สุริโยไท
- ชื่ออังกฤษThe Legend of Suriyothai
- ปีที่เปิดตัว2544
- เข้าฉายในไทย8 สิงหาคม 2546
- เข้าฉายครั้งแรกในไทย17 สิงหาคม 2544
- นำแสดงหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี, ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
ภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท ได้พลิกฟื้นประวัติศาสตร์อยุธยาช่วงต้น โดยลำดับเหตุการณ์แต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ.2034-2072) ก่อนมายุติลงตรงมหายุทธสงครามศึกตะเบงชเวตี้ (พ.ศ.2091) ครอบคลุมระยะเวลารวมแล้ว 57 ปี โดยประมาณ
เหตุการณ์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นั้นเป็นช่วงสมัยที่ราชอาณาจักรอโยธยา มีเจ้าเหนือครองหัวราชย์ถึง 2 พระองค์ หนึ่งนั้นคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ยังราชธานีฝ่ายใต้ อันได้แก่กรุงอโยธาศรีรามเทพนคร ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระรามาธิบดี ทรงพระนามว่าพระอาทิตยาครองราชย์อยู่ยังเมืองพระพิษณุโลก อันเป็นราชธานีฝ่ายเหนือ พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงสืบสายสันตติวงศ์มาแต่วงศ์สุพรรณภูมิ
ราชอาณาจักรอโยธยาครั้งนั้น หยัดยืนอยู่ได้ด้วยอาศัยกำลังของเจ้าราชนิกุล ที่สืบสายมาจากราชวงศ์สำคัญ 4 ราชวงศ์ด้วยกัน อันได้แก่ ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัยเดิม และราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ที่เคยเป็นใหญ่ในอาณาจักรดินแดนใต้แห่งคาบสมุทรไทย ถึงแม้ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เจ้านายในราชวงศ์สุพรรณภูมิจะทรงครองความเป็นใหญ่ในแผ่นดินอโยธยาทั้งเหนือใต้ แต่ความมั่นคงทางอำนาจยังต้องพึ่งพิงกำลังสนับสนุนของเหล่าราชนิกุลที่เหลือ
ครั้งนั้นแผ่นดินอโยธยาฝ่ายเหนือ อันมีเมืองพระพิษณุโลกเป็นราชธานีปรากฏเจ้านายในราชวงศ์พระร่วงที่สำคัญอย่างน้อยสองพระองค์ หนึ่งคือพระสุริโยทัยผู้เป็นพระธิดาของออกญาศรีสุรินทร์ อีกผู้หนึ่งคือขุนพิเรนทรเทพเป็นพระญาติพระสุริโยทัย มีศักดิ์เป็นพระเชษฐาแต่มิได้ร่วมสายโลหิตเดียวกัน เจ้านายสายวงศ์พระร่วงทั้งสองเจริญวัยมาด้วยกัน ครั้นขึ้นวัยแรกรุ่นเป็นหนุ่มสาวต่างมีใจปฏิพัทธ์แก่กันฉันท์คนรัก
กระนั้นก็ดีพระสุริโยทัยหาได้ออกเรือนกับขุนพิเรนทรเทพไม่ เพราะพระนางจำต้องอภิเษกสมรสกับพระเฑียรราชา ผู้รั้งตำแหน่งพระเยาวราชแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระเฑียรราชาผู้นี้เป็นโอรสในสมเด็จพระอาทิตยาผู้ครองเมืองพระพิษณุโลกอยู่ในขณะนั้น การอภิเษกสมรสระหว่างพระสุริโยทัยกับพระเฑียรราชา โดยนัยหนึ่งเป็นการกระชับไมตรีทางการเมือง ระหว่างราชนิกุลข้างสุพรรณภูมิและข้างพระร่วงให้ยั่งยืนมั่นคงขึ้น
เหตุการณ์บ้านเมืองเริ่มผันแปรเสื่อมถอย เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2072 อันเป็นปีเดียวกันที่ดาวหางฮัลเลย์ปรากฏขึ้น การสวรรคตครั้งนั้นเป็นเหตุแห่งการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินทั้งฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ กล่าวคือพระอาทิตยาทรงเสด็จจากเมืองพระพิษณุโลกลงมาครองกรุงอโยธยา เถลิงพระนามว่าสมเด็จหน่อพุทธางกูร ส่วนราชธานีฝ่ายเหนือที่ว่างลงนั้น ทรงโปรดให้พระชัยราชา ผู้เป็นราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ขึ้นไปครองแทน
ครั้งนั้นพระเฑียรราชาผู้ราชโอรสพระอาทิตยาหรือสมเด็จหน่อพุทธางกูร จำต้องนำพระสุริโยทัยโดยเสด็จพระราชบิดาลงมาประทับยังวังชัยในกรุงศรีอยุธยา พระเฑียรราชายังคงรั้งตำแหน่งพระเยาวราชดังเดิม
การสืบมาได้ปรากฏไข้ทรพิษระบาดหนัก เป็นเหตุให้พระหน่อพุทธางกูรเสด็จสวรรคตเพราะภัยร้ายนั้น บ้านเมืองจึงเกิดเป็นทุรยศ ด้วยพระรัฎฐาธิราชกุมารพระราชโอรสในสมเด็จหน่อพุทธางกูรผู้สืบราชสมบัติต่อมานั้น มีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา เป็นเหตุให้กิจการงานเมืองต้องตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของเจ้าพระยายมราช ผู้มีศักดิ์เป็นพระอัครชายา ผู้ให้กำเนิดพระรัฎฐาธิราช เจ้าพระยายมราชเป็นคนคด ฉ้อราษฎร์บังหลวงจนไพร่บ้านเมืองเดือดร้อนกันไปทั่ว
ขณะที่แผ่นดินอยุธยาลุกเป็นไฟนั้น แผ่นดินพุกามประเทศฝ่ายพม่าได้ปรากฏกษัตริย์หนุ่มผู้เข้มแข็งนามว่าตะเบงชเวตี้ กษัตริย์พม่าพระองค์นี้ได้รวบรวมบ้านเมืองขึ้นเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ พระชัยราชาผู้ครองราชธานีฝ่ายเหนือเห็นมิเป็นการ จึงนำกำลังแต่เมืองเหนือลงมาปราบยุคเข็ญในพระนครหลวง และปราบดาภิเษกสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่แทนที่พระรัฎฐาธิราช ซึ่งถูกสำเร็จโทษไปด้วย เพราะพระชัยราชามิทรงประสงค์จะละไว้ให้เป็นเสี้ยนหนาม
ถึงแม้ราชอาณาจักรอยุธยาจะมีอันผลัดเปลี่ยนแผ่นดินติดต่อกันมาถึง 4 รัชกาล แต่อำนาจนั้นยังคงตกอยู่กับเจ้านายในราชวงศ์สุพรรณภูมิดังเดิม
สมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้าทรงเป็นกษัตริย์นักรบ ในรัชกาลของพระองค์ได้ทรงทำศึกมีชัยเหนือพม่าที่เมืองเชียงกราน อันเป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาอโยธยาด้านฝั่งตะวันตก พระองค์ยังทรงนำทัพขึ้นไปรบถึงเชียงใหม่ ขณะเมื่อพระองค์ทรงออกไปรบในแดนต่างๆ นั้น จะทรงสถาปนาพระเฑียรราชาขึ้นที่อุปราช ดูแลราชการแผ่นดินอโยธยาต่างพระเนตรพระกรรณเสมอมา
ต่อมาพระชัยราชาธิราชทรงได้เจ้านายข้างวงศ์อู่ทองมาเป็นพระสนมเอก มีพระนามปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวศรีสุดาจันทร์ไม่เพียงถือโอกาสในคราวที่พระสวามีติดศึกต่างแดนลอบมีสัมพันธ์สวาทกับพันบุตรศรีเทพ ผู้เป็นบุตรเจ้าเมืองศรีเทพ ซึ่งเป็นเจ้านายสายอู่ทอง พระนางยังคบคิดกับชู้รัก ซึ่งภายหลังได้รับอวยยศขึ้นเป็นขุนชินราช ลอบวางยาพิษพระชัยราชาธิราช ด้วยมุ่งหวังชิงบัลลังก์อโยธยาคืนมาจากเจ้านายสายสุพรรณภูมิ
ท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนชินราชยังลอบวางยาพิษพระยอดฟ้า พระราชโอรสในพระชัยราชาธิราช ภายหลังจากที่พระองค์เสวยราชสมบัติ สืบต่อจากพระราชบิดาได้ไม่นาน (ไม่เกิน 2 ขวบปี พ.ศ.2089-2091) ท้ายที่สุดท้าวศรีสุดาจันทร์ได้สถาปนาขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์อโยธยา เถลิงพระนามว่าขุนวรวงศาธิราช นับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งสายราชนิกุลอู่ทองที่ได้กลับขึ้นมาเป็นใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่สูญเสียอำนาจให้กับเจ้านายฝ่ายสุพรรณภูมิไปเนิ่นนานปี
ในช่วงการผลัดเปลี่ยนอำนาจ นับแต่พระชัยราชาถูกลอบปลงพระชนม์ พระเฑียรราชาผู้รั้งตำแหน่งอุปราชและผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จำต้องหลบลี้ราชภัยด้วยการออกบวช ข้างพระสุริโยทัยนั้นไม่เพียงแต่ต้องคอยระแวดระวังภัยให้พระสวามี พระราชโอรสและพระราชธิดา ซึ่งต่างยังทรงประทับอยู่ในวังชัย แต่ยังทรงพยายามคิดการโค่นล้มอำนาจขุนวรวงศาและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นการลับ เพื่อพลิกฟื้นบ้านเมืองให้กลับคืนเป็นปกติสุขตามเดิม พระนางได้ลอบติดต่อขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งพระนางเคยมีสัมพันธ์ใกล้ชิดมาแต่วัยเยาว์ จนท้ายที่สุดสามารถเหนี่ยวรั้งให้ขุนพิเรนทรเทพรวมกำลังพลฝ่ายเหนือสมทบกับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หานอกราชการ และหลวงศรียศ โค่นอำนาจขุนวรวงศาได้สำเร็จ
คณะผู้ก่อการได้ร่วมกันสถาปนาพระเฑียรราชาขึ้นเป็นกษัตริย์อโยธยา เถลิงพระนามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นเหตุให้อำนาจหวนกลับมาตกอยู่ในมือเจ้านายราชวงศ์สุพรรณภูมิอีกครั้งหนึ่ง
ข่าวการแย่งชิงอำนาจกันภายในราชอาณาจักรอโยธยา ล่วงรู้ไปถึงหูพระเจ้าตะเบงชเวตี้ ซึ่งขณะนั้นได้ทรงรวบรวมแผ่นดินพุกามขึ้นเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว และได้ย้ายราชธานีจากเมืองตองอูลงมาประทับยังกรุงหงสาวดี ซึ่งเป็นราชธานีเดิมของกษัตริย์มอญ พระเจ้าตะเบงชเวตี้เห็นได้จังหวะเหมาะ จึงรวบรวมไพร่พลเมืองตองอู เมืองแปร เมืองหงสาวดี และหัวเมืองมอญน้อยใหญ่ ผสมทหารโปรตุเกส ผู้ชำนาญการใช้ปืนไฟ จัดเป็นกองทัพใหญ่ ยกเข้ามาทางด้านพระเจดีย์สามองค์ จนสามารถนำกำลังเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ได้สำเร็จ
ศึกพม่ารามัญครั้งนั้นใหญ่หลวงนัก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงนำกำลังออกปะทะพม่า จนรบกันเป็นโกลาหลในทุ่งมะขามหย่อง กษัตริย์อโยธยาทรงกระทำคชยุทธด้วยตะโดธรรมราชาเจ้าเมืองแปร ครั้งนั้นช้างพระที่นั่งเสียหลักหันหลังหนีช้างข้าศึก พระสุริโยทัยทรงมีพระกตัญญูภาพขับพระคชาธารพลายทรงตะวันเข้าขวางช้างพระเจ้าแปร และทรงต่อรบป้องกันพระสวามีจนสิ้นพระชนม์ ภาพยนตร์ได้มายุติลงตรงเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งนั้นในประวัติศาสตร์
ภาพยนตร์สุริโยไทไม่เพียงชี้มุ่งชัดถึงพิบัติภัย อันเกิดแต่การแตกสามัคคีในหมู่คนไทย แต่ยังได้เปิดมิติประวัติศาสตร์ให้เห็นถึงบทบาทของสตรีสูงศักดิ์ในราชสำนัก ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญไม่แพ้ชายในการขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้เกิดเหตุพลิกผันผลัดแผ่นดิน ไปจนถึงการพลีชีพกลางสมรภูมิศึก เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชของราชอาณาจักร
- กำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
- เขียนโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
-
นำแสดงโดย
- หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี
- ศรัณยู วงศ์กระจ่าง
- พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
- ฉัตรชัย เปล่งพานิช
- จอนนี่ แอนโฟเน่
- ใหม่ เจริญปุระ
- สินจัย เปล่งพานิช
- สรพงษ์ ชาตรี
- อำพล ลำพูน
- ศุกกรณ์ กิจสุวรรณ
- เพ็ญพักตร์ ศิริกุล
- วรรณษา ทองวิเศษ
- รณฤทธิชัย คานเขต
- สหรัถ สังคปรีชา
- วรุฒ วรธรรม
- ศุภกิจ ตังทัตสวัสดิ์
- สมบัติ เมทะนี
- เอกพัน บรรลือฤทธิ์
- สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์
- มานพ อัศวเทพ
- กรุง ศรีวิไล
- อดิเทพ ชดช้อย
- สุเชาว์ พงษ์วิไล
- อรัญญา นามวงศ์
- นัยนา จันทร์เรือง
- ปวันรัตน์ นาคสุริยะ
- จิระวดี อิศรางกูรฯ
- ญาณี ตราโมท
- มีศักดิ์ นาครัตน์
- พิศาล อัตรเศรณี
- ทาริกา ธิดาทิตย์
- ปวีณา หงสกุล
- พิศมัย วิไลศักดิ์
- สุรชัย จันทิมาธร
- ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ
- ดำรง พุฒตาล
- นาถ ภูวนัย
- จรัสพงษ์ สุรัสวดี
- ปัทมวรรณ เค้ามูลคดี
- มารศรี อิศรางกูรฯ
- อรสา อิศรางกูรฯ
- ผจญ ดวงขจร
- ไพโรจน์ ใจสิงห์
- ครรชิต ขวัญประชา
- สรนันทร์ ร.เอกวัฒน์
- วิโรจน์ ตั้งวานิช
- อำพัน เจริญสุข
- สีเทา เพ็ชรเจริญ
- โกร่ง กางเกงแดง
- สวง ทรัพย์สำรวย
- บุญส่ง ดวงดารา
- นภาพร หงสกุล
- พรพิมล รักธรรม
- เขมสรณ์ หนูขาว
- ฝนพา สาทิสสะรัต
- ไกรลาศ เกรียงไกร
- สามารถ พยัคฆ์อรุณ
- เขาทราย กาแลคซี่
- เมืองชัย กิตติเกษม
- แรม วรธรรม
- ยอดชาย เมฆสุรรณ
- เกียรติศักดิ์ ศักดานุภาพ
- อภิญญ์ รัชตะหิรัญ
- พิมลรัตน์ พิศลยบุตร
- ชมพูนุท เศวตวงศ์
- จีระนันท์ กิจประสาน
- วิทยา โกมลฐิติกานต์
- สรณัฎฐ์ ฉัตรวิบูรณ์
- รุษยา เกิดฉาย
- ไกร ครรชิต
- ลูคัส อดัม บุญธนากิจ
- ปรมัติ ธรรมมล
- จีรวัฒน์ จันทร์สมบูรณ์
- กังวาล รุ่งเรือง
- ประเภท Drama / War
- สร้างโดย Thailand
- จำหน่ายโดย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
-
ชื่ออื่นๆSuriyothai
advertisement
วันนี้ในอดีต
- ชั่วฟ้าดินสลายเข้าฉายปี 2010 แสดง อนันดา เอเวอริงแฮม, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์
- Azumiเข้าฉายปี 2004 แสดง Aya Ueto, Shun Oguri, Hiroki Narimiya
- Quillเข้าฉายปี 2004 แสดง Kaoru Kobayashi , Kippei Shiina , Teruyuki Kagawa
เกร็ดภาพยนตร์
- Birdman - ไมเคิล คีตัน ผู้รับบท ริกแกน และนักแสดงคนอื่นๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับการกำกับที่เข้มงวดของผู้กำกับ อเลฮันโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู ที่ให้นักแสดงแสดงแต่ละฉากความยาว 15 หน้าก่อนจะตัดฉากต่อไป อ่านต่อ»
- Unbroken - เดน ดีฮาน เกือบได้แสดงบท หลุยส์ แต่สุดท้ายแล้วบทนี้ตกเป็นของ แจ็ก โอ'คอนเนลล์ อ่านต่อ»