1. สยามโซน
  2. ภาพยนตร์
  3. ข่าววงการภาพยนตร์

กระตุ้นเสพการเมืองอย่างมีสติกับภาพยนตร์ ประชาธิป'ไทย

กระตุ้นเสพการเมืองอย่างมีสติกับภาพยนตร์ ประชาธิป'ไทย

"ประชาธิป'ไทย" ภาพยนตร์สารคดีสะท้อนเหตุการณ์สำคัญๆ ทางด้านการเมืองการปกครองของประเทศไทย หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงยุคปัจจุบัน ด้วยแนวคิดจากคนต้นเรื่อง 2 ผู้กำกับ "ต้อม - เป็นเอก รัตนเรือง" และ "เอก - ภาสกร ประมูลวงศ์" ที่ว่า สิ่งที่คนไทยควรรู้ที่สุด...กลับรู้น้อยที่สุด เพื่อตอบโจทย์ทั้งของตนเองและใครอีกหลายๆ คน ให้แน่ชัดว่าจริงๆ แล้วเรามีความรู้ความเข้าใจในความหมายและความเป็นประชาธิปไตยอย่างถูกต้องจริงหรือไม่

ภาพยนตร์เล่าเรื่องผ่านมุมมองและความคิดอันหลากหลายของเหล่านักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ นักคิด นักเขียนชื่อดังของไทย ที่มีทั้ง "ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" "สุลักษณ์ ศิวรักษ์" หรือที่รู้จักกันในนามปากกา "ส. ศิวรักษ์" "จิระนันท์ พิตรปรีชา" "ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล" "รองศาสตราจารย์ ดร. ไชยันต์ ไชยพร" "ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" "ศรัญญู เทพสงเคราะห์" "รองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์" "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์" "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" "ศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" "สมบัติ บุญงามอนงค์" "รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์" และ "ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อัมมาร สยามวาลา" ซึ่งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานแถลงข่าวเพื่อร่วมพูดคุยกับ 2 ผู้กำกับ ณ โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดาภิเษก

เอก เผยที่มาของการสร้างภาพยนตร์ว่า "ในรอบหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยเราตื่นตัวทางการเมืองกันอย่างมาก ในขณะที่เขากำลังตื่นตัวกันอยู่เนี่ยเป็นจุดที่ผมเริ่มเบื่อสังคม เบื่อการเมือง อันนี้คือเหตุการณ์ที่เกิดสัก 10 ปีที่แล้ว ผมก็เลยเลิกอ่านหนังสือพิมพ์ไปเลย เลิกดูข่าวแล้ววันนึงก็กลับมาอ่านข่าว กลับมาดูหนังสือพิมพ์เพราะว่าจะมีการเลือกตั้ง ผมก็เลยต้องดูสิว่าใครจะมาเลือกตั้งเขตบ้านผมบ้าง ที่นี้พออ่านข่าวจากแต่เดิมที่ไม่เคยเข้าใจไม่เคยสนใจอยู่แล้ว พอมาอ่านการเมืองมาสะกิดใจเราว่าทำไมบ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ ทำไมมีความขัดแย้งกัน ผมก็เลยคิดเกมกับตัวเองว่าเราจะใช้กติกาเป็นตัวเล่น สมมติว่ากติกาชื่อประชาธิปไตย เราเข้าใจเหมือนกันหรือเปล่า ก่อนที่จะถามคนอื่นผมถามตัวเองก่อน ปรากฏว่าผมไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยถูกสอนแบบจริงๆ จังๆ ว่าคืออะไรกันแน่ ก็เลยออกไปหาความหมายของประชาธิปไตย หาอยู่ปีกว่าแล้วก็เจอพี่ต้อม ก็บอกว่าผมมีข้อมูลประมาณนึง เราเป็นคนทำหนัง เราก็เลยอยากทำเป็นสารคดี"

ด้าน ต้อม บอกว่าตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจกับเรื่องการเมืองเท่าไรนัก แต่ที่ตกลงทำเรื่องนี้เพราะ "มีอาชีพทำหนังก็ทำไปแล้วก็ใช้ชีวิตไป แต่ว่าช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาคือเพื่อนๆ ทุกคนเลือกสีได้หมดเลย คนนี้เป็นเสื้อเหลือง คนนี้เป็นเสื้อแดง เราเลือกไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีมาตรฐานอะไรในการเลือก บางอย่างฝั่งนึงทำก็ดีบางอย่างก็ไม่ดี อีกฝั่งนึงทำอาจจะดีและไม่ดี ความรู้เราก็น้อย เลยเป็นปมด้อย เลือกสีไม่ได้อยู่คนเดียว เลยโดนดูถูกว่าเป็นซ่าหริ่มเป็นพวกหลับใหล พอเอกมาชวนผมก็อ่านข้อมูลที่เขาทำมาของประชาธิปไตย เรื่องของการเดินทางวันแรกจนมาถึงปัจจุบัน ผมอ่านมาเรื่อยๆ เยอะมาก อ่านแล้วสนุกดี ก็เลยคุยกันจะทำหนังเราจะทำเป็นยังไงกัน เอกก็บอกว่าง่ายๆ เลยพี่ก็ออกไปคุยกับคนที่เขารู้มากกว่าเรา เราก็รู้สึกแจ๋วเลย เราก็เลยตกลงทำ"

ฟากผู้กำกับ เอก เชื่อว่าเนื้อหาที่นำเสนอจะช่วยทำให้คนเริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น "ผมคิดว่ามีคนไทยเป็นจำนวนมากที่อยู่ในสภาวะเดียวกับผม คือเคยเป็นคนที่หลับใหลทางการเมืองอยู่ ยังไม่ค่อยสนใจมาก มีอินพุตน้อยกว่าที่จะดึงเอาต์พุตออกมา เราเสพข่าวการเมืองหรือดูประวัติศาสตร์การเมืองแบบเมนสตรีม โดยที่เราไม่รู้จริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น และประวัติศาสตร์ไทยในหนังสือก็บอกเราน้อยมากเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ผมคิดว่าจากข้อมูลที่ผมเจอ ผมไม่เคยคิดเลยว่าประวัติศาสตร์ตรงนี้เก่า สำหรับผมประวัติศาสตร์เป็นเรื่องใหม่เพราะเราไม่เคยรู้มาก่อน เรารู้เราเจอสิ่งใหม่แล้วผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เราตื่นทางการเมือง ในขณะเดียวกันเราก็มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น แต่ว่าก็ยังมีคนอีกหลายคนที่อาจจะยังไม่ตื่นหรือตื่นแล้วแต่ว่าอาจจะตื่นครึ่งๆ กลางๆ ถ้าเปรียบผมเป็นซาหริ่มก็โอเค ไม่มีอะไรเสียเนี่ยครับ อย่างน้อยที่สุดเราไม่เลือกข้าง เราสามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเรื่อง อีกฝั่งนึงเขามีข้อดีแล้วก็ข้อเสีย อีกฝั่งนึงก็มีข้อเสียแล้วก็ข้อดี"

ต้อม หวังภาพยนตร์จะช่วยจุดประกายอะไรบางอย่างให้กับผู้ชมได้ "หนังเรื่องนี้เป็นภาพรวมของการเดินทางของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย แล้วก็ทำจากมุมมองของคนที่รู้น้อย ซึ่งผมเข้าใจว่าคนในประเทศนี้จำนวนเยอะก็เป็นอย่างนี้ คือเขามีความสนใจประมาณนึงแต่ว่าไม่รู้อะไรมาก เราหวังว่าคนดูจะมีรีแอ็กชันคล้ายๆ เรา เฮ้ย เรื่องนี้ไม่เคยรู้มาก่อน เรามีหลายอย่างมากในหนังเรื่องนี้ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แบบเรียนไม่เคยสอนเราหรือไม่ก็หลอกเรามาตลอดว่าประชาธิปไตยใช้แบบนี้ได้จริงๆ เรื่องนี้จะไม่ใช่ มีทั้งเรื่องดีแล้วก็เรื่องไม่ดีด้วย แต่ว่าตัวหนังโดยโทนถ้าดูจนจบทั้งเรื่องแล้ว เป็นการบอกว่าการเดินทางที่ไม่ราบรื่นเนี่ยมันเป็นเรื่องโอเค เป็นเรื่องปกติถ้าเราอยากจะไปให้ถึงดวงดาวก็ต้องผ่านขั้นตอนเหล่านี้ โทนของหนังก็เป็นโทนที่บอกว่าไม่มีอะไรผิดอะไรถูก"

พร้อมยืนยันว่าเนื้อหาในภาพยนตร์ไม่ได้มีการกระทบกระเทียบใคร "ไม่มีนะครับ เพราะว่าที่กระเทือนๆ ก็โดนเซ็นเซอร์หมดแล้ว จริงๆ จุดนั้นก็ไม่ได้ล่อแหลมด้วยยังโดนเลย ตอนนี้เรียกว่าแทบจะฉายให้คนตาบอดดูได้แล้วมั้ง คือมันสะอาดมาก เวลาเราไปบอกคนว่าเรากำลังจะทำหนังเรื่อง ประชาธิป'ไทย คำถามรอบตัวก็คือแล้วจะรอดเหรอ ไม่โดนแบนเหรอ แล้วพี่จะอยู่ได้เหรอเมืองไทย เอ๊ะ เรากำลังจะทำสิ่งดีๆ นี่หว่า ทำไมเป็นคำถามแบบนี้หมดเลย แสดงว่ายังมีความเชื่อผิดๆ อยู่ในสังคมไทย ว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องต้องห้าม มันมาพร้อมกับอำนาจลึกลับ เหมือนเรากลัวผี แต่เราไม่รู้ว่าผีเป็นยังไงแต่ก็กลัว ประชาธิปไตยก็คล้ายๆ กัน พอเราออกไปทำเราได้รู้เราพบว่าผีมีจริง แต่ผีไม่ได้แย่ขนาดนั้น อยู่กันได้ เป็นความขัดแย้งที่ต้องผ่านไปให้ได้ด้วยกัน ผม 2 คนพบบางอย่างจากการทำหนังเรื่องนี้ว่าความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องไม่ดี ความขัดแย้งในสังคมเป็นเรื่องที่ดี เพราะเวลาขัดแย้งแล้วสังคมมันเคลื่อน อย่าตีกันเท่านั้นเอง"

ส่วนกลุ่มเป้าหมายของภาพยนตร์นั้น ต้อม กล่าวว่า "ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคนไทยโดยรวมๆ เลย เราอย่าลืมว่าประวัติศาสตร์นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่ยืนอยู่เคียงข้างเรา แล้วอย่าลืมว่าคนไทยทุกคนแชร์ประวัติศาสตร์หน้านี้ด้วยกัน เรามีความจำเป็นประมาณนึงที่จำเป็นจะต้องรู้แล้วว่าการเมืองคืออะไรแล้วมาจากไหน ผมคิดว่าน่าจะเหมาะกับคนไทยแล้วก็นักเรียนนักศึกษาด้วยนะครับ หลังจากที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วเนี่ยอย่าอยู่เฉยๆ ดูแล้วคิด บางจุดของหนังอาจจะไปกระตุ้นให้เขาอยากรู้มากขึ้น ซึ่งผมว่าดีมาก ผมอยากจะอ่าน ผมอยากจะเห็นงานวิจัยหรือบทความต่างๆ เหล่านี้ให้มากๆ เพราะยังมีจุดอีกเยอะแยะเลยเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ยังรอวันชำระอยู่" และทิ้งท้ายฝากถึงภาพยนตร์ว่า "สังคมไทยตอนนี้อุดมการณ์ทางการเมืองกลายเป็นเรื่องสำคัญกว่าความเป็นมนุษย์ เพื่อนกันครอบครัวเดียวกันอยู่คนละสีแต่ตีกัน ผมว่าความเป็นมนุษย์มันหายไป อุดมการณ์ทางการเมืองกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่เป็นแบบนั้นผมรู้สึกว่าเราขาดสติครับ หนังเรื่องนี้ตั้งใจทำด้วยสติ ผมฝากเรื่องนี้ด้วยครับ"

ภาพยนตร์สารคดี ประชาธิป'ไทย พร้อมปลุกกระแสให้เกิดความตื่นตัวและความเข้าใจเรื่องการเมืองอย่างมีสติ เข้าฉายเฉพาะโรงภาพยนตร์ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และ เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดาภิเษก วันละ 2 รอบ เวลา 14.00 น. และ 20.00 น. ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 2556

สงวนลิขสิทธิ์ © ห้ามคัดลอก ตัดต่อ
ดัดแปลงหรือเผยแพร่ในสื่อใดๆ ก่อนได้รับอนุญาต
กดเพื่อดูรูปใหญ่ ปัดซ้าย-ขวาเพื่อดูรูปถัดไป
  • รูปภาพ 1
  • รูปภาพ 2
  • รูปภาพ 3
  • รูปภาพ 4
  • รูปภาพ 5
  • รูปภาพ 6
  • รูปภาพ 7
  • รูปภาพ 8
  • รูปภาพ 9
  • รูปภาพ 10
  • รูปภาพ 11
  • รูปภาพ 12
  • รูปภาพ 13
  • รูปภาพ 14
  • รูปภาพ 15
  • รูปภาพ 16
  • รูปภาพ 17
  • รูปภาพ 18
  • รูปภาพ 19
  • รูปภาพ 20

ความคิดเห็น

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ในอดีต

  • แฝด
    เข้าฉายปี 2007
    แสดง มาช่า วัฒนพานิช, วิทยา วสุไกรไพศาล, รัชนู บุญชูดวง
  • ขุนแผน
    เข้าฉายปี 2002
    แสดง วัชระ ตังคะประเสริฐ, อภิชัย นิปัทธหัตถพงศ์, บงกช คงมาลัย
  • Wrath of the Titans
    เข้าฉายปี 2012
    แสดง Sam Worthington, Liam Neeson, Ralph Fiennes

เกร็ดภาพยนตร์

  • Tarzan - ปีเตอร์ เอลเลียต ผู้เชี่ยวชาญด้านท่าทางเคลื่อนไหวของสัตว์ มาร่วมฝึกนักแสดงให้รับบทเป็นกอริลลาได้สมจริงยิ่งขึ้น และชื่อของ ปีเตอร์ ก็ถูกนำไปตั้งชื่อตัวละครที่เป็นผู้เชึ่ยวชาญด้านกอริลลาด้วย อ่านต่อ»
  • Captain America: The Winter Soldier - ฉากที่ถูกตัดจาก The Avengers (2012) ตอนที่ สตีฟ ที่สวมบทโดย คริส อีแวนส์ รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ เพ็กกี คาร์เตอร์ ที่แสดงโดย เฮลีย์ แอตเวล และหน่วยปฏิบัติการของเขา กลายเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้แทน อ่านต่อ»
เกร็ดจากภาพยนตร์สามารถดูได้ในหน้าข้อมูลภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

เปิดกรุภาพยนตร์

อูมา (เอมมา โรเบิร์ตส) ตื่นขึ้นมาใน Paradise Hills ซึ่งเป็นศูนย์พัฒนาบุคลิกภาพตั้งอยู่บนเกาะเขตร้อน ที่บรรดาครอบครัวชนช...อ่านต่อ»