เปิดประวัติโดยย่อ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

15 ก.พ. 60 17:18 น. / ดู 7,431 ครั้ง / 0 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 ภาพจาก ไทยรัฐ

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 60 เวลา 18.34 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระราชโองการสถาปนา "สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร)" เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 20 โดยมีพระนามเต็ม ที่จารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏ คือ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10 ในพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

          "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรงสกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุตปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทรชินวรมหามุนีวงศานุศิษฎ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช"


พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระสังฆราช ภาพจาก VoiceTV

คำอ่านพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ ที่ถูกต้อง
๑. สม-เด็ด-พระ-อะ-ริ-ยะ-วง-สา-คะ-ตะ-ยาน
๒. สุ-ขุม-ทำ-มะ-วิ-ทาน-ทำ-รง
๓. สะ-กน-ละ-มะ-หา-สง-คะ-ปะ-ริ-นา-ยก
๔. ตรี-ปิ-ดก-ทะ-รา-จาน
๕. อำ-พะ-รา-พิ-ทาน-สัง-คะ-วิ-สุด
๖. ปา-พด-จะ-นุด-ตะ-มะ-สาด-สะ-นะ-โส-พน
๗. กิด-ติ-นิ-ระ-มน-คุ-รุ-ถา-นี-ยะ-บัน-ดิด
๘. วะ-ชิ-รา-ลง-กอน-นะ-ริด-ปะ-สัน-นา-พิ-สิด-ตะ-ประ-กาด
๙. วิ-สา-ระ-ทะ-นาด-ทำ-มะ-ทู-ตา-พิ-วุด
๑๐. ทด-สะ-มิน-สม-มุด-ปะ-ถม-สะ-กน-ละ-คะ-นา-ทิ-เบด
๑๑. ปะ-วิด-ทะ-เนด-ตะ-โย-พาด-วาด-สะ-นะ-วง-สะ-วิ-วัด
๑๒. พุด-ทะ-บอ-ริ-สัด-คา-ระ-วะ-สะ-ถาน
๑๓. วิ-บูน-สี-ละ-สะ-มา-จาน-ระ-วัด-วิ-ปัด-สะ-นะ-สุน-ทอน
๑๔. ชิน-นะ-วอน-มะ-หา-มุ-นี-วง-สา-นุ-สิด
๑๕. บอ-วอน-ทำ-มะ-บอ-พิด
๑๖. สม-เด็ด-พระ-สัง-คะ-ราด



ภาพหนังหนังสือที่ระลึกจากงานสถาปนา ข้างในระบุความหมายพระนามองค์สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

พระนาม และ คำแปลความหมาย พระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ
๑. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ: สมเด็จพระผู้มีญาณสืบมาแต่วงศ์พระอริยเจ้า
๒. สุขุมธรรมวิธานธำรง: ทรงเป็นผู้มีธรรมวิธีอันละเอียดอ่อน
๓. สกลมหาสังฆปรินายก: ทรงเป็นผู้นำพระสงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งปวง
๔. ตรีปิฎกธราจารย: ทรงเป็นอาจารย์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม คือ พระไตรปิฎก
๕. อัมพราภิธานสังฆวิสุต: ปรากฏพระนามฉายาในทางสงฆ์ว่า อมฺพโร
๖. ปาพจนุตตมสาสนโสภณ: ทรงงดงามในพระศาสนาด้วยพระปรีชากว้างขว้างในพระอุดมปาพจน์ คือ พระธรรมวินัย
๗. กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต: ทรงดำรงพระเกียรติโดยปราศจากมลทิน และ ทรงเป็นครู
๘. วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ: สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาด้วยเหตุที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส
๙. วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ: ทรงเป็นที่พึ่งผู้แกล้วกล้าและมีพระปรีชาฉลาดเฉลียว ทรงเป็นผู้ยังความเจริญแก่กิจการพระธรรมฑูต
๑๐. ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร: ทรงเป็นใหญ่ในสงฆ์ทั้งปวง(คือทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช) พระองค์แรกที่ได้รับสถาปนาในรัชกาลที่ ๑๐
๑๑. ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ: ทรงยังแสงสว่างแห่งแบบอย่างอันดีงามให้บังเกิด โดยเจริญรอยตามสมเด็จพระอุปัชฌายะคือสมเด็จพระสังฆราช(วาสนมหาเถร)
๑๒. พุทธบริษัทคารวสถาน: ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของพุทธบริษัท
๑๓. วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร: ทรงงดงามในพระวิปัสสนาธุระ ทรงพระศีลาจารวัตรอันไพบูลย์
๑๔. ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ: ทรงเป็นอนุศิษย์ผู้สืบวงศ์สมณะมาแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
๑๕. บวรธรรมบพิตร: ทรงเป็นเจ้าผู้ประเสริฐในทางธรรม
๑๖. สมเด็จพระสังฆราช: ทรงเป็นราชาแห่งหมู่สงฆ์



ภาพตราสัญลักษณ์สมเด็ตพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 ภาพจาก มติชน

---------


ประวัติ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 อย่างย่อ


          สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เดิมชื่อ อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

การบรรพชาอุปสมบท
พ.ศ. 2480 บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์

          สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2483 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้น พ.ศ. 2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโทและ พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เมื่อพ.ศ. 2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

          ภายหลังอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2491 ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ.2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. ๒๔๙๓ สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค

พ.ศ. 2500 เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์

พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ

ตำแหน่งปัจจุบัน
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
กรรมการมหาเถรสมาคม
กรรมการคณะธรรมยุต
กรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต
ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)
แม่กองงานพระธรรมทูต


สมณศักดิ์
พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี
พ.ศ. 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี
พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์
พ.ศ. 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์
พ.ศ. 2543 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ
พ.ศ. 2552 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์


          ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาด้วยเหตุที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส ทรงเป็นที่พึ่งผู้แกล้วกล้าและมีพระปรีชาฉลาดเฉลียว ทรงเป็นผู้ยังความเจริญแก่กิจการพระธรรมทูต ทรงเป็นใหญ่ในสงฆ์ทั้งปวง (คือทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช) พระองค์แรกที่ได้รับพระราชทานสถาปนาในรัชกาลที่ 10 ทรงยังแสงสว่างแห่งแบบอย่างอันดีงามให้บังเกิด


19 สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภาพจาก manager


#สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่20 #พระพุทธศาสนา #กรุงรัตนโกสินทร์

ขอบคุณแหล่งข้อมูล
bangkokbiznews, ThaiPBS, NationTV, Komchadluek, Matichon, Manager
แก้ไขล่าสุด 22 ก.พ. 60 16:50 | เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย WinXP

มุมสมาชิก กระทู้ล่าสุดโดย WhiteMan

แสดงกระทู้ล่าสุดโดยเปิด มุมสมาชิก และเลือกแสดงกระทู้ที่ตั้ง

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google