เกร็ดน่ารู้จาก Legend of the Guardians: The Owls of Ga'Hoole

เกร็ดน่ารู้
  • สร้างจากหนังสือชุด Guardians of Ga'Hoole 3 เล่มแรก ที่มีชื่อตอนว่า The Capture, The Journey และ The Rescue เขียนโดย แคธริน ลาสกี หลังจากผู้อำนวยการสร้าง ลีโอเนล วิแกรม พบหนังสือชุด 15 เล่มชุดนี้ เขาก็รบเร้าให้ผู้อำนวยการสร้างบริหาร โดนัลด์ เดอ ไลน์ ได้อ่าน เพื่อสานงานสร้างด้วยกันต่อไป โดยพวกเขามอบหมายให้ จอห์น ออร์ลอฟฟ์ และ อีมิล สเติร์น เข้ามาดัดแปลงหนังสือเป็นบทภาพยนตร์
  • ผู้กำกับ แซก สไนเดอร์ ชอบผลงานของบริษัทวิชวลเอฟเฟกต์ แอนิมอล โลจิก จากภาพยนตร์ Happy Feet (2006) ในเรื่องนี้เขาได้ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอลกว่า 500 คนจากบริษัทดังกล่าว โดยผู้บริหารของ แอนิมอล โลจิก อย่าง ซาเรห์ นัลบันเดียน เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างด้วย
  • เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับ แซก สไนเดอร์ ที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แซก ตัดสินใจสร้างภาพยนตร์ครอบครัวเรื่องนี้ เพราะคำอ้อนวอนของลูกๆ ของเขา ที่อยากชมภาพยนตร์ที่คุณพ่อกำกับ
  • แคธริน ลาสกี ผู้เขียนหนังสือชุด Guardians of Ga'Hoole ที่เป็นต้นแบบของภาพยนตร์เรื่องนี้ เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหาร หลังจากชมภาพยนตร์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว เธอแสดงความพอใจโดยกล่าวว่า ผู้กำกับ แซก สไนดอร์ ยังคงเก็บเจตนารมณ์ทั้งหมดที่เธอสร้างเอาไว้ในภาพยนตร์
  • หลังจากผู้ออกแบบฉาก ไซมอน ไวต์ลีย์ ศึกษานกฮูกในถ้ำนกฮูกในประเทศอังกฤษ โดยถ่ายภาพนกฮูกแต่ละสายพันธุ์ขณะบิน วิ่ง กิน และอาบน้ำ ไซมอน สังเกตเห็นว่า นกฮูกแต่ละตัวมีบุคลิกแตกต่างกัน มีทั้งอารมณ์ดี อารมณ์เสีย โกรธ และเป็นมิตร เช่น นกฮูกแสกอังกฤษชื่อ ฟลัฟฟี ที่อยู่ในสถานที่พักฟื้นนกฮูก สครีช อาวล์ แซงก์ชัวรี ในประเทศอังกฤษนั้นเชื่อง ชอบอยู่กับผู้คน และให้คนสัมผัสตัวได้
  • ผู้สร้างพยายามสร้างร่างกายของนกฮูกอย่างสมจริง แต่ส่วนที่ดัดแปลงให้ต่างจากของจริงมากที่สุดคือดวงตา ซึ่งใช้แสดงอารมณ์ นกฮูกจริงๆ นั้นไม่สามารถเคลื่อนไหวดวงตาได้ พวกมันจึงขยับหัวไปรอบๆ มาก แต่หากตัวละครขยับหัวตลอดเวลา ผู้ชมก็จะรำคาญ ผู้สร้างจึงเพิ่มสีสันของตา การเคลื่อนไหวของดวงตา และการสะท้อนแสงเป็นประกายในตาให้ตัวละคร สำหรับแววตาของฝ่ายผู้ร้ายนั้น พวกเขาออกแบบให้ดูเหมือนสัตว์ป่า ขณะที่ดวงตาของฝ่ายดีมีความเป็นมนุษย์มากกว่าเล็กน้อย
  • จิม สเตอร์เจสส์ ผู้พากย์เสียง โซเรน ไม่เคยพากย์เสียงภาพยนตร์แอนิเมชันมาก่อน เมื่อเขาเริ่มพากย์เสียงไปสักพัก เขาจึงตระหนักว่าต้องควบคุมตัวเองไม่ให้ทำเสียงมากเกินจริง เพราะแม้เขาจะไม่ได้แสดงออกทางสีหน้าและแววตาเหมือนในภาพยนตร์คนแสดง แต่ตัวละครของเขาก็สามารถแสดงออกทางสีหน้าได้อย่างเพียงพอแล้ว
  • จิม สเตอร์เจสส์ เล่าว่าเขาพากย์เสียงเป็น โซเรน ขณะที่อยู่คนละทวีปกับผู้กำกับ แซก สไนเดอร์ โดยพวกเขาติดต่อกันทางโปรแกรมสไกป์ ทั้งตอนที่พูดคุยปรึกษากันและระหว่างที่บันทึกเสียง
  • ตัวละคร อีคิดนา ที่พากย์เสียงโดย แบร์รี ออตโต ไม่ได้อยู่ในหนังสือ Guardians of Ga'Hoole ที่เป็นต้นแบบของภาพยนตร์ แต่เป็นตัวละครที่ผู้กำกับ แซก สไนเดอร์ สร้างขึ้นเอง โดยบทบาทของ อีคิดนา คือผู้มีปัญญาที่ให้คำแนะนำแก่ตัวละครเอกที่ต้องออกเดินทาง
  • ผู้ที่พากย์เสียงเป็นลูกนกฮูก เอกแลนไทน์ คือ เอเดรียนน์ เดอฟาเรีย ซึ่งมีอายุเพียง 6 ปี และงานพากย์ชิ้นนี้เป็นงานแสดงครั้งแรกของเธอ
  • ผู้สร้างพยายามสร้างตัวละครนกฮูกให้มีพฤติกรรมเหมือนจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ พวกเขาจึงไม่ให้พวกมันใช้ปีกราวกับเป็นนิ้วหรือมือ แต่ให้ใช้กรงเล็บเท้าหยิบจับสิ่งของตามที่นกฮูกจริงๆ ทำ และแม้นกฮูกในภาพยนตร์จะใช้เครื่องไม้เครื่องมือหรืออาวุธได้ พวกเขาก็พยายามเลี่ยงการใช้วัตถุขั้นสูง เพื่อไม่ให้พวกมันเหมือนมนุษย์มากเกินไป
  • ผู้ดูแลการสร้างตัวละคร เดเมียน เกรย์ เล่าว่าผู้สร้างนำลักษณะจริงๆ ของนกฮูกมาใส่ไว้ในตัวละครของพวกเขา เช่น ขนบนหน้าที่แบนราบเหมือนจานรับสัญญาณ กล้ามเนื้อบนใบหน้าที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างของใบหน้าได้ คอที่พองออกและการหายใจเร็วๆ ที่ทำให้ร่างกายเย็นลง และนิ้วเท้า 3 นิ้วที่ชี้ไปด้านหน้าและอีกนิ้วอยู่ด้านหลัง หนึ่งในนิ้วเท้าหน้านั้นโค้งงอได้รอบทิศ จึงสามารถแยกนิ้วเป็น 2 นิ้วและ 2 นิ้วได้ขณะหยิบจับสิ่งของ
  • ผู้ออกแบบและตัดต่อเสียง เวย์น แพชลีย์ ศึกษาเสียงร้องของนกฮูกซึ่งแตกต่างหลากหลายไปตามสายพันธุ์ นอกจากเสียงร้องหวูดที่ทุกคนคุ้นเคยแล้ว บางพันธุ์ยังทำเสียงคล้ายพูดพึมพำ ขู่คำราม กระซิบกระซาบ หรือทำเสียงดังคลิก เวย์น นำเสียงเหล่านั้นมาแปลงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และทำให้เข้ากับบทสนทนา ซึ่งนักพากย์แต่ละคนก็นำเสียงนกฮูกที่ เวย์น ค้นคว้ามาไปเลียนแบบให้เข้ากับตัวละครอีกด้วย
  • ผู้ออกแบบงานสร้าง ไซมอน ไวต์ลีย์ จินตนาการว่าสิ่งก่อสร้างในเรื่องต้องสร้างจากเครื่องมือเครื่องใช้ของนกฮูก และไม่สร้างจากพื้นขึ้นมา เช่น ปราสาทของ เมทัล บีก ที่พากย์เสียงโดย โจล เอ็ดเกอร์ตัน นั้น สร้างโดยแกะสลักลงมาจากเพดานถ้ำขนาดยักษ์
  • เนื่องจากตัวละครหลักอย่างนกฮูกนั้นหากินตอนกลางคืน และฉากส่วนใหญ่ของเรื่องเกิดขึ้นตอนกลางคืน แสงในภาพส่วนใหญ่จึงเป็นแสงพระจันทร์ โดยผู้สร้างเพิ่มความเข้มของแสงให้มากกว่าพระจันทร์ปกติ โดยเฉพาะฉากพระจันทร์เต็มดวง นอกจากนี้พวกเขายังทำให้ฉากหลังมืดยิ่งขึ้น เพื่อให้นกฮูกดูโดดเด่นในฉาก
  • ผู้ออกแบบงานสร้าง ไซมอน ไวต์ลีย์ และผู้กำกับศิลป์ แกรนต์ เฟรกเคลตัน สร้างฉากต้นไม้ใหญ่อายุ 1,000 ปี โดยได้รับแรงบันดาลใจจากต้นบอนไซญี่ปุ่นที่แกะสลักให้ดูน่าสนใจ และมีต้นแบบเป็นต้นโอ๊ก ที่เสริมลักษณะของต้นยาง ต้นเฟิร์น และพุ่มเฟิร์นลงไปบนผิวนอก ต้นไม้นี้มีความกว้างประมาณ 5 เท่าของต้นสนเนื้อไม้สีแดง และมีโพรงที่เรียงรายกันมากมาย
  • ผู้กำกับแผนกพรีวิชวลไลเซชัน เดวิด สก็อตต์ อธิบายว่า เนื่องจากนกฮูกเคลื่อนที่เร็วและมีน้ำหนักเบา พวกเขาจึงสร้างภาพแอนิเมชันให้เสมือนถ่ายทำด้วยความเร็วกล้อง 48 เฟรมต่อวินาที เพื่อให้ทุกอย่างเคลื่อนที่ช้าลง ซึ่งจะเพิ่มน้ำหนักให้การแสดงมากขึ้น
  • ผู้กำกับ แซก สไนเดอร์ ให้คณะนักแสดงผาดโผนแต่งตัวเป็นนกฮูก โดยสวมชุดที่ทำจากกระดาษแข็ง และบางครั้งก็สวมโรลเลอร์สเก็ต แล้วลองแสดงฉากต่อสู้นั้นในโรงถ่ายภาพยนตร์ จากนั้นพวกเขาจึงนำภาพการแสดงนั้นมาออกแบบฉากต่อสู้ และดัดแปลงเป็นแอนิเมชันอีกที
  • เนื่องจากตัวละครเกือบทั้งหมดเป็นนกฮูก นักแต่งเพลง เดวิด เฮิร์ชเฟลเดอร์ จึงสร้างสรรค์เพลงประกอบภาพยนตร์โดยเน้นเสียงที่สะท้อนถึงธรรมชาติ เขาใช้เครื่องดนตรีทุกประเภททั้งดีดสีตีเป่าผสมกัน เพื่อสื่อถึงอารมณ์ของผืนฟ้าและการต่อสู้ และเขาใช้เสียงออเคสตราที่ได้จากการผสมเสียงของนักออกแบบเสียง เวย์น แพชลีย์ เพื่อสื่อถึงความน่าหลงใหลของเรื่องราว
  • เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับ แซก สไนเดอร์ ที่ไม่ได้รับเรตอาร์ โดยได้รับเรตพีจีแทน
  • จิม สเตอร์เจสส์ ผู้พากย์เสียง โซเรน ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ 3 มิติ เรื่องแรกที่เขารับชม

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • The Railway Man - นิโคล คิดแมน ผู้รับบท แพทตี รู้สึกสนใจร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้เนื่องจากแก่นเรื่องเกี่ยวกับการให้อภัย อ่านต่อ»
  • Under the Skin - ผู้ชายที่ถูก ลอรา ตัวละครที่แสดงโดย สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน ล่อลวงเข้าไปในรถตู้ ไม่ได้เป็นนักแสดง ผู้กำกับ โจนาธาน กลาเซอร์ ซ่อนกล้องไว้ที่รถ และบอกผู้ชายเหล่านั้นภายหลังว่าพวกเขากำลังจะปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Yesterday Yesterday เรื่องราวของ แจ็ก มาลิก (ฮิเมช พาเทล) นักร้องนักแต่งเพลงจากเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ริมทะเลในอังกฤษ ซึ่งต้องต่อสู้ฝ่าฟันเพ...อ่านต่อ»