เกร็ดน่ารู้จาก I Love You Phillip Morris

เกร็ดน่ารู้
  • เกลนน์ ฟิคาร์รา และ จอห์น เรควา เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้โดยดัดแปลงจากหนังสือ I Love You Phillip Morris: A True Story of Life, Love, and Prison Breaks ที่ สตีฟ แมกวิกเกอร์ อดีตนักข่าวสายอาชญากรรมจาก ฮูสตัน โครนิเคิล เขียนขึ้นจากเรื่องจริงของนักโทษหนุ่ม สตีเวน รัสเซลล์ ซึ่งเคยแหกคุกถึง 4 ครั้ง เพื่อออกไปหาคนรักหนุ่ม ฟิลลิป มอริส ที่ได้พบรักกันในห้องขัง
  • เปิดตัวครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์เมื่อต้นปี 2009 โดยได้รับคำวิจารณ์ที่ดี และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ฟิล์ม พรีเซนเทด ในเทศกาลภาพยนตร์ดังกล่าว แต่หลังจากนั้นกลับเกิดปัญหาไม่ได้เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี
  • ผู้อำนวยการสร้าง แอนดรูว์ ลาซาร์ ได้อ่าน I Love You Phillip Morris: A True Story of Life, Love, and Prison Breaks ของ สตีฟ แมกวิกเกอร์ ตั้งแต่ตอนที่มันเป็นเพียงโครงร่างคร่าวๆ แต่ความสำเร็จของ Confessions of a Dangerous Mind (2002) ที่สร้างจากเรื่องจริงที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน ทำให้ แอนดรูว์ ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์งานชิ้นนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยเงินของเขาเอง แล้วจากนั้นสำนักพิมพ์ มิราแมกซ์ บุกส์ ก็ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมา
  • ผู้อำนวยการสร้าง แอนดรูว์ ลาซาร์ ส่งสำเนาหนังสือ I Love You Phillip Morris: A True Story of Life, Love, and Prison Breaks ไปให้มือเขียนบทหลายคนพร้อมกัน โดยตั้งใจจะมอบหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ให้แก่คนแรกที่ตอบรับกลับมา ผู้เขียนบท เกลนน์ ฟิคาร์รา อ่านสำเนาดังกล่าวเพียงหน้าเดียวก็รีบโทรศัพท์ไปบอกคู่หู จอห์น เรควา ให้รับงานนี้ด้วยกัน ซึ่ง จอห์น ก็ตอบตกลงทันที
  • เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ เกลนน์ ฟิคาร์รา และ จอห์น เรควา รับเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้คือความท้าทาย เนื่องจากพวกเขาไม่เคยเขียนบทภาพยนตร์รัก ไม่เคยเขียนบทภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากเรื่องจริง และไม่เคยเขียนบทภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากหนังสือมาก่อน
  • เนื่องจากสร้างจากหนังสือในเครือ มิราแมกซ์ บุกส์ ผู้สร้างจึงเข้าไปขอทุนสร้างจากค่ายภาพยนตร์ มิราแมกซ์ เป็นที่แรก แต่ไม่มีผลตอบรับใดๆ พวกเขาสันนิษฐานว่าเป็นเพราะเรื่องรักของผู้ชายกับผู้ชายมักทำเงินไม่ได้มากนัก
  • เกลนน์ ฟิคาร์รา และ จอห์น เรควา ยอมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้แบบไม่ได้ค่าแรง พวกเขาจึงต้องเขียนงานที่ได้เงินควบคู่ไปด้วย
  • เกลนน์ ฟิคาร์รา และ จอห์น เรควา ใช้เวลาเกือบ 2 ปีเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาให้ผู้อำนวยการสร้าง แอนดรูว์ ลาซาร์ และ ฟาร์ แชเรียต พิจารณามากถึง 10 ร่าง
  • ผู้สร้างเริ่มส่งบทภาพยนตร์ไปทาบทามหลายๆ คนมาร่วมงานตั้งแต่ช่วงวันหยุดคริสต์มาสปี 2006 ซึ่งคนแรกที่ได้อ่านบทภาพยนตร์ คือ จิม แครี ผู้ซึ่งตอบตกลงรับบทเป็น สตีเวน รัสเซลล์
  • ผู้อำนวยการสร้าง แอนดรูว์ ลาซาร์ นำรายชื่อผู้กำกับที่เหมาะสมกับงานนี้มาปรึกษากับ จิม แครี ผู้รับบท สตีเวน รัสเซลล์ แต่ผู้กำกับเหล่านั้นล้วนติดงานอื่น จิม จึงเสนอให้มือเขียนบท เกลนน์ ฟิคาร์รา และ จอห์น เรควา รับหน้าที่กำกับเอง
  • ผู้อำนวยการสร้าง แอนดรูว์ ลาซาร์ มองว่าเรื่องราวที่ตีแผ่ความสัมพันธ์ทางเพศทำให้คนยุโรปกระอักกระอ่วนน้อยกว่าคนอเมริกัน การร่วมงานกับผู้อำนวยการสร้างชาวฝรั่งเศส ลุก เบส์ซง จากบริษัท ยูโรปาคอร์ป จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม ทางบริษัทเปิดไฟเขียวให้พวกเขาสร้างภาพยนตร์ตามที่ต้องการโดยไม่เข้ามายุ่งวุ่นวาย แค่คอยเป็นแรงสนับสนุนอยู่ห่างๆ เท่านั้น
  • ผู้กำกับและผู้เขียนบท เกลนน์ ฟิคาร์รา และ จอห์น เรควา ทาบทาม ซาเวียร์ เปเรซ-โกรเบต ซึ่งเป็นเกย์มารับหน้าที่กำกับภาพ เพราะชอบผลงานของเขาจากเรื่อง Nacho Libre (2006) และ Before Night Falls (2000)
  • ผู้กำกับและผู้เขียนบท เกลนน์ ฟิคาร์รา เล่าว่า เกย์หลายคนที่ทำงานในแวดวงภาพยนตร์ชอบเรื่องนี้ตรงที่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไม่กี่เรื่องที่ไม่ตีแผ่ความเป็นเกย์ แต่เล่าเรื่องรักระหว่างคน 2 คนที่เป็นเกย์
  • ผู้สร้างใช้เวลา 2 สัปดาห์แรกในไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา ถ่ายทำฉากที่ สตีเวน รัสเซลล์ ที่รับบทโดย จิม แครี เพิ่งค้นพบว่าตัวเองเป็นเกย์ และพบรักแรกกับ จิมมี เคมเพิล ซึ่งรับบทโดย โรดริโก ซานโตโร เนื่องจากไมอามีในช่วงกลางยุค 80 นั้นเป็นที่ที่กระแสเปิดตัวปะทุขึ้นในหมู่ชาวเกย์
  • ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เดวิด ซี. โรบินสัน มองว่าการที่ผู้สร้างเลือกหนุ่มลาตินอย่าง โรดริโก ซานโตโร มารับบท จิมมี เคมเพิล คนรักชายคนแรกของ สตีเวน รัสเซลล์ ที่รับบทโดย จิม แครี นั้นเหมาะสมมาก เพราะเขาจำได้ว่าเมื่อกลางยุค 80 ช่วงเวลาเดียวกับในภาพยนตร์ เขาพบคู่รักชายผิวขาวตัวใหญ่กับชายชาวลาตินจำนวนมาก และ เดวิด เลือกเสื้อเชิ้ตยี่ห้อ เวอร์ซาเช ให้ โรดริโก สวมเพื่อรับบทนี้
  • ผู้สร้างตัดสินใจเลือก ยวน แมกเกรเกอร์ มารับบท ฟิลลิป มอริส จากคำแนะนำของ จิม แครี ผู้รับบท สตีเวน รัสเซลล์ และเมื่อทาบทามไปเพียงแค่วันเดียว ยวน ก็ตอบตกลงกลับมา
  • เลสลี แมนน์ ผู้รับบท เด็บบี เคยร่วมแสดงกับ จิม แครี ผู้รับบท สตีเวน รัสเซลล์ มาแล้วใน The Cable Guy (1996)
  • ตัวละครนำ สตีเวน รัสเซลล์ และ ฟิลลิป มอริส ที่รับบทโดย จิม แครี และ ยวน แมกเกรเกอร์ เป็นบุคคลที่มีอยู่จริงและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน สตีเวน เป็นนักต้มตุ๋นที่ยังคงต้องโทษจำคุก 144 ปี หลังจากถูกจับกุมครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1998 ส่วน ฟิลลิป เป็นอดีตนักโทษที่ได้รับอิสระแล้ว และได้มารับหน้าที่ที่ปรึกษาพิเศษให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมถึงร่วมแสดงในบทรับเชิญด้วย
  • สตีฟ แมกวิกเกอร์ ผู้เขียนหนังสือ I Love You Phillip Morris: A True Story of Life, Love, and Prison Breaks ได้มาแสดงบทรับเชิญในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
  • ยวน แมกเกรเกอร์ ที่เคยรับบทเกย์มาแล้วใน The Pillow Book (1996) และ Velvet Goldmine (1998)
  • จิม แครี ที่รับบท สตีเวน รัสเซลล์ ไม่เคยรับบทเกย์มาก่อน เขายอมรับว่าในช่วงแรก ตัวเขาเองและคนรอบข้างยังมีอคติและกังวลกับการที่เขารับบทนี้ แต่สุดท้าย จิม ก็คิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวความรักที่น่าสนใจมากพอที่จะเขาจะรับแสดง
  • เรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเรือนจำของรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้สร้างจึงต้องหารัฐที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และพร้อมจะให้พวกเขาเข้าไปถ่ายทำในเรือนจำได้ แล้วพวกเขาก็ได้ถ่ายทำกันทั้งภายในและรอบๆ เรือนจำของเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยส์เซียนา รวมถึงใช้เวลา 5 วันถ่ายทำในแองโกลา เรือนจำของหลุยส์เซียนา ที่ได้ชื่อว่าอันตรายมากก่อนจะปฏิรูปในช่วงกลางยุค 90
  • นักแสดงนำของเรื่องต้องเข้าไปถ่ายทำในเรือนจำจริงๆ ที่นิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีนักแสดงประกอบเป็นนักโทษจริงที่ต้องคดีกระทำชำเราและฆาตกรรมถึง 100 คน ยวน แมกเกรเกอร์ ผู้รับบท ฟิลลิป มอริส ยอมรับว่าซี่กรงและลวดหนามทำให้เขาเครียดและอึดอัดมาก และเขาต้องใช้เวลาถึง 2 วันกว่าจะรับความจริงได้ว่าตัวประกอบคือนักโทษจริง

advertisement

วันนี้ในอดีต

เกร็ดภาพยนตร์

  • The Raid 2 - ทุกหมัดและทุกการเตะในภาพยนตร์เป็นของจริง อิโก อูไวส์ ผู้รับบท รามา และนักต่อสู้คนอื่นๆ ต้องฝึกฝนควบคุมแรงและความเร็ว เพื่อให้ดูสมจริงต่อหน้ากล้อง อ่านต่อ»
  • Edge of Tomorrow - ทอม ครูซ ผู้รับบท วิลเลียม เคจ มีเวลาเตรียมตัวก่อนถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่มีกำหนดเปิดกล้องวันที่ 20 กรกฎาคม 2012 ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ เพราะก่อนหน้านี้เขาง่วนอยู่กับ Oblivion (2013) อ่านต่อ»

เปิดกรุภาพยนตร์

มิสเตอร์ดื้อ กันท่าเหรียญทอง มิสเตอร์ดื้อ กันท่าเหรียญทอง ดื้อ (ชานน สันตินธรกุล) เด็กบ้านนอก ลูกชายของ เคี้ยง (พลพล พลกองเส็ง) พ่อค้าร้านราดหน้าเจ้าเก่าแก่ เติบโตมากับการอยู่ร่...อ่านต่อ»