เกร็ดน่ารู้จาก องค์บาก 2

เกร็ดน่ารู้
  • เป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของ จา - พนม ยีรัมย์ ที่รับบทเป็น เทียน ตัวเอกของเรื่องด้วย
  • ผู้ออกแบบฉากต่อสู้ คือ จา - พนม ยีรัมย์ ผู้กำกับและผู้รับบทเป็น เทียน ร่วมกับผู้กำกับ พันนา ฤทธิไกร ซึ่งรวมถึงฉากต่อสู้บนหลังช้าง และฉากต่อสู้บนแพไม้กลางน้ำด้วย
  • เอก เอี่ยมชื่น รับหน้าที่ทั้งเขียนบทและออกแบบงานสร้างในภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาออกแบบงานต่างๆ โดยอ้างอิงจากสถาปัตยกรรมของเขมรในอดีต
  • มีการปรับแก้บทภาพยนตร์เป็นจำนวนมากถึง 17-18 ร่าง
  • นอกจากแม่ไม้มวยไทยแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีฉากต่อสู้ที่ใช้อาวุธต่างๆ เช่น ดาบ กระบี่กระบอง ง้าว เป็นต้น ส่วนรูปแบบการต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในเรื่อง คือ นาฏยุทธ ซึ่งเป็นการต่อสู้ผสมผสานลีลาโขน
  • รูปแบบการต่อสู้ที่นำเสนอในภาพยนตร์เรื่องนี้มาจากแนวคิดของ จา - พนม ยีรัมย์ และ พันนา ฤทธิไกร ซึ่งรวบรวมศิลปะการต่อสู้ของแต่ละประเทศทั้งแบบมือเปล่าและแบบใช้อาวุธเข้าไว้ด้วยกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ
  • จา - พนม ยีรัมย์ ผู้กำกับและผู้รับบทเป็น เทียน ศึกษาศิลปะการต่อสู้เพิ่มเติมหลายแขนง เพื่อออกแบบการต่อสู้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นมวยไทยโบราณ มวยไทยไชยา มวยไทยโคราช มวยไทยลพบุรี กังฟู นินจุตสึ (วิชานินจาของญี่ปุ่น) และไทยฟูโด (ศิลปะผสมผสานระหว่างไอคิโด กังฟู ยูโด และมวยไทย)
  • ระหว่างเตรียมงานภาพยนตร์เรื่องนี้ จา - พนม ยีรัมย์ ได้เรียนการแสดงเพิ่มเติมจาก ครูแอ๋ว - อรชุมา ยุทธวงศ์
  • ครูสอนการแสดง แอ๋ว - อรชุมา ยุทธวงศ์ แนะนำให้ จา - พนม ยีรัมย์ รู้จักกับ ครูเชษฐ์ - พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโขน และ จา ยังได้รู้จาก เสอำนาจ ครูมวยโคราชว่า มวยและการรำกระบี่กระบองมีที่มามาจากโขน จา จึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยการไปชมภาพสลักตามโบราณสถานต่างๆ และเกิดความคิดที่จะนำโขนมาประยุกต์เป็นท่าต่อสู้นาฏยุทธในที่สุด
  • จา - พนม ยีรัมย์ ผู้กำกับและผู้รับบท เทียน อธิบายว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เหมือนกับหยินหยางที่มีทั้งขาวและดำ คือมีองค์บาก (อันหมายถึงบากในใจของตัวละคร เทียน) ทั้งหมด 2 องค์ องค์แรกเป็นองค์ดำ หมายถึงเทียนได้เดินไปตามเส้นทางของกิเลส ความโกรธแค้นอาฆาต ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้การต่อสู้ทุกแบบ ส่วนองค์ที่ 2 เป็นองค์ขาว คือเทียนได้พัฒนาจิตใจจนพบสัจธรรม
  • เป็นภาพยนตร์ย้อนยุคที่มีบรรยากาศแบบวัฒนธรรมขอม ขณะที่ภาพยนตร์ไทยย้อนยุคส่วนใหญ่มีบรรยากาศแบบอยุธยา
  • ฉากแหล่งชุมโจรผาปีกครุฑ ถ่ายทำที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และน้ำตกศิริพบ จังหวัดสระบุรี นอกจากนี้ ผู้สร้างยังปรับแต่งป่ารกในจังหวัดเลย ที่มีภูเขาล้อมรอบ 4 ทิศ ให้กลายเป็นฉากชุมโจร สถานที่นี้มองเห็นเมฆหมอกสวยงามคล้ายทิวทัศน์ในประเทศจีน
  • ฉากที่ เทียน ซึ่งรับบทโดย จา - พนม ยีรัมย์ พบกับโขลงช้างป่า 30-40 เชือก ถ่ายทำที่จังหวัดสุรินทร์
  • วนอุทยานเทือกเขาพนมเบญจาในภาคใต้ ซึ่งมีน้ำตกสูงที่มีน้ำใสสวยงาม เป็นสถานที่ที่ผู้สร้างใช้ถ่ายทำฉากอาศรมที่ตัวละคร เทียน ซึ่งรับบทโดย จา - พนม ยีรัมย์ ใช้เป็นที่ฝึกสมาธิและร่ายรำ
  • ฉากต่อสู้ฉากสำคัญถ่ายทำที่ลานช้างพระราชวังหลวง จังหวัดระยอง นอกจากนี้ ผู้สร้างยังสร้างฉากพระราชวังที่มีงานสร้างจำพวกหินสลักขึ้นในจังหวัดระยองด้วย โดยสร้างเป็นพื้นที่ยกระดับ 2 ชั้นที่เน้นความแข็งแรง เนื่องจากต้องรองรับนักแสดงจำนวนเป็นร้อยๆ คน สุดท้ายแล้วฉากนี้ก็ต้องถูกเผาทำลายทิ้งตามบท
  • ถ่ายทำฉากปล้นแพกันที่เขาใหญ่ ซึ่งเป็นป่าและมีลำธารยาว
  • มีฉากปล้นทั้งหมด 3 ฉากใหญ่ๆ ซึ่งแต่ละฉากจะใช้กลยุทธแตกต่างกัน ได้แก่ ฉากปล้นแพ ใช้กลยุทธคนผีหลอน เช่น โผล่มาจากน้ำหรือจากเถาวัลย์ให้ตกใจ ส่วนฉากปล้นกองเกวียนซึ่งเป็นแถวยาว ใช้กลยุทธเขื่อนกำบัง ซุ่มโจมตี และโผล่ออกมาจากรังไข่มดแดงใหญ่ๆ สุดท้ายคือฉากปล้นกระโจมที่ดูลึกลับ ใช้กลยุทธ์ภัยรอบด้าน เช่น งูหรือตะขาบ
  • มีข่าวว่าการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้หยุดชะงักไประยะหนึ่ง เนื่องจาก จา - พนม ยีรัมย์ ผู้กำกับและผู้รับบท เทียน หายตัวไปโดยไม่ได้บอกกล่าวเป็นเวลาราว 3 เดือน ก่อนจะกลับมาถ่ายทำต่อจนเสร็จ แต่รายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีหลายกระแสและไม่เป็นที่แน่ชัด
  • เรื่องนี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของพระพระพุทธรูปหน้าบากใน องค์บาก ภาคแรก
  • ขณะที่ องค์บาก 1 เล่าเรื่องราวในยุคปัจจุบัน องค์บาก 2 เล่าเรื่องราวย้อนยุคกลับไปกว่า 200-300 ปี ซึ่งเป็นยุคก่อนยุคอยุธยา ที่มีชนชาติต่างๆ เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากมาย ในเรื่องจึงเต็มไปด้วยวัฒนธรรมจากเขมร ผสมผสานกับหลากหลายประเทศ ทั้งอินเดีย จีน ญี่ปุ่น และประเทศตะวันตก
  • เดี่ยว - ชูพงษ์ ช่างปรุง ที่ต้องประมือกับ จา - พนม ยีรัมย์ ผู้กำกับและผู้รับบท เทียน ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เคยเป็นศิษย์ของผู้กำกับ พันนา ฤทธิไกร เรียนวิชาการต่อสู้และกระบี่กระบองที่วิทยาลัยพละศึกษา จังหวัดมหาสารคาม เช่นเดียวกับ จา ทำให้ทั้งคู่แสดงฉากต่อสู้ได้เข้าขากัน และไม่เกรงใจอีกฝ่ายมากจนเกินไป

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • ทาสรักอสูร - เอ็ม - บุษราคัม วงษ์คำเหลา เป็นคนเสนอให้คุณพ่อ หม่ำ - เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา ผู้รับหน้าที่เป็นผู้กำกับและนักแสดงบท นายหัวเพิ่ม คุยกับ พิ้งกี้ - สาวิกา ไชยเดช เพื่อนของ เอ็ม เพื่อรับบท อู้อี้ ซึ่ง พิงกี้ ก็ตกลงรับบทนี้ อ่านต่อ»
  • Words and Pictures - ภาพวาดที่วาดโดยตัวละคร ดีนา ที่ใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งหมดวาดโดย จูเลียตต์ บิโนช นักแสดงผู้สวมบท ดีนา อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Love You Forever Love You Forever เรื่องราวของ หลินเก๋อ (หลี่หงฉี) ชายหนุ่มที่มีพรสวรรค์พิเศษ เขาย้อนเวลาได้ หลินเก๋อ ตกหลุมรัก ชิวเชี่ยน (หลี่อี้ถง) มาต...อ่านต่อ»