การดูแลสุขภาพผู้ป่วยระยะยาว (Long term care and High cost care Insurance)

23 ก.ย. 62 15:49 น. / ดู 9,144 ครั้ง / 1 ความเห็น / 0 ชอบจัง / แชร์
สนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นร่วมกันพัฒนาบริการดูแลผู้ป่วยที่บ้านโดยคนในชุมชน เพราะการเริ่มต้นพัฒนาบริการที่ใช้ community-based long term care ที่ให้ประชาชนในชุมชนช่วยดูแลกันเอง โดยมีการจ้างงานอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นในต้นทุนจำกัด (6000 บาทต่อเดือน) เป็นการเริ่มต้นที่เหมาะสมสำหรับสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยที่ สำนักข่าว Bloomberg ให้คำนิยามว่า ‘แก่ก่อนรวย’ (Towie, Clenfield, & Dormido, 2019) จากอัตราการเกิดที่ต่ำมากเทียบได้กับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ และเมื่อมีงบประมาณจำกัดและเศรษฐกิจจะไม่ดีไปอีกหลายปี การเริ่มต้นมีบริการที่จำเป็นสำหรับประชาชนที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงแสดงให้เห็นว่าระบบบริการของภาครัฐของประเทศไทยเราพยายามตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนตามศักยภาพที่มีแล้ว  ในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าการจ่ายเงินจ้างผู้ดูแลในระดับตำบลหรือหมู่บ้านยังมีข้อจำกัด แต่มีเรื่องน่ายินดีที่มีการจัดทำ ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย (ราชกิจจานุเบกษา 2562) เพื่อรองรับให้มีการจ่ายค่าตอบแทนแก่อาสาสมัครบริบาลท้องถิ่น (คือผู้บริบาลหรือผู้ดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในชุมชน) ซึ่งคาดว่าเมื่อมีประกาศระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนตามออกมาจะทำให้การดูแลระยะยาวในชุมชนโดยคนในชุมชนด้วยกันในประเทศไทยจะเริ่มลงหลักปักฐานได้ และ ถ้ามีการร่วมจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมจากองค์กรปกครองท้องถิ่นและ สปสช.ด้วยแล้วคาดว่าคุณภาพการให้บริการจะดีขึ้นเป็นลำดับ ตรงนี้อาจจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากกว่า 5,000 ล้านบาทเพื่อทำให้คุณภาพการให้บริการเป็นที่ยอมรับได้ (เดิม สปสช.ให้ไว้ที่ 916.8 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2562)
    เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่ต้องการการดูแลอย่างเต็มเวลา เพราะอย่างไรก็ดีพบว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง จะมีความต้องการการดูแลอย่างเต็มเวลา โดยอาจจะต้องการผู้ไปอยู่ด้วยที่บ้านดูแลตลอดวัน หรือ สมควรถูกส่งตัวเข้าไปอยู่ใน nursing home ตรงนี้ค่าใช้จ่ายในการดูแลก็ต้องสูงขึ้น โดยถ้าดูจากตัวเลขการวิจัยคาดว่าอาจจะต้องใช้เงินหลักหมื่นล้านบาทในการพัฒนาการดูแลอย่างเต็มเวลานี้  ตรงนี้เองรัฐบาลต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนว่าในอนาคตที่ฐานประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นงบประมาณที่จะต้องใช้อาจจะเพิ่มมากขึ้น เราจะปล่อยให้การเข้ารับการดูแลแบบเต็มเวลานี้เป็นความรับผิดชอบของผู้ป่วยและครอบครัวฝ่ายเดียวไหม หรือ รัฐบาลควรยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในการสนับสนุนให้ประชาชนที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงที่จำเป็นต้องได้รับบริการเต็มเวลานี้เข้าถึงบริการนี้ได้โดยไม่ล้มละลาย  ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วทุกแห่งที่ได้ทำการสืบค้นข้อมูลมามีระบบไม่มากก็น้อยในการช่วยเหลือผู้ป่วยในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นนี้ อยู่ที่ว่าระบบที่เกิดขี้นนั้นมีส่วนประกอบจากภาคส่วนต่างๆที่ซับซ้อนต่างกัน เช่น ในประเทศญี่ปุ่น ได้มีการออกกฎหมายระบบประกันระยะยาวที่ให้ประชาชนที่มีเงินเดือนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปจ่ายค่าประกันที่ร้อยละ 1.65 ของเงินเดือนจนอายุ 65 ปี ซึ่งก็จะทำให้เกิดกองทุนของรัฐบาลกลางซึ่งจะได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากท้องถิ่น และ การร่วมจ่ายของผู้ที่ต้องใช้บริการ ทำให้บริการสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงในญี่ปุ่นพึงพิงการเข้าสู่ nursing home ได้มาก ซึ่งเป็นภาระทางการคลังแก่รัฐบาลก้อนมหึมา แต่บริการที่ได้ก็เป็นบริการที่มีคุณภาพ สำหรับผู้ป่วยทั้งที่ติดเตียงหรือผู้ป่วยสมองเสื่อม 
    เสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวงกว้างอย่างเป็นกลางเพื่อถกแถลงกันในหัวเรื่อง “การจัดตั้งกองทุนประกันการดูแลระยะยาวอย่างถ้วนหน้าที่เหมาะสมกับสังคมไทย” โดยมีกระบวนการดึงประชาชนที่ไม่มีความโน้มเอียงหรือมีอคติเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเป็นระบบเพื่อตอบคำถามอย่างจริงจังว่าประชาชนไทยทั่วไปต้องการจ่ายเงินเพื่อทำให้เกิดระบบการดูแลระยะยาวแบบถ้วนหน้าที่มีคุณภาพดีหรือไม่  ซึ่งที่ต้องมีการสื่อสารถึงความจำเป็นในการต้องมีระบบดูแลระยะยาวในประเทศไทยให้เกิดบรรยากาศการถกเถียงเพื่อที่จะให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นโดยมีข้อมูลทั้งข้อดี ข้อด้อยของระบบการดูแลระยะยาวรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่ให้ประชาชนร่วมกันตัดสินใจในเรื่องการจัดตั้งกองทุนประกันระยะยาวที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยมีประเด็นสำคัญในถกแถลงดังนี้คือ แหล่งที่มาของงบประมาณ (หลักหมื่นล้านบาท สำหรับบริการที่มีคุณภาพ) รูปแบบบริการที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็น community-base long term care, day care, หรือ ใน nursing home การร่วมจ่ายที่จุดบริการ (copayment) จะมีหรือไม่ เป็นต้น
เลขไอพี : ไม่แสดง | ตั้งกระทู้โดย Windows 10

อ่านต่อ คุณอาจจะสนใจเนื้อหาเหล่านี้ (ความคิดเห็นกระทู้ อยู่ด้านล่าง)

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

จะต้องเป็นสมาชิกจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ลงชื่อเข้าใช้ระบบ
ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สมัครสมาชิกใหม่
หรือจะลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google หรือ Facebook ก็ได้
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Facebook
ลงชื่อเข้าใช้ระบบด้วย Google