เกร็ดน่ารู้จาก The Ghost Writer

เกร็ดน่ารู้
  • สร้างจากนิยายเรื่อง The Ghost ของนักเขียนและนักข่าวการเมือง โรเบิร์ต แฮร์ริส ซึ่งเคยคว้ารางวัล อินเตอร์เนชันแนล ทริลเลอร์ ไรเตอร์ส อวอร์ด สาขานิยายดีเด่นประจำปี 2008 โรเบิร์ต เป็นผู้ดัดแปลงหนังสือของเขามาเป็นบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง โดยร่วมมือกับผู้กำกับ โรมัน โปลันสกี
  • เดิมผู้กำกับ โรมัน โปลันสกี ต้องการสร้างภาพยนตร์จากนิยาย Fatherland ของ โรเบิร์ต แฮร์ริส แต่มีคนอื่นนำไปสร้างก่อนแล้ว ในช่วงต้นปี 2007 พวกเขาจึงหันมาร่วมกันดัดแปลงบทจาก Pompeii นิยายอีกเรื่องของ โรเบิร์ต พร้อมกับที่ โรเบิร์ต ลงมือเขียนนิยาย The Ghost และเมื่อเห็นว่าโครงการสร้างภาพยนตร์ Pompeii ไม่ก้าวหน้า ทั้งคู่จึงหันมาดัดแปลงบทภาพยนตร์จาก The Ghost แทน กระทั่งกลายเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ในที่สุด
  • ถ่ายทำทั้งฉากกลางแจ้งหลายแห่ง และในโรงถ่ายบาเบลส์เบิร์ก ในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นเวลานานรวม 3 เดือน โดยเป็นการร่วมสร้างระหว่างบริษัท อาร์พี ฟิล์มส์ ของฝรั่งเศส บาเบลส์เบิร์กฟิล์ม ของเยอรมนี และรันทีม III ของสหราชอาณาจักร
  • นักวิจารณ์ตีความว่านิยาย The Ghost ต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับ โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่เคยเป็นเพื่อนกับผู้เขียน โรเบิร์ต แฮร์ริส แต่ผู้เขียนชี้แจงว่า เขาเริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้ก่อนที่ โทนี จะได้รับตำแหน่ง และตั้งใจให้นิยายมีความเป็นสากล ตัวละคร อดัม แลง ที่รับบทโดย เพียร์ซ บรอสแนน ไม่ได้ถอดแบบจาก โทนี แต่มีบุคลิกที่มีเสน่ห์เหมือน โทนี เนื่องจาก อดัม เป็นส่วนผสมของนักการเมืองทุกคนที่เขาสนใจ อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ต ยอมรับว่าได้แรงบันดาลใจจากเมื่อปี 2006 ที่มีคนอยากให้ โทนี โดนฟ้องคดีอาชญากรรมสงคราม และทางเดียวที่เขาจะหนีพ้น คือไปอยู่ในที่ซึ่งไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอย่างสหรัฐอเมริกา
  • หนึ่งในประเด็นหลักของภาพยนตร์ คือการที่คนระดับผู้นำในปัจจุบันถูกบีบให้แยกตัวออกจากสังคม โดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแล 24 ชั่วโมง ไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถ ไม่เคยเดินทางด้วยสายการบินพาณิชย์ ไม่เคยเดินผ่านที่สาธารณะ และไม่ต้องผ่านจุดตรวจที่สนามบิน
  • ผู้กำกับ โรมัน โปลันสกี เคยแนะให้ใช้เสียงที่ไม่เห็นตัวเป็นคนเล่าเรื่อง แต่บทภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นการเปิดเผยเรื่องราวด้วยการกระทำของตัวละครและบทสนทนา เสียงบรรยายจึงไม่อาจเพิ่มเติมอะไรได้ แต่กลับยิ่งถ่วงให้เรื่องดำเนินช้าลง ดังนั้นพวกเขาจึงละทิ้งวิธีการดังกล่าว เมื่อเริ่มเขียนบทภาพยนตร์โครงร่างที่ 2
  • ผู้เขียนบท โรเบิร์ต แฮร์ริส ไม่ต้องการให้ตัวละครนักเขียนเงา ที่รับบทโดย ยวน แมกเกรเกอร์ มีชื่อเสียงเรียงนามที่ชัดเจน เพราะเขาได้รับอิทธิพลจากนิยายเรื่อง Rebecca ของ ดาฟีน ดู มอเรียร์ ซึ่งตัวละครผู้เล่าเรื่องไม่มีชื่อเช่นกัน โรเบิร์ต มองว่าแนวคิดนี้เข้ากันได้ดีกับอาชีพนักเขียนเงา
  • ขณะที่ผู้สร้างเลือกนักแสดงนำ 3 คนอย่างไม่ลังเลใจ ทั้ง ยวน แมกเกรเกอร์ ในบทนักเขียนเงา เพียร์ซ บรอสแนน ในบท อดัม แลง และ คิม แคตทรอลล์ ในบท เอมีเลีย บลี การเลือกนักแสดงสำหรับบท รูธ แลง นั้นค่อนข้างท้าทายกว่า พวกเขาพิจารณานักแสดงหญิงที่มีอายุเหมาะสมหลายคน จนในที่สุดก็ตัดสินใจเลือก โอลิเวีย วิลเลียมส์ มารับบทนี้
  • ผู้ร่วมอำนวยการสร้าง ทิโมธี เบอร์ริลล์ รู้สึกทึ่งที่ อีไล วอลแลช ตอบตกลงรับบทสมทบเล็กๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะนักแสดงอายุ 93 ปีคนนี้ต้องเดินทางมาถึงยุโรป เพียงเพื่อแสดงแค่ฉากเดียวเท่านั้น
  • ขณะลงมือเขียนนิยาย The Ghost ต้นฉบับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้เขียน โรเบิร์ต แฮร์ริส เดินทางไปหาข้อมูลในบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเช่ารถยนต์แล้วตามรอยการเดินทางของผู้เช่าคนก่อนหน้า ด้วยข้อมูลที่ยังค้างอยู่ในระบบนำทางของรถ เขาขับรถไปยังมาร์ธาส์ ไวน์ยาร์ด แล้วสถานที่นั้นกลายมาเป็นฉากเกาะในภาพยนตร์ และบ้านจริงๆ ที่เขาไปพบเข้าก็กลายมาเป็นฉากบ้านในภาพยนตร์ด้วย โรเบิร์ต อยู่ที่นั่น 1 สัปดาห์ จากนั้นก็เดินทางกลับลอนดอน ประเทศอังกฤษ
  • ผู้เขียนบท โรเบิร์ต แฮร์ริส จงใจให้เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเกาะนอกชายฝั่งของอเมริกา ในสภาพอากาศหนาวเหน็บ เพื่อสร้างความรู้สึกเหมือนโดนเนรเทศ สำหรับการถ่ายทำจริงนั้น ยวน แมกเกรเกอร์ ผู้รับบทนักเขียนเงาเล่าว่า อากาศในสถานที่ถ่ายทำแย่มากจริงๆ ทั้งฟ้าครึ้ม ลมแรง หนาวเย็น และฝนตก ขณะที่เหล่าตัวละครติดอยู่รวมกันในบ้านอันทันสมัยบนเกาะ ทั้งหมดนี้ช่วยสร้างบรรยากาศการกลัวที่แคบขึ้นในภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี
  • แผนกศิลปกรรมผลิตหน้าปกหนังสือ Adam Lang, My Life หนังสืออัตชีวประวัติของตัวละคร อดัม แลง ที่รับบทโดย เพีร์ซ บรอสแนน ขึ้น แล้วนำมาหุ้มหนังสือจริงๆ ที่ชื่อ The Blair Years: The Alistair Campbell Diaries เอาไว้
  • ตอนที่ผู้กำกับ โรมัน โปลันสกี ถูกจับกุมในเดือนกันยายน 2009 ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภาพยนตร์ซึ่งยังอยู่ในช่วงตัดต่อนั้นไม่ได้ชะงักการทำงานลงแต่อย่างใด โรมัน ได้ติดตามดูทุกขั้นตอนและเป็นผู้ตัดสินใจในการทำงานทั้งหมด ภาพยนตร์เสร็จขณะที่เขาอยู่ในเรือนจำสวิสส์ จากนั้นในเดือนธันวาคม 2009 โรมัน ถูกปล่อยตัวออกมา แต่ยังต้องถูกควบคุมบริเวณอยู่ที่บ้าน ตลอดจนถึงช่วงที่ภาพยนตร์เข้าฉาย เขาก็ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่เช่นเดิม
  • ในบทภาพยนตร์ ตัวละครของ ยวน แมกเกรเกอร์ ถูกระบุแค่ชื่อว่า นักเขียนเงา ยวน จึงจินตนาการเอาเองว่าตัวละครของเขามีชื่อว่า กอร์ดอน แมกฟาร์กัวร์
  • เนื่องจากมีคดีความติดตัว ผู้กำกับ โรมัน โปลันสกี จึงไม่สามารถเดินทางไปถ่ายทำในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ พวกเขาจึงถ่ายทำในประเทศเยอรมนีแทน โดยจัดฉากให้เหมือนอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตต์ส ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • ถ่ายทำฉาก มาร์ธาส์ ไวน์ยาร์ด ที่ต้องอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกากันที่เกาะซิลต์ ประเทศเยอรมนี ผู้สร้างจึงสร้างบรรยากาศให้เหมือนอเมริกาโดยนำหลายๆ สิ่งมาเพิ่มไว้ในฉาก เช่น รถยนต์แบบอเมริกัน ป้ายบอกทางแบบอเมริกัน เสาโทรศัพท์ (เนื่องจากสายโทรศัพท์และไฟฟ้าของเยอรมนีส่วนใหญ่อยู่ใต้ดิน) บ้านไม้ และนักแสดงประกอบชาวอเมริกัน เป็นต้น
  • ฉากบ้านชายหาดของ อดัม แลง ที่รับบทโดย เพียร์ซ บรอสแนน ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นในโรงถ่าย ภาพทิวทัศน์ เคป คอด ของรัฐแมตซาชูเซตต์ส ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เห็นได้ทางหน้าต่างนั้น เป็นภาพที่ได้จากการใช้ฉากสีเขียวและคอมพิวเตอร์กราฟฟิก
  • มีข่าวว่า ฮิวจ์ แกรนต์ ปฏิเสธไม่รับบทนำเป็น นักเขียนเงา แล้วบทนี้ก็มาลงตัวที่ ยวน แมกเกรเกอร์
  • ในตอนต้นของภาพยนตร์ ตัวละครนักเขียนเงาที่รับบทโดย ยวน แมกเกรเกอร์ พูดเล่นกับพนักงานรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับ แรนดอม เฮาส์ ซึ่งเป็นชื่อสำนักพิมพ์ที่เคยตีพิมพ์นิยาย The Ghost ของ โรเบิร์ต แฮร์ริส ซึ่งเป็นต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผู้กำกับ โรมัน โปลันสกี ได้รางวัลหมีเงินหรือผู้กำกับยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ที่ประเทศเยอรมนี แต่เนื่องจากถูกทางการควบคุมตัวอยู่ที่บ้านของเขาในคุสตาด ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โรมัน จึงไม่สามารถไปร่วมงานได้

advertisement

วันนี้ในอดีต

  • เชือดก่อนชิมเชือดก่อนชิมเข้าฉายปี 2009 แสดง ใหม่ เจริญปุระ, รัตนบัลลังก์ โตสวัสดิ์, ดวงตา ตุงคะมณี
  • The Eye 2The Eye 2เข้าฉายปี 2004 แสดง Jesdaporn Pholdee, Shu Qi, Eugenia Yuan
  • Make It HappenMake It Happenเข้าฉายปี 2009 แสดง Mary Elizabeth Winstead, Tessa Thompson, Riley Smith

เกร็ดภาพยนตร์

  • Transcendence - เป็นภาพยนตร์ผลงานการกำกับเรื่องแรกของ วอลลี ฟิสเตอร์ อ่านต่อ»
  • The Railway Man - นิโคล คิดแมน ผู้รับบท แพทตี รู้สึกสนใจร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้เนื่องจากแก่นเรื่องเกี่ยวกับการให้อภัย อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Brave Father Online: Our Story of Final Fantasy XIV Brave Father Online: Our Story of Final Fantasy XIV อากิโอะ (เคนทาโร ซาคากุจิ) ไม่เคยเข้าใจเลยว่าพ่อของเขากำลังคิดอะไรอยู่ และพวกเขาก็ไม่สนิทกันพอที่จะถามไถ่ได้ แม้แต่กับว...อ่านต่อ»