกา ไชยเดช เพื่อนของ เอ็ม เพื่อรับบท อู้อี้ ซึ่ง พิงกี้ ก็ตกลงรับบทนี้ อ่านต่อ»
  • Words and Pictures - ภาพวาดที่วาดโดยตัวละคร ดีนา ที่ใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งหมดวาดโดย จูเลียตต์ บิโนช นักแสดงผู้สวมบท ดีนา อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Stray Stray อีกอร์ (วลาดิเมียร์ โววิเชนคอฟ) และ โพลิน่า (เอเลนา ไลโดวา) สามีภรรยาที่สูญเสียลูกชายไปอย่างปริศนา เพื่อความสุขของภรรยา...อ่านต่อ»