เกร็ดน่ารู้จาก TRON: Legacy

เกร็ดน่ารู้
  • ภาพยนตร์ชุด TRON ภาคแรกมีชื่อสั้นๆ ว่า TRON (1982) สร้างโดยบริษัท วอลท์ ดิสนีย์ เขียนบทและกำกับโดย สตีเวน ลิสเบอร์เกอร์ ผู้ซึ่งกลับมารับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างในภาคล่าสุดนี้ ภาพยนตร์ TRON ผสมผสานการแสดงจริงที่ถ่ายด้วยกล้อง 70 ม.ม. เข้ากับคอมพิวเตอร์กราฟฟิก และแอนิเมชันที่วาดด้วยมือ
  • เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว บริษัท วอลท์ ดิสนีย์ คิดจะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยพิจารณาบทภาพยนตร์ฉบับร่าง 2-3 ฉบับที่เขียนขึ้นในยุค 90 แต่ก็ไม่พบฉบับที่ถูกใจ พวกเขาจึงให้ผู้อำนวยการสร้าง ฌอน เบลีย์ และทีมงานเข้ามาพัฒนาภาพยนตร์เรื่องนี้ ตั้งแต่ขั้นตอนการพบปะกับมือเขียนบท
  • ขณะพัฒนาภาพยนตร์ในช่วงเริ่มแรก ผู้ร่วมอำนวยการสร้าง จัสติน สปริงเกอร์ บังเอิญพบฟุตเตจทดสอบของผู้กำกับ โจเซฟ โคซินสกี เข้า แม้ โจเซฟ จะเคยกำกับแต่ภาพยนตร์โฆษณา แต่ใบปริญญาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและความชื่นชอบเทคโนโลยีดิจิตอลของเขา ทำให้ผู้สร้างตัดสินใจเลือกเขามาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ผู้กำกับ โจเซฟ โคซินสกี ผู้อำนวยการสร้าง ฌอน เบลีย์ และทีมงาน ช่วยกันเกลี้ยกล่อมผู้บริหารของ วอลท์ ดิสนีย์ ให้อนุมัติการสร้างภาพยนตร์ตัวอย่างแนวคิดเกี่ยวกับวิชวลเอฟเฟกต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผลก็คือภาพยนตร์สั้นที่สร้างเสียงฮือฮาในงานซานดิเอโก คอมิกคอน ปี 2008 ทำให้ผู้สร้างได้รับไฟเขียวให้เริ่มสร้างภาพยนตร์ได้ทันที
  • ผู้กำกับ โจเซฟ โคซินสกี ได้ยินว่าศิลปินเพลง ดาฟต์ พังก์ ได้รับอิทธิพลในการทำงานมาจากภาพยนตร์ TRON (1982) ต้นฉบับ โจเซฟ จึงนัดพบกับพวกเขา จากนั้นก็ให้พวกเขาเริ่มแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของงานสร้าง โดยผสมผสานระหว่างดนตรีออร์เคสตรา อิเล็กทรอนิก และกรานูลาร์ นอกจากนี้พวกเขายังทำงานออกแบบเสียงด้วย โดยเน้นให้ดนตรีและเสียงประกอบกลมกลืนกัน และสอดคล้องกับภาพบนจอ
  • ผู้สร้างไม่ต้องการแปลงภาพ 2 มิติให้เป็น 3 มิติในภายหลัง จึงถ่ายทำแบบ 3 มิติตั้งแต่แรก โดยใช้กล้องเทคโนโลยีสเตอริโอสโคปิก 3 มิติ ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์ 3 มิติเรื่องแรกที่ถ่ายด้วยเลนส์ 35 มม. และกล้องที่ใช้ชิป 35 มม. เต็มรูปแบบ และเป็นภาพยนตร์ 3 มิติเรื่องแรกที่บันทึกไฟล์ความละเอียดสูงลงในฮาร์ดไดรฟ์โดยไม่บีบอัดข้อมูล สุดท้ายแล้วกลายเป็นภาพยนตร์ที่ผสานระหว่างคอมพิวเตอร์แอนิเมชันเสมือนภาพถ่ายและการแสดงจริงในฉากจริง โดยผู้กำกับ โจเซฟ โคซินสกี ต้องการให้ผู้ชมดูไม่ออกว่าส่วนใดเป็นของจริงและส่วนใดไม่ใช่ของจริง
  • เจฟฟ์ บริดเจส ผู้รับบท เควิน ฟลินน์ และ บรูซ บอกซ์เลตเนอร์ ผู้รับบท อลัน แบรดลีย์ ใน TRON (1982) ภาคแรกเมื่อ 28 ปีก่อน กลับมารับบทเดิมอีกครั้งในภาคนี้ นอกจากนี้ เจฟฟ์ ยังได้แสดงประกบตัวละคร คลู ซึ่งก็คือตัวเขาในวัยหนุ่มซึ่งสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล เนื่องจาก คลู เป็นโปรแกรมที่ เควิน เขียนขึ้นในปี 1984 ตอนที่เขามีอายุ 35 ปี ส่วน บรูซ ก็มีโอกาสได้แสดงเป็นตัวเองสมัยหนุ่มในฉากย้อนความ โดยผู้สร้างใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟฟิกและการแต่งหน้า
  • เจฟฟ์ บริดเจส นักแสดงวัย 61 ปีผู้รับบท เควิน ฟลินน์ จะต้องแสดงเป็น คลู ซึ่งมีใบหน้าเหมือนเขาในวัย 35 ปี โดยผู้สร้างสร้าง เจฟฟ์ ฉบับดิจิตอล 3 มิติด้วยดิจิตอล โดเมน ซึ่งต้องใช้รูปภาพของ เจฟฟ์ ในช่วงอายุ 30 ปีหลาย 10 ใบ และสแกนตัวของ เจฟฟ์ เพื่อเก็บข้อมูลแบบ 3 มิติเอาไว้ โดยกำหนดจุดอ้างอิงบนใบหน้า 52 จุด เมื่อ เจฟฟ์ แสดงเป็น คลู เขาจะสวมหมวกเกราะคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีกล้อง 4 ตัวติดอยู่ กล้องนั้นจะเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวใบหน้าและศีรษะของ เจฟฟ์ ทั้ง 52 จุด แล้วนำไปแปลงให้ เจฟฟ์ ฉบับดิจิตอลเคลื่อนไหวตามข้อมูลอ้างอิงนั้น
  • เหตุผลที่ เจฟฟ์ บริดเจส ตกลงกลับมารับบท เควิน ฟลินน์ นั้นเป็นเหตุผลเดียวกับที่เขาตกลงรับบทนี้ใน TRON (1982) ภาคแรก นั่นคือโอกาสได้แสดงกับเทคโนโลยีที่ใหม่ล่าสุดในขณะนั้นๆ
  • มีนักแสดงมาทดสอบหน้ากล้องสำหรับบท แซม ลูกชายของ เควิน ฟลินน์ อยู่หลายร้อยคน แล้วบทนี้ก็ตกเป็นของ การ์เรตต์ เฮดลันด์ โดย การ์เรตต์ ต้องเตรียมตัวรับบทนี้ด้วยการฝึกฝนหลายอย่าง ทั้งการขี่จักรยานยนต์ การต่อสู้ระยะประชิด การผาดโผนด้วยลวดสลิง คาโปเอรา และปากูร์
  • การสวมเครื่องแต่งกายชุดเด่นในเรื่องนั้นต้องใช้เวลาและแรงงานเป็นอย่างมาก จึงมีการติดตั้งแผ่นกระดานพิเศษ เพื่อให้ การ์เรตต์ เฮดลันด์ ผู้รับบท แซม ฟลินน์ และเพื่อนนักแสดงที่ต้องสวมชุดแบบเดียวกัน สามารถนั่งพักผ่อนหย่อนใจได้โดยไม่ทำให้ชุดเสียหาย
  • การ์เรตต์ เฮดลันด์ ผู้รับบท แซม ฟลินน์ และ โอลิเวีย ไวลด์ ผู้รับบท ควอร์รา อยากร่วมงานกันมาตั้งแต่ได้พบกันระหว่างทำงานในภาพยนตร์เปิดตัวของแต่ละฝ่ายเมื่อ 7 ปีก่อน
  • โอลิเวีย ไวลด์ ผู้รับบท ควอร์รา ฝึกฝนการแสดงฉากผาดโผนที่เธอต้องปะทะกับ การ์เรตต์ เฮดลันด์ ผู้รับบท แซม ฟลินต์ โดยสวมรองเท้าไม่มีส้น แต่เมื่อได้เข้ามาลองสวมเครื่องแต่งกาย และพบว่าตนต้องสวมรองเท้าส้นสูง 4 นิ้ว โอลิเวีย จึงต้องเริ่มฝึกฝนฉากนั้นใหม่ทั้งหมด
  • ไมเคิล ชีน ผู้รับบท คาสเตอร์ ได้ชมภาพยนตร์ TRON (1982) ภาคต้นฉบับในเวลส์ ตอนที่เขาอายุ 12 ปี และเขาก็กลายเป็นแฟนของ TRON ในทันที แต่ไม่เคยคิดฝันว่าจะมีโอกาสได้มาแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ฉาก เอนด์ ออฟ ไลน์ คลับ ซึ่งเป็นอาณาจักรของ คาสเตอร์ ตัวละครของ ไมเคิล ชีน นั้น เป็นฉากขนาดใหญ่ที่ผู้สร้างสร้างขึ้น โดยมี ดาฟต์ พังก์ ผู้แต่งดนตรีประกอบของภาพยนตร์เรื่องนี้ เข้ามาร่วมแสดงเป็นวงดนตรีประจำ และมีนักแสดงประกอบอีกหลายร้อยคนมาร่วมฉากด้วย
  • ไม่มีการใช้หมวกนิรภัยที่มีอยู่แล้วเลยแม้แต่ใบเดียว ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ไมเคิล วิลคินสัน ออกแบบหมวกทุกใบขึ้นมาใหม่เป็นพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับตัวละครและภาพรวมของภาพยนตร์
  • เอนิส ชัวร์ฟา ผู้รับบท รินซ์เลอร์ เป็นนักสู้ศิลปะการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคทริกกิง
  • โบ การ์เรตต์ หนึ่งในผู้รับบท ไซเรน ต้องฝึกเดินขึ้นลงบันไดในฉาก เอนด์ ออฟ ไลน์ คลับ ด้วยรองเท้าที่มีส้นสูงมาก และยังต้องซักซ้อมการเดินและท่าทางต่างๆ ร่วมกับนักแสดงหญิงที่รับบท ไซเรน คนอื่นๆ โดยมีนักออกแบบท่าเต้นมาช่วยดูแลให้การเคลื่อนไหวของพวกเธอดูเหมือนกันไปหมด ส่วนการสวมชุดและแต่งหน้าให้กลายเป็น ไซเรน นั้น ต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
  • ผู้สร้างใช้โรงแรม แชงกรีลา ในแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ถ่ายทำฉากบริษัท เอ็นคอม และสร้างอพาร์ตเมนต์ที่ทำจากตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งขึ้นที่อู่ต่อเรือในอ่าวแถวแวนคูเวอร์ ส่วนฉากอื่นๆ รวมถึงอาร์เคดของตระกูล ฟลินน์ เซฟเฮาส์ของ เควิน ฟลินน์ ที่รับบทโดย เจฟฟ์ บริดเจส และ เอนด์ ออฟ ไลน์ คลับ รวมไปถึงถนนทุกเส้นในกริดนั้นสร้างขึ้นในโรงถ่ายในแวนคูเวอร์
  • ผู้ออกแบบงานสร้าง ดาร์เรน กิลฟอร์ด ออกแบบฉากถนนในกริดให้ใหญ่กว่าถนนในเมืองจริงๆ โดยใช้ขนาดของยาน เรกค็อกไนเซอร์ เป็นตัวกำหนดขนาดของถนน ยานดังกล่าวกว้างประมาณ 70 ฟุต ซึ่งอัตราส่วนนั้นทำให้ผู้สร้างรู้ขนาดคร่าวๆ ของเมืองที่ต้องสร้าง ซึ่งก็คือประมาณ 2 ช่วงถนน
  • นักออกแบบ 20-25 คนในแผนกศิลป์ต่างๆ ช่วยกันนำเสนอความคิดเกี่ยวกับการสร้างฉากต่างๆ ซึ่งผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมจริงๆ กับฉากดิจิตอลที่ต้องใช้บลูสกรีน ผู้ออกแบบงานสร้าง ดาร์เรน กิลฟอร์ด ประมาณไว้ว่าภาพยนตร์มีทั้งหมด 60-70 ฉาก เป็นฉากที่สร้างขึ้นจริงโดยสมบูรณ์ 15 ฉาก ที่เหลือเป็นฉากที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ในหลากหลายระดับ
  • แผนกเครื่องแต่งกายสร้างต้นแบบชุดรัดรูปขึ้นจากไฟล์คอมพิวเตอร์ด้วยเทคโนโลยี ซีเอ็นซี หรือ คอมพิวเตอร์ นูเมอริคัล คัตติง จากนั้นก็ตัดชุดเรืองแสงขึ้นโดยใช้หลอดไฟอิเล็กโทรลูมิเนสเซนต์ ที่ทำจากแผ่นฟิล์มโพลีเมอร์ที่ยืดหยุ่น ชุดรัดรูปแทบทุกชุดทำจากลาเทกซ์ แต่ชุดของพวก ไซเรน ทำจากยางยืดสแปนเดกซ์พ่นทับด้วยยางแบบลูกโป่ง ทำให้ผู้สวมดูเพรียวบาง นักแสดงที่สวมชุดเหล่านี้จะถูกบีบรัดมาก เพราะในชุดมีเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกต่างๆ นอกจากนี้ยังมีชุดของนักแสดงประกอบที่ทำจากโฟมอีก 140 ชุด
  • แดเนียล ไซมอน อดีตนักออกแบบรถจาก บูกาติ ออกแบบจักรยานยนต์ที่ในเรื่องเรียกว่า ไลต์-ไซเคิล โดยใช้แบบร่างดั้งเดิมของ ซิด มีด ที่ออกแบบไว้สำหรับ TRON (1982) ภาคแรก แดเนียล ออกแบบทั้ง ไลต์-ไซเคิล และผู้ขับขี่มันพร้อมๆ กันเสมือนเป็นสิ่งเดียวกัน และเนื่องจาก ไลต์-ไซเคิล ทำจากไม้กระบอง เขาจึงต้องออกแบบโครงสร้างทุกๆ ส่วนให้สอดคล้องกับแอนิเมชันขณะที่ไม้กระบองเปลี่ยนเป็น ไลต์-ไซเคิล ด้วย
  • ยานพาหนะต่างๆ ในภาพยนตร์นั้นไม่ได้เป็นภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกทั้งหมด แต่มีหลายคันที่ถูกสร้างขึ้นจริงๆ เพื่อถ่ายทำในบางฉาก โดยผู้สร้างติดต่อให้บริษัท ไวลด์ แฟกทอรี ผู้สร้างรถต้นแบบให้ โฟล์กสวาเกน เป็นผู้สร้างยานพาหนะเหล่านั้นขึ้นมา
  • ดิสก์แสงที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ประกอบไปด้วยหลอดไฟแอลอีดี 134 ดวง บังคับด้วยวิทยุ ติดกับชุดเรืองแสงด้วยแม่เหล็ก และเรืองแสงได้ด้วยแบตเตอรีและพลังงานไฟฟ้า
  • ผู้สร้างต้องการให้ภาพยนตร์สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ จึงให้ เจฟฟรีย์ ซิลเวอร์ จากโครงการแลกเปลี่ยนด้านวิทยาศาสตร์และความบันเทิง ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ มาเป็นที่ปรึกษากองถ่าย พวกเขาตั้งคำถามว่า จะใส่มนุษย์จริงๆ ฉบับดิจิตอลเข้าไปในคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่ และลักษณะดิจิตอลจะถูกสร้างขึ้นให้มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ได้หรือไม่ คำตอบที่ได้คือ หากมีพลังด้านคอมพิวเตอร์มากพอและใช้หลักควอนตัมฟิสิกส์ตามทฤษฎี ควอนตัม เทเลพอร์ตเตชัน นั้นก็อาจทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นจริงขึ้นได้
  • ผู้สร้างทำให้บางฉากของภาพยนตร์ รวมกันแล้วประมาณ 35 นาที มีรูปแบบทอล ฟอร์แมต ไม่ใช่เลตเตอร์บ็อกซ์ นั่นคือการขยายสัดส่วนหน้าจอออกไปจาก 2.35 เป็น 1.78 ทำให้เมื่อฉายในโรงภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ แถบสีดำที่อยู่ด้านบนและด้านล่างของจอจะหายไป กลายเป็นภาพเต็มๆ จอ
  • ก่อนที่ การ์เรตต์ เฮดลันด์ จะรับบท แซม ฟลินน์ นักแสดงคนอื่นๆ ที่ผู้สร้างพิจารณา ได้แก่ คริส ไพน์, ไรอัน กอสลิง และ ไมเคิล สตาห์ล-เดวิด
  • เพื่อให้ภาพยนตร์มีความเชื่อมโยงกับ TRON (1982) ภาคแรก ผู้สร้างจึงนำเพลง ประกอบภาพยนตร์จากภาคแรกมาใส่ในภาคนี้ด้วย
  • การถ่ายทำใช้เวลาเพียง 64 วัน ขณะที่งานเบื้องหลังหลังจากถ่ายทำ ซึ่งรวมถึงงานด้าน สเปเชียลเอฟเฟกต์นั้น ใช้เวลาถึง 68 สัปดาห์
  • งบประมาณสำหรับแผนกเครื่องแต่งกายของภาพยนตร์เรื่องนี้เท่ากับ 13 ล้านเหรียญสหรัฐ ชุดสำหรับนักแข่งเพียงชุดเดียวนั้นมีมูลค่าถึง 60,000 เหรียญสหรัฐ
  • ขณะที่ฉายภาพยนตร์ตัวอย่างแนวคิดสำหรับการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่งาน คอมิกคอน ปี 2008 นั้น ภาพยนตร์มีชื่อเรื่องว่า TR2N แต่อีกหลายเดือนถัดมา เมื่อมีการนำตัวอย่างนั้นมาเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตอย่างเป็นทางการ ชื่อเรื่องถูกเปลี่ยนใหม่เป็น TRON: Legacy
  • เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้ประชาสัมพันธ์ในงานคอมิกคอนเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน คือตั้งแต่ปี 2008-2010
  • ในภาพยนตร์มีการอ้างถึง The Black Hole (1979) ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในยุคเดียวกับ TRON (1982) ภาคแรก นั่นเป็นความจงใจของผู้กำกับ โจเซฟ โคซินสกี ผู้ซึ่งกำลังกำกับฉบับนำกลับมาทำใหม่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีกำหนดฉายคร่าวๆ ในปี 2012
  • สตีเวน ลิสเบอร์เกอร์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ และผู้กำกับภาพยนตร์ TRON (1982) ภาคแรก มาร่วมแสดงในบทรับเชิญด้วย
  • ผู้กำกับ โจเซฟ โคซินสกี อยากสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาตอนอายุเพียง 8 ปี หลังจากได้ชมภาพยนตร์ TRON (1982) ภาคแรก
  • กระบวนการแปลง เจฟฟ์ บริดเจส นักแสดงวัย 61 ปี ผู้รับบท เควิน ฟลินน์ ให้กลายเป็นตัวละคร คลู ซึ่งมีหน้าตาเหมือน เจฟฟ์ ในวัย 35 ปีนั้น เป็นเทคโนโลยีดิจิตอลแบบเดียวกับที่ใช้กับ แบรด พิตต์ ใน The Curious Case of Benjamin Button (2008)

advertisement

วันนี้ในอดีต

  • สี่แพร่งสี่แพร่งเข้าฉายปี 2008 แสดง เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, มณีรัตน์ คำอ้วน, อภิญญา สกุลเจริญสุข
  • Nim's IslandNim's Islandเข้าฉายปี 2008 แสดง Abigail Breslin, Jodie Foster, Gerard Butler
  • Three Kingdoms: Resurrection of the DragonThree Kingdoms: Resurrection of the Dragonเข้าฉายปี 2008 แสดง Andy Lau, Sammo Hung Kam-Bo, Maggie Q

เกร็ดภาพยนตร์

  • Magic Magic - ผู้กำกับ เซบาสเตียน ซิลบา และ ไมเคิล ซีรา ผู้รับบท บริงค์ เคยร่วมงานกันมาก่อนในภาพยนตร์เรื่อง Crystal Fairy & the Magical Cactus (2013) ขณะรองบประมาณสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อนุมัติ อ่านต่อ»
  • Transformers: Age of Extinction - เหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ใน Transformers: Dark of the Moon (2011) 4 ปี อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Greed Greed เรื่องราวของมหาเศรษฐีชาวบริติช ริชาร์ด แม็กเครดี (สตีฟ คูแกน) ที่ชื่อเสียงกำลังจะดับเพราะปากดีไปให้การต่อวุฒิสภาด้วยท่า...อ่านต่อ»