เกร็ดน่ารู้จาก The Sorcerer's Apprentice

เกร็ดน่ารู้
  • ต้นแบบดั้งเดิมของภาพยนตร์เรื่องนี้คืองานรวมบทกวี 14 บทในปี 1797 ชื่อ Der Zauberlehrling ของ โยฮันน์ วูล์ฟกัง ฟอน เกอเธ ราว 100 ปีต่อมา นักแต่งเพลง พอล ดูกาส์ ดัดแปลงบทกวีนี้เป็นซิมโฟนียาว 10 นาทีชื่อ L'Apprenti Sorcier ขณะที่ 40 ปีต่อมา วอลท์ ดิสนีย์ ร่วมกับวาทยากร ลีโอโปลด์ สโตโคว์สกี นำเพลงนี้มาดัดแปลงเป็นแอนิเมชัน Fantasia (1940) ที่มีตัวการ์ตูน มิกกี เมาส์ ในบทศิษย์พ่อมด จากนั้น 69 ปีถัดมา วอลท์ ดิสนีย์ พิคเจอร์ส และ เจอร์รี บรักไฮเมอร์ ฟิล์มส์ นำโครงเรื่องเดิมมาสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงในบรรยากาศยุคปัจจุบันเรื่องนี้
  • นิโคลัส เคจ ผู้รับบท บัลธาซาร์ เบลก ชื่นชอบแอนิเมชัน Fantasia (1940) ที่เป็นต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องนี้มาก เพราะมันอาจเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่คุณพ่อคุณแม่พาเขาไปดู และเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เขารู้จักแอนิเมชันของดิสนีย์และดนตรีคลาสสิก ปัจจุบัน นิโคลัส ยังเปิดชมภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอปีละครั้ง
  • เป็นเรื่องบังเอิญที่ผู้เขียนบท แมตต์ โลเปซ เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ในอาคารแอนิเมชันหลังเก่าใน วอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอส์ ที่เบอร์แบงก์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา สถานที่ซึ่งเคยมีการสร้างแอนิเมชัน Fantasia (1940) ที่เป็นต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมา
  • ผู้เขียนบท แมตต์ โลเปซ สังเกตว่าเรื่องราวในบทกวี Der Zauberlehrling ของ โยฮันน์ วูล์ฟกัง ฟอน เกอเธ และในแอนิเมชัน Fantasia (1940) จบลงที่ลูกศิษย์ยังคงเป็นลูกมือของพ่อมด อีกทั้งยังไม่มีฉากที่พ่อมดสอนเวทมนตร์ให้แก่ศิษย์ แมตต์ จึงเขียนให้ในฉบับภาพยนตร์นี้ ผู้ชมได้เห็น เดฟ สตัตเลอร์ ที่รับบทโดย เจย์ บารูเชล เติบโตเป็นพ่อมดเต็มตัว และมีฉากที่ บัลธาซาร์ เบลก ที่รับบทโดย นิโคลัส เคจ สอนเวทมนตร์ให้ เดฟ ด้วยหลักสูตรสุดเร่งรัด
  • เป็นผลงานเรื่องที่ 7 ที่ นิโคลัส เคจ ผู้รับบท บัลธาซาร์ เบลก ได้ร่วมงานกับผู้อำนวยการสร้าง เจอร์รี บรักไฮเมอร์ และเป็นเรื่องที่ 3 ที่เขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับ จอน เทอร์เทิลทอบ
  • โมนิกา เบลลุชชี ตกลงรับบท เวโรนิกา เพราะรู้สึกท้าทายที่ต้องแสดงเป็นตัวละคร 2 บุคลิก เนื่องจากมีบางฉากที่ เวโรนิกา ถูกแม่มดร้าย มอร์แกนา เข้าสิง นอกจากนี้ยังเป็นเพราะเธออยากแสดงภาพยนตร์ที่ เดวา ลูกสาววัย 5 ปีของเธอสามารถรับชมได้
  • ผู้สร้างต้องการถ่ายทำโดยเน้นฉากจริงของนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีการถ่ายทำในสถานที่สำคัญหลายแห่งของเมืองนี้ เช่น ไทม์ สแควร์, มิดทาวน์ แมนฮัตตัน, สวนสาธารณะวอชิงตัน สแควร์, แบตเตอรี ปาร์ก ที่มีเทพีเสรีภาพ, ตึกไครส์เลอร์ ที่มีรูปปั้นการ์กอยล์อินทรี, ร็อกเฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ ที่มีรูปปั้นแอตลาสสูง 15 ฟุต, โรงแรมไบรแอนต์ ปาร์ก, อพาร์ตเมนต์แอปธอร์ป, สะพานวิลเลียมส์เบิร์ก, วิหารเซนต์จอห์น, อาคารโกรสเวเนอร์ ปี 1869 และสถานีรถไฟใต้ดิน เซเวน อเวนิว ในบรูกลิน เป็นต้น
  • ผู้สนใจการแสดงกว่า 2,000 คนสมัครเข้ามาเป็นนักแสดงประกอบ สำหรับฉากการต่อสู้ท่ามกลางงานเทศกาลตรุษจีนในไชนาทาวน์ ซึ่งมีทั้งนางรำ คนตีกลอง ริ้วกระดาษ และขบวนแห่มังกรขนาดใหญ่ ฉากนี้ถ่ายทำในช่วงกลางคืนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ บนถนนเอลด์ริดจ์ ของนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมองเห็นสะพานแมนฮัตตัน และรถไฟใต้ดินที่แล่นไปมาระหว่างแมนฮัตตันและบรูกลิน
  • ฉากการต่อสู้ครั้งสุดท้ายถ่ายทำที่สวนสาธารณะแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา โบว์ลิง กรีน ในโลเวอร์ แมนฮัตตัน ในฉากนี้มีการเนรมิตชีวิตให้รูปปั้นกระทิงดุ ชาร์จจิง บุล ที่โด่งดัง มันเป็นรูปปั้นบรอนซ์หนัก 7,000 ปอนด์ที่ อาร์ทูโร ดิ โมดิกา สร้างขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 1989 หลังเหตุการณ์หุ้นตกครั้งใหญ่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณที่ไม่ย่อท้อของชาวอเมริกัน เดิมรูปปั้นอยู่หน้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก ก่อนจะถูกย้ายมายังที่แห่งนี้
  • ผู้กำกับ จอน เทอร์เทิลทอบ ต้องการถ่ายทำโดยใช้เอฟเฟกต์กลไกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วค่อยเสริมแต่งด้วยคอมพิวเตอร์กราฟฟิก เนื่องจากหากใช้กลไกล้วนๆ จะดูเหมือนภาพยนตร์ในยุค 60 และ 70 ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ชมปัจจุบันที่มีความรู้มากขึ้น และหากใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกล้วนๆ จะทำให้ภาพยนตร์ดูเหมือนการ์ตูนมากเกินไป
  • ผู้กำกับกองถ่ายย่อยที่ 2 จอร์จ มาร์แชลล์ รูจ ควบคุมการถ่ายทำฉากต่อสู้ครั้งแรกในร้าน อาร์คานา คาบานา ที่คับแคบและระเกะระกะ โดยให้ อัลเฟรด โมลินา ผู้รับบท แม็กซิม ฮอร์วัธ สวมสลิง เพื่อลอยขึ้นไป 27 ฟุตถึงเพดาน นิโคลัส เคจ ผู้รับบท บัลธาซาร์ เบลก ก็ต้องสวมสลิงเช่นกัน เพราะทั้งคู่จะต้องปล่อยพลังเข้าหากันจากคนละฝั่งของห้อง และเพื่อความปลอดภัยของ อัลเฟรด ที่ต้องถูกดึงตัวขึ้นกระแทกหน้าต่าง หัวหน้าฝ่ายสเปเชียลเอฟเฟกต์ มาร์ก ฮอว์กเกอร์ จึงเลือกใช้หน้าต่างยางและกระจกที่แตกเป็นเม็ดข้าวโพด
  • ตัวละคร แม็กซิม ฮอร์วัธ ที่รับบทโดย อัลเฟรด โมลินา สามารถปล่อยลูกไฟออกจากมือได้ ผู้สร้างใช้ของเหลวเหนียวหนืดเหมือนพลาสติกติดไว้กับนิ้วของ อัลเฟรด คลุมด้วยเส้นใยกันไฟ แล้วทาของเหลวนั้นซ้ำ ทับด้วยผ้าอีกชั้นซึ่งพวกเขาระบายสีให้ดูเหมือนมือจริงๆ จากนั้นก็จุดไฟ เมื่อไฟลุกได้ประมาณ 1 นาที อัลเฟรด จะเริ่มรู้สึกว่ามันไหม้ แล้วเขาก็จะเป่ามันให้ดับเสีย
  • การถ่ายทำฉากการไล่ล่าทางรถยนต์จำเป็นต้องมีการปิดถนนยาว 10 ช่วงตึก และมีการควบคุมการสัญจรในย่านที่มีการจราจรหนาแน่นอย่างไทม์สแควร์ และ ซิกธ์ อเวนิว ของนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ฉากนี้ใช้เวลาถ่ายทำ 3 สัปดาห์ โดยใช้กองถ่ายย่อย 2 กอง ส่วนรถยนต์ที่ใช้ ได้แก่ โรลส์รอยซ์ แฟนทอม ปี 1935, เมอร์ซีเดส แมกลาเรน เอสยูวี, พินโตปี 1976, เมอร์ซีเดส จีแอล500, เฟอร์รารี เอฟ30 รถแท็กซีสีเหลืองของนิวยอร์ก และรถขยะ
  • รถโรลส์รอยซ์ แฟนทอม ปี 1935 ที่ปรากฏในฉากการไล่ล่านั้น เป็นรถที่ผู้ประสานงานฝ่ายรถ ไมก์ แอนทูเนซ ใช้เวลา 6 สัปดาห์สร้างขึ้น โดยจำลองจากรถราคาแพงของนักแสดงที่ชื่นชอบรถโบราณอย่าง นิโคลัส เคจ ผู้รับบท บัลธาซาร์ เบลก
  • ผู้คอยดูแลรถคันนี้ระหว่างถ่ายทำ แดน ไดทริช เล่าว่า โรลส์รอยซ์ผลิตรถรุ่นแฟนทอมนี้ขึ้นมาประมาณ 2,000 คัน และเมื่อซื้อรถรุ่นนี้ในยุค 30 ผู้ซื้อจะได้เครื่องยนต์และโครงด้านนอกมา จากนั้นจะต้องเลือกคนมาสร้างตัวรถอีกที ทำให้รถคันนี้เป็นรถที่มีคันเดียวบนโลก
  • นักแต่งเพลง เทรเวอร์ ราบิน นำซิมโฟนี L'Apprenti Sorcier ของ พอล ดูกาส์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องนี้ มาดัดแปลงใหม่ให้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม มีการเปิดดนตรีดั้งเดิมของ พอล ในกองถ่ายด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศ และเพื่อใช้กะจังหวะที่แน่นอนในการถ่ายทำ
  • มีการอ้างอิงถึงแอนิเมชัน Fantasia (1940) หลายฉาก เช่น เงาบนผนังห้องทดลองของ เดฟ สตัตเลอร์ ที่รับบทโดย เจย์ บารูเชล ขณะสวมหมวก ดูคล้ายเงาของ มิกกี เมาส์ ตอนสวมหมวกพ่อมดปลายแหลม ส่วน เดฟ ยังสวมเสื้อที่มีสีแดงเหมือนเสื้อของ มิกกี เมาส์ และต้องรับมือกับน้ำท่วมและบรรดาไม้กวาดเช่นกัน นอกจากนี้ผู้ออกแบบงานสร้าง นาโอมิ โชฮัน ยังออกแบบฉากห้องทดลองใต้ดินให้คล้ายห้องในปราสาท และมีบันไดเหล็กในตำแหน่งเดียวกับบันไดหินในแอนิเมชัน
  • หัวหน้าฝ่ายสเปเชียลเอฟเฟกต์ มาร์ก ฮอว์กเกอร์ ติดตั้งระบบสูบน้ำและระบบระบายน้ำไว้ในฉากห้องทดลองใต้ดินที่ต้องถูกน้ำท่วม พวกเขาใช้เครื่องสูบน้ำดีเซลขนาด 6 นิ้ว 2 ตัว ปล่อยน้ำ 30,000 แกลลอนผ่านทางอ่างน้ำในห้องเข้ามาท่วมฉาก จากนั้นเมื่อหยุดถ่ายทำ พวกเขาจะใช้เครื่องสูบน้ำ 18 เครื่องดูดน้ำออกไปอย่างรวดเร็ว
  • หัวหน้าฝ่ายวิชวลเอฟเฟกต์ จอห์น เนลสัน เคยเป็นหัวหน้าพนักงานเดินตั๋วในโรงภาพยนตร์มาก่อน เขาจำได้ว่าที่โรงภาพยนตร์ฉายแอนิเมชัน Fantasia (1940) ต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเวลา 4-5 สัปดาห์ เขาจึงเคยชมแอนิเมชันเรื่องดังกล่าวมาแล้วนับร้อยครั้ง
  • ในฉากที่สิ่งของต้องขยับได้เหมือนมีชีวิตนั้น นอกจากจะใช้สิ่งของที่เป็นคอมพิวเตอร์กราฟฟิกแล้ว หัวหน้าแผนกวิชวลเอฟเฟกต์ จอห์น เนลสัน ยังให้ทีมงานที่สวมชุดรัดรูปสีเขียวถือสิ่งของจริงๆ เอาไว้ แล้วแสดงการเคลื่อนไหวของสิ่งของนั้นในฉากสีเขียว จากนั้นจึงใช้คอมพิวเตอร์แทรกฉากเข้าไปแทนที่สีเขียว ทำให้สิ่งของดูเหมือนเคลื่อนไหวได้เองจริงๆ
  • ผู้ออกแบบงานสร้าง นาโอมิ โชฮัน เปลี่ยนห้องโถงใหญ่ของตึกคูนาร์ด ปี 1919 ให้กลายเป็นฉากตลาดกัลกัตตาในปี 1847 ที่นี่เต็มไปด้วยฝุ่นคละคลุ้งและร้านรวงแนวอินเดีย ที่ขายทั้งตะกร้า เครื่องเทศ ผ้า ผลไม้ นก และมีนั่งร้านไม้ไผ่และผ้าส่าหรีตากอยู่ตามราว เมื่อถ่ายทำ ผู้สร้างเพิ่มลิง แพะ และกระทิงพราหมณ์บริสุทธิ์วัย 17 ปีที่ชื่อ แบนดิต กับนักแสดงประกอบอีกเกือบ 200 คนเข้าไปในฉากด้วย
  • ผู้ออกแบบงานสร้าง นาโอมิ โชฮัน ออกแบบตำราเวทมนตร์ เอนแคนทัส ให้ดูเหมือนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากมาย เธอนำหน้ากระดาษ 1,500 หน้ามาทำให้ดูเก่าแก่ และระบายสีด้วยมือทีละแผ่น ตำราฉบับหลักมีน้ำหนักถึง 75 ปอนด์ ส่วนฉบับจำลองที่หนัก 10 ปอนด์นั้นใช้ถ่ายทำฉากที่มีการปิดตำรา และยังมีฉบับที่กันน้ำและลอยน้ำได้อีกด้วย
  • แม็กซิม ฮอร์วัธ ตัวละครของ อัลเฟรด โมลินา สวมเสื้อผ้ายุค 20 ที่ดูดี ประกอบไปด้วยสูท เสื้อโค้ท รองเท้าหุ้มข้อ หมวกทรงสูง และหมวกอื่นๆ อีกไม่ซ้ำแบบ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ไมเคิล แคปแลน ตั้งใจใช้เนื้อผ้าเส้นใยเหล็กตัดเย็บเป็นเสื้อโค้ทติดขนสัตว์ให้ แม็กซิม เพราะเนื้อผ้านี้จะช่วยเพิ่มความลึกลับ และดูเหมาะกับการเล่นแร่แปรธาตุของตัวละคร เนื่องจากเส้นใยเหล็กสามารถใช้เป็นตัวนำไฟฟ้าได้
  • เนื่องจาก โมนิกา เบลลุชชี ต้องรับบทเป็นทั้ง เวโรนิกา และ เวโรนิกา ที่ถูกแม่มด มอร์แกนา เข้าสิง ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ไมเคิล แคปแลน สร้างความแตกต่างให้ทั้ง 2 ร่างของตัวละคร โดยให้ โมนิกา สวมคอนแทกเลนส์กระจกตอนที่ถูกสิงร่าง ส่วนเสื้อผ้าที่เธอต้องสวมนั้น มีทั้งเสื้อผ้าร่วมสมัยซึ่งเป็นลูกไม้ และมีเสื้อผ้ายุคกลาง 2 แบบ
  • ไมเคิล แคปแลน ออกแบบเกราะส่วนล่างของตัวละคร ซุนลก ที่รับบทโดย เกรกอรี วู โดยอ้างอิงจากของจริงที่เขาค้นคว้ามา นั่นคือประกอบไปด้วยแผ่นหนังกว่า 1,000 ชิ้นที่ถูกเย็บติดกันทีละแถว แต่เขาออกแบบให้ส่วนที่เหลือของเกราะแตกต่างจากของจริงเล็กน้อย จากนั้นแผนกเครื่องแต่งกายก็สร้างชุดเกราะนี้ออกมาเหมือนๆ กัน 2 ชุด
  • นอกจากชุดเกราะส่วนล่างแล้ว ตัวละคร ซุนลก ที่รับบทโดย เกรกอรี วู ยังมีเครื่องแต่งกายอย่างชุดคลุมแบบจีนที่วาดลวดลายด้วยมือ รองเท้าบูตที่สลักลวดลายแบบจีน กรงเล็บยาว ปลายหูเหล็ก และเกราะส่วนอกขนาดใหญ่ที่มีสัญลักษณ์รูปมังกร ซึ่งตามท้องเรื่อง มังกรนี้สามารถโลดแล่นมีชีวิตขึ้นมาได้ด้วยเวทมนตร์

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • Planes: Fire & Rescue - ตัวละครรถดับเพลิง พูลาสกี ที่ให้เสียงโดย แพทริก วอร์เบอร์ตัน ตั้งตามชื่ออุปกรณ์ดับเพลิงที่มีลักษณะเป็นขวานด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านเป็นจอบ โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้ตั้งตามผู้ประดิษฐ์นาม เอ็ด พูลาสกี อ่านต่อ»
  • Annabelle - วอร์ด ฮอร์ตัน แต่งชุดนักศึกษาแพทย์มาคัดตัวสำหรับแสดงบท จอห์น ซึ่งเป็นตัวละครที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ และสุดท้ายเขาก็ได้รับบทนี้ไป อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Light of My Life Light of My Life เมื่อไวรัสชนิดหนึ่งได้ทำให้ประชากรมนุษย์เพศหญิงของทั้งโลกเหลือเพียงแค่คนเดียว คนเป็นพ่ออย่างเขา (เคซีย์ เอฟเฟล็ก) จึงต้...อ่านต่อ»