เกร็ดน่ารู้จาก สี่แพร่ง

เกร็ดน่ารู้
  • ผู้กำกับทั้งสี่อยู่ในแวดวงภาพยนตร์สยองขวัญกันมาแล้วทั้งนั้น สิน - ยงยุทธ ทองกองทุน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตภาพยนตร์ผีทุกเรื่องของจีทีเอช โต้ง - บรรจง ปิสัญธนะกูล และ โอ๋ - ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ เป็นสองผู้กำกับจากภาพยนตร์เขย่าขวัญ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) และ แฝด (2007) ส่วน กอล์ฟ - ปวีณ ภูริจิตปัญญา เคยกำกับเรื่อง บอดี้ ศพ#19 (2007)
  • ผู้สร้างเปรียบความน่ากลัวของภาพยนตร์สั้นทั้งสี่เป็นเครื่องเล่นในสวนสนุกสี่แบบ เรื่อง เหงา เทียบได้กับเครื่องทิ้งดิ่งสุดสยอง (Tower Hell Drop) ที่ค่อยๆ ขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดช้าๆ ก่อนทิ้งตัวดิ่งลงมาอย่างรวดเร็ว เรื่อง ยันต์สั่งตาย เทียบกับรถไฟเหาะหฤโหด (Bloody Roller Coaster) ที่มีทั้งจังหวะกระตุกและเสียวสันหลัง เรื่อง คนกลาง เสมือนล่องแก่งมรณะ (Deathly Rafting) ที่เคลื่อนที่ไปตามความคดโค้งอย่างเร็ว พร้อมโดนน้ำถาโถมเข้าใส่ สุดท้าย Last Fright เปรียบกับโคตรบ้านผี(สิง) (House of The Damn) มีบรรยากาศน่ากลัวจนขาแข็ง มีผีโผล่ออกมาอย่างคาดเดาไม่ได้ และไม่สามารถหนีกลับออกมาได้จนกว่าจะจบ
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ ในตอน เหงา ถือเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องแรกของผู้กำกับสิน - ยงยุทธ ทองกองทุน ก่อนหน้านี้เขากำกับภาพยนตร์ตลกมาหลายเรื่อง อาทิ สตรีเหล็ก 1 (2000) สตรีเหล็ก 2 (2003)
  • ตลอด 30 นาทีของภาพยนตร์เรื่อง เหงา จะมีแค่นักแสดงเพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่มีนักแสดงคนอื่นปรากฏตัวอยู่เลย และไม่มีบทสนทนาพูดคุยเลยจนจบเรื่อง นักแสดงจึงต้องแสดงอารมณ์อย่างเต็มที่ผ่านทางสีหน้าเท่านั้น
  • ผู้กำกับ สิน - ยงยุทธ ทองกองทุน ให้เหตุผลที่เลือก เอ๋ - มณีรัตน์ คำอ้วน มาแสดงบท ปิ่น ในเรื่อง เหงา นี้ว่า เอ๋ สามารถแสดงสีหน้าที่ให้ความรู้สึกทั้งสดใสและเศร้ามากได้อย่างชัดเจน เป็นคนที่ดูมีพลัง แต่ก็ดูใกล้ตัวด้วย เพื่อให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมที่อยากจะช่วยเหลือเวลาเธอลำบาก
  • เอ๋ - มณีรัตน์ คำอ้วน ตกลงรับบท ปิ่น ทันทีที่ผู้กำกับ สิน - ยงยุทธ ทองกองทุน ติดต่อมา โดยยังไม่ทันได้อ่านบท แต่หลังจากได้มาอ่านบทแล้วกลับพูดเปิดอกยอมรับว่ารู้สึกว่าบทนี้ยากมากและรู้สึกกลัวมาก แต่พอมาเจอผู้กำกับซึ่งมั่นใจในตัวเธอแล้ว ก็ทำให้เธอมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
  • ทีมงานหาสถานที่ถ่ายทำเป็นห้องเช่าของตัวละคร ปิ่น กันอยู่นาน พวกเขาต้องการลักษณะของตึกที่ดูเหมาะกับเป็นของมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย และต้องอยู่ตรงหัวมุมตรงสี่แยกพอดีอีกด้วย ในที่สุดทีมงานก็เจอตึกให้เช่าแถวเยาวราช มีอายุประมาณ 40-50 ปี อยู่ตรงสี่แยกพอดี และข้างๆ ก็มีตึกเก่าและใหม่ล้อมรอบ ซึ่งถูกใจผู้กำกับมาก แต่ห้องก็แคบมากจนไม่เอื้อต่อการถ่ายทำ ฉากภายในห้องเช่าจึงต้องสร้างขึ้นและถ่ายทำในสตูดิโอแทน ซึ่งผนังและเพดานสามารถถอดได้เพื่อความยืดหยุ่นในการถ่าย
  • ฉากที่ถ่ายทำยากในเรื่อง เหงา คือฉากที่ ปิ่น ตกจากตึกเจ็ดชั้น สูงประมาณ 30-40 เมตร ซึ่งนักแสดง เอ๋ - มณีรัตน์ คำอ้วน ขอแสดงด้วยตัวเอง โดยเธอบอกผู้กำกับสิน - ยงยุทธ ทองกองทุน ว่า "ถ้าไม่เล่นเอง ก็ไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้ทำแบบนี้ซักกี่ครั้ง" เอ๋ จึงต้องขึ้นสลิงซักซ้อม โดยเพิ่มความสูงขึ้นทีละนิดเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยก่อน และถ่ายจริงไปทั้งหมดสี่เทก
  • อีกฉากที่ถ่ายทำยากในเรื่อง เหงา คือฉากรถคว่ำกลางสี่แยก เป็นฉากหลังฝนตกใหม่ๆ พื้นถนนลื่น นักแสดงแทนต้องขับรถให้เหินขึ้นมา แล้วพลิกคว่ำไถลไปอยู่ตรงกลางสี่แยกพอดี ทีมงานเตรียมงานเพื่อฉากนี้กันทั้งคืน ต้องปิดถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นถนนใจกลางกรุงเทพฯ เพื่อจัดอุปกรณ์ต่างๆ และต้องเร่งถ่ายให้เสร็จก่อนเจ็ดโมงเช้า เพราะหลังจากนั้นรถจะติดมาก เอ๋ - มณีรัตน์ คำอ้วน ต้องแสดงอยู่ในรถที่คว่ำนานมาก โดยเอาตัวเข้าไปนอนให้เบาะและสิ่งของต่างๆ มาทับที่ตัว
  • ผู้ชายที่ถ่ายรูปกับเพื่อนของตัวละคร ปิ่น ซึ่งมีรูปติดอยู่บนกำแพงนั้น คือ ต้น - นิธิวัฒน์ ธราธร ผู้กำกับเรื่อง แฟนฉัน (2003) และ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2006)
  • เรื่อง ยันต์สั่งตาย ดัดแปลงบทมาจากการ์ตูนเรื่อง The Paper ของ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ที่ผู้กำกับ กอล์ฟ - ปวีณ ภูริจิตปัญญา ชอบมาก เมื่อมีโอกาสทำภาพยนตร์สั้น ปวีณ จึงขอการ์ตูนเรื่องนี้มาทำ และ เอกสิทธิ์ ก็มาช่วยเขียนบทเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้ เอกสิทธิ์ ยังเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์เรื่องบอดี้ ศพ#19 (2007) ที่ปวีณกำกับอีกด้วย
  • ซีจีหรือ คอมพิวเตอร์ กราฟฟิก แรกในเรื่อง ยันต์สั่งตาย ซึ่งถือเป็นตอนสำคัญของเรื่องด้วย คือภาพกระดาษที่มีชีวิต สามารถออกไปไล่ล่าคน และเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการได้ อย่างฉากที่ผู้กำกับ กอล์ฟ - ปวีณ ภูริจิตปัญญา เรียกว่า เพเพอร์ แอกแทก เป็นฉากที่ยันต์สั่งตายบินมารอบๆ รถของเหยื่อและทุบกระจกจนร้าวเพื่อจู่โจม ดูคล้ายนกกระพือปีกตีเข้ากับกรงนก
  • นอกจากกระดาษที่มีชีวิตแล้ว ในเรื่อง ยันต์สั่งตาย ยังต้องใช้ซีจีสร้างภาพผีตายโหง ซึ่งมีการเคลื่อนไหวที่ดูผิดปกติ และมีใบหน้าบูดเบี้ยวแบบไม่มีกรอบอะไรมายึดติด จึงไม่สามารถใช้คนแสดงได้
  • ฉากหนึ่งในเรื่อง ยันต์สั่งตาย ต้องใช้ซีจีแทบทั้งฉาก คือฉากที่มีเด็กถูกแกล้งจนพลาดตกตึกลงมาโดนเสาธงเสียบ ฉากนี้ต้องถ่ายบนกรีนสกรีน แล้วใช้ซีจีสร้างภาพโรงเรียนทั้งหมด รวมทั้งภาพเสาธง และเศษกระจกที่แตก
  • ในเรื่อง ยันต์สั่งตาย ฉากถูกไฟคลอกทั้งหน้าและตัวนั้น ใช้เวลาแต่งนานถึงสามชั่วโมงเต็ม โดยแต่งแผลไหม้ทั้งตัว และแต่งให้หัวล้านไปครึ่งหนึ่ง ใช้แผ่นกาวแปะบนหน้า แล้วค่อยๆ ใส่ผมปลอมเข้าไป ซึ่งต้องนำผมปลอมไปเผาไฟก่อนเพื่อให้หยิกๆ เสื้อผ้าก็ต้องขาดวิ่นเหมือนโดนไฟคลอก หลังจากถ่ายแล้วจะนำภาพไปผสมกับภาพไฟที่เป็นซีจีอีกทีหนึ่ง
  • อีกฉากใน ยันต์สั่งตาย ที่ต้องแต่งเทคนิคพิเศษ คือฉากถูกควักลูกตา ซึ่งใช้เวลาแต่งหน้าแต่งตัวนักแสดงเกือบสามชั่วโมง โดยต้องทำให้เหมือนตาถูกควัก และมีลูกตาปลอมออกมา เนื่องจากถ่ายฉากนี้กันตอนหกโมงเช้า จึงต้องเริ่มแต่งหน้ากันตั้งแต่ตีสาม
  • ในเรื่องยันต์สั่งตาย ฉากที่ บอล - วิทวัส สิงห์ลำพอง ต้องตกตึกนั้น บอล อาสาเล่นเอง เพราะอยากได้ภาพที่เห็นเป็นตัวเขาเองจริงๆ ซึ่งต้องถ่ายตกตึกอยู่ประมาณ 50 รอบ อยู่บนสลิงนานเกือบ 5 ชั่วโมง เพราะผู้กำกับกอล์ฟ - ปวีณ ภูริจิตปัญญาอยากได้ภาพหลายๆ มุม และบางครั้งสลิงก็ไม่ร่วงลงมาในตำแหน่งที่ต้องการ จึงต้องถ่ายกันอยู่หลายรอบ
  • ความลำบากของนักแสดงในเรื่อง ยันต์สั่งตาย คือต้องอดทนกับการแต่งหน้าเอฟเฟกแต่ละครั้งเกือบครึ่งวัน และต้องเล่นโดยจินตนาการเอาเอง ทั้งหวาดกลัว ทั้งร้องไห้ ตกใจ เพราะในฉากเหล่านั้นต้องใช้ซีจีสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
  • สาเหตุที่ผู้กำกับ กอล์ฟ - ปวีณ ภูริจิตปัญญา เจาะจงเลือก สายป่าน - อภิญญา สกุลเจริญสุข มารับบท พิงค์ เป็นเพราะอยากได้เด็กผู้หญิงที่สามารถอยู่ในก๊วนของผู้ชายได้ และมีความเป็นเด็กนักเรียนที่ดูธรรมดาๆ แต่มีแววตาที่แสดงอารมณ์ได้ดี
  • ผู้กำกับ กอล์ฟ - ปวีณ ภูริจิตปัญญา เลือก บอล - วิทวัส สิงห์ลำพอง มารับบท เดี่ยว ซึ่งเป็นหัวโจกของกลุ่ม เป็นเด็กเฮี้ยว ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เอาแต่ใจตัวเอง ที่สำคัญต้องเป็นผู้นำ ผู้กำกับเลือกนักแสดงอยู่นานโดยไม่ได้นึกถึง บอล เพราะติดภาพ บอล ที่เป็นเด็กเล่นดนตรีจาก เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2006) แต่เมื่อ บอล ได้ลองแสดงบทนี้ดูกลับถูกใจผู้กำกับมากๆ และด้วยนิสัยจริงๆ ของ บอล ที่ออกกวนๆ ทำให้บทนี้เหมาะกับ บอล
  • เรื่อง คนกลาง เป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ทั้งน่ากลัวทั้งขำขัน มีการล้อขนบของภาพยนตร์สยองขวัญอยู่กรายๆ
  • คนกลาง เป็นเรื่องที่ผู้กำกับ โต้ง - บรรจง ปิสัญธนะกูล ออกโรงกำกับเดี่ยวเป็นครั้งแรก หลังจากกำกับกับคู่หู โอ๋ - ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ในเรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) และ แฝด (2007) การทำงานไม่มีปัญหาอะไร นอกจากเรื่องเวลาที่จำกัด
  • แรงบันดาลใจของเรื่องนี้ เกิดมาจากเรื่องจริงเรื่องเล็กๆ ของผู้กำกับ โต้ง - บรรจง ปิสัญธนะกูลเอง เมื่อตอนเขียนบทเรื่องแฝด (2007) กับทีมงาน พอตกดึกทุกคนก็เกิดกลัวกันขึ้นมา เลยมาแย่งกันนอนตรงกลาง ด้วยความรำคาญ โต้งเลยพูดขึ้นมาว่า "ถ้าตายไปจะมาหลอกคนที่นอนตรงกลางก่อนเลย" พอพูดแล้วก็รู้สึกสะกิดใจ เห็นว่าสามารถนำความคิดนี้มาทำเป็นภาพยนตร์ได้
  • ผู้กำกับ โต้ง - บรรจง ปิสัญธนะกูล ต้องการให้นักแสดงในเรื่อง คนกลาง ดูเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่เห็นได้ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องนำดาราดังมาเล่น เพราะอยากให้ผู้ชมรู้สึกว่าพวกเขาเป็นเพื่อนกันจริงๆ ให้ภาพที่ออกมาดูกลมกลืนและเพื่อนๆ แต่ละคนมีน้ำหนักเท่าๆ กัน
  • ผู้กำกับ โต้ง - บรรจง ปิสัญธนะกูล ให้เหตุผลที่เลือก ฟรอยด์ - ณัฏฐพงษ์ ชาติพงศ์ มารับบท เต๋อ ว่าเป็นเพราะ ฟรอยด์ เป็นธรรมชาติ ตลกและขี้เล่นเหมือน เต๋อ และเป็นดาราที่ไม่ใหญ่เสียจนกลบเพื่อนๆ คนอื่น
  • บอมบ์ - กันตพัฒน์ เพิ่มพูนพัชรสุข จาก AF4 รับบท เอ ซึ่งเป็นคนจริงจังมากที่สุดในกลุ่ม เป็นคนคอยปรามเพื่อนๆ บอมบ์ ได้รับบทนี้เพราะดูเป็นคนนิ่งๆ พอไม่พูดอะไรจะคาดเดาไม่ออกว่าคิดอะไรอยู่
  • เผือก - พงศธร จงวิลาศ รับบทเป็น เผือก เป็นคนกวนๆ ปากดี ห้าว และกร่าง ชอบทำอะไรแผลงๆ เผือก มักชอบเล่นสดเพิ่มนอกเหนือจากบท เพิ่มท่าทางและสีหน้าให้ตัวละครตัวมีสีสันขึ้น
  • เรื่อง คนกลาง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในป่าสองคืน และมีฉากล่องแก่ง สถานที่ถ่ายทำจึงต้องเป็นป่าริมน้ำ ทีมงานหาอยู่นานจนมาได้สถานที่ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งดูสอดคล้องดีกับฉากที่แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพวกเขาใช้ถ่ายทำฉากล่องแก่ง
  • ก่อนถ่ายทำ นักแสดงจะต้องฝึกล่องแก่ง และฝึกพายเรือกันจริงๆ โดยเฉพาะ บอมบ์ - กันตพัฒน์ เพิ่มพูนพัชรสุข ที่ต้องฝึกหนักเป็นพิเศษ เพราะต้องเล่นเป็นคนที่เคยพาคนไปล่องแก่งมาก่อน จึงต้องฝึกให้ท่าทางดูเหมือนคนคัดท้ายเรือที่คล่องแคล่วชำนาญ
  • ฉากล่องแก่งในเรื่อง คนกลาง นั้นจะต้องบล็อกตำแหน่งภาพไว้ก่อนถ่ายจริงทุกครั้ง และจะต้องซ้อมทุกอย่างให้พร้อมเสียก่อน ทั้งกล้อง ทั้งบท และอารมณ์ในการแสดง เพื่อจะได้ถ่ายทำได้ราบรื่นมากที่สุด เพราะหากถ่ายผิดพลาดแล้วต้องถ่ายใหม่ จะต้องเสียเวลานำเรือย้อนขึ้นมาที่ต้นน้ำใหม่ทุกครั้ง
  • ฉากหนึ่งที่ถ่ายยากในเรื่อง คนกลาง คือฉากที่นักแสดงต้องจมน้ำจากการเล่นล่องแก่ง สถานที่ถ่ายคือที่เชียงใหม่ซึ่งอากาศหนาวมาก และยังต้องถ่ายตอนกลางคืนด้วย กระทั่งคนที่ไม่ได้ลงน้ำยังต้องใส่เสื้อกันหนาวหลายชั้นและพ้าพันคอ ตอนถ่ายจึงต้องมีถุงน้ำร้อนไว้ประคบ มีเสื้อคลุมเตรียมไว้ตลอด และต้องผิงไฟกันตลอดเวลา นอกจากนี้บริเวณที่ถ่ายทำน้ำค่อนข้างแรง ต้องมีสลิงคอยดึงตัวนักแสดงไว้เพื่อความปลอดภัย
  • ฉากจมน้ำในเรื่อง คนกลาง ทีมงานจะต้องใช้เชือกดึงให้เรือคว่ำ เพื่อให้ได้ภาพอุบัติเหตุที่ดูแรงและสมจริง ต้องใช้กล้องหลายตัวถ่ายหลายๆ มุม และต้องวางตำแหน่งกล้องแต่ละตัวให้พอดีที่สุดอีกด้วย นักแสดงส่วนใหญ่ว่ายน้ำกันได้ แต่ต้องทำเป็นจมน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะคนว่ายน้ำเป็นจะทรงตัวตามสัญชาติญาณ
  • การถ่ายทำเรื่อง คนกลาง ซึ่งต้องอยู่ในป่า อยู่ในน้ำ และเดินเขา ตลอดทั้งเรื่อง ทำให้นักแสดงบางส่วนป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ
  • แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง Last Fright มาจากอาการกลัวผี และกลัวเครื่องบินเป็นอย่างมากของผู้กำกับ โอ๋ - ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ
  • ผู้กำกับ โอ๋ - ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ เก็บข้อมูลก่อนถ่ายทำเรื่อง Last Fright ด้วยการไปคุยกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจากหลายๆ สายการบิน เพื่อให้เล่าสถานการณ์ต่างๆ ที่เจอบนเครื่องบิน ลักษณะการทำงาน บทลงโทษ ความกดดันในการทำงาน วิธีตอบโต้บางอย่าง ซึ่งบางคนก็ให้ข้อมูลที่น่าสนใจจนเอามาใช้ในบทภาพยนตร์จริงๆ
  • อีกเรื่องที่ผู้กำกับ โอ๋ - ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ต้องค้นคว้าอย่างละเอียดก่อนถ่ายทำคือ การพันผ้าห่อศพ เพราะตามบท คนที่ตายเป็นถึงเจ้าหญิง จึงต้องศึกษาว่ามีวิธีการพันศพแบบไหนบ้างที่เป็นแบบราชวงศ์จริงๆ และยังต้องเป็นวิธีที่ดูแล้วน่ากลัวที่สุด
  • ส่วนใหญ่ของเรื่อง Last Fright เป็นฉากในเครื่องบิน ทีมงานจึงต้องสร้างฉากภายในเครื่องบินขึ้นมา โดยต้องไปสำรวจบนเครื่องบินจริงๆ ทั้งยังให้ทั้งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่รู้จักช่วยถ่ายภาพภายในเครื่องบินมาให้เพื่อเก็บรายละเอียดให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้ฉากที่สมจริง
  • ฉากสนามบินในเรื่อง Last Fright ถ่ายทำทั้งที่สุวรรณภูมิ และที่ดอนเมือง โดยที่สุวรรณภูมิ ทีมงานได้ถ่ายผู้คนที่สนามบินจริงๆ ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่เคยมีภาพยนตร์เรื่องใดขอถ่ายได้มาก่อน ส่วนที่สนามบินดอนเมืองสามารถถ่ายได้หมดทุกบริเวณ รวมถึงรันเวย์ด้วย ทำให้ได้ภาพที่สมจริง
  • ผู้กำกับ โอ๋ - ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ เลือก พลอย - เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ มารับบท พิมพ์ ตั้งแต่เขียนบทภาพยนตร์ได้สามหน้า ผู้กำกับให้เหตุผลว่าเธอมีทั้งความแข็งและความอ่อนโยนอยู่ในตัวเอง เหมือน พิมพ์ ที่ต้องค่อนข้างเข้มแข็ง และมีความกดดันตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็มีความอ่อนไหวบางอย่างอยู่ด้วย
  • เนื่องจากบทตัวละคร พิมพ์ ต้องใช้อารมณ์มากและหลากหลาย ทำให้ พลอย - เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ต้องอ่านบทถึง 4-5 รอบ และซ้อมพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นศัพท์สูงที่ใช้ในราชวงศ์ด้วย เพราะตามบทต้องสื่อสารกับเจ้าหญิง ก่อนถ่ายทำ พลอย ได้สังเกตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจริงๆ ทั้งท่าทางการเดิน และวิธีการเสิร์ฟอาหาร และได้เรียนการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินด้วย
  • ในเรื่อง Last Fright พลอย - เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ต้องแสดงแบบจินตนาการอยู่คนเดียวเกือบตลอดทั้งเรื่อง ทั้งกรีดร้อง ทั้งกลัว ทั้งร้องไห้ ทุกเหตุการณ์ต่างเกิดขึ้นภายในวันเดียว
  • วันแรกที่ถ่ายทำเรื่อง Last Fright ก็ถ่ายฉากสำคัญของเรื่องก่อนเลย ซึ่งฉากพวกนี้จะไปอยู่ตอนท้ายๆ ของภาพยนตร์ และเป็นฉากที่ต้องใช้อารมณ์มาก ก่อนถ่ายทำ พลอย - เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ จึงต้องทำสมาธิโดยการไปนั่งเงียบๆ คนเดียว และเมื่อเริ่มถ่าย ก็ต้องแสดงอารมณ์กลัวอย่างมากเป็นเวลาหลายชั่วโมง

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • Maleficent - แองเจลินา โจลี ผู้รับบท มาเลฟิเซนท์ เป็นคนเลือก ลานา เดล เรย์ ให้ร้องเพลง Once Upon a Dream จาก Sleeping Beauty (1959) เพื่อเป็นเพลงประกอบหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง อ่านต่อ»
  • มันเปลี่ยวมาก - เดิมทีตัวจ่าเฉยจะออกแบบมาจาก เคน - ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ หรือ ติ๊ก - เจษฎาภรณ์ ผลดี แต่ภายหลังเอาหน้าจ่าเฉยจริงๆ มาปรับใหม่แทน ตัวจ่าเฉยจะพูดไม่ขยับปาก เพราะหากขยับปากพูดแล้วจะเหมือนหุ่นกระบอกมากกว่า อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

Hello, Love, Goodbye Hello, Love, Goodbye เรื่องราวหลากหลายมุมของความรัก ทั้งจากจุดเริ่มต้นอันแสนหวานไปสู่ตอนจบที่แสนปวดร้าว ทุกๆ ช่วงเวลาทำให้เห็นถึงคุณค่าของคว...อ่านต่อ»