เกร็ดน่ารู้จาก Public Enemies

เกร็ดน่ารู้
  • เรื่องราวในภาพยนตร์เกิดขึ้นในยุค 30 อันเป็นยุคเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression) ชาวอเมริกันที่ต้องอยู่กันอย่างยากจนข้นแค้น ต่างเห็นว่าธนาคารและรัฐบาลเป็นต้นเหตุของปัญหา ทำให้อาชญากรหลายคนในยุคนั้นกลายมาเป็นวีรบุรุษของประชาชน รวมถึง จอห์น ดิลลิงเจอร์ ที่ในเรื่องนี้รับบทโดย จอห์นนี เดปป์
  • ก่อนหน้านี้ ผู้กำกับและผู้ร่วมเขียนบท ไมเคิล มานน์ เคยเขียนบทภาพยนตร์เกี่ยวกับโจรปล้นรถไฟและโจรปล้นธนาคารที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งในยุค 30 คนๆ นั้นคือ อัลวิน คาร์พิส ซึ่งได้กลายมาเป็นตัวละครในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย รับบทโดย จิโอวานนี ริบิซี
  • บรานกา คาติก ได้รับบทเป็น แอนนา เซจ โสเภณีที่ทรยศ จอห์น ดิลลิงเจอร์ เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกเนรเทศออกนอกประเทศ จนทำให้ จอห์น จบชีวิตลง แอนนา เซจ ตัวจริงได้รับฉายาว่า สุภาพสตรีชุดแดง เนื่องจากเธอนัดแนะกับเจ้าหน้าที่เอฟบีไอว่าจะสวมชุดแดงมาให้เป็นที่สังเกต ในวันที่เธอออกไปชมภาพยนตร์กับ จอห์น แต่ในความเป็นจริงนั้น เธอสวมชุดสีส้ม
  • ตัวละคร เมลวิน เพอร์วิส ที่ในเรื่องนี้รับบทโดย คริสเตียน เบล เป็นเจ้าหน้าที่เอฟบีไอที่มีตัวตนอยู่จริง และรูปร่างหน้าตาของ เพอร์วิส ตัวจริง เป็นแรงบันดาลใจของ เชสเตอร์ กูลด์ ในการวาดหน้าตาของตัวการ์ตูนที่ชื่อ ดิก เทรซี
  • ตามประวัติศาสตร์ จอห์น ดิลลิงเจอร์ ที่รับบทโดย จอห์นนี เดปป์ สามารถหลบหนีจากเงื้อมมือของตำรวจไปได้หลายครั้ง เช่น ตอนที่เขาพาลูกน้องแหกคุกรัฐอินเดียนาในเดือนกันยายน 1933 ตอนที่หลบหนีจากเรือนจำเลกเคาน์ตี ในคราวน์พอยต์ อินเดียนา ในเดือนมีนาคม 1934 และตอนที่หนีพ้นจากเจ้าหน้าที่ เมลวิน เพอร์วิส ที่รับบทโดย คริสเตียน เบล ที่บ้านพักลิตเติล โบฮีเมีย ในวิสคอนซินตอนเหนือ ในเดือนเมษายน 1934
  • จอห์น ดิลลิงเจอร์ ที่รับบทโดย จอห์นนี เดปป์ ได้รับฉายาว่าเป็น สุภาพบุรุษโจร เพราะระหว่างปล้นธนาคาร เขาส่งเงินคืนให้แก่ประชาชนบ่อยครั้ง และเขาไม่เคยสบถคำหยาบต่อหน้าตัวประกันที่เป็นผู้หญิงเลย
  • หลังจาก จอห์น ดิลลิงเจอร์ เสียชีวิต ประชาชนที่เศร้าเสียใจพากันมาจุ่มผ้าเช็ดหน้าลงในสระน้ำที่มีเลือดของเขา นอกจากนี้ยังมีคนหลายพันคนต่อแถวที่ห้องเก็บศพเพื่อดูศพของเขา
  • จอห์นนี เดปป์ ผู้รับบท จอห์น ดิลลิงเจอร์ ยอมรับว่าสนใจในตัว จอห์น มาตั้งแต่สมัยเด็ก และได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับชายคนนี้มามากมาย จอห์นนี รู้สึกผูกพันกับ จอห์น ราวกับเป็นญาติเพราะทำให้นึกถึงพ่อเลี้ยงและคุณปู่ของเขา
  • คริสเตียน เบล ที่รับบท เมลวิน เพอร์วิส และผู้กำกับ ไมเคิล มานน์ เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของเอฟบีไอ ในควอนติโก เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และใช้เวลาอยู่กับลูกชายของ เมลวิน ที่ชื่อ อัลสตัน เพื่อศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ เมลวิน
  • เนื่องจากไม่มีการบันทึกเสียงของ เมลวิน เพอร์วิส เอาไว้ คริสเตียน เบล ผู้รับบท เมลวิน ตัดสินใจใช้สำเนียงการพูดแบบคนใต้ของ อัลสตัน เพอร์วิส ผู้เป็นลูกชาย มาเป็นสำเนียงของเขาในภาพยนตร์
  • ผู้กำกับ ไมเคิล มานน์ ชอบการแสดงของ มาริยง โคติยาร์ ใน La Vie en Rose (2007) ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2008 ไมเคิล จึงทาบทามให้ มาริยง มารับบท บิลลี เฟรเชตต์ ในเรื่องนี้
  • มาริยง โคติยาร์ ต้องรับบทเป็น บิลลี เฟรเชตต์ ซึ่งเป็นลูกครึ่งฝรั่งเศสและอินเดียนแดงหรืออเมริกันพื้นเมือง มาริยง จึงศึกษาวิธีออกเสียงพูดกับครู ซึ่งนักแสดงสาวยอมรับว่าเป็นงานที่ยากมาก นอกจากนี้ มาริยง ยังได้เดินทางไปเยือนค่ายของเผ่าเมโนมินี ที่ซึ่งเธอได้พบสมาชิกหลายคนจากครอบครัวขนาดใหญ่ของ บิลลี
  • ผู้สร้างพยายามจำลองฉากประเทศอเมริกาในปี 1933 ขึ้นมาใหม่ โดยต้องตกแต่งฉากมากถึง 114 ฉาก นอกจากนี้พวกเขายังต้องจำลองบรรยากาศของปี 1933 ในแง่ความคิดของผู้คนด้วย เช่น วิธีที่ผู้ชายจีบผู้หญิง ทัศนคติของนักโทษเกี่ยวกับชีวิตและความตาย ทัศนคติเกี่ยวกับโลกวัตถุนิยมของผู้คนที่หิวโหย และบรรยากาศของความสิ้นหวังที่ปรากฏอยู่เต็มท้องถนน
  • ผู้กำกับ ไมเคิล มานน์ ตัดสินใจถ่ายทำในสถานที่จริงๆ ตามที่เรื่องเกิดขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสถานที่จริงที่พวกเขาได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำได้ ได้แก่ เรือนจำเลกเคาน์ตี ในคราวน์พอยต์ รัฐอินเดียนา, ลิตเติล โบฮีเมีย ลอดจ์ ในมานิโตวิช วอเตอร์ส รัฐวิสคอนซิน และโรงภาพยนตร์ไบโอกราฟ ที่ลินคอล์น อเวนิว ในชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ทั้งหมดอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
  • ผู้กำกับ ไมเคิล มานน์ อธิบายว่าในยุค 30 นั้น ตำรวจรัฐอินเดียนาของสหรัฐอเมริกามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียง 27 นาย ซึ่งล้วนเป็นคนท้องถิ่นที่กินอยู่อย่างยากลำบาก พวกเขาไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในเขตปกครองที่อยู่ติดกัน เนื่องจากไม่มีกฎหมายควบคุมการก่ออาชญากรรมข้ามรัฐ และไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นกองกำลังส่วนกลาง อาชญากรในยุคนั้นจึงหลบหนีข้ามรัฐได้อย่างง่ายดาย
  • ถ่ายทำฉากเรือนจำเลกเคาน์ตี ในคราวน์พอยต์ รัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสถานที่จริงซึ่งยังคงมีทางเดินและสภาพภูมิทัศน์เหลืออยู่เช่นในอดีต เพียงแต่มีสนิมขึ้นและสึกกร่อน ผู้ออกแบบงานสร้าง นาธาน โครว์ลีย์ ตกแต่งฉากนี้โดยอ้างอิงจากภาพถ่ายของ จอห์น ดิลลิงเจอร์ กับอัยการ โรเบิร์ต เอสทิลล์ ซึ่งแสดงให้เห็นพื้นที่ส่วนกลางของเรือนจำอย่างชัดเจน แต่เนื่องจากไม่มีภาพถ่ายภายในห้องขัง นาธาน จึงต้องจินตนาการฉากดังกล่าวขึ้นเอง
  • ในเกือบทุกฉาก ผู้กำกับภาพ ดันเต สปิน็อตติ เลือกใช้กล้องเอชดีหรือกล้องความละเอียดสูง ยี่ห้อโซนี่ รุ่น เอชดีซี-เอฟ 23 จำนวน 4 ตัว และกล้อง เอ็กซ์ดีแคม-อีเอ็กซ์ 1 โดยถ่ายทำด้วยถ่ายภาพใกล้ที่ใบหน้านักแสดงด้วยกล้องแบบใช้มือถือถ่ายและเลนส์ยาว ผสมกับการถ่ายมุมอื่นของฉากนั้นอย่างน้อยอีก 1 มุม ทำให้ได้ภาพที่ดูเร่งด่วนฉับพลัน
  • เมื่อผู้กำกับภาพ ดันเต สปิน็อตติ จัดแสงให้แต่ละฉากแล้ว เขาจะไม่จัดฉากซ้ำอีกในการถ่ายทำแต่ละช็อต ดังนั้นไม่ว่าจะถ่ายภาพใกล้หรือไกลก็จะได้แสงแบบเดียวกัน ทำให้ภาพดูถูกต้องสมจริง ซึ่งจะย้ำอารมณ์ฉับพลันทันด่วนของภาพ อันเป็นแนวทางสำคัญของการถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้
  • ผู้สร้างได้รับความร่วมมือจากเอฟบีไอ ตั้งแต่ เบตซี กลิก ซึ่งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ และเจ้าหน้าที่ เดล เชลตัน และ รอยเดน อาร์ ไรซ์ จากหน่วยงานที่ชิคาโก พวกเขาช่วยหาเอกสารบันทึกข้อเท็จจริงในคดีของ จอห์น ดิลลิงเจอร์ รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น การจัดหาเครื่องเรือนและตู้เก็บเอกสารในยุค 30 เพื่อใช้จัดฉากสำนักงานของเอฟบีไอ
  • เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ เดล เชลตัน เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาวุธ จึงพาผู้สร้างเยี่ยมชมห้องเก็บอาวุธ และร่วมงานกับแผนกดูแลอาวุธในฉากดวลปืน นอกจากนี้เขายังเดินทางไปกองถ่ายเกือบทุกวัน เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของฉากที่เกี่ยวพันกับเอฟบีไอ และยังได้แสดงเป็นเจ้าหน้าที่เอฟบีไอในหลายฉากด้วย
  • มิก กูลด์ ที่ปรึกษาด้านอาวุธและกลยุทธ์ เป็นผู้ฝึกให้นักแสดงจับปืนและยิงปืน ขับรถโบราณ และกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายอย่าง
  • นอกจากนักแสดงจะต้องฝึกให้ตัวเองชินกับการถือปืนที่มีน้ำหนักมากถึง 80-90 ปอนด์แล้ว ยังต้องฝึกยิงปืนตามแบบในยุค 30 นั่นคือยิงปืนพกโดยใช้มือเดียว ด้วยท่ายิงที่แตกต่างจากในปัจจุบัน เนื่องจากผู้คนเพิ่งพัฒนามาใช้ 2 มือยิงปืนในยุค 40 และเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นแบบเล็งยิงเข้าเป้ามากขึ้นในภายหลัง
  • จอห์นนี เดปป์ เคยยิงปืนมาตั้งแต่อายุประมาณ 5-6 ปี จึงเรียนรู้การยิงปืนเพื่อรับบทเป็น จอห์น ดิลลิงเจอร์ ได้อย่างรวดเร็ว ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาใช้ปืนธอมป์สันปี 1921 และปืน .45 อีก 2 กระบอก
  • หัวหน้าแผนกทรงผม เอ็มมานูเอล มิลลาร์ ออกแบบทรงผมของตัวละครหลายๆ ตัวโดยอ้างอิงจากข้อเท็จจริงที่ว่า ยุค 30 เป็นยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนจึงไม่ค่อยสนใจเรื่องความสวยงาม ร้านตัดผมในเซ็นทรัลปาร์กของอเมริกาหลายร้านคิดค่าบริการเพียง 5 เซนต์ ผู้ชายไม่ค่อยคิดมากเรื่องหนวดเครา และไม่มีใครไว้ผมทรงดีๆ มากนัก
  • หัวหน้าแผนกแต่งหน้า เจน กัลลี ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในยุค 30 ผู้หญิงไม่นิยมจูบผู้ชาย เพราะลิปสติกมีราคาแพงมาก พวกเธอจึงไม่อยากให้ลิปสติกลบเลือนไปง่ายๆ
  • เบลน เคอร์เรียร์ ผู้ประสานงานเรื่องการจัดหารถ และหัวหน้าของเขา โฮเวิร์ด แบชแรช ช่วยกันค้นหารถโบราณในเขตมิดเวสต์และทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาใช้ในภาพยนตร์ รวมแล้วเป็นรถคันเอกมากกว่า 20 คัน และรถสำหรับประกอบฉากหลัง 1,000-1,500 คัน ซึ่งมีทั้งรถโบราณทั่วไปที่รูปทรงเป็นเหลี่ยมเป็นมุม และรถโค้งมนที่ใช้กันในปี 1933-1935
  • รถยนต์คันเด่นในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือรถที่ปรับแต่งเครื่องยนต์ใหม่เป็นเครื่องยนต์วี 8 แฟลตเฮด ซึ่งผลิตออกมาในปี 1932 อาชญากรชื่อดัง 2 ราย ไคลด์ บาร์โรว์ และ จอห์น ดิลลิงเจอร์ เคยเขียนจดหมายไปถึงบริษัทฟอร์ด เพื่อแสดงความพอใจที่มีต่อรถรุ่นนี้ เพราะพวกเขาขับมันหลบหนีการจับกุมได้พ้นมือตำรวจเสมอๆ
  • คริสเตียน เบล ผู้รับบทเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ เมลวิน เพอร์วิส ให้ความเห็นว่า ที่สื่อมวลชนในยุค 30 ชื่นชอบ เมลวิน จนยกย่องให้เขาเป็นผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เป็นเพราะเขาเป็นคนหรูหรา เขามักแต่งกายแตกต่างจากเจ้าหน้าที่คนอื่น โดยสวมสูทอย่างดี นั่งรถ เพียร์ซ-แอร์โรว์ ที่มีคนขับรถให้ และยังขี่ม้าอีกด้วย
  • มาริยง โคติยาร์ ยอมรับว่าเธอประหม่าเมื่อมารับบทเป็น บิลลี เฟรเชตต์ ในเรื่องนี้ เพราะห่างหายจากการแสดงภาพยนตร์มานาน 2 ปีนับจากเรื่อง La Vie en Rose (2007) และรู้สึกไม่มั่นใจเรื่องภาษาอังกฤษของตน แต่ยังดีที่มี จอห์นนี เดปป์ ผู้รับบท จอห์น ดิลลิงเจอร์ คอยให้กำลังใจ ทำให้เธอซาบซึ้งในความใจกว้างของเขา
  • การประท้วงของนักเขียนบททำให้ภาพยนตร์หลายเรื่องเลื่อนการถ่ายทำออกไป รวมถึง Shantaram (2011) ที่ จอห์นนี เดปป์ ร่วมแสดง และ Nine (2009) ที่ มาริยง โคติยาร์ ร่วมแสดง ทำให้ผู้กำกับ ไมเคิล มานน์ สามารถดึงตัว จอห์นนี และ มาริยง มารับบทเป็น จอห์น ดิลลิงเจอร์ และ บิลลี เฟรเชตต์ ได้ตามลำดับ
  • ขณะที่ผู้สร้างเตรียมการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ในปี 2004 พวกเขาเลือก ลีโอนาร์โด ดิคาพริโอ มารับบทนำเป็น จอห์น ดิลลิงเจอร์ แต่ภายหลังเปลี่ยนตัวนักแสดงมาเป็น จอห์นนี เดปป์
  • ในภาพยนตร์ตัวอย่าง จอห์นนี เดปป์ ผู้รับบท จอห์น ดิลลิงเจอร์ กล่าวกับลูกค้าของธนาคารว่า "We're here for the bank's money, not yours." (เรามาที่นี่เพื่อเอาเงินของธนาคาร ไม่ใช่เงินของคุณ) คำพูดนี้อ้างอิงจากคำพูดจริงของ จอห์น ขณะปล้นธนาคารในกรีนคาสเซิล รัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้กำกับ ไมเคิล มานน์ เคยให้ โรเบิร์ต เดอ นีโร กล่าวบทพูดนี้มาแล้วใน Heat (1995) ภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งของเขา นอกจากนี้ยังมีคำพูดคล้ายคลึงกันนี้อยู่ใน Bonnie and Clyde (1967) ภาพยนตร์เกี่ยวกับ ไคลด์ บาร์โรว์ โจรชื่อดังอีกคนหนึ่งด้วย
  • ในภาพยนตร์ตัวอย่าง จอห์นนี เดปป์ ผู้รับบท จอห์น ดิลลิงเจอร์ กล่าวกับลูกค้าของธนาคารว่า "We're here for the bank's money, not yours." แต่ในภาพยนตร์ฉบับสมบูรณ์ จอห์นนี กล่าวประโยคที่ต่างไปจากเดิมเล็กน้อยว่า "We're not here for your money, we're here for the bank's." (เราไม่ได้มาที่นี่เพื่อเอาเงินของคุณ เรามาที่นี่เพื่อเงินของธนาคาร)
  • เจมส์ รุสโซ ที่รับบท วอลเตอร์ ดีทริช กับ จอห์นนี เดปป์ ผู้รับบท จอห์น ดิลลิงเจอร์ เคยแสดงร่วมกันมาก่อนแล้วในภาพยนตร์เรื่อง Donnie Brasco (1997) และ The Ninth Gate (1999)
  • จอห์น ดิลลิงเจอร์ ตัวจริงเป็นคนถนัดซ้าย แต่ จอห์นนี เดปป์ แสดงเป็น จอห์น โดยถือปืนด้วยมือขวา
  • นักแสดงส่วนใหญ่ในเรื่องแสดงเป็นตัวละครที่อายุน้อยกว่าตัวจริงของพวกเขา คริสเตียน เบล ที่มีอายุ 35 ปี รับบทเป็น เมลวิน เพอร์วิส ที่มีอายุ 28 ปี, จอห์นนี เดปป์ ที่มีอายุ 45 ปี รับบทเป็น จอห์น ดิลลิงเจอร์ ที่เสียชีวิตเมื่ออายุ 31 ปี, สตีเวน เกรแฮม ที่มีอายุ 35 ปี รับบทเป็น เบบี เฟซ เนลสัน ที่มีอายุ 25 ปี, สตีเวน ดอร์ฟฟ์ ที่มีอายุ 35 ปี รับบทเป็น โฮเมอร์ แวน มีเตอร์ ที่มีอายุ 27 ปี และ จิโอวานนี ริบิซี ที่มีอายุ 34 ปี รับบทเป็น อัลวิน คาร์พิส ที่มีอายุ 27 ปี
  • นักแสดงส่วนหนึ่งรับบทเป็นตัวละครที่มีอายุใกล้เคียงกับตัวจริงของพวกเขา ได้แก่ แชนนิง ทาทัม รับบท พริตตี บอย ฟลอยด์, บิลลี ครูดัป รับบท เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์, เดวิด เวนแฮม รับบท แฮร์รี เพียร์พอนต์ และ คริสเตียน สโตลที รับบท ชาร์ลส์ เมกลีย์
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง Manhattan Melodrama (1934) ที่นำแสดงโดย คลาร์ก เกเบิล
  • ในภาพยนตร์ สตีเวน เกรแฮม ผู้รับบท เบบี เฟซ เนลสัน ได้ใช้ปืนอัตโนมัติ .45 ที่ปรับแต่งให้เป็นปืนกลขนาดเล็ก ซึ่งเป็นปืนแบบที่ เบบี เฟซ เนลสัน และ โฮเมอร์ แวน มีเตอร์ ตัวจริงใช้ และเป็นปืนที่ช่างทำปืนในซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อ เบบี เฟซ เนลสัน โดยเฉพาะ
  • ในเรื่อง บิลลี เฟรเชตต์ ที่รับบทโดย มาริยง โคติยาร์ ถูกเจ้าหน้าที่เอฟบีไอสวบสวนโดยใช้วิธีทำร้ายร่างกาย แต่ในความจริงนั้น เอฟบีไอไม่ได้ทำเช่นนั้นกับเธอ อย่างไรก็ตาม เอฟบีไอใช้วิธีดังกล่าวกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับ จอห์น ดิลลิงเจอร์ คนอื่นๆ ได้แก่ เฮเลน เนลสัน ผู้เป็นภรรยาของ เบบี เฟซ เนลสัน และ อัลวิน คาร์พิส และ เจมส์ โปรบาสโก
  • ฉากที่ จอห์น ดิลลิงเจอร์ ที่รับบทโดย จอห์นนี เดปป์ เดินเข้าไปคุยกับตำรวจในสถานีตำรวจชิคาโกนั้น อ้างอิงมาจากเรื่องจริง ในตอนนั้น จอห์น มั่นใจมากว่าสามารถตบตาตำรวจด้วยการทำตัวเหมือนเป็นนักท่องเที่ยวที่มาขอถ่ายรูปได้
  • ฉากภายนอกของโรงภาพยนตร์ ไบโอกราฟ ถ่ายทำในสถานที่จริงในรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ภายในโรงภาพยนตร์ดังกล่าวถูกดัดแปลงเป็นโรงย่อยๆ หลายโรง ซึ่งแตกต่างจากที่เคยเป็นในปี 1934 มาก ผู้สร้างจึงถ่ายทำฉากภายในของโรงภาพยนตร์ ไบโอกราฟ กันที่โรงภาพยนตร์ พาราเมาต์ ในเมืองออโรรา ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลแทน
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากชีวิตจริงของโจรปล้นธนาคาร จอห์น ดิลลิงเจอร์ ผู้เป็นที่รักของประชาชนส่วนใหญ่ ผู้สร้างเน้นถ่ายทอดช่วงเวลา 14 เดือนที่ จอห์น ต่อกรกับเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ เมลวิน เพอร์วิส ที่รับบทโดย คริสเตียน เบล และ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ที่รับบทโดย บิลลี ครูดัป
  • ภาพยนตร์ที่ จอห์น ดิลลิงเจอร์ ได้ชมที่โรงภาพยนตร์ไบโอกราฟเรื่องสุดท้าย คือเรื่อง Manhattan Melodrama ที่นำแสดงโดย คลาก เกเบิล

advertisement

วันนี้ในอดีต

  • สี่แพร่งสี่แพร่งเข้าฉายปี 2008 แสดง เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, มณีรัตน์ คำอ้วน, อภิญญา สกุลเจริญสุข
  • Nim's IslandNim's Islandเข้าฉายปี 2008 แสดง Abigail Breslin, Jodie Foster, Gerard Butler
  • Three Kingdoms: Resurrection of the DragonThree Kingdoms: Resurrection of the Dragonเข้าฉายปี 2008 แสดง Andy Lau, Sammo Hung Kam-Bo, Maggie Q

เกร็ดภาพยนตร์

  • Entertainment - ถ่ายทำฉากส่วนใหญ่ที่ประเทศไทย โดยนักแสดง อักเชย์ กุมาร ผู้รับบท อัคคีล เคยใช้เวลาหลายปีอาศัยอยู่ในประเทศไทย อ่านต่อ»
  • 22 Jump Street - เคิร์ต รัสเซลล์ กล่าวว่า ไวแอตต์ รัสเซลล์ ลูกชายของเขาปฏิเสธบทในภาคต่อ The Hunger Games เพื่อรับบท ซุก ในภาพยนตร์เรื่องนี้ อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Show Me The Way To The Station Show Me The Way To The Station ซายากะ (จิเสะ นิอิตสึ) เด็กหญิงวัย 8 ขวบ อาศัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่เมืองริมชายหาดซึ่งมีรถไฟสีแดงวิ่งผ่าน ระหว่างที่ไปค...อ่านต่อ»