นพ.จอม ชุมช่วย แนะใช้จิตวิทยาเด็กสร้างความสุขอย่างยั่งยืน กับบทความ “เติบใหญ่..ไปกับความสุขที่ยั่งยืน”

30 ต.ค. 58 10:40 น. / ดู 411 ครั้ง / 0 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
นพ.จอม ชุมช่วย แนะใช้จิตวิทยาเด็กสร้างความสุขอย่างยั่งยืน
กับบทความ “เติบใหญ่..ไปกับความสุขที่ยั่งยืน”

        นายแพทย์จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการมีรักคลิก แนะปัญหาสังคมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้แก้ไขได้ หากสถาบันครอบครัวแข็งแรง พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวใส่ใจและมอบความรักความเข้าใจให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเยาว์วัย จะสามารถเติมเต็มความรู้สึกขาดความรักในจิตใจ เพิ่มภูมิคุ้มกัน และผลักดันให้เด็กมีความต้องการจะเป็นคนดีและปกป้องผู้อื่น จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพพร้อมดูแลคนรอบข้างและสังคมต่อไป วันนี้ นพ.จอม จึงนำเสนอบทความพิเศษเพื่อแนะนำพ่อแม่เปิดมุมมองการเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยเทคนิคง่ายๆที่ใช้เพียงความใกล้ชิดและช่างสังเกตความรู้สึกและพฤติกรรมเด็ก เพื่อการพัฒนาจิตใจและบุคลิกภาพให้เด็กๆได้เติบโตไปกับความสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
พ่อแม่ย่อมปรารถนาให้ลูกมีความสุข แต่ความสุขในมุมมองของพ่อแม่แต่ละคนอาจแตกต่างกัน หลายคนเชื่อว่าการมอบสิ่งดีๆหรือสิ่งที่ลูกต้องการนั่นคือการให้ความสุขกับลูกซึ่งก็น่าจะเพียงพอแล้ว บางครอบครัวพ่อแม่พร้อมเสมอที่จะป้องกันและแก้ไขไม่ให้ลูกต้องเผชิญกับอุปสรรคและคิดว่านั่นคือหนทางแห่งความสุขของลูก แท้จริงแล้วพ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกมีความสุข สามารถยืนหยัด และรู้สึกดีกับตัวเองได้ นั่นน่าจะเป็นความสุขที่ยั่งยืนมากกว่า

พ่อแม่จะทำอย่างไรให้ลูกมีความสุข..
ประการแรก พ่อแม่เองมีความสุข

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ชัดว่าเด็กที่มีความสุขและมองโลกในแง่ดี มาจากครอบครัวที่มีความสุขและมองโลกในแง่ดี โดยทั่วไปแล้วความสุขเป็นอารมณ์ที่สามารถเชื่อมโยงและถ่ายทอดกันได้ หากเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีแต่รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เราเองก็พลอยที่จะรู้สึกเช่นนั้นไปด้วย งานวิจัยทางสมองเองก็ช่วยยืนยันข้อเท็จจริงประการนี้โดยชี้ว่าในสมองของมนุษย์มี Mirror Neurons ซึ่งเป็นส่วนในการรับรู้และเลียนแบบ หากพ่อแม่ตระหนักความสำคัญในประการนี้ และรับรู้ได้ว่าตนเองไม่มีความสุขเท่าที่ควร พ่อแม่เองคงต้องหาทางปรับปรุง จัดการ หรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพื่อให้พ่อแม่มีความสุขซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของความสุขของลูก

ประการต่อมา ความสัมพันธ์ที่ดี
ความผูกพันที่มั่นคงระหว่างพ่อแม่กับลูกเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง ที่จะทำให้เด็กมีความรู้สึกดีกับตัวเอง มีความมั่นคงทางอารมณ์ เนื่องจากตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งเติบโตขึ้นมาเด็กมีความต้องการหลายอย่างทั้งร่างกายและจิตใจ แต่เด็กไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และเรียนรู้ที่จะค่อยๆช่วยเหลือตัวเองตามช่วงวัย การตอบสนอง สนับสนุนอย่างเหมาะสมและคาดการณ์ได้จากพ่อแม่ จะช่วยให้เด็กพัฒนาความรู้สึกดีต่อตัวเอง และมีความมั่นคงทางอารมณ์ ตลอดจนรู้จักสัมพันธ์กับคนอื่นได้เป็นอย่างดี
เด็กที่เติบโตมาด้วยความผูกพันที่มั่นคงนั้น นอกจากเขาจะรู้สึกดีกับตัวเองจากความรักที่เขาได้รับแล้ว เขายังสามารถที่จะเผื่อแผ่ความรักและใส่ใจคนรอบข้างอีกด้วย เด็กที่มีความผูกพันที่ดีกับพ่อแม่ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างมีแนวโน้มที่จะมีความรับผิดชอบและเชื่อฟังพ่อแม่ เมื่อเขาโตขึ้นเขาก็จะเป็นประชากรที่ดีของสังคมและใส่ใจกับความเป็นไปของคนรอบข้าง

ประการที่สาม สนับสนุนการเล่น
การเล่นมีความสำคัญกับเด็ก นอกจากเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งแล้ว หากพ่อแม่สนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับวัยจะช่วยพัฒนาคุณลักษณะหลายอย่างในตัวเด็กเช่น การรู้จักแก้ไขปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความยืดหยุ่น การเห็นภาพรวมและตรรกะ ภาษาและการสื่อสาร สติและสมาธิ นอกจากนี้แล้วหากพ่อแม่มีโอกาสที่จะเล่นกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ยังจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกอีกด้วย
มีงานวิจัยในปัจจุบันพบว่า เด็กในยุคนี้มี “การเล่นอย่างอิสระ” (Unstructured Play) ลดลงอย่างมาก ซึ่งสัมพันธ์กับการมีพัฒนาการทางความคิดและอารมณ์ของเด็กที่ไม่สมวัย พ่อแม่จึงควรสนับสนุนการเล่นที่เปิดอิสระทางความคิดของลูก และหาเวลาเล่นกับลูกอย่างมีความสุขและสนุกสนาน

ประการที่สี่ ช่วยให้ลูกรับรู้และจัดการกับอารมณ์
ทักษะในการรับรู้และจัดการกับอารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดตัวแต่กำเนิด ในชีวิตจริงแล้วเด็กๆย่อมประสบกับอุปสรรคและก่อให้เกิดอารมณ์ในเชิงลบอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ หากเด็กสามารถจัดการได้เป็นอย่างดีเขาก็จะสามารถข้ามผ่านและเติบโตขึ้น แต่หากเด็กๆไม่มีโอกาสเรียนรู้และจัดการอารมณ์เชิงลบอย่างมีประสิทธิภาพ อารมณ์เหล่านั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น หรืออาจบ่มเพาะเป็นบุคลิกภาพที่ยากจะเยียวยาในวัยผู้ใหญ่ได้
พ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้โดยพัฒนาทักษะในการฟังด้วยความใส่ใจ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดและความรู้สึก พ่อแม่สามารถสะท้อนความรู้สึกให้เด็กตระหนักรู้ความรู้สึกของตนเอง และเพื่อให้เด็กรับรู้ว่าพ่อแม่มีความเห็นอกเห็นใจต่อความรู้สึกเหล่านั้น และพ่อแม่เชื่อมั่นว่าลูกจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง
      เด็กที่สามารถรับรู้และจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ จะเติบโตเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์และมีความสุขในที่สุด



ประการที่ห้า การชื่นชมอย่างเหมาะสม
มีงานวิจัยที่พบความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับความภาคภูมิใจในตนเอง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีอย่างใดอย่างหนึ่งโดยลำพังเพราะสองสิ่งนี้ต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กเริ่มมาจากการได้รับการชื่นชมและยอมรับจากพ่อแม่ หากความสำเร็จและคุณลักษณะของเด็กได้รับการชื่นชมอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง เมื่อเด็กโตขึ้น เด็กสามารถมีความรู้สึกดีและมีความภาคภูมิใจได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพิงการยอมรับจากภายนอก
การชมที่มีประสิทธิภาพควรเป็นการชมที่มาจากความรู้สึกที่แท้จริงของพ่อแม่ ร่วมกับชี้ให้เห็นพฤติกรรมที่เด็กทำอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีพ่อแม่ส่วนใหญ่มักเคยชินกับการชมลูกกับความสำเร็จ ความเก่ง ซึ่งนับเป็นอันตรายอย่างหนึ่งเพราะลูกอาจรู้สึกว่าพ่อแม่จะให้การยอมรับเมื่อเขาทำได้สำเร็จหรือทำได้ดีเท่านั้น เด็กที่รู้สึกว่าตนเองทำไม่ได้ตามความคาดหวังของพ่อแม่มักลงเอยด้วยการดูถูกตนเอง รู้สึกไร้ค่า และมีปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้ พ่อแม่ควรเปิดใจกว้างที่จะชมลูกกับคุณลักษณะที่สำคัญ เช่น ความพยายาม ความตั้งใจ ความมีน้ำใจ ความคิดสร้างสรรค์ ความเห็นอกเห็นใจ ความเสียสละ เป็นต้น เพราะคุณสมบัติเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับ และมีความสุข ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า

ประการที่หก สร้างวินัยโดยคำนึงความคิดและความรู้สึกของลูก
วินัยและความรับผิดชอบเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถควบคุมตนเองไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ และการประสบความสำเร็จเหล่านั้นนำมาซึ่งการยอมรับของผู้คนรอบข้าง ความรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับ สิ่งที่ตนเองทำมีคุณค่าจะนำมาซึ่งความสุข
การมีกฎเกณฑ์และมีความคาดหวังที่จะให้เด็กมีความรับผิดชอบตามวัยมีความสำคัญ แต่ในหลายครั้งเด็กไม่สามารถทำได้ตามข้อตกลงเหล่านั้น พ่อแม่หลายคนจัดการด้วยการดุ พร่ำบ่น เปรียบเทียบ ประชดประชัน หรือตี สิ่งเหล่านั้นนอกจากจะไม่ช่วยให้เด็กยอมรับและทำตามแล้วกลับจะทำให้เด็กรู้สึกต่อต้าน ก้าวร้าว และมีปัญหาอารมณ์ต่างๆร่วมด้วย พ่อแม่ควรจัดการสถานการณ์โดยเริ่มจากการรู้จักอารมณ์ตนเองก่อน เมื่อสามารถสงบได้แล้วจึงมาจัดการกับลูก สิ่งสำคัญคือพ่อแม่สามารถแสดงความเข้าใจอารมณ์ลูกได้แต่ลูกก็ยังต้องมีความรับผิดชอบ เช่น เมื่อลูกโมโห ไม่ยอมทำการบ้านและขว้างสมุดลงพื้น พ่ออาจพูดด้วยท่าทีที่สงบว่า “พ่อรู้ว่าหนูหงุดหงิดและไม่อยากทำการบ้าน สมุดมีไว้สำหรับเขียน ลูกโยนสมุดแบบนั้นไม่ได้”




ประการที่เจ็ด เปิดโอกาสให้ลูกให้เผชิญกับทั้งความสำเร็จและล้มเหลว
แน่นอนว่าความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมักมาจากความสำเร็จของเด็ก แต่ภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่มักมาจากความสำเร็จที่ผ่านอุปสรรคและขวากหนาม ชีวิตที่เรียบง่ายและสมบูรณ์พร้อมอาจไม่ส่งเสริมให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในการแก้ปัญหาและรู้สึกดีต่อตนเองเท่าไหร่นัก พ่อแม่สามารถช่วยให้เด็กมีโอกาสเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากและมีความเสี่ยงอยู่บ้างตามความเหมาะสม ในสถานการณ์ง่ายๆ อาทิ เมื่อลูกซ้อมปั่นจักรยาน 2 ล้อ พ่อแม่ยอมให้ลูกล้มลง และให้กำลังใจเพื่อให้ลูกสามารถลุกขึ้นมาซ้อมต่อได้ หรือเมื่อลูกต้องไปเข้าค่ายพักแรม นอนเต็นท์กับเพื่อน ลูกอาจมีความกังวลแต่พ่อแม่ก็พร้อมจะรับฟังลูกและสนับสนุนให้ลูกได้ไป
สถานการณ์เหล่านี้ก็อาจไม่ง่ายสำหรับพ่อแม่ที่จะเผชิญกับความรู้สึกกังวลของตนเอง แต่หากพ่อแม่สามารถจัดการความกังวลของตนเองได้ และสนับสนุนลูกให้เผชิญกับความยากลำบาก ลูกจะรู้สึกดีกับตัวเองอย่างแน่นอน แม้ในบางสถานการณ์เด็กไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ หากพ่อแม่สามารถพูดคุยและชี้ให้เห็นข้อดีที่เกิดจากสถานการณ์นั้นๆ เด็กจะมีภูมิคุ้มกันต่อความล้มเหลวและกล้าที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในอนาคตได้

...หลักเจ็ดประการข้างต้น พ่อแม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้และปรับไปใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละครอบครัว เชื่อได้ว่าเด็กจะเติบโตขึ้นพร้อมด้วยความสุขและความมั่นใจในตนเอง โดยไม่ละทิ้งความสุขของคนรอบข้าง ซึ่งความสุขในรูปแบบนี้เชื่อได้ว่าจะเป็นความสุขที่ยั่งยืน
แก้ไขล่าสุด 30 ต.ค. 58 10:40 | เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 7

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google