เกร็ดน่ารู้จาก High School Musical 3: Senior Year

เกร็ดน่ารู้
  • เป็นภาคต่อจาก High School Musical (2006) และ High School Musical 2 (2007) แต่เป็นภาคแรกที่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ เนื่องจาก 2 ภาคแรก เป็นภาพยนตร์ที่ผลิตเพื่อฉายทางโทรทัศน์ช่อง ดิสนีย์ แชนแนล
  • เคนนี ออร์เตกา ผู้กำกับและผู้ร่วมออกแบบท่าเต้นจาก High School Musical (2006) และ High School Musical 2 (2007) กลับมารับหน้าที่เดิมอีกครั้งในภาคนี้ และยังพ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างบริหารเข้าไปอีกด้วย เคนนี ได้กลับมาร่วมงานกับคนเบื้องหลังหลายคนที่สร้าง 2 ภาคแรกมาด้วยกัน อาทิ ผู้เขียนบท ปีเตอร์ บาร์ซอกคินี ผู้ออกแบบงานสร้าง มาร์ก ฮอฟเฟลลิง เป็นต้น
  • ผู้ริเริ่มสร้างภาพยนตร์ชุดนี้ คือผู้อำนวยการสร้าง บิล บอร์เดน ซึ่งอยากสร้างภาพยนตร์เพลงที่สามารถนั่งดูกับลูกๆ ของเขาได้ เหมือนภาพยนตร์เพลงสำหรับวัยรุ่นในยุค 30 หรือ 40 อย่าง Westside Story (1961) The Sound of Music (1965) และ Grease (1978) ขณะที่ภาพยนตร์เพลงในปัจจุบันมักสร้างขึ้นสำหรับผู้ใหญ่ อาทิ Moulin Rouge! (2001) และ Chicago (2002)
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับดนตรีและกีฬา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนบท ปีเตอร์ บาร์ซอกคินี คุ้นเคยดีอยู่แล้ว เพราะเขาเคยเล่นบาสเก็ตบอลสมัยหนุ่มๆ และเคยเป็นนักวิจารณ์ดนตรีในช่วงปลายยุค 60 ในซานฟรานซิสโก
  • ผู้เขียนบท ปีเตอร์ บาร์ซอกคินี ร่วมงานกับผู้กำกับ เคนนี ออร์เทกา และเหล่านักแสดง ในการร่วมสร้างสรรค์บทภาพยนตร์ด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องการวางตำแหน่งเพลง
  • กลุ่มนักแสดงหลักจาก High School Musical (2006) และ High School Musical 2 (2007) ยังคงกลับมารับบทเดิมในภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็น แซ็ก เอฟรอน, วาเนสซา ฮัดเกนส์, แอชลีย์ ทิสเดล, ลูคัส กราบีล, คอร์บิน บลู และ โมนิก โคลแมน
  • ผู้เขียนบท ปีเตอร์ บาร์ซอกคินี เล่าว่าตัวละคร ทรอย ได้แรงบันดาลใจมาจาก ลินน์ สวอน นักฟุตบอลทีม พิตส์เบิร์กห์ สตีลเลอร์ส ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมทีมบาสเก็ตบอลของ ปีเตอร์ สมัยเรียนมัธยม ที่เคยเปรยว่าอยากลองเต้นบัลเลต์
  • วาเนสซา ฮัดเกนส์ ผู้รับบท กาเบรียลลา ได้เข้าฉากงานเลี้ยงจบการศึกษาที่เรียกว่างานพรอม และพิธีจบการศึกษาที่ต้องสวมหมวกและชุดครุย แต่ในชีวิตจริง เธอไม่เคยสัมผัสประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน เพราะเธอเรียนหนังสือที่บ้าน หรือที่เรียกว่าโฮมสคูล
  • ผู้เขียนบท ปีเตอร์ บาร์ซอกคินี ตั้งชื่อตัวละคร ชาร์เพย์ ที่รับบทโดย แอชลีย์ ทิสเดล จากชื่อสุนัขตัวหนึ่งที่เคยกัดเขา
  • คอร์บิน บลู ผู้รับบท แชด เป็นคนออกความเห็นว่า แชด ควรจะเดินไปไหนมาไหนโดยหอบหิ้วบาสเก็ตบอลไปด้วยเสมอ เพื่อแสดงให้เห็นว่า แชด รักการเล่นบาสเก็ตบอลมาก
  • คริส วอร์เรน จูเนียร์ และ ไรน์ แซนบอร์น ที่แสดงเป็น ซีก และ เจสัน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมทีมบาสเก็ตบอลด้วยกัน กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกันในชีวิตจริง เพราะพวกเขาเริ่มต้นจากเป็นนักกีฬา โดยไม่เคยเต้นมาก่อนเช่นเดียวกัน
  • ในภาคนี้มีตัวละครใหม่เพิ่มเข้ามา 3 ตัว ได้แก่ จิมมี ซารา รับบทโดย แมตต์ โปรค็อป และ ดอนนี ดิออน รับบทโดย จัสติน มาร์ติน และ เทียรา โกลด์ รับบทโดย เจมมา แมกเคนซี-บราวน์ พวกเขาได้มารับบทบาทเหล่านี้ หลังจากผ่านการคัดเลือกจากคู่แข่งเป็นพันๆ คน ซึ่งต้องประชันกันทั้งฝีมือการร้องเพลง เต้น และเล่นกีฬา
  • แมตต์ โปรค็อป วัย 18 ปี ยอมรับว่า ก่อนหน้าที่จะมารับบทเป็น จิมมี ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาไม่เคยร้องเพลงและเต้นมาก่อนเลย
  • นักแต่งเพลง เดวิด ลอว์เรนซ์ และที่ปรึกษาฝ่ายดนตรี สตีเวน วินเซนต์ ร่วมงานกับนักแต่งเพลงและผู้อำนวยการสร้างจาก High School Musical (2006) และ High School Musical 2 (2007) ในการแต่งเพลงใหม่สำหรับภาพยนตร์ภาคนี้จำนวน 10 เพลง ไม่นับเพลง Senior Year Spring Musical ซึ่งเป็นเพลงเมดเลย์ที่รวมหลายๆ เพลงเข้าไว้ด้วยกัน
  • เพลงเปิดภาพยนตร์ คือ Now or Never ซึ่งประกอบการแข่งบาสเก็ตบอลอันดุเดือด ฉากนี้ถ่ายทำในโรงยิม พร้อมตัวประกอบกว่า 2,000 คน โดยมีการวางตัวผู้เล่นในทีมเอาไว้จริงๆ และนักแสดงเล่นบาสเก็ตบอลด้วยตัวเองจริงๆ เป็นส่วนใหญ่
  • เพลง Right Here, Right Now เป็นเพลงคู่ซึ่งบรรยายถึงความสุขของ ทรอย ซึ่งรับบทโดย แซ็ก เอฟรอน และ กาเบรียลลา ซึ่งรับบทโดย วาเนสซา ฮัดเกนส์ โดยมีฉากเป็นบ้านต้นไม้ที่อยู่หลังบ้านของ ทรอย
  • เพลง I Want It All ร้องโดยตัวละคร ชาร์เพย์ ซึ่งรับบทโดย แอชลีย์ ทิสเดล ในฉากโรงอาหารของโรงเรียน พร้อมนักเต้น 150 คน และกลุ่มนักเต้น ร็อกเกตต์ คิตตี แคต ผมสีชมพู 24 คน นอกจากนี้ ลูคัส กราบีล ที่รับบท ไรอัน จะต้องเต้นแบบ เรดิโอ ซิตี มิวสิก ฮอลล์ ในเพลงนี้ด้วย
  • ผู้กำกับและผู้ออกแบบท่าเต้น เคนนี ออร์เตกา ออกแบบให้ แซ็ก เอฟรอน ผู้รับบท ทรอย และ วาเนสซา ฮัดเกนส์ ผู้รับบท กาเบรียลลา เต้นลีลาศบนดาดฟ้าตึกในเพลง Can I Have This Dance โดย เคนนี ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักเต้นชื่อดังอย่าง เฟรด แอสแทร์, จิงเจอร์ โรเจอร์ส และ จีน เคลลี
  • นักแสดงนำทุกคนต้องฝึกเต้นลีลาศเพื่อเต้นประกอบเพลง Can I Have This Dance ในฉากงานเต้นรำหลังจบการศึกษา นอกจากนี้ พวกเขายังต้องเต้นรำคู่แบบชะชะช่า ในเพลง A Night to Remember ในฉากฝึกซ้อมละครเพลงสำหรับงานเลี้ยงฉลองจบการศึกษา ในหอประชุมใหญ่ของโรงเรียน
  • ลูคัส กราบีล ผู้รับบท ไรอัน อธิบายว่าเพลง Just Wanna Be With You และเป็นทั้งเพลงคู่ของ ไรอัน และ เคลซี ที่รับบทโดย โอเลสยา รูลิน และเป็นเพลงที่ขับร้องโดยนักแสดงทุกคนด้วยนั้น มีความหมายเกี่ยวกับการมีความสุขกับปัจจุบัน และไม่ต้องไปกังวลกับอนาคตมากเกินไป
  • The Boys Are Back คือเพลงที่ ทรอย ซึ่งรับบทโดย แซ็ก เอฟรอน ร้องคู่กับ แชด ซึ่งรับบทโดย คอร์บิน บลู เพื่อรำลึกถึงความหลังสมัยเด็กของพวกเขา ฉากนี้เกิดขึ้นที่ลานขยะตอนกลางคืน แซ็ก และ คอร์บิน ได้กลิ้งยางล้อรถยนต์ ฟันดาบ เต้นเบรกแดนซ์ เล่นกระดานหก และเต้นบนรถยนต์ด้วยกัน โดยมีนักเต้นอีก 19 คนร่วมเต้นประกอบ
  • หากสังเกตจะพบว่า ทรอย ซึ่งรับบทโดย แซ็ก เอฟรอน เริ่มต้นร้องเพลง Scream ในฉากสนามบาสเก็ตบอล ก่อนจะไปจบเพลงบนเวทีโรงละคร เป็นการบอกเป็นนัยว่าทั้งสองสถานที่นั้นเป็นที่ที่เขารู้สึกดี เนื่องจากเขาชอบทั้งเล่นบาสเก็ตบอลและร้องเพลง
  • ฉากพิธีจบการศึกษาถ่ายทำที่สนามฟุตบอลเป็นเวลา 2 วัน มีนักแสดงร่วมฉากประมาณ 1,000 คน ซึ่งรวมถึงวงดนตรีออร์เคสตรา 25 ชิ้น คณะนักร้องประสานเสียง 40 คน นำโดย จัสติน มาร์ติน ผู้รับบท ดอนนี นอกจากนี้ยังมีการสร้างศีรษะของกลุ่มฝูงชนด้วยคอมพิวเตอร์เสริมเข้าไปด้วย
  • ใน 2 ภาคแรก มีนักแสดงหลัก 10 คน นักเต้นหลัก 12 คน และตัวประกอบ 190 คน แต่ในภาค 3 นี้ มีนักแสดงหลักเพิ่มมาเป็น 15 คน นักเต้นหลัก 18 คน นักเต้นที่เด่นรองลงมากว่า 60 คน สำหรับเต้นในเพลงใหญ่ๆ และตัวประกอบกว่า 2,000 คน
  • ซอลต์ เลก ซิตี ในยูทาห์ ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำ มีภูมิประเทศเป็นทะเลทราย อากาศจึงแห้งมาก ทำให้เหล่านักเต้นเหนื่อยเร็วกว่าปกติ
  • ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย แคโรลิน บี. มาร์ก เตรียมงานก่อนเปิดกล้องเป็นเวลา 5 เดือน เธอหาข้อมูลและแรงบันดาลใจในการทำงานด้วยการไปร่วมงานสัปดาห์แฟชันที่นิวยอร์ก ร่วมชมการเดินแบบแสดงเสื้อผ้า 37 ครั้ง ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์และพบปะนักออกแบบเครื่องแต่งกายมากมาย
  • ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย แคโรลิน บี. มาร์ก ออกแบบให้ ทรอย ซึ่งรับบทโดย แซ็ก เอฟรอน มีภาพลักษณ์คล้ายนักแสดง เจมส์ ดีน และนักร้อง เอลวิส ในวัยหนุ่ม โดยใช้เครื่องแต่งกายสีฟ้าและเทาเป็นส่วนใหญ่ กางเกงยีนส์เดนิมดีเซลที่ตัดเข้ารูป เสื้อเชิ้ตเจมส์ เพอร์ซี และรองเท้าผ้าใบคอนเวิร์สหุ้มส้น หรือรองเท้าผ้าใบข้อสั้นของแวนส์
  • ในภาคนี้ กาเบรียลลา ซึ่งรับบทโดย วาเนสซา ฮัดเกนส์ เริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย แคโรลิน บี. มาร์ก จึงเปลี่ยนจากเสื้อผ้าหวานๆ ที่ดูสดใสบริสุทธิ์ของเธอ มาเป็นเสื้อผ้าแนวโบโฮ (โบฮีเมียน ผสม ฮิปปี) อาทิ เสื้อผ้ายี่ห้ออเมริกัน อีเกิล, ฟรี พีเพิล, เวลเว็ต, มิส ซิกตี และ โทนี โคเฮน
  • ผู้สร้างถ่ายทำที่โรงเรียนอีสต์ไฮสคูลเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างที่โรงเรียนยังเปิดการเรียนการสอน เนื่องจากอาจารย์ใหญ่ พอล เซเจอร์ส อยากให้นักเรียนได้ชมการทำงานของกองถ่าย หรือกระทั่งได้มีส่วนร่วมด้วย เช่น ให้ผู้สร้างใช้เครื่องดนตรีของโรงเรียน และให้นักกีฬาของโรงเรียนร่วมแสดง เป็นต้น
  • นักเรียนและครูจากโรงเรียนอีสต์ไฮสคูลจริงๆ ได้ร่วมแสดงเป็นตัวประกอบจำนวน 800 คน จากบรรดาตัวประกอบทั้งหมด 2,000 คน
  • เนื่องจากโรงเรียนอีสต์ไฮสคูลเป็นสถานที่ถ่ายทำหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ โรงเรียนแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในซอลต์ เลก ซิตี รองจากวิหารมอร์มอน
  • มีฉากหนึ่งในโรงอาหาร ที่ผู้สร้างดูดสีทั้งหมดออกไป เพื่อสะท้อนความรู้สึกที่จะอยากหนีไปไกลๆ ของตัวละคร ชาร์เพย์ ซึ่งรับบทโดย แอชลีย์ ทิสเดล โดยผู้กำกับ เคนนี ออร์เทกา ได้รับแรงบันดาลใจในการถ่ายทำฉากนี้จากผู้กำกับและนักออกแบบท่าเต้นในภาพยนตร์ขาวดำยุค 30 บัสบี เบิร์กลีย์
  • เดิมโรงอาหารของโรงเรียนมีสีแดงและขาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้สร้างต้องเปลี่ยนให้ฉากนี้ดูหวือหวาคล้ายไทม์ สแคร์ และโรงละครบรอดเวย์เก่าๆ โดยพวกเขาใช้สีชมพูสะท้อนแสง แสงไฟกะพริบ และเสริมท่อไฮดรอลิกล้อมรอบโต๊ะ เพื่อเป็นฐานสำหรับนักเต้น จากนั้นพวกเขาต้องใช้เวลา 3 วัน เปลี่ยนฉากนี้กลับไปเป็นแบบเดิม
  • ผู้สร้างดัดแปลงหอประชุมที่เป็นโรงละครของโรงเรียนอีสต์ไฮสคูล โดยขยายเวทีด้านหน้าออกไป 8 ฟุต เพิ่มส่วนหน้าระหว่างเวทีกับผู้ชมเข้ามา และซื้อม่านเวทีใหม่ให้เป็นสีแดงสด เหมือนสีประจำทีมบาสเก็ตบอล ไวลด์แคต ตามท้องเรื่อง นอกจากนี้ยังต้องสร้างฉากที่ปรับเปลี่ยนได้ เพื่อเอื้อต่อท่วงทำนองของเรื่องราวในแต่ละเพลง
  • ผู้สร้างจัดฉากสำหรับเต้นวอลซ์บนดาดฟ้าตึก ประกอบเพลง Can I Have This Dance ด้วยการใช้เครนยกวัสดุก่อสร้าง ดวงไฟ ต้นไม้ และอุปกรณ์ถ่ายทำ ขึ้นไปบนยอดตึก 4 ชั้น รวมทั้งหมดประมาณ 40 ครั้ง
  • ผู้ออกแบบงานสร้าง มาร์ก ฮอฟเฟลลิง และ วิง ลี ดัดแปลงลานขยะจริงๆ ให้กลายเป็นฉากลานขยะสำหรับแสดงเพลง The Boys Are Back โดยมีของประกอบฉากเป็นเศษขยะ เศษแก้ว ป้ายไฟ นั่งร้าน และรถย้อนยุค ซึ่งต้องใช้รถเด็กเล่นในการออกแบบตำแหน่งรถด้วย เพราะต้องคำนึงทั้งจังหวะดนตรี ท่าเต้น และลักษณะของสถานที่ประกอบกัน
  • ผู้สร้างต้องคอยดูแลหญ้าในสนามฟุตบอลอยู่ตลอดเวลา ทั้งรดน้ำและพรวนดิน เพื่อให้หญ้าที่ตายไปงอกขึ้นมา ทันเวลาที่จะใช้ถ่ายทำฉากพิธีจบการศึกษา
  • ในฉากที่ ทรอย ซึ่งรับบทโดย แซ็ก เอฟรอน ร้องเพลง Scream แซ็ก จะต้องยืนอยู่ในทางเดินที่หมุนได้ เพื่อสื่อถึงความสับสนของ ทรอย ที่รู้สึกว่าโลกกำลังทรยศเขา

advertisement

วันนี้ในอดีต

  • A Millionaire's First LoveA Millionaire's First Loveเข้าฉายปี 2007 แสดง Hyun Bin, Lee Yeon-Hee, Lee Han-Sol
  • LockoutLockoutเข้าฉายปี 2012 แสดง Guy Pearce, Maggie Grace, Peter Stormare
  • Blood and ChocolateBlood and Chocolateเข้าฉายปี 2007 แสดง Agnes Bruckner, Hugh Dancy, Olivier Martinez

เกร็ดภาพยนตร์

  • The Amazing Spider-Man 2 - เป็นภาพยนตร์ Spider-Man เรื่องแรกที่ถ่ายทำที่นิวยอร์กทั้งเรื่อง อ่านต่อ»
  • Ragini MMS 2 - เสียงของ ซันนี เลโอน ผู้รับบท ซันนี เป็นเสียงพากย์ อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Violet Evergarden : Eternity and the Auto Memory Doll Violet Evergarden : Eternity and the Auto Memory Doll โรงเรียนสตรีชั้นสูงอนุญาตให้เด็กสาวของครอบครัวที่มีฐานะเท่านั้นถึงสามารถเข้าเรียนได้ อิซซาเบลล่า ยอร์ก (มินาโกะ โคโตบูก...อ่านต่อ»