เกร็ดน่ารู้จาก Land of the Lost

เกร็ดน่ารู้
  • นับตั้งแต่ผู้อำนวยการสร้าง ซิด ครอฟต์ และคุณพ่อของเขาได้ชมภาพยนตร์เรื่อง One Million B.C. (1940) ในโรงภาพยนตร์ด้วยกัน ซิด ก็อยากจะสร้างผลงานเกี่ยวกับไดโนเสาร์มาโดยตลอด จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างละครโทรทัศน์ Land of the Lost และภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากละครโทรทัศน์ Land of the Lost ที่สร้างโดยพี่น้อง ซิด ครอฟต์ และ มาร์ตี ครอฟต์ ออกอากาศครั้งแรกในปี 1974 เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งหมด 43 ตอน
  • ผู้อำนวยการสร้าง จิมมี มิลเลอร์ ทาบทาม คริส เฮนชี และ เดนนิส แมกนิโคลัส ให้ดัดแปลงบทละครโทรทัศน์ Land of the Lost มาเป็นบทภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยหมายตา วิลล์ แฟร์เรลล์ ให้มารับบทนำเป็น ริก มาร์แชลล์ ตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว
  • ก่อนหน้าจะมาร่วมงานกันในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้เขียนบท เดนนิส แมกนิโคลัส เคยร่วมงานกับ วิลล์ แฟร์เรลล์ ผู้รับบท ริก มาร์แชลล์ มากว่า 1 ทศวรรษแล้ว โดย เดนนิส เคยเขียนบทให้ วิลล์ แสดงในรายการโทรทัศน์ Saturday Night Live รวมทั้งเคยเขียนบทร่วมกับ วิลล์ ในรายการดังกล่าวด้วย
  • ผู้เขียนบท เดนนิส แมกนิโคลัส เคยมีกล่องข้าว Land of the Lost สมัยที่เรียนหนังสืออยู่ชั้นอนุบาล
  • ผู้เขียนบท เดนนิส แมกนิโคลัส และ คริส เฮนชี ดัดแปลงบทภาพยนตร์เรื่องนี้โดยคงความเคารพต่อต้นฉบับซึ่งเป็นละครโทรทัศน์ แต่ก็ปรับเรื่องราวบางส่วนให้ทันสมัยขึ้น เช่น เปลี่ยนตัวละครหลักที่เป็นคนในครอบครัวเดียวกันมาเป็นคนแปลกหน้า 3 คนที่จำเป็นต้องมาร่วมผจญภัยด้วยกัน
  • เมื่อตอนเป็นเด็ก วิลล์ แฟร์เรลล์ ผู้รับบท ริก มาร์แชลล์ และผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง ต่างก็ติดตามชมละคร Land of the Lost เป็นประจำทุกเช้าวันเสาร์
  • ละครแบบคนแสดง Land of the Lost ได้รับความนิยมในยุค 70 ซึ่งเป็นยุคเดียวกับที่การ์ตูนชุด Bugs Bunny และการ์ตูนเรื่องอื่นๆ ที่คล้ายกันได้รับความนิยมทั่วไป
  • วิลล์ แฟร์เรลล์ ผู้รับบท ริก มาร์แชลล์ เป็นผู้ทาบทาม แบรด ซิลเบอร์ลิง ให้มากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะพวกเขารับประทานอาหารร่วมกันมื้อหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2007
  • ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง ต้องการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกให้น้อยที่สุด และใช้ฉากที่สร้างขึ้นจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งผู้บริหารที่ออกเงินทุนก็เห็นด้วย พวกเขาจึงรีบจับจองพื้นที่ถ่ายทำทรงกลม 6 แห่งภายในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ทันที เพื่อให้ผู้ออกแบบงานสร้าง โบ เวลช์ เริ่มสร้างฉากในช่วงฤดูร้อนปี 2007
  • ผู้สร้างกำหนดให้ตัวละคร ริก มาร์แชลล์ ที่รับบทโดย วิลล์ แฟร์เรลล์ เป็นนักชีววิทยาโบราณคดีควอนตัม ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสาขาวิชาที่ไม่มีอยู่จริง โดยผู้สร้างผสมผสานเรื่องของฟิสิกส์อนุภาคเข้ากับการศึกษาไดโนเสาร์ เพื่อช่วยให้ภาพยนตร์มีลักษณะของภาพยนตร์วิทยาศาสตร์มากขึ้น
  • ผู้สร้างเปลี่ยนตัวละคร ฮอลลี ที่ในฉบับละครโทรทัศน์เป็นเด็กหญิงอเมริกันตัวน้อยที่ไว้ผมเปียสีทอง มาเป็นหญิงสาวชาวอังกฤษที่จบจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และย้ายไปทำงานที่ลอสแอนเจลิสในสหรัฐอเมริกา และผู้ที่มารับบทนี้ คือ แอนนา ฟรีล
  • ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง และ วิลล์ แฟร์เรลล์ ผู้รับบท ริก มาร์แชลล์ ตั้งใจเอาไว้ว่าจะต้องใช้นักแสดงหญิงชาวอังกฤษมารับบท ฮอลลี และจากนั้นพวกเขาก็เลือก แอนนา ฟรีล มารับบทนี้ พร้อมยืนกรานให้เธอพูดด้วยสำเนียงแมนเชสเตอร์ของเธอเอง
  • แอนนา ฟรีล เคยแสดงด้วยสำเนียงอเมริกันในละครโทรทัศน์ Pushing Daisies และแสดงด้วยสำเนียงอังกฤษที่ชัดเจนแบบสำเนียงคนเมืองในการแสดงอื่นๆ เกือบทั้งหมด จนกระทั่งบทบาท ฮอลลี ในภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดโอกาสให้เธอได้ใช้สำเนียงอังกฤษแบบแมนเชสเตอร์ ซึ่งเป็นสำเนียงตามธรรมชาติของเธอจริงๆ
  • แอนนา ฟรีล เคยฝึกแสดงละครแบบเน้นการด้นสดมาก่อน เธอจึงสามารถแสดงแบบด้นสดกับเพื่อนนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาของเธอคือต้องพยายามไม่หลุดหัวเราะออกมาขณะแสดง เธอจึงต้องฝึกหายใจแบบโยคะ
  • วิลล์ แฟร์เรลล์ และผู้อำนวยการสร้าง อดัม แมกเคย์ ชอบ แดนนี แมกไบรด์ จากเรื่อง The Foot Fist Way (2006) มาก จนเซ็นสัญญาซื้อภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมาฉายผ่านทางแกรี ซานเชซ โปรดักชันส์ บริษัทของพวกเขา จากนั้นก็ทาบทาม แดนนี มารับบท วิลล์ สแตนตัน ในเรื่องนี้
  • ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง ยอมรับว่าตอนเด็กๆ เขาเคยกลัวตัวละครครึ่งคนครึ่งลิงที่ชื่อ ชากา ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้รับบทโดย จอร์มา ทักโคนี
  • จอร์มา ทักโคนี ที่รับบท ชากา ในเรื่องนี้ เคยแสดงและเขียนบทในรายการโทรทัศน์ Saturday Night Live เช่นเดียวกับ วิลล์ แฟร์เรลล์ ที่รับบทนำเป็น ริก มาร์แชลล์ แต่พวกเขาไม่เคยได้พบกันในรายการดังกล่าว
  • จอร์มา ทักโคนี ผู้รับบทครึ่งคนครึ่งลิง ชากา เล่าว่าในสมัยเด็ก เมื่อเล่นสมมติกับเพื่อนๆ ว่าอยู่ในดินแดนมหัศจรรย์ เขามักได้รับบท ชากา เสมอๆ เพราะเขาตัวเตี้ยที่สุดในกลุ่มเพื่อนและมีลักษณะบางอย่างคล้ายลิง
  • ในทุกวันที่ต้องเข้าฉาก จอร์มา ทักโคนี ผู้รับบท ชากา ต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่งในการแต่งหน้าแต่งตัว โดยเขาต้องติดชิ้นส่วนอวัยวะเทียมที่หน้า และสวมชุดขนฟูที่ทำจากขนตัวจามรี แพะอังโกรา และผมมนุษย์ที่เย็บติดกับสายยางยืด จากนั้นก็สวมมือและเท้าที่ทำจากยางลาเทกซ์ และสวมฟันปลอม
  • ทีมงานจากสเป็กทรัล โมชัน เป็นผู้ทำชุดและสร้างอวัยวะเทียมให้ตัวละคร ชากา ที่รับบทโดย จอร์มา ทักโคนี พวกเขา 5 คนตัดเย็บชุดขึ้นมา 2 ชุด โดยตัดให้พอดีกับรูปร่างผอมเพรียวของ จอร์มา แต่ละชุดใช้เวลาในการตัดเย็บ 6 สัปดาห์
  • นักภาษาศาสตร์ วิกตอเรีย ฟรอมคิน บัญญัติภาษาปากูนี 400 คำขึ้นเพื่อใช้เป็นภาษาของตัวละคร ชากา ในละครโทรทัศน์ Land of the Lost โดยเฉพาะ และเมื่อ จอร์มา ทักโคนี ได้มารับบท ชากา ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาเห็นว่าตนไม่มีบทพูด มีเพียงแนวทางการแสดงคร่าวๆ เช่น ชากา บ่นงึมงำ เขาจึงเริ่มศึกษาภาษาปากูนีต้นฉบับ รวมทั้งคิดคำใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเอง
  • 4 เดือนก่อนเปิดกล้อง บริษัท สเป็กทรัล โมชัน สร้างชุดตัวละคร สลีสแตก 30 ชุดขึ้นจากยางลาเทกซ์ แต่ละชุดมีน้ำหนักประมาณ 30 ปอนด์ และก่อนที่นักแสดงจะสวมชุดนี้ จะต้องทาตัวด้วยสารหล่อลื่นเค-วายก่อน นอกจากนี้พวกเขายังต้องสวมรองเท้าบูตส้นสูง 5 นิ้วไว้ภายใน และสวมหัวที่สร้างขึ้นจากรูปหล่อศีรษะของนักแสดงแต่ละคน สลีสแตกมีดวงตากลมโปนดำทมิฬ และกรงเล็บเป็นพังผืดที่มองเห็นเส้นเลือดและเนื้อเยื่อ
  • เมื่อนักแสดงที่รับบท สลีสแตก ซึ่งล้วนตัวสูงอยู่แล้ว แต่งตัวเป็นสลีสแตกเรียบร้อยแล้ว พวกเขาจะสูงถึง 7 ฟุต และส่วนเล็บเท้าของชุดยังทำให้ความยาวของเท้านักแสดงเพิ่มขึ้นเป็น 12 นิ้ว ผู้ออกแบบงานสร้าง โบ เวลช์ จึงต้องขยายความยาวของขั้นบันไดในฉากไพลอน พลาซา และฉากสลีสแตก เทมเพิล พลาซา ให้เหมาะสมกับขนาดตัวของตัวละครด้วย
  • ชุดตัวละคร สลีสแตก ทำให้การถ่ายทำเป็นไปอย่างเชื่องช้า นักแสดงที่รับบท สลีสแตก แต่ละคนจะมีผู้ช่วย 2 คนคอยดูแลระหว่างถ่ายทำ เช่น ช่วยแต่งตัว และช่วยเพิ่มความชื้น เพราะชุดดังกล่าวทำให้นักแสดงแทบมองไม่เห็นอะไร และอุณหภูมิภายในชุด โดยเฉพาะใต้แสงไฟ ก็ร้อนมาก นอกจากนี้ นักแสดงยังไม่สามารถสวมส่วนหัวของชุดได้เกินกว่าครั้งละ 10 นาที
  • การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ของตัวละคร สลีสแตก เช่น อ้าปาก ปิดปาก เดิน และเงื้อกรงเล็บ ล้วนเกิดจากการเคลื่อนไหวของนักแสดง แต่การเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่น โก่งตัวขึ้น และกระดิกนิ้วเท้า เป็นการบังคับด้วยรีโมตหรือเป็นการเชิดจากนอกจอ
  • บริษัท สเปกทรัล โมชัน สร้างชุดตัวละคร อีนิก ตัวสลีสแตกที่พูดภาษาอังกฤษได้ โดยใช้โครงอะลูมิเนียมติดมอเตอร์แอนิเมโทรนิกที่ใช้ควบคุมการขมวดคิ้ว หรี่ตา และการขยับริมฝีปากแบบซับซ้อน มอเตอร์นี้ทำให้ส่วนหัวมีน้ำหนักเกินกว่า 13 ปอนด์ แกนกลางหัวทำจากไฟเบอร์กลาสที่หล่อแบบมาจากศีรษะของ จอห์น บอยแลน ผู้รับบท อีนิก นอกจากนี้ยังมีพัดลมภายในปาก เพื่อรักษาความเย็นให้กลไกและตัวนักแสดง ส่วนดวงตาของ อีนิก นั้นมีรัศมีกว้าง 4 นิ้ว เคลือบด้วยฟิล์มสะท้อนโฮโลกราฟฟิกตรงกลาง
  • หนึ่งในเหตุผลที่ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง อยากถ่ายทำในโรงถ่ายให้มากที่สุด ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กำกับภาพ ดิออน บีบี ได้ควบคุมเรื่องของแสงได้อย่างเต็มที่
  • แผนกศิลป์และแผนกก่อสร้างใช้เวลา 1 เดือน ตกแต่งพื้นที่สเตจ 27 ในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ให้กลายเป็น 3 ฉากที่ใหญ่ที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นคือฉากป่า ฉากไพลอน พลาซา และฉากสลีสแตก เทมเพิล พลาซา พวกเขาซื้อดิน ต้นไม้ และตะไคร่น้ำ มาใช้ในฉากนี้ รวมทั้งสร้างกำแพงหิน พื้นหิน ต้นไม้สูง 40 ฟุต และหลังคามุงกระเบื้องขึ้นมาด้วย
  • ผู้สร้างใช้สเตจ 12 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ในหลายๆ ฉาก ได้แก่ ฉากถ้ำผนังสีแดงที่ตัวละครใช้หลบไดโนเสาร์ทีเรกซ์ที่ชื่อ กรัมปี ฉากถ้ำคริสตัลที่ปกคลุมด้วยตะไคร่น้ำ ฉากสถานีอาหารที่ กรัมปี รอคอยอาหารมื้อต่อไปของมัน และฉากรอยแยกที่ซึ่งหินรูปทรงเหมือนขนมปังบาแกตต์ถูกใช้เป็นสะพาน
  • ผู้สร้างสร้างหน้าผาหินสีแดงขนาดสูงใหญ่ 32 ฟุตขึ้นในพื้นที่สเตจ 12 ในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ช่างแกะสลัก 28 คนแกะทุกซอกมุมของหน้าผาที่ทำจากสไตโรโฟมทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่นี้ด้วยมือ โดยใช้เลื่อย สิ่ว และขดลวดร้อนๆ จากนั้นใช้กระดาษทรายขัด แล้วพ่นทับด้วยปูนปลาสเตอร์และสี
  • ผู้สร้างสร้างฉากอุโมงค์ภายในถ้ำ เดวิลส์ แคนยอน มิสเทอรี เคฟ ขึ้นในพื้นที่สเตจ 29 ในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ อุโมงค์คดเคี้ยวนี้มีเพดานสูง 13 ฟุต ยาว 200 ฟุต บรรจุน้ำสีขุ่นสูง 3 ฟุตครึ่งหรือ 40,000 แกลลอน ผู้สร้างพ่นพื้นฉากด้วยเคลือบยางที่เรียกว่าไรโน ไลเนอร์ เพื่อให้มันมีคุณสมบัติกันน้ำ และมีการสร้างรางทับลงไปเพื่อใช้เป็นแนวร่องสำหรับแพ
  • สำหรับฉากแผ่นดินไหวในถ้ำ เดวิลส์ แคนยอน มิสเทอรี เคฟ นั้น หัวหน้าแผนกสเปเชียล เอฟเฟกต์ส ไมเคิล แลนเทียรี ต้องสูบน้ำด้วยความเร็ว 10,000 แกลลอนต่อนาที เพื่อทำให้เกิดกระแสน้ำไหลเชี่ยวระดับ 5 ไมเคิล เล่าว่าเครื่องสูบน้ำที่พวกเขาใช้มีกำลังแรงมากจนสามารถทำให้สระว่ายน้ำว่างเปล่าได้ภายในเวลาเพียงแค่นาทีเดียว
  • ฉากแอ่งภูเขาไฟถูกสร้างขึ้นเป็นฉากทรงกลม 360 องศาบนพื้นที่สเตจ 28 ในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ ฉากนี้มีผนังที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ มีพื้นเรืองแสงเคลือบด้วยลาวาหลอมละลายสีเหลือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของไข่ไดโนเสาร์ที่ประดิษฐ์ด้วยมือกว่า 100 ฟอง และขณะถ่ายทำฉากนี้จะเต็มไปด้วยควันไฟ
  • ผู้สร้างสร้างฉากภายในของไพลอน พลาซา ขึ้นมาในพื้นที่สเตจ 42 ในโรงถ่ายยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ โดยให้มีลักษณะเหมือนกล่องสีดำ ที่มีแผงคริสตัลและกระดานควบคุมอันซับซ้อน พวกเขาใช้ผ้าสีดำคลุมห้อง แล้วยกฉากขึ้นไปบนแท่นเพล็กซิกลาส 2 ชั้นที่สูง 5 ฟุต เพล็กซิกลาสชั้นหนึ่งเป็นชั้นที่แข็งแรง ส่วนอีกชั้นมีรอยแตก จากนั้นพวกเขาใช้หลอดไฟส่องสว่างด้านล่าง 800 ดวง ทำให้แผงควบคุมดูลึกลับ แต่แสงนี้ทำให้เกิดความร้อนจำนวนมหาศาล จึงต้องใช้พัดลมขนาดใหญ่รักษาระดับความเย็นใต้แท่นเอาไว้
  • ผู้อำนวยการสร้าง ซิด ครอฟต์ และ มาร์ตี ครอฟต์ ซึ่งเป็นผู้สร้างละครที่เป็นต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่องนี้ แวะมาเยี่ยมกองถ่ายทุกวันด้วยความตื่นเต้น ซึ่งกลายเป็นกำลังใจในการทำงานให้แก่ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง
  • แผนกออกแบบงานสร้างใช้เวลา 1 เดือนครึ่งสร้างภายนอกของปากถ้ำ เดวิลส์ แคนยอน มิสเทอรี เคฟ บนที่ราบแลนคาสเตอร์ แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ปากถ้ำที่ใช้ล่องแพนี้เป็นรูปหัวปีศาจที่มีตาโปนสีแดงฉานและเขี้ยวโง้ง และมีฉากย่อยเป็นร้านขายของที่ระลึกเล็กๆ อุปสรรคสำคัญในการสร้างฉากนี้คือลมแรง 60 ไมล์ต่อชั่วโมงที่พัดผ่านที่ราบบริเวณนั้นเป็นประจำ
  • ถ่ายทำฉากการมาเยือนดินแดนมหัศจรรย์ของเหล่าตัวละครหลักกันในใจกลางภูเขาทรายดูมอนต์ ดูนส์ ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ภูเขาทรายที่สูง 400 ฟุตนี้เกิดจากกระแสลมที่มีความเร็วสูงถึง 50 ไมล์ต่อชั่วโมง ทุกคนต้องเดินทางเข้าไปในฉากด้วยรถลุยทราย และขณะถ่ายทำ แผนกจัดหาพันธุ์ไม้มีหน้าที่ต้องลบรอยเท้าที่ไม่ใช่ของนักแสดงด้วยการใช้คราดและเครื่องดูดใบไม้
  • ผู้สร้างถ่ายทำบางฉากบนยอดเขาทรอนา ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษของอุทยานแห่งชาติ กรมที่ดินจึงจับตามองอย่างใกล้ชิด และกำชับให้พวกเขาถ่ายทำโดยไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม และหากเต่าทะเลทรายที่ใกล้สูญพันธุ์บังเอิญเดินเข้ามาในฉาก พวกเขาจะต้องหยุดถ่ายทำทันที แต่โชคดีสำหรับผู้สร้างที่เรื่องนั้นไม่เกิดขึ้น
  • ผู้สร้างใช้ที่ราบทะเลเกลือใกล้กับยอดเขาทรอนา ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างโรงแรมเล็กแบบเก่าขึ้นมา โดยให้โรงแรมโผล่ออกมาจากพื้นแค่ครึ่งเดียว ฉากนี้มีพร้อมสรรพทั้งป้ายไฟนีออนและสระว่ายน้ำขนาด 40x15x7 ฟุต ซึ่งเดิมผู้สร้างตั้งใจจะฝังสระว่ายน้ำลงไปในพื้นครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อขุดลงไปในที่ราบทะเลเกลือ น้ำที่มีปริมาณเกลือสูงก็ผุดออกมา แม้กระทั่งตอนที่สระว่ายน้ำเต็มไปด้วยน้ำจืดและถูกฝังลงไปในดิน น้ำก็มักจะผุดเป็นฟองขึ้นมาเพราะความเค็ม
  • ในฉบับละครโทรทัศน์ ผู้สร้างสร้างตัวละครไดโนเสาร์ด้วยเทคนิคแอนิเมชันสต็อปโมชัน แต่ในเรื่องนี้สร้างไดโนเสาร์ขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ โดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก Jurassic Park (1993)
  • เมื่อนักแสดงต้องเข้าฉากร่วมกับไดโนเสาร์ทีเรกซ์ กรัมปี ซึ่งเป็นตัวละครคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ช่างเทคนิคดิจิตอลคนหนึ่งจะถือเสาขนาด 16 ฟุต เพื่อใช้บอกตำแหน่งของ กรัมปี เสานี้มีลูกบอลสีสดใสอยู่ตรงปลายเพื่อให้นักแสดงมีจุดดึงดูดสายตา ทีมงานตั้งชื่อเล่นให้เครื่องมือตัวช่วยนี้ว่า กรัมปีเสียบไม้
  • ฉากลานทิ้งอเนกประสงค์ในพื้นที่กว้างใหญ่ของยอดเขาทรอนา ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ถ่ายทำฉากไดโนเสาร์ไล่ล่าเหยื่อ
  • ผู้สร้างใช้เวลาถึง 1 เดือนในการเตรียมถ่ายทำฉากที่ ริก มาร์แชลล์ ที่รับบทโดย วิลล์ แฟร์เรลล์ กระโดดขึ้นขี่หลังไดโนเสาร์ทีเรกซ์ กรัมปี ฉากนี้เป็นฉากที่ผสมผสานทั้งสต็อปโมชันและกลไก โดย วิลล์ ต้องอยู่บนอานกลไกที่ถูกกำหนดให้ขยับไปในทิศทางต่างๆ ทีมงานจากริธึม แอนด์ ฮิวส์ 9 คนรับหน้าที่ควบคุมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์กล้อง โดยมีการวางภาพพรีวิชวลของ กรัมปี ทับซ้อนลงไปบนภาพเหตุการณ์สดๆ ที่กำลังถ่ายทำอยู่ เพื่อให้ผู้สร้างเห็นภาพได้คร่าวๆ ในทันที
  • ใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้น 84 วัน ซึ่งเมื่อการถ่ายทำหลักเสร็จสิ้นลง ทีมงานแผนกวิชวล เอฟเฟกต์ จากบริษัท ริธึม แอนด์ ฮิวส์ ประมาณ 150 คน ก็ได้ใช้เวลา 1 สัปดาห์จัดการกับฉากที่ถ่ายทำด้วยฉากสีเขียวหรือฉากคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เช่น ฉากที่มีไดโนเสาร์ ฉากสิ่งแวดล้อมต่างๆ และรายละเอียดอื่นๆ ที่พวกเขาต้องเพิ่มเติมเข้าไป
  • กองกระดูกที่ใช้ประกอบฉากเป็นกระดูกที่ผู้สร้างทำขึ้นด้วยมือจำนวนกว่า 300 ชิ้น
  • ก่อนหน้าการถ่ายทำที่ดูมอนต์ ดูนส์ ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศอเมริกา ผู้สร้างหล่อแบบก้นของนักแสดงขึ้น แล้วสร้างแบบนั้นออกมาด้วยพลาสติก เพื่อให้นักแสดงสวมไว้ใต้เสื้อผ้า พวกเขาจึงสามารถแสดงฉากลื่นไถลตัวลงมาตามเนินทรายลาดชัน 45 องศาได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วโดยไม่เจ็บก้น
  • ในฉากที่ ริก มาร์แชลล์ ลอยขึ้นสูงจากพื้นเพราะไดโนเสาร์ กรัมปี เอาฟันเกี่ยวกับกระเป๋าสะพายหลังของเขาเอาไว้นั้น ถ่ายทำกันในทะเลทรายบนยอดเขาทรอนา ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้สร้างติดตั้งกลไกกับเครนและลูกรอกเพื่อยกตัว วิลล์ แฟร์เรลล์ ที่รับบท ริก ให้สูงขึ้นจากพื้นดิน 30 ฟุต วิลล์ ได้สวมบังเหียนและซักซ้อมกับนักแสดงผาดโผนมาเป็นอย่างดี แต่ก็ยังยอมรับว่ารู้สึกกลัว และโล่งใจที่ถ่ายทำผ่านได้ภายในครั้งเดียว
  • จอร์มา ทักโคนี รับบทเป็นตัวละครครึ่งคนครึ่งลิง ชากา เขาจึงศึกษาท่าทางของลิงจากดีวีดีของเนชันแนล จีโอกราฟฟิก จากนั้นจึงฝึกเดินด้วยหลังงองุ้ม และวิ่งด้วยการใช้มือและเท้าไปพร้อมๆ กัน แต่เมื่อสวมชุดเป็น ชากา แล้ว เขาก็รู้สึกว่าการเคลื่อนไหวเช่นนั้นยิ่งยากมากขึ้นกว่าปกติ
  • ในฉากแผ่นดินไหว หัวหน้าแผนกสเปเชียล เอฟเฟกต์ส ไมเคิล แลนเทียรี นำชิ้นส่วนจากฉากกำแพงหินซึ่งมีน้ำหนักเบา มาตัดเป็นชิ้นขนาด 20x30 ฟุต จากนั้นก็ติดเครื่องยนต์และบานพับเข้าไปที่ชิ้นส่วนเหล่านั้น เพื่อให้พวกมันสั่นและเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นจังหวะ เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวในแผ่นดินไหวของจริง และควบคุมให้มันร่วงใส่ฉากตามจังหวะเวลาที่กำหนด
  • แผนกสเปเชียล เอฟเฟกต์ สร้างน้ำมูกของไดโนเสาร์ทีเรกซ์ขึ้นจากสารหนืดเมธิลเซลลูโลส ส่วนปัสสาวะของไดโนเสาร์นั้นจริงๆ แล้วคือน้ำชาเขียว
  • ระหว่างที่ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง เตรียมงานสร้างเรื่องนี้ เขาบังเอิญพบนักประพันธ์เพลง ไมเคิล จิอักชิโน เพื่อนเก่าของเขาซึ่งชื่นชอบละคร Land of the Lost มากเช่นกัน อีกทั้งยังชอบดนตรีของ เจอร์รี โกลด์สมิธ ที่ประกอบละครโทรทัศน์ The Planet of the Apes เหมือนกันอีกด้วย แบรด จึงเชิญ ไมเคิล มาแต่งดนตรีประกอบให้ภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ซิด ครอฟต์ และ มาร์ตี ครอฟต์ ผู้สร้างละครโทรทัศน์ Land of the Lost เลือกเสียงแบนโจที่ฟังดูเหนือจริงมาใช้ประกอบละคร โดยได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Deliverance (1972) ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง และผู้แต่งดนตรี ไมเคิล จิอักชิโน จึงเลือกใช้แบนโจสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน แต่เสริมเสียงเครื่องให้จังหวะเพิ่มเข้าไปด้วย
  • ผู้กำกับ แบรด ซิลเบอร์ลิง และผู้แต่งดนตรี ไมเคิล จิอักชิโน ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงประกอบภาพยนตร์ดังๆ ในวัยเด็กของพวกเขา ผสมผสานกับดนตรีจากยุคอื่นๆ เช่น เพลง I Hope I Get It จากภาพยนตร์เพลง A Chorus Line (1985) และเพลง Boogie Woogie Bugle Boy ของ เดอะ แอนดรูว์ส ซิสเตอร์ส ซึ่งอยู่ในฉากที่ ชากา ที่รับบทโดย จอร์มา ทักโคนี เต้นรำ
  • ฉากที่ วิลล์ สแตนตัน ที่รับบทโดย แดนนี แมกไบรด์ เกาะอยู่บนเสาสูงและเข้าใกล้สถานที่ที่เรียกว่า ไพลอน พลาซา เป็นครั้งแรก เขาร้องเพลงหนึ่งออกมา เพลงนั้นคือ Believe ของนักร้องหญิงรุ่นใหญ่ แชร์
  • วิลล์ แฟร์เรลล์ ที่รับบท ริก มาร์แชลล์ ในเรื่องนี้ เคยแสดงเป็นตัวละครชื่อ มาร์แชล วิลเลนฮอลลี ใน Jay and Silent Bob Strike Back (2001) ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งจากเนื้อร้องท่อนแรกของเพลงประกอบละครโทรทัศน์ Land of the Lost ฉบับดั้งเดิม ที่กล่าวถึงชื่อของตัวละครหลักทั้ง 3 คน คือ มาร์แชลล์ วิลล์ และ ฮอลลี
  • ละครโทรทัศน์ Land of the Lost ฉบับดั้งเดิมที่เริ่มฉายในปี 1974 นั้น มีตัวละครนำชื่อ วิลล์ มาร์แชลล์ ส่วนในละครที่นำมาสร้างใหม่ในยุค 90 นั้น ตัวละครนำถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ทอม พอร์เตอร์ ส่วนในภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวละครนำถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ริก มาร์แชลล์ รับบทโดย วิลล์ แฟร์เรลล์
  • เคธี โคลแมน และ เวสลีย์ ยัวร์ ซึ่งรับบทนำใน Land of the Lost ฉบับละครโทรทัศน์ชุดดั้งเดิม ได้เข้ามาถ่ายทำบทรับเชิญพิเศษในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย แต่ฉากที่พวกเขาแสดงถูกตัดออกไป เพราะผู้สร้างตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตอนจบของภาพยนตร์
  • เดิมภาพยนตร์ได้รับเรตอาร์ แต่ผู้สร้างตัดต่อใหม่จนกระทั่งได้รับเรตพีจี-13

advertisement

วันนี้ในอดีต

  • สาระแนห้าวเป้งสาระแนห้าวเป้งเข้าฉายปี 2009 แสดง เริงฤทธิ์ แมคอินทอช, นาคร ศิลาชัย, เกียรติศักดิ์ อุดมนาค
  • ม.3 ปี 4 เรารักนายม.3 ปี 4 เรารักนายเข้าฉายปี 2009 แสดง สโรชา ตันจรารักษ์, คณิน บัดติยา, ชลธร ปรัชญารุ่งโรจน์
  • 102 ปิดกรุงเทพปล้น102 ปิดกรุงเทพปล้นเข้าฉายปี 2004 แสดง ฉัตรชัย เปล่งพานิช, อำพล ลำพูน, โกวิท วัฒนกุล

เกร็ดภาพยนตร์

  • แผลเก่า - ใช้ทุ่งนาที่ คลองบางแม่หม้าย อำเภอ บางปลาม้า จังหวัด สุพรรณบุรี เป็นสถานที่ถ่ายทำฉากทุ่งบางกะปิ และคลองแสนแสบในอดีต นานกว่า 4 เดือน อ่านต่อ»
  • Joe - ผู้กำกับ เดวิด กอร์ดอน กรีน มักจะเลือกคนท้องที่มาร่วมแสดงในภาพยนตร์ด้วยบ่อยครั้ง ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน โดย เดวิด เสนอบท เวด ให้กับ แกรี โพลเตอร์ ซึ่งเป็นชายไร้บ้าน และหลังจากถ่ายทำภาพยนตร์เสร็จสองสามเดือน พบว่า แกรี เสียชีวิตอยู่บนถนนในออสติน รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Men in Black: International Men in Black: International เรื่องราวของ เอเจนท์ เอช (คริส เฮมสเวิร์ธ) หนึ่งในเอเจนท์ที่เป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดประจำสำนักงานเอ็มไอบี กรุงลอนดอน เคย...อ่านต่อ»