รวมไม้ดอกจากนายเกษตร

1 ธ.ค. 53 13:25 น. / ดู 7,866 ครั้ง / 11 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
ข้อมูลไม้ดอกสวยๆ แปลกๆ นำมาจากคอลัมน์นายเกษตร นสพ ไทยรัฐ ค่ะ
ส้มเสี้ยว หรือ BAUHINIA MALABARICA, ROXB, RETUSA, ACUMINATA อยู่ในวงศ์ CAESALPINEAE เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบดกหนาทึบ ใบคล้ายใบชงโค รสเปรี้ยวเหมือนกับใบส้มป่อย ดอกสีขาวสวยงามมาก ผลเป็นฝักมีเมล็ด มีทั้งไม้เถาและไม้ต้น 

ชนิดไม้เถาเปลือกต้นยังใช้ทำเป็นปอได้ดีเพราะเหนียวมาก ทางยา ใบขยี้พอกรักษาแผลเปื่อย ขับระดูมีกลิ่นเหม็น ขับปัสสาวะ ขับเมือกเสมหะได้ เปลือกต้นรสฝาดปนเปรี้ยวต้มดื่มแก้ไอฟอกโลหิต ใบแก่ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคันตามตัวดีมาก ทางอาหาร ใบอ่อนกินเป็นผักสด ใส่ต้มปลา ต้มเนื้อ อร่อยมาก ผล กินได้รสฝาดปนเปรี้ยว
เลขไอพี : ไม่แสดง

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

#1 | nuer | 1 ธ.ค. 53 13:28 น.

ต้น พวงคราม จะเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง มีถิ่นกำเนิดจากหมู่เกาะเวสต์อินดีส และประเทศบราซิล ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์ในประเทศไทยบ้านเรานานมากแล้ว จนทำให้เข้าใจว่าเป็นไม้ไทยไปโดยปริยาย จะออกดอกชูช่อเป็นสีม่วงครามสวยงามมากในช่วงฤดูหนาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า PETREA VOLUBILIS LINN. อยู่ในวงศ์ VERBENACEAE ชื่อสามัญ PURPLE WREATH, QUEEN'S WREATH, SANDPAPER VINE มีชื่อภาษาไทยอีกคือ ช่อม่วง

ส่วน "พวงครามต้น" มีถิ่นกำเนิดจากรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์นานกว่า 2-3 ปีแล้ว มีข้อแตกต่าง จากพวงครามชนิดแรกคือ "พวงครามต้น" เป็นไม้ยืนต้น ไม่ใช่ไม้เถาเลื้อยอย่างชัดเจน มีความโดดเด่นหลายจุด เช่น ใบของ "พวงครามต้น" จะมีรูปทรงคล้ายใบ สะระแหน่ ที่นิยมรับประทานเป็นอาหาร แต่ไม่มีกลิ่นฉุนเป็นกลิ่นมิ้นต์เท่านั้นเอง ช่อดอกของ "พวงครามต้น" จะชูตั้งขึ้น ขนาดของช่อยาวมาก ดอกออกดกมาก จึงทำให้เวลามีดอกทั้งต้นดูงดงามน่ารักยิ่ง

พวงครามต้น อยู่ในวงศ์ VERBENACEAE เป็นไม้พุ่มยืนต้น สูงเต็มที่ระหว่าง 3-4 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาหนาแน่นเป็นรูปทรงกลมกว้าง เนื้อไม้แข็ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับถี่ตลอดทั้งกิ่งก้าน ใบเป็นรูปทรงรี กว้างเกือบกลมคล้ายใบ สะระแหน่ แต่ใบจะมีขนาดใหญ่กว่า ผิวใบหยาบสากมือและเป็นคลื่น แข็งและกรอบ สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อตั้งขึ้นตามซอกใบ และปลายยอด ช่อดอกยาวเกินครึ่งฟุต แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกเหมือนกับดอกของพวงครามชนิดเป็นไม้เถาเลื้อยทุกอย่าง เพียงแต่ขนาดของดอก "พวงครามต้น" จะใหญ่กว่า สีของกลีบดอกชั้นในจะเข้มข้นกว่าด้วย ดอกเป็นสีม่วงครามเช่นเดียวกัน เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น ช่อดอกจะชูตั้งขึ้นดูงดงามมาก "ผล" รูปทรงกลม ขนาดเล็กมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ มีเมล็ด ดอกออกช่วงฤดูหนาวเหมือนกับพวงครามชนิดที่เป็นเถาเลื้อย คือ ระหว่างเดือนตุลาคมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดไป ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง และตอนกิ่ง

ไอพี: ไม่แสดง

#2 | nuer | 1 ธ.ค. 53 13:35 น.

บุหงาหยิก ไม้ต้นนี้ พบขึ้นตามป่าดิบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย โดยจะขึ้นที่ระดับความสูงตั้งแต่ 200-800 เมตรขึ้นไป ตามรายงานแจ้งว่า "บุหงาหยิก" มีด้วยกัน 2 ชนิด และแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยคือ ใบมีขนาดเล็กหรือใหญ่ไม่เท่ากัน ซึ่งก็ยังมีรายงานอีกว่า "บุหงาหยิก" พบมีขึ้นในป่าดิบทางภาคใต้ด้วย แต่มีน้อยมาก จัดเป็นไม้หายากชนิดหนึ่งที่เพิ่งจะพบมีต้นวางขายเมื่อไม่นานมานี้ และ ผู้ขายยืนยันว่าเป็น "บุหงาหยิก"ต้นแท้และมีผู้เสาะหาไปปลูกประดับกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

บุหงา หยิก หรือ GONIOTHALAMUS SAWTEHII C.E.C. FISHER อยู่ในวงศ์ ANNONA-CEAE มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คือ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 4-6 เมตร เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดงเกือบดำ แตกกิ่งก้านน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มักมีใบเฉพาะที่บริเวณปลายยอด ใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายแหลม โคนเป็นรูปลิ่ม ใบอ่อนจะมีขนทั้ง 2 ด้าน เนื้อใบหนาสีเขียวสด

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามกิ่งก้านที่เป็นกิ่งแก่ มีกลีบดอก 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบชั้นใน เนื้อกลีบชั้นนอกหนาและดอกห้อยลง เมื่อดอกยังอ่อนเป็นสีเขียว และกลีบดอกจะบิดหรือหยิกมาก จึงเรียกว่า "บุหงาหยิก" เวลาดอกแก่หรือสุก สีของกลีบดอกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง หรือ สีเหลืองอมสีเขียวเล็กน้อย ดอกจะมีกลิ่นหอมแรงในช่วงใกล้โรย จึงทำให้เวลา "บุหงาหยิก" มีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมชื่นใจ ตอนกลีบดอกใกล้จะร่วงเป็นที่แปลกประหลาดมาก

ดอก ออกช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี "ผล" เป็นรูปกลม ติดผลเป็นพวง 6-10 ผล ผิวผลเรียบ ภายในมีเมล็ด เมื่อผลแก่ เป็นสีเขียวอมเหลือง ขยายพันธุ์ ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง การปลูก นิยมปลูกประดับทั่วไป เป็นไม้ชอบที่รำไรและชอบความชื้นสูง ดังนั้น หลังปลูกจึงต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอเช้าเย็น พร้อมบำรุงปุ๋ยที่เป็นปุ๋ยธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยขี้วัวขี้ควายแห้งโรยรอบโคนต้นอย่างน้อยเดือนละครั้ง

ไอพี: ไม่แสดง

#3 | nuer | 1 ธ.ค. 53 13:42 น.

ว่ากันว่า ถ้าใครเคยเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศออสเตรเลียในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายนของทุกปี จะพบต้น "ยูคาลิปตัสออสเตรเลีย" ที่ชาวออสเตรเลียนิยมปลูกประดับตามบ้าน สำนักงาน และตามริมทางเดินทั่วไป กำลังมีดอกบานสะพรั่งสวยงามตื่นตาตื่นใจมาก ซึ่งในประเทศไทยบ้านเราเพิ่งพบว่ามีผู้นำต้นกำลังติดดอกวางขายเมื่อไม่นานมา นี้ จึงรีบแนะนำให้รู้จักอีกตามระเบียบ

ผู้ขายบอกว่า "ยูคาลิปตัสออสเตรเลีย" มีชื่อเฉพาะภาษาอังกฤษว่า EUCALYPTUS FICIFOLIA มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ต้นสูงเต็มที่ไม่เกิน 5 เมตร เป็นไม้พื้นเมืองดั้งเดิมของประเทศออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาปลูกประดับและขยายพันธุ์ขายนานกว่า 4-5 ปีแล้ว

จาก การสังเกตต้นที่วางขายพอจะบรรยายลักษณะได้คือ "ยูคาลิปตัสออสเตรเลีย" แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มหนาแน่นมาก กิ่งอ่อนมักโน้มลง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีแกมขอบขนาน หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนเรียบ ก้านใบค่อนข้างยาว เป็นสีน้ำตาลแดง ผิวใบเรียบเป็นมัน เนื้อใบหนา ที่สำคัญใบจะมีความเป็นพิเศษคือ เมื่อไปโดนหรือขยี้จะมีกลิ่นหอมเป็นกลิ่นยูคาลิปตัส จึงถูกตั้งชื่อว่า "ยูคาลิปตัสออสเตรเลีย" ดังกล่าว

ดอก ออกเป็นช่อแบบแยกแขนงช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดใหญ่จำนวนมาก ลักษณะดอก โคนเชื่อมกันเป็นหลอดยาว ปลายดอกตอนยังตูมจะเป็นทรงกลมดูคล้ายดอกชมพู่มะเหมี่ยว เมื่อดอกบานจะไม่มีกลีบดอก แต่จะมีเกสรเป็นฝอยๆสีชมพูเข้มจำนวนมากเหมือนกับดอกของชมพู่ทั่วๆไป จึงทำให้เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้นดูสวยงามมาก "ผล" รูปทรงกลม ภายในมีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง

ไอพี: ไม่แสดง

#4 | nuer | 1 ธ.ค. 53 13:47 น.

คำมอกหลวงพม่า อยู่ในวงศ์เดียวกับคำมอกหลวงของไทย คือ RUBIACEAE มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม เป็นรูปรี ปลายแหลม โคนสอบป้านลึก ใบมีขนาดใหญ่ หน้าใบเป็นสีเขียวสด หลังใบเป็นสีเขียวหม่น และเส้นแขนงใบนูนเห็นชัดเจน

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามซอกใบ ลักษณะดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดสั้นกว่าโคนกลีบดอกของพุดนา ซึ่งจะยาวกว่ามาก ปลายแยกเป็นกลีบดอกจำนวน 7 กลีบ แยกเป็นอิสระกัน บางดอกผู้ขายแจ้งว่า สามารถ มีกลีบดอกได้ถึง 12 กลีบ รูปทรงของกลีบดอก โคนเรียวป้าน ปลายกลีบรูปกลมรีคล้ายรูปช้อน เนื้อกลีบดอกค่อนข้างหนาและแข็ง เมื่อแรกบานจะเป็นสีขาวนวลแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด ใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้ 6 อัน เป็นสีน้ำตาลแดง

ดอกมีกลิ่นหอมแรง ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าดอกพุดนา หรือคำมอกหลวงของไทยเยอะ ทำให้เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น แต่ละดอกมีกลีบดอกมากน้อยไม่ เท่ากันดูสวยงามและส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายทั่วบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ประทับใจมาก "ผล" เป็นรูปกระสวย มีเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง และเสียบยอด

ไอพี: ไม่แสดง

#5 | nuer | 1 ธ.ค. 53 13:52 น.

ส้านดอกขาว อยู่ในวงศ์ DILLENIACEAE เป็นไม้ยืนต้น สูงระหว่าง 7-10 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มหนาแน่นทรงกลมกว้าง เปลือกต้น เป็นสีเกือบดำ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรีจนถึงรูปไข่ ใบกว้างประมาณ 8-15 ซม. ยาว 15-30 ซม. ปลายใบมีทั้งเกือบมนและแหลมเล็กน้อย โคนมน มีครีบและยกตั้งขึ้น ขอบใบหยักชัดเจน ผิวใบสากมือเล็กน้อย ใบเป็นสีเขียวสด เวลาใบดกจะเป็นพุ่มหนาแน่นน่าชมมาก

ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อสามารถมีดอกย่อยได้ตั้งแต่ 4-5 ดอก หรือบางครั้งมีได้ถึง 18 ดอก ลักษณะดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นรูปช้อน แต่ละกลีบแยกเป็นอิสระกัน เนื้อกลีบดอกค่อนข้างหนา เป็นสีขาวสดใส ใจกลางดอกมีเกสรจำนวนมาก เกสรดังกล่าวเป็นสีม่วงแดงตัดกับสีขาวของกลีบดอกอย่างชัดเจน ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9-10 ซม. มีขนาดใหญ่กว่าดอกของ ส้านใหญ่ และ ส้านชวา มาก เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันทั้งต้น จะทำให้ดูสวยงามสดใสมาก

ผล รูปกลมแป้น เมื่อผลสุกเป็นสีส้มหรือสีแดง แตกเป็น 6 แฉก ภายในมีเมล็ด ดอกออกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีตอนกิ่ง

ไอพี: ไม่แสดง

#6 | nuer | 1 ธ.ค. 53 14:33 น.

พุดปาปัว อยู่ในวงศ์ RUBIACEAE เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สามารถสูงได้ถึง 3 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเยอะ เป็นพุ่มทรงกลมแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้ามก้านใบสั้น ใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายและโคนใบแหลม ผิวใบเรียบ สีเขียวเป็นมันเวลามีดอกจะเป็นพุ่มกว้างน่าชมมาก

ดอก ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย 1-3 ดอก มีกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน ลักษณะโคนเชื่อมกันเป็นหลอดสั้น ดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอดแคบยาว ปลายแยกเป็นกลีบดอก 6 กลีบ รูปกลีบดอกโคนเรียว ปลายกลีบมนกว้าง เนื้อกลีบดอกค่อนข้างหนา ใจกลางดอกมีเกสรตัวผู้และเส้าเกสรเห็นชัดเจน ดอกเมื่อแรกบานจะเป็นสีขาว หรือ ขาวปนเขียวอ่อน จากนั้นจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนและสีเหลืองเข้ม หรือ เหลืองทองในขั้นตอนสุดท้าย

ดอก เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดใหญ่มาก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-5 นิ้วฟุต ซึ่ง “พุดปาปัว” เป็นสายพันธุ์ที่ติดดอกง่ายและดอกดกตลอดทั้งปี ตามที่กล่าวข้างต้น จึงทำให้เวลามีดอกบานพร้อมกันทั้งต้น ดูสวยงามตั้งแต่ดอกเป็นสีขาวจนกระทั่งเป็นสีเหลืองทอง พร้อมส่งกลิ่นหอมเป็นที่ชื่นใจมาก “ผล” รูปกลมรี มีสันตามยาว ภายในมีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วย เมล็ด ตอนกิ่ง และเสียบยอด ปลูกได้ในดินทั่วไป สามารถปลูกลงกระถางขนาดใหญ่ตั้งประดับในที่แจ้ง ทำทางระบายน้ำก้นกระถางให้ดี อย่าให้มีน้ำท่วมขังเด็ดขาด หรือปลูกประดับลงดินกลางแจ้ง รดน้ำพอชุ่มเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยขี้วัวขี้ควายแห้งโรยรอบโคนต้นเดือนละครั้ง สลับกับปุ๋ย 16-16-16 ครึ่งเดือนครั้ง

ไอพี: ไม่แสดง

#7 | nuer | 1 ธ.ค. 53 14:37 น.

การขยายพันธุ์ชวนชมในปัจจุบันนิยมใช้วิธีเขี่ยเกสรมากกว่าวิธีอื่น เนื่องจากเมื่อได้ลูกไม้ใหม่ ออกมาสีของดอกจะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกับสายพันธุ์เดิมๆที่พบเห็นจนชิน ตา ที่สำคัญกลีบของ ดอกจะต้องซ้อนกันอย่างน้อย 2 ชั้นขึ้นไป ซึ่ง "ชวนชมเหลืองสยาม" เป็นตัวใหม่ที่เกิดจากการเขี่ยเกสรโดย ฝีมือเจ้าของ "สวนชวนชมหัสดี" ตั้งอยู่คลอง 10 อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี แต่เจ้าของไม่ได้ระบุว่า "ชวนชมเหลืองสยาม" เกิดจากการเขี่ยเกสรผสมกันระหว่างพันธุ์ไหน

เมื่อ ได้ลูกไม้ใหม่ออกมาและปลูกเลี้ยงจนมีดอก ปรากฏว่ากลีบดอกซ้อนกันถึง 3 ชั้น ดอกมีขนาดใหญ่ สีของกลีบดอกแปลกตาเป็นสีเหลืองปนเขียวอ่อน และที่จัดว่าเด่นที่สุดได้แก่ ร่องกลางกลีบดอกจะมีแต้มสีแดงอมชมพูแทงขึ้นจากโคนกลีบลากยาวไปจดปลายกลีบดอก ดูสวยงามมาก เจ้าของ จึงตั้งชื่อชวนชมชนิดนี้ว่า "ชวนชมเหลืองสยาม" พร้อมขยายพันธุ์นำออกจำหน่ายให้ผู้สนใจซื้อไปปลูกประดับช่วงระหว่างต้นเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ชวนชมเหลืองสยาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ เหมือนกับชวนชมทั่วไปคือ ADENIUM OBESUM (FORSK) ROEM-SCHULT. อยู่ในวงศ์ APOCYNACEAE ชื่อสามัญ PINK BIGNONIA, MOCK AZALEA, DESERT ROSE, LMPALA LILY ลักษณะเป็นไม้พุ่มสูง 1-1.5 เมตร ลำต้นกลม ผิวต้นเกลี้ยง เป็นมัน สีเขียวปนเทา ทุกส่วนของต้นมียางขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับถี่บริเวณปลายยอด ใบเป็นรูปช้อน ปลายมนกว้าง โคนเรียว ก้านใบสั้น แผ่นใบค่อนข้างหนา สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยหลายดอก ดอกจะทยอยบานครั้งละ 3-4 ดอก ลักษณะดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเรียงซ้อนกัน 3 ชั้น โดยกลีบดอกด้านนอกสุดจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบที่อยู่ถัดเข้าไปตามลำดับ กลีบดอกเป็นรูปกลมมน เป็นสีเหลืองปนสีเขียวอ่อน และที่โดดเด่นคือร่องกลางกลีบดอก จะมีแต้มสีแดงอมชมพูลากขึ้นจากโคนกลีบดอกไปจนจดปลายกลีบ ตามที่กล่าวข้างต้น ทำให้เวลามีดอกดกและดอกบานพร้อมกันดูสวยงามมาก "ผล" เป็นฝัก มีเมล็ดจำนวนมาก ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปักชำกิ่ง ตอนกิ่ง และเสียบยอด

ไอพี: ไม่แสดง

#8 | nuer | 1 ธ.ค. 53 14:52 น.

ไม้ต้นนี้ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ ปาหนันหอม โดยพบขึ้นทั่วไปตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 100-400 เมตร ขึ้นไป ส่วน "ปาหนันอ่างฤาไน" พบขึ้นจากแหล่งเดียวกัน และมีขึ้นตามป่าในภาคอื่นบ้างประปราย ซึ่งไม้ในตระกูลนี้จะมีดอกในช่วงระหว่างเดือนเมษายน ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี มีลักษณะเด่นคือ เวลามีดอกจะส่งกลิ่นหอมในตอนกลางคืนเป็นที่ชื่นใจมาก เป็นไม้ที่สามารถปลูกประดับในพื้นที่รำไรได้ โดยเฉพาะปลูกในบริเวณบ้านด้านเหนือลม หรือปลูกใกล้ๆกับหน้าต่างห้องนอน เมื่อถึงฤดูกาลมีดอกตอนกลางคืนจะส่งกลิ่นหอมให้ลมพัดโชยเข้าสู่ห้องนอนทำให้รู้สึกเป็นธรรมชาติดียิ่งนัก

ปาหนัน อ่างฤาไน เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงระหว่าง 2-5 เมตร แตกกิ่งก้านน้อย เป็นพุ่มโปร่ง เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลคล้ำ เรือนยอดเป็นรูปกรวยคว่ำ เนื้อไม้เหนียว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นรูปขอบขนาน ปลายและโคนใบแหลม สีเขียวสด

ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวๆตามซอกใบ หรือออกเหนือรอยแผลใบ มีกลีบดอก 3 กลีบ ดอกห้อยลง ก้านดอกใหญ่และยาว มีกลีบเลี้ยงรูปไข่ปลายแหลมสีเขียวสด เนื้อกลีบดอกหนา เมื่อแรกบานจะเป็นสีเหลือง จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีขาวอมเหลือง กลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปหอก ดอกมีกลิ่นหอมแรงตั้งแต่ พลบค่ำต่อเนื่องไปจนถึงเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น จากนั้นกลิ่นจะจางหายไป

ดอก เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 ซม. ดอกออกช่วงฤดูร้อนตั้ง แต่เดือนเมษายน ไปจนถึงเดือนกรกฎาคมทุกปี "ผล" เป็นกลุ่ม มีผลย่อย 4-8 ผล เปลือกผลเรียบ เมื่อแก่จะเป็นสีเหลืองอมเขียว มีเมล็ด 1 เมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และตอนกิ่ง ปลูกได้ในดินทั่วไป ซึ่งนอกจากสามารถปลูกในพื้นที่รำไรได้ ปลูกลงกระถางมีดอกได้ รดน้ำเช้าเย็น บำรุงปุ๋ยคอกสลับกับปุ๋ยสูตร 16-16-16 เดือนละครั้ง จะทำให้มีดอกสวยงามและส่งกลิ่นหอมเป็นที่ชื่นใจ เมื่อถึงฤดูกาลมีดอก

หมายเหตุชื่อ "ปาหนันอ่างฤาไน" ค้นในบันทึกพันธุ์ไม้ไทยไม่พบ แต่จากลักษณะดอกต้นและใบเหมือนกับปาหนันหอมทุกอย่าง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นปาหนันหอมชนิดหนึ่ง

ไอพี: ไม่แสดง

#9 | nuer | 1 ธ.ค. 53 14:58 น.

คนส่วนใหญ่จะรู้จักและเคยพบเห็นต้นตะเบ เฉพาะชนิดที่มีต้นสูงใหญ่ มีดอกบานเฉพาะช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนของทุกปี เวลามีดอกแต่ละทีสีของดอกเป็นสีชมพูอ่อนๆ บานสะพรั่งทั้งต้นจะสวยงามมาก ซึ่งตะเบที่กล่าวนี้มี

ถิ่นกำเนิดจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ประเทศไทยนำเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์ขายนานกว่า 50-60 ปีแล้ว โดยเรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า "ชมพูพันธุ์ทิพย์" หรือ "ชมพูอินเดีย" และ "ธรรมบูชา" ได้รับความ นิยมปลูกกันแพร่หลาย เพราะตะเบสายพันธุ์นี้เป็นไม้ชอบดูดอากาศเสียจำพวกคาร์บอนไดออกไซด์ดีกว่า ไม้ยืนต้นชนิดอื่น  สามารถฟอกอากาศให้ บริเวณใกล้เคียงบริสุทธิ์ขึ้น  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า TABEBUIA  ROSEA  (BERTOL.)  DC.  อยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE ชื่อสามัญได้แก่ PINK TRUMPET TREE ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ส่วน ต้น "ตะเบเตี้ย" เป็นไม้ใหม่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย มีลักษณะแตกต่างจากตะเบที่กล่าวข้างต้น หรือ "ชมพูพันธุ์ทิพย์" คือ ต้นของ "ตะเบเตี้ย" สูงเต็มที่ไม่เกิน 3 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแน่น เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลเทา หรือน้ำตาลแดง ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย 3-5 ใบ เป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายและโคนใบแหลม ก้านใบเป็นสีน้ำตาลแดง เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเรียบเป็นสีเขียวสด เวลาแตกกิ่งก้านเยอะๆและมีใบดกจะเป็นพุ่มน่าชมยิ่ง

ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนหลายดอก ลักษณะดอกโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีม่วงเข้ม ดอก เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ซม. มีเกสรตัวผู้ 4 อัน ดอกมักร่วงง่ายตามสายพันธุ์ ของไม้ชนิดนี้ แต่ดอกของ "ตะเบเตี้ย" จะมีได้เรื่อยๆ เกือบทั้งปี ต่างจากดอกของตะเบชื่อ "ชมพูพันธุ์ทิพย์" ที่มีดอกเฉพาะช่วง ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ปลูกได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ชอบแดดจัด ทนแล้งได้ดี เหมาะจะปลูกเป็นไม้ ประดับทรงพุ่มในบริเวณบ้าน สำนักงาน สวนสาธารณะทั่วไป หลังปลูกดูแลรดน้ำบำรุงปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอในตอนแรก เมื่อต้น "ตะเบเตี้ย" ตั้งตัวได้ สามารถปล่อยให้เทวดาเลี้ยงเองได้

ไอพี: ไม่แสดง

#10 | อะจึ๊ยยยยย. | 11 ธ.ค. 53 11:56 น.

ชวนชมเหลืองสยามสวยมากค่ะ : }

ไอพี: ไม่แสดง

#11 | sujae_fonปิ๊ง* (ไม่เป็นสมาชิก) | 17 ธ.ค. 53 23:52 น.

ขอบคุณค่ะ ที่บ้านมีส้านชวาดอกเหลือง

ไอพี: ไม่แสดง

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google